xs
xsm
sm
md
lg

กฎหมาย 4 ชั่วโคตรทำนักโกงกินผวา ห้าม “ปลัด-อธิบดี” นั่งบอร์ด บ.เอกชน!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รัฐบาล “บิ๊กตู่” เดินหน้าออกกฎหมาย 4 ชั่วโคตร ป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน ครอบคลุมทั้งข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ นักการเมือง องค์กรอิสระและเอกชนที่ไปเป็นกรรมการในหน่วยงานรัฐ พร้อมทั้งญาติ 4 ลำดับ ข้อห้ามละเอียดยิบ “อดีต ป.ป.ช.” ชี้ จากนี้อธิบดี-ปลัดกระทรวง ไม่สามารถนั่งเป็นบอร์ดในธุรกิจที่มีส่วนได้เสียกับรัฐ ขณะที่ฝ่ายการเมืองติง ควรมีกลไกถ่วงดุลในการพิจารณาความผิด

เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ไม่น้อยทีเดียวสำหรับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม หรือเรียกอีกชื่อว่ากฎหมาย 4 ชั่วโคตร ซึ่งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่มี ร.อ.ทินพันธุ์ นาคาตะ ประธาน สปท. เป็นผู้เสนอ ขณะที่บางคนมองว่าเป็นกฎหมายที่เข้มงวดเกินไป ซึ่งอาจส่งผลให้คนไม่อยากเข้ามารับราชการหรือทำงานการเมืองเนื่องจากการปฏิบัติตัวต่าง ๆ เป็นไปด้วยความยากลำบาก ถึงขนาดที่เรียกว่าแค่เข้ามารับตำแหน่งขาข้างหนึ่งก็เข้าไปอยู่ในคุกแล้ว
ร.อ.ทินพันธุ์ นาคาตะ ประธาน สปท.
หลักเกณฑ์สำคัญของกฎหมายฉบับนี้ คือบังคับใช้ครอบคลุมทั้งข้าราชการ พนักงานส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ ทุกคน ทุกตำแหน่ง ผู้ที่ดำรงตำแหน่งหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้แก่ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ผู้บริหารและสมาชิกสภาส่วนท้องถิ่น เจ้าหน้าที่รัฐซึ่งดำรงตำแหน่งอื่นตามที่ ป.ป.ช.กำหนด รวมถึงองค์การมหาชน หรือเอกชนที่เข้ามาเป็นคณะกรรมการของรัฐ ซึ่งจะดำเนินการทุกระดับพร้อมคู่สมรส ทั้งจดทะเบียน หรือไม่จด   แต่ต้องพิสูจน์ทราบได้ว่าใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน รวมทั้งครอบคลุมไปถึงญาติ 4 ลำดับ คือ 1. ผู้สืบสันดาน 2. บุพการี 3. คู่สมรสของบุตร และ 4. พี่น้อง และบุตรบุญธรรม

โดยมีข้อกำหนดและข้อห้ามซึ่งครอบคลุมการดำเนินการต่าง ๆ ที่กว้างมาก ประกอบด้วย

1) ห้ามกระทำการขัดระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม

2) ห้ามรับของขวัญ ของที่ระลึก เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ ไม่ว่าจะเป็น การขายหรือให้เช่าทรัพย์สินเกินกว่าราคาตลาด การลดหนี้ การให้ยืมโดยไม่คิดดอกเบี้ย การค้ำประกันโดยไม่คิดค่าธรรมเนียม การให้ค่านายหน้า การจัดเลี้ยงหรือมหรสพโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย หรือคิดค่าใช้จ่ายน้อยกว่าปกติ การให้ใช้สถานที่และยานพาหนะโดยไม่คิดค่าเช่า หรือคิดค่าเช่าน้อยกว่าปกติ ทั้งนี้หากให้ตามประเพณีนิยมก็สามารถรับได้ โดยจะมีการออกกฎหมายลูกตามมาต่อไป แม้แต่ให้โดยสารรถยนต์หรือขนส่งสิ่งของโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย หรือคิดค่าใช้จ่ายน้อยกว่าปกติ และการให้บริการทางการแพทย์ โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายหรือคิดค่าใช้จ่ายน้อยกว่าปกติก็ไม่สามารถทำได้

3) เจ้าหน้าที่รัฐจะกระทำการใดที่ถือเป็นการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวและผลประโยชน์ส่วนรวมมิได้ ไม่ว่าจะเป็น การกำหนดนโยบายที่เอื้อต่อกิจการของตนเอง คู่สมรส บุตร บิดามารดา การนำความสัมพันธ์ส่วนตัวมาให้คุณให้โทษบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือแม้แต่ใช้เวลาหรือทรัพย์ของรัฐไปเพื่อประโยชน์ส่วนตัวหรือพวกพ้องก็ไม่สามารถทำได้

4) การกระทำการใด ๆ ที่ให้ผู้อื่นล่วงรู้ความลับของทางราชการ ที่ตนรับรู้ระหว่างดำรงตำแหน่ง และให้ข้อมูลลับนั้นเป็นไปในทางที่เป็นประโยชน์ต่อตนเอง เป็นไปเพื่อทุจริต ไม่สามารถทำได้

5) ผู้ที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ และมีอำนาจกำกับดูแลโดยตรงในหน่วยใด หลังจากพ้นตำแหน่งจะไม่สามารถยุ่งเกี่ยว เป็นกรรมการ หรือปรึกษาใด ๆ ในหน่วยงานนั้นไม่ได้ภายในเวลา 2 ปี
นายวิรัตน์ กัลยาศิริ อดีต ส.ส.จังหวัดสงขลา และหัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์
ในมุมมองของ นายวิรัตน์ กัลยาศิริ อดีต ส.ส.จังหวัดสงขลา และหัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ เห็นว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม มีหลักการเพื่อให้การบริหารงานแผ่นดินมีความโปร่งใส จึงกำหนดรายละเอียดไว้ค่อนข้างครบถ้วนและครอบคลุมถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการบริหารประเทศและบริการประชาชนในทุกระดับชั้น อย่างไรก็ดีต้องมีมาตรการป้องกันการกลั่นแกล้งข้าราชการและนักการเมืองที่ดีด้วย

เนื่องเพราะนักการเมืองบางคนไม่แยกว่ากิจการนี้เป็นกิจการส่วนรวมหรือประโยชน์ส่วนตัวทำให้เกิดกรณีผลประโยชน์ทับซ้อนขึ้นมากมาย กฎหมายนี้จึงมีข้อกำหนดต่าง ๆ เพื่ออุดช่องโหว่ดังกล่าว เป็นการสกัดคนไม่ดีไม่ให้เข้ามาเป็นนักการเมืองหรือข้าราชการ ซึ่งนอกจากคุ้มครองผลประโยชน์ส่วนรวมแล้วจำเป็นต้องคุ้มครองผลประโยชน์ของข้าราชการและนักการเมืองที่ทำงานด้วยความสุจริตด้วย

ขณะเดียวกันกฎหมายฉบับนี้ค่อนข้างแรง ในขั้นตอนตามกระบวนการยุติธรรมจึงต้องมีการตรวจสอบถ่วงดุล เช่น อาจให้ใช้ระบบกล่าวหาในศาลแทนระบบไต่สวนที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากระบบกล่าวหาจะเปิดโอกาสให้ผู้ที่ถูกฟ้องร้องมีโอกาสสู้คดีอย่างเต็มที่ ขณะที่ระบบไต่สวนดูจะเป็นการปิดปากผู้ถูกฟ้อง และควรมีการพิจารณาอย่างน้อย 2 ศาล โดยให้ศาลที่สูงกว่าตรวจสอบทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ไม่ใช่พิจารณาจากข้อกฎหมายเหมือนกับการพิจารณาโดยศาลเดียว อีกทั้งผู้พิพากษาศาลคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาคควรมาจากผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาค ซึ่งจะมีประสบการณ์ในการนั่งฟังพยานหลักฐานและมีวุฒิภาวะสูงกว่า เพราะหากไม่มีมาตรการในการคุ้มครองข้าราชการและนักการเมืองที่ทำงานด้วยความสุจริตแล้วคงไม่มีใครกล้าอาสามาทำงานให้บ้านเมือง
นายวิชา มหาคุณ อดีตคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
ด้าน นายวิชา มหาคุณ อดีตคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แสดงทัศนะไว้อย่างสนใจว่า โดยรวมแล้วมองว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม ถือเป็นกฎหมายที่ดี เนื่องจากเป็นการป้องปรามการทุจริตในทุกตำแหน่งหน้าที่ ทำให้ทุกภาคส่วนระมัดระวังในการทำงานมากยิ่งขึ้น อีกทั้งการเขียนกฎหมายดังกล่าวนั้นไม่ควรใส่รายละเอียดที่ยิบย่อยเกินไป เนื่องจากจะก่อให้เกิดความสับสนและการตีความที่เกินเลยได้ ส่วนประเด็นอื่นๆ อาทิ ห้ามรับค่านายหน้า ซึ่งบางคนมองว่าเป็นข้อจำกัดที่ทำให้ข้าราชการและนักการเมืองไม่สามารถหารายได้จากการเป็นนายหน้าได้นั้น โดยส่วนตัวคิดว่าไม่ใช่เช่นนั้น เพราะการพิจารณากฎหมายต้องมีหลักการและเหตุผล กรณีนี้น่าจะห้ามรับค่านายหน้าเฉพาะกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับอำนาจหน้าที่ของข้าราชการหรือนักการเมืองคนนั้น ๆ ส่วนข้อสงสัยที่ว่าหลังจากกฎหมายฉบับนี้ออกมาบังคับใช้นายทหารระดับสูงสามารถให้พลทหารไปทำงานเป็นทหารรับใช้ได้หรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับกองทัพว่ามีการออกระเบียบรองรับเรื่องนี้ไว้หรือไม่ และมีรายละเอียดว่าอย่างไร

“กฎหมายฉบับนี้ถือว่าเป็นกฎหมายที่ดี มีการป้องกันการทุจริตครอบคลุมทุกตำแหน่งหน้าที่ เดิมกฎหมาย ป.ป.ช.ก็มีข้อกำหนดที่เอาผิดผู้ที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวและผลประโยชน์ส่วนรวมอยู่แล้ว แต่ครอบคลุมเฉพาะนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ผู้บริหารท้องถิ่นและรองผู้บริหารท้องถิ่นเท่านั้น แต่ยังมีผู้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ อีกมากที่กฎหมาย ป.ป.ช. ไม่ได้ระบุถึง เช่น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมืองบางตำแหน่ง เช่น ที่ปรึกษาหรือบรรดาเลขานุการของนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีต่าง ๆ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เป็นผู้บริหารระดับสูง เช่น ปลัดกระทรวง เลขาธิการ อธิบดี เราจึงเห็นปลัดกระทรวงและระดับผู้บริหารของกระทรวงพลังงานไปนั่งเป็นบอร์ดในเครือ ปตท. เพราะฉะนั้นเวลาพิจารณาอนุมัติการขุดเจาะปิโตรเลียม จึงไม่สามารถบอกได้ว่าพิจารณาโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของรัฐหรือผลประโยชน์ของบริษัทพลังงาน แต่ พ.ร.บ.ฉบับนี้ครอบคลุมหมดทุกตำแหน่ง ดังนั้นต่อจากนี้ข้าราชการระดับสูงคงไม่สามารถนั่งเป็นบอร์ดในบริษัทที่ดำเนินกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับผลประโยชน์รัฐได้เพราะถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย” อดีตกรรมการ ป.ป.ช.ระบุ
นายกล้านรงค์ จันทิก สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
ด้าน นายกล้านรงค์ จันทิก สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เปิดเผยถึงขั้นตอนในการออกกฎหมายดังกล่าวว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม จะเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วาระที่ 1 ในวันพฤหัสบดีที่ 17 ส.ค. 2560 เพื่อพิจารณาหลักการว่าจะรับกฎหมายดังกล่าวหรือไม่ ถ้าที่ประชุมรับหลักการก็เข้าสู่การพิจารณาวาระที่ 2 โดยคณะกรรมาธิการจะตรวจพิจารณาเป็นรายมาตรา ซึ่งอาจจะมีการปรับปรุงแก้ไขตามที่เห็นสมควร และวาระที่ 3 เป็นการพิจารณาลงมติว่าจะเห็นชอบกฎหมายฉบับนี้หรือไม่ หากเห็นชอบก็ส่งกลับไปยังคณะรัฐมนตรี เพื่อนำกฎหมายขึ้นทูลกล่าว เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย โปรดเกล้าฯ และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อบังคับใช้ต่อไป

ส่วนว่าหลังจากที่กฎหมายผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติแล้วจะมีหน้าตาอย่างไร มีการปรับปรุงแก้ไขมากน้อยเพียงใดนั้นคงต้องติดตามกันต่อไป

กำลังโหลดความคิดเห็น