xs
xsm
sm
md
lg

ศึกชิงเจ้าคณะจังหวัดฉะเชิงเทรา เบื้องหลัง “มหานิกาย” หักเหลี่ยมกันเอง!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศึกชิงเจ้าคณะจังหวัดฉะเชิงเทรา ที่แท้เป็นศึกภายในของมหานิกายและเป็นการชิงเหลี่ยมระหว่างพระชั้นพรหมวัดเดียวกัน เจ้าคุณอมรอยู่สายแข็ง ส่วนเจ้าคุณเก๋นที่ชวดตำแหน่งอยู่สายเจ้าคุณเสนาะที่ถูกปลดและมรณภาพไปแล้ว บารมีวัดปากน้ำ-ธรรมกายยังแข็งแรงในมหาเถรสมาคม ไม่เปลี่ยนมติเดิม ลดแรงกดดัน ผอ.สำนักพุทธฯ

กลายเป็นเรื่องร้อนขึ้นมาทันทีสำหรับวงการผ้าเหลือง จากการที่มติของมหาเถรสมาคมเมื่อ 20 กรกฎาคม 2560 เมื่อสมเด็จพระพุฒาจารย์(สนิท ชวนปัญโญ) เจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยาราม กรรมการมหาเถรฯ ในฐานะเจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก เสนอขอแต่งตั้ง พระราชปริยัติสุนทร (อมรภิรักษ์ ปสันโน) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดโสธรวราราม เจ้าคณะอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา ขึ้นเป็นเจ้าคณะจังหวัดฉะเชิงเทรา

ทั้งนี้เกิดขึ้นจากเจ้าคณะจังหวัดรูปเดิมคือพระธรรมปริยัติมุนี (ประยนต์ อจฺจาทโร ป.ธ.9) มีอายุครบ 80 ปี ตามกฎของมหาเถรสมาคม พระสังฆาธิการต้องเกษียณเมื่ออายุ 80 ปี จึงได้เลื่อนพระธรรมปริยัติมุนีขึ้นเป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 12 ทำให้ตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดฉะเชิงเทราว่างลง

แม้มติของมหาเถรสมาคมจะแต่งตั้งพระราชปริยัติสุนทร(เจ้าคุณอมร) เข้ามาทำหน้าที่แทน แต่พระธรรมปริยัติมุนีกลับทักท้วงมติมหาเถรสมาคมและมีพระธรรมมังคลาจารย์ (ประยงค์ ปิยวณฺโณ) เจ้าอาวาสวัดโสธรวราราม ร่วมคัดค้าน ด้วยการส่งหนังสือกราบทูล สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เพื่อให้ทรงวินิจฉัยและขอโปรดมีพระบัญชา โดยอ้างว่ามีกรณีอธิกรณ์พระราชปริยัติสุนทร เนื่องจากมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมหลายประการ

ต่อมาการประชุมมหาเถรสมาคมครั้งที่ 18/2560 วันที่ 31 กรกฎาคม 2560 สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (อมฺพรมหาเถร) ทรงเป็นประธานการประชุม ที่ประชุมมีมติรับรองมติการแต่งตั้ง พระราชปริยัติสุนทร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดโสธรวราราม ให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดฉะเชิงเทราต่อไป
คู่ชิงเจ้าคณะจังหวัดฉะเชิงเทรา พระราชปริยัติสุนทร(ซ้าย) พระราชภาวนาพิธาน(ขวา) ภาพจาก alittlebuddha
เรื่องภายในสายมหานิกาย

แหล่งข่าวจากวงการพุทธศาสนากล่าวว่า กรณีนี้เป็นเรื่องสายมหานิกายที่แต่งตั้งเจ้าคณะจังหวัดฉะเชิงเทรา ด้วยการพิจารณาพระในสังกัดของตัวเองเข้ามารับตำแหน่ง โดยคู่ชิงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดโสธรวรารามทั้งคู่ ระหว่างพระราชปริยัติสุนทรหรือเจ้าคุณอมร กับพระราชภาวนาพิธานหรือเจ้าคุณเก๋น

เมื่อพิจารณาจากคุณสมบัติดังกล่าวแล้ว มติของมหาเถรสมาคมไม่มีปัญหาอะไร แม้ทาง พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมเสน่ห์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) เลขาธิการมหาเถรฯ มีหนังสือกราบทูลสมเด็จพระสังฆราชถึงเรื่องที่มีการคัดค้าน

ระหว่างเจ้าคุณอมรกับเจ้าคุณเก๋น รายแรกดีกว่าทุกประการ แต่ไม่ได้หมายความทั้ง 2 รูปจะดีทุกเรื่อง อีกทั้งเป็นเรื่องของฝ่ายมหานิกายกันเองสายธรรมยุตต้องให้เกียรติกันไม่เข้าไปก้าวก่าย เมื่อเรื่องการแต่งตั้งเจ้าคณะจังหวัดฉะเชิงเทราก็ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากมติเดิม ดังนั้นเรื่องที่พระชั้นผู้ใหญ่ในมหาเถรสมาคมที่แสดงอาการไม่พอใจ ผอ.สำนักพุทธฯ น่าจะผ่อนคลายลง
เหตุการณ์ประท้วงเจ้าอาวาสวัดโสธรวรารามวรวิหาร เมื่อปี 2553
วัดใหญ่-เงินเยอะ

เรื่องนี้มีที่มาที่ไปพอสมควร เนื่องด้วยวัดโสธรวรารามเป็นพระอารามหลวง มีผู้คนศรัทธาในหลวงพ่อโสธรเป็นจำนวนมาก ไม่ต้องกล่าวถึงเรื่องรายได้ของวัดนี้ ถือว่าอยู่ในลำดับต้น ๆ ของประเทศ

ทั้งหมดเริ่มที่เจ้าคณะจังหวัดฉะเชิงเทรารูปเดิม พระธรรมปริยัติมุนี (ประยนต์ อจฺจาทโร ป.ธ.9) วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์ ต้องขึ้นไปเป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 12 ตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดจึงว่างลง

ตัวเต็งที่จะขึ้นมาในตำแหน่งนี้คือพระราชปริยัติสุนทรหรือเจ้าคุณอมร กับพระราชภาวนาพิธานหรือเจ้าคุณเก๋น ทั้ง 2 เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดโสธรวรารามเช่นเดียวกัน เจ้าคุณอมรเป็นเจ้าคณะอำเภอเมือง เจ้าคุณเก๋นเป็นรองเจ้าคณะจังหวัด อยู่ในสายที่ได้รับการสนับสนุนจากเจ้าอาวาสวัดโสธร

กรณีนี้ต้องเชื่อมโยงไปถึงเจ้าอาวาสวัดโสธรฯ พระธรรมมังคลาจารย์ (ประยงค์ ปิยวัณโณ) ที่เดิมเป็นเจ้าอาวาสวัดท่าสะอ้านและเจ้าคณะอำเภอบางปะกง ย้ายมาเป็นเจ้าอาวาสวัดโสธรในปี 2552 แต่ถูกต่อต้านจากผู้ช่วยเจ้าอาวาส 7 รูป หนึ่งในนั้นคือเจ้าคุณอมร ทำให้ถูกปลดจากผู้ช่วยเจ้าอาวาสตั้งแต่ปี 2553 ในที่นี้ไม่มีเจ้าคุณเก๋นรวมอยู่ด้วย

ยุคนั้นพระพรหมสุธี(เจ้าคุณเสนาะ) วัดสระเกศ ผู้ที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ไว้วางใจและเป็นว่าที่เจ้าอาวาสวัดสระเกศ โดยเจ้าคุณเสนาะเป็นเจ้าคณะภาค 12 นั่งรักษาการเจ้าอาวาสวัดโสธรอยู่ 5 ปี จากนั้นร่วมกับพระธรรมปริยัติมุนี(ประยนต์) เจ้าคณะจังหวัดฉะเชิงเทรา แต่งตั้งพระพิพิธกิจจาภิวัฒน์(ประยงค์) ตำแหน่งในขณะนั้นขึ้นเป็นเจ้าอาวาสวัดโสธรแทน

เวลานั้นเจ้าคุณเสนาะมีบทบาทมาก ดันพระในสายของตัวเองเข้ามาดำรงตำแหน่งสำคัญ เมื่อสิ้นสมเด็จเกี่ยว เจ้าคุณเสนาะได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดสระเกศแทน แต่กลับถูกสอบส่อทุจริตงบงานพระราชทานเพลิงศพสมเด็จพระพุฒาจารย์(เกี่ยว) 67 ล้านบาท

เมื่อเจ้าคุณเสนาะถูกตรวจสอบเรื่องเงินที่ใช้ในงานพระราชทานเพลิงศพสมเด็จพระพุฒาจารย์และไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ ระหว่างนี้ทางมหาเถรสมาคมได้ทำการทบทวนเรื่องการปลด 7 ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดโสธร เมื่อ 30 ตุลาคม 2557

จากนั้นสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ประธานกรรมการมหาเถรสมาคม ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ปลดพระพรหมสุธีออกจากกรรมการมหาเถรสมาคม มีผล 14 มกราคม 2558 ตามมาด้วยการสั่งพักงานพระพรหมสุธี จากตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ และเจ้าคณะภาค 12 เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2558 จากนั้นได้มีการแต่งตั้งพระพรหมสิทธิ (ธงชัย สุขญาโณ) ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสวัดสระเกศแทน จนมีการพบเจ้าคุณเสนาะมรณภาพในกุฏิเมื่อ 25 มกราคม 2559
พระพรหมสุธี(เสนาะ)-ซ้าย อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ พระพรหมสิทธิ(ธงชัย)-ขวา เจ้าอาวาสวัดสระเกศองค์ปัจจุบัน
ศึกพระชั้นพรหม

พูดง่าย ๆ ว่ากรณีเจ้าคณะจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นเรื่องการวางคนของพระระดับชั้นพรหม วัดเดียวกัน เจ้าคุณเสนาะกับเจ้าคุณธงชัยก็มีปัญหาระหว่างกัน เมื่อพระชั้นพรหมองค์ใหม่ขึ้นมาดำรงตำแหน่งสำคัญ พระในสายของชั้นพรหมคนเดิมก็ต้องยอมรับสภาพนี้ เจ้าคุณเก๋นนั้นอยู่ในสายของเจ้าอาวาสวัดโสธร ถือว่ามาจากสายเจ้าคุณเสนาะโดยตรง ส่วนเจ้าคุณอมรที่เคยต่อต้านเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันเมื่อขึ้นเป็นเจ้าคณะจังหวัดแล้ว ตำแหน่งต่อไปคือเจ้าอาวาสวัดโสธร

ดังนั้นกลุ่มที่กำลังจะสูญเสียอำนาจจึงทำหนังสือร้องเรียนต่อสมเด็จพระสังฆราช แต่กลับไม่รายงานว่ามติมหาเถรสมาคมคืนตำแหน่งให้กับ 7 ผู้ช่วยเจ้าอาวาสตั้งแต่ปี 2557

ที่จริงทั้งวัดสระเกศและวัดปากน้ำถือว่าเป็นสายเดียวกัน แต่หลังจากสิ้นสมเด็จเกี่ยว น้ำหนักเทไปอยู่ทางวัดปากน้ำที่สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) และยังเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชต่อจากสมเด็จเกี่ยว และยังแนบแน่นกับวัดพระธรรมกาย

กรณีนี้ไม่ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างใด ๆ ในมหาเถรสมาคม เนื่องจากเป็นการจัดพระในสังกัดเข้ามารับตำแหน่งระดับจังหวัด เนื่องจากวัดโสธรเป็นวัดใหญ่ ประชาชนศรัทธาในความศักดิ์สิทธิ์ขององค์หลวงพ่อโสธร เงินทำบุญ เงินบริจาคของวัดแห่งนี้มีเป็นจำนวนมาก ทุกอย่างกลายเป็นสิ่งมีมูลค่าแม้กระทั่งลานจอดรถ พระระดับปกครองจึงอยากจะได้พระในสังกัดของตัวเองเข้ามาดูแลวัดนี้

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่าในวงการพระก็ไม่ได้แตกต่างไปจากวงการอื่นๆ เรื่องของ ยศ ตำแหน่ง อำนาจ กลายเป็นสิ่งที่ไม่สามารถขจัดออกไปได้ไม่ว่าจะเป็นพระหรือฆราวาส

กำลังโหลดความคิดเห็น