xs
xsm
sm
md
lg

‘พิชิต’ เตรียมเสนอตั้ง ‘ม.วิศวกรรมระบบราง’ ชี้รถไฟไทย-จีนทำให้ไทยเชื่อมยุโรปได้ง่าย!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พิชิต อัคราทิตย์ แจงประเทศไทยได้ประโยชน์จากโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เตรียมบุคลากรรองรับการเติบโตด้านขนส่งทางราง ถึงขั้นหารือสถาบันการศึกษา จัดตั้ง ‘มหาวิทยาลัยวิศวกรรมระบบราง’ เพื่อผลิตบัณฑิตเข้าสู่ระบบ มั่นใจ Technology transfer ที่จะได้จากจีนครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดการพัฒนาต่อไปได้ และถือเป็นรถไฟความเร็วสูงสายแรกของไทยที่สามารถเชื่อมต่อไปยังยุโรปได้

หลังจากที่โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะแรก (กรุงเทพฯ-โคราช) ระยะทาง 253 กิโลเมตร วงเงิน 179,413 ล้านบาท ผ่านการอนุมัติจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม ที่ผ่านมา สังคมก็เริ่มจับตาดูว่าประเทศไทยจะได้ประโยชน์อะไรจากโครงการนี้ โดยเฉพาะประเด็นในการถ่ายทอดเทคโนโลยี (Technology transfer) ให้แก่ทีมวิศวกรของไทยจะถึงขั้นผลิตรถไฟได้หรือไม่ และเมื่อโครงการระยะแรกก่อสร้างไประยะหนึ่งก็จะมีโครงการระยะที่ 2 (โคราช-หนองคาย) ระยะทาง 394 กิโลเมตร ตามมาทันที โดยโครงการรถไฟไทย-จีน ระยะแรกจะเปิดดำเนินการได้ในปี 2564
นายพิชิต อัคราทิตย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
นายพิชิต อัคราทิตย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กำกับดูแลการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นคู่สัญญาโดยตรงกับรัฐวิสาหกิจจีนที่จะเข้ามาดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน อธิบายไว้ชัดเจน ว่าหลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติโครงการแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะต้องมีการตกลงกันในรายละเอียดของสัญญา จำนวน 2 ฉบับ คือสัญญาก่อสร้างและโยธา และสัญญาที่เกี่ยวกับการออกแบบ ควบคุมการก่อสร้าง และการวางระบบอาณัติสัญญาณ ซึ่งสัญญาทั้ง 2 ฉบับจะแล้วเสร็จภายใน 2 เดือนนี้ และเชื่อว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ภายในสิ้นเดือน ก.ย. 2560 นี้

โดยสัญญาแรกการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะลงนามร่วมกับผู้รับเหมาซึ่งเป็นคนไทย ส่วนสัญญาฉบับที่ 2 รฟท.จะลงนามร่วมกับจีน ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโครงการในส่วนนี้ โดยสัญญาดังกล่าวจะแบ่งเป็น 3 สัญญาย่อย คือ สัญญาการออกแบบ สัญญาการก่อสร้าง และสัญญาอาณัติสัญญาณของรถไฟ ซึ่งประกอบด้วย ตัวรถไฟ ตัวราง ตัวสถานี และระบบอาณัติสัญญาณ

ทั้งนี้การก่อสร้างจะแบ่งออกเป็น 4 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 สถานีกลางดง-ปางอโศก (จ.นครราชสีมา) ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร จะให้กรมทางหลวงเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง ช่วงที่ 2 ปากช่อง-คลองขนานจิตร (จ.นครราชสีมา) ระยะทาง 11 กิโลเมตร จะมีการเปิดประมูลให้บริษัทก่อสร้างของไทยเสนอตัวเข้ามา อย่างไรก็ดีทั้ง 2 ช่วงดังกล่าวจะเร่งดำเนินการก่อสร้างก่อน จากนั้นจึงก่อสร้างช่วงที่ 3 แก่งคอย-นครราชสีมา ระยะทาง 119.5 กิโลเมตร และ 4. กรุงเทพฯ-แก่งคอย ระยะทาง 119.5 กิโลเมตร โดยทั้ง 4 ช่วงจะแล้วเสร็จภายในปี 2564

โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนเป็นโครงการที่จะทำให้เศรษฐกิจของไทยขยายตัวอย่างรวดเร็ว เนื่องจาก โครงการระยะที่ 2 โคราช-หนองคาย จะเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ที่จะวิ่งไปคุนหมิง สาธารณรัฐประชาชนจีน นอกจากนั้นจีนก็กำลังก่อสร้างเส้นทางรถไฟจากจีนไปยังสหภาพยุโรป ซึ่งเท่ากับหากโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนแล้วเสร็จ ในอนาคตจะมีการเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟจากไทยไปถึงยุโรป

แน่นอนว่าธุรกิจต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์ ไม่ว่าจะเป็นการค้า การขนส่ง หรือการท่องเที่ยวของไทยและประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคแถบนี้ก็จะเติบโตตามไปด้วย

ส่วนประเด็นในเรื่องของการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากจีนซึ่งหลายฝ่ายแสดงความเป็นห่วงนั้น ที่ผ่านมาจีนได้เริ่มถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ไทยมาระยะหนึ่งแล้ว โดยทีมวิศวกรไทยได้เดินทางไปดูงานและฝึกอบรมความรู้เกี่ยวกับระบบการเดินรถของรถไฟความเร็วสูง จากนั้นในช่วงของการก่อสร้างซึ่งดำเนินการโดยวิศวกรจีนก็จะมีทีมวิศวกรของไทยเข้าไปศึกษาดูงานภาคปฏิบัติ

อย่างไรก็ดี รัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยีเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะองค์ความรู้ที่จะทำให้ไทยสามารถพัฒนาอุตสาหกรรมรถไฟความเร็วสูงได้ในอนาคต ซึ่งรัฐบาลไทยได้พูดคุยกับรัฐบาลจีนว่าเรื่องนี้ถือเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทางจีนจะต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เราตั้งแต่ต้นน้ำไปยังปลายน้ำ ขณะที่ประเทศไทยไม่ได้โฟกัสแค่ผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้เท่านั้น แต่ต้องให้ความสำคัญกับวิศวกรไทยซึ่งเป็นผู้ที่จะมารับองค์ความรู้ด้วย ซึ่งทีมของไทยต้องมีความรู้พื้นฐานที่ดีด้วย จึงต้องคัดเลือกวิศวกรที่จะรับองค์ความรู้ในแต่ละด้าน วิศวกรของไทยอาจจะรู้ในเชิงทฤษฎี ขณะที่ทางจีนเชี่ยวชาญในการปฏิบัติเนื่องจากจีนมีประสบการณ์ในการเดินรถไฟความเร็วสูงมาไม่ต่ำกว่า 10 ปี มีรถไฟความเร็วสูงตั้ง 20,000 กว่ากิโลเมตร ซึ่งถือว่ามากที่สุดในโลก

ดังนั้นการเลือกให้จีนดำเนินโครงการและไทยศึกษาเทคโนโลยีจากจีนจึงช่วยให้ไทยไม่ต้องไปเสี่ยงลองผิดลองถูก ปลอดภัยทั้งชีวิตและทรัพย์สิน อีกทั้งช่วยประหยัดต้นทุนด้วย

ขณะเดียวกันปัญหาหนึ่งที่ไม่อาจมองข้ามก็คือวิศวกรของไทยส่วนใหญ่จะมีองค์ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับระบบราง และมีจำนวนไม่น้อยที่มีความรู้เกี่ยวกับรถไฟความเร็วสูง บุคลากรเหล่านี้อาจจะทำงานด้านการออกแบบและตรวจสอบ แต่ไม่มีประสบการณ์ในภาคปฏิบัติ ขณะนี้ไทยยังขาดแคลนเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติที่จะมาทำงานในโครงการรถไฟความเร็วสูง

ในอนาคตการเดินทางด้วยระบบรางของไทยจะขยายตัวขึ้นอีกมาก ทั้งรถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูง และรถไฟฟ้า ดังนั้นกระทรวงคมนาคมจึงมีแผนที่จะสร้างและพัฒนาบุคลากรในส่วนนี้ โดยดำเนินการศึกษาและเตรียมจัดตั้ง “มหาวิทยาลัยวิศวกรรมระบบราง” เพื่อผลิตบุคลากรด้านนี้โดยเฉพาะ

ปัจจุบันมีการหารือกับการรถไฟแห่งประเทศไทยว่าจะทำอย่างไรที่จะสร้างบุคลากรด้านวิศวกรรมที่มีความรู้ทั้งในส่วนของการวางระบบราง ตัวสถานี ตัวรถไฟ ระบบไฟฟ้าที่ป้อนสู่ตัวระบบ สถานีกลางที่ควบคุมการเดินรถทั้งหมด และระบบอาณัติสัญญาณต่าง ๆ รวมถึงองค์ความรู้เกี่ยวกับการบริหารกิจการรถไฟ บริษัทรถไฟ

ปัจจุบันการรถไฟแห่งประเทศไทยก็มีโรงเรียนวิศวกรรมรถไฟ ซึ่งผลิตช่างเทคนิคที่ซ่อมบำรุงระบบรางรถไฟ นอกจากนั้นมหาวิทยาลัยหลายแห่งที่เปิดการเรียนการสอนเกี่ยวกับวิศวกรรมด้านระบบราง กระทรวงคมนาคมจะหารือกับสถาบันการศึกษาเหล่านี้ จากนั้นก็วางโครงสร้างว่ามหาวิทยาลัยรถไฟควรมีหน้าตาอย่างไร หลักสูตรการเรียนการสอนจะเป็นอย่างไร อาจารย์ผู้สอนจะมาจากไหน คือเราจะเดินหน้าเรื่องการจัดตั้งมหาวิทยาลัยรถไฟให้ได้ในรัฐบาลชุดนี้เพื่อการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต

กำลังโหลดความคิดเห็น