เปิดโปงการเรียกเก็บ 'เงินใต้โต๊ะ' ของโยธาเขต ต้นเหตุทำให้การก่อสร้างที่อยู่อาศัยทั้งในรูปแบบบ้านจัดสรรและอาคารสูงมีราคาแพง 'ผู้ประกอบการ' ยันไม่อยากจ่ายเพราะทุกอย่างเป็นต้นทุน ระบุจะมีเจ้าหน้าที่เรียกไปคุยต่อรอง ด้านACT แจงโครงการจัดสรร ต้อง'จ่ายใต้โต๊ะ 15-25 รายการ ส่วนอาคารขนาดใหญ่ 32 รายการ ชี้ชัด ๆ ยูนิตละ 2-5 หมื่น ส่วนบ้านสร้างเองถ้าต้องการเสร็จตามกำหนด ไม่อยากถูก 'เขต'กวนใจ จำสูตรนี้ไว้ บ้านราคา 3 ล้านบาทต้องควักจ่ายใต้โต๊ะ 3 แสนบาท!
ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาการเรียกรับสินบนของหน่วยงานต่างๆซึ่งถือเป็นมะเร็งร้ายที่บ่อนทำลายประเทศไทย โดยเฉพาะการก่อสร้างที่อยู่อาศัยหรืออาคารต่าง ๆ ที่อยู่ในโครงการของบริษัทพัฒนาที่ดิน รวมไปถึงการว่าจ้างบริษัทรับสร้างบ้าน ต่างต้องตกอยู่ในสภาวะเดียวกัน คือต้องจัดสรรงบจำนวนหนึ่งไว้เพื่อการจ่ายสินบนให้เจ้าหน้าที่ทีรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้โครงการสามารถเสร็จตามที่กำหนดไว้
ดังนั้นสินบนตัวนี้จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประชาชนต้องซื้ออสังหาริมทรัพย์ในรูปต่าง ๆ และการว่าจ้างบริษัทรับสร้างบ้านในราคาที่แพงเกินจริง เนื่องเพราะผู้ประกอบการได้บวกต้นทุน'สินบน' เพื่อแลกกับการทำให้โครงการเดินหน้าไปได้
“เราต้องขอใบอนุญาติปลูกสร้างกับหน่วยงานที่รับผิดชอบ อยู่ กทม.ขอสำนักงานเขต อยู่พื้นที่เทศบาล ต้องขอเทศบาล องค์กรบริหารท้องถิ่น อบต.พื้นที่ เป็นต้น การจะได้ใบอนุญาติก็ต้องมีค่าน้ำร้อนน้ำชากัน เพื่อให้ใบอนุญาติออกมาได้รวดเร็ว จะได้ลงมือก่อสร้างได้ทันเวลา"
ทั้งนี้จากการรวบรวมข้อมูลโดยองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) หรือ ACT พบว่าโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ต้องจ่ายใต้โต๊ะ 1.5 - 2.7 หมื่นบาทต่อยูนิตก่อสร้าง ขณะที่โครงการขนาดเล็กต้องจ่ายประมาณ 2 - 5 หมื่นบาทต่อหลัง แต่หากเป็นกรณีที่มีการหลีกเลี่ยงกฎหมายบางอย่างก็อาจต้องจ่ายสูงถึงร้อยละ 10 ของต้นทุน เช่น บ้านราคา 3 ล้านบาทต้องจ่ายสารพัดเงินสินบนถึง 3 แสนบาท
“ ตัวอย่างโครงการก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยสูง 19 ชั้น ห้องชุด ประมาณ 500 ยูนิต บวกกับห้องชุดร้านค้าอีก 5 ยูนิต ก็เท่ากับจำนวน 505 ยูนิต คูณด้วยสินบนต่อห้อง 2.7 หมื่น จะเป็นเงินใต้โต๊ะเกือบ 14 ล้านบาทที่เป็นเงินกินเปล่า”
หากคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของมูลค่าโครงการแล้วเท่ากับว่า โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่จะต้องเสียเงินใต้โต๊ะ 1-3% ของงบประมาณก่อสร้าง ขณะที่โครงการขนาดเล็ก ต้องเสีย 5-7% ของงบประมาณก่อสร้าง ส่วนโครงการที่ต้องการก่อสร้างแต่มีปัญหาบางอย่างที่ไม่ถูกกฎหมาย จะถูกเรียกเก็บเงินใต้โต๊ะสูงถึง 10% ของงบประมาณก่อสร้าง
แม้แต่การก่อสร้างบ้านของตัวเอง คนส่วนใหญ่ก็ยังต้องจ่ายใต้โต๊ะประมาณ 1 - 3 หมื่นบาท โดยเจ้าของบ้านอาจจ่ายด้วยตนเองหรือจ่ายผ่านสถาปนิกผู้ออกแบบหรือผู้รับเหมาก่อสร้าง แต่ถ้าเป็นการก่อสร้างอาคารพาณิชย์ เช่น อพาร์ทเม้นท์ โรงงาน อาคารสำนักงาน ร้านอาหาร ราคาจะสูงกว่านี้มากตามแต่กรณีและพื้นที่
“ปกติการว่าจ้างบริษัทรับสร้างบ้านมาปลูกบ้าน นั้น บริษัทเค้าจะคิดไว้เรียบร้อยเพื่อที่จะต้องจ่ายให้กับเขตตั้งแต่ช่วงการยื่นขอใบอนุญาติปลูกสร้าง เพื่อให้ใบอนุญาตออกมารวดเร็ว และบางครั้งในระหว่างการก่อสร้างถ้าไม่ต้องการให้เจ้าหน้าที่เขตมาวนเวียนตรวจก็ต้องคุยกันไว้ชัดเจน งานก่อสร้างก็จะไปได้รวดเร็ว”
จากการสำรวจยังพบว่า จำนวนใบอนุญาตอนุมัติที่ผู้ประกอบธุรกิจบ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียมต้องจ่ายค่าอำนวยความสะดวกเพื่อมิให้มีการกลั่นแกล้งหรือดึงเรื่องให้ชักช้านี้ แต่ละโครงการอาจต้องจ่ายมากถึง 15 - 25 รายการ อาทิ การออกหรือแยกโฉนด ใบอนุญาตจัดสรรฯ ใบอนุญาตก่อสร้าง ขอติดตั้งไฟฟ้า-น้ำประปา ค่าจดโอนกรรมสิทธิ์ให้ลูกค้า ค่าทำถนนหรือสะพานเชื่อมทาง เป็นต้น
นอกจากนี้ในระหว่างดำเนินการก่อสร้าง ยังต้องจ่ายเงินเบี้ยบ้ายรายทางให้กับเจ้าหน้าที่ที่มาเรียกเก็บเป็นรายเดือนโดยไม่มีใบเสร็จอีกจำนวนมาก โดยพบว่าโครงการขนาดใหญ่บางรายต้องจ่ายให้กับผู้มาเรียกเก็บมากถึง 32 รายการ โดยหาข้ออ้างหรือข้อหาที่ใช้เรียกเงินไม่ว่าจะมีการทำผิดจริงหรือไม่ก็ตาม เช่น ส่งเสียงรบกวนผู้อื่น รถขนดินหกเรี่ยราด มีการใช้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ไม่ป้องกันฝุ่นละออง ค่าดูแลในพื้นที่ เป็นต้น
ดร. มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) หรือ ACT แสดงทัศนะที่น่าสนใจว่า “เนื่องจากแต่ละโครงการมีมูลค่าสูง และส่วนใหญ่ลงทุนด้วยเงินกู้ ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีดอกเบี้ย ดังนั้นหากโครงการล่าช้าภาระดอกเบี้ยก็ยิ่งสูง บางโครงการค่าดอกเบี้ยวันละเป็นแสน ถ้าเป็นผู้รับเหมาที่รับงานจากเจ้าของโครงการก็ต้องมีกำหนดส่งมอบงาน ถ้างานล่าช้ากว่ากำหนดก็ถูกปรับ เจ้าของโครงการและผู้รับเหมาจึงยอมจ่ายใต้โต๊ะเพื่อให้งานเดินไปได้ตามกำหนด ที่โดนกันหนักสุดคือเรื่องแรงงานต่างด้าว มีทั้งตำรวจ เจ้าหน้าที่แรงงาน มาเรียกกันเต็มไปหมด ถึงจะเป็นแรงงานต่างด้าวที่ได้รับการอนุญาตตามกฎหมายก็โดน บางทีนี่มาจอดรถเฝ้าหน้าไซต์งานทั้งวัน คนงานก็กลัว วันนั้นทั้งวันทำงานไม่ได้เลย ผู้รับเหมาก็ต้องจ่าย แล้วยังไงเขาก็ต้องเอามาบวกเป็นค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างโครงการ เจ้าของโครงการก็เอามาบวกในราคาขาย สุดท้ายภาระก็ตกอยู่ที่ผู้ซื้อบ้าน”
ด้าน นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ รองประธานอนุกรรมาธิการศึกษา เสนอแนะมาตรการและกลไกการปราบปรามการทุจริต และประพฤติมิชอบ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ระบุว่า เนื่องจากในการสร้างบ้านแต่ละครั้งมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติเรื่องต่างๆอยู่หลายหน่วยงาน และมีระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องค่อนข้างเยอะ จึงเป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่เรียกรับผลประโยชน์ได้ง่าย
" ส่วนใหญ่เจ้าของบ้านหรือเจ้าของโครงการจะยอมจ่ายเพื่อซื้อความสะดวก เพราะถ้าไม่จ่ายเรื่องก็ไม่เดินสักที ต่อให้ทำทุกอย่างถูกต้องตามกฎหมายถ้าเจ้าหน้าที่ต้องการดึงเรื่องก็สามารถทำได้ งานเยอะพิจารณาไม่ทัน ผิดตรงโน้น ต้องแก้ตรงนี้ สารพัดข้ออ้าง ไม่เซ็นอนุมัติสักที สุดท้ายก็ต้องยอมจ่าย แต่ก็มีไม่น้อยที่โครงการมันขัดระเบียบจริงๆ หรือลงทุนไปแล้วเพิ่งมารู้ว่ามันขัดระเบียบ เช่น จะสร้างคอนโด แต่บริเวณนี้ผังเมืองระบุว่าห้ามสร้างอาคารสูง ก็ต้องวิ่งจ่ายเงิน เจ้าหน้าที่ก็หยวนๆให้ผ่าน ซึ่งอัตราการจ่ายก็ไม่ตายตัว ขึ้นกับกรณีและพื้นที่ คือถ้าพื้นที่ที่มีมูลค่าทางธุรกิจสูงก็ต้องจ่ายแพง” นายชาญชัย กล่าว
ขณะที่ข้อมูลจากบรรดาผู้ที่ขออนุญาตสร้างบ้านต่างส่วนใหญ่ต่างระบุว่าเคยมีประสบการณ์ถูกเรียกรับเงินใต้โต๊ะในทุกขั้นตอนของการก่อสร้าง แต่ที่พบมากสุดคือช่วงของการยื่นขออนุมัติแบบก่อสร้างจากฝ่ายโยธาเขต โยธาเทศบาล หรือโยธา อบต. โดยอัตราการเรียกรับอยู่ที่ 10,000-30,000 บาท ทั้งที่จริงๆแล้วการอนุมิติแบบก่อสร้างจะเสียค่าธรรามเนียมเพียง 100 กว่าบาท- 200 บาทเท่านั้น ซึ่งขั้นตอนนี้อัตราการเรียกเงินใต้โต๊ะจะใกล้เคียงกับการอนุญาตก่อสร้าง ซึ่งจะอยู่ที่ 20,000-30,000 บาท
ส่วนการขออนุญาตซ่อมแซมบ้าน อัตราเรียกรับเงินใต้โต๊ะอยู่ที่ 3,000 บาท การขออนุญาตต่อเติมบ้าน อยู่ที่ 5,000 บาท ยังไม่นับรวม การขออนุญาตรื้อถอน ขออนุญาตถมที่ ขออนุญาตก่อสร้างรั้ว ซึ่งอยู่ที่เจ้าหน้าที่จะเรียกเก็บ นอกจากนั้นยังมีค่าเร่งงาน ซึ่งเจ้าของบ้านยอมจ่ายเพื่อให้การเซ็นอนุมัติในแต่ละขั้นตอนเป็นไปด้วยความรวดเร็ว และบางรายแม้จะสร้างบ้านเสร็จแล้วเจ้าหน้าที่ก็ยังใช้ข้ออ้างต่างๆเพื่อเรียกรับเงินใต้โต๊ะซ้ำอีก
อย่างไรก็ดี เจ้าของส่วนใหญ่คิดว่าจำเป็นต้องยอมจ่ายเพื่อซื้อความสะดวก ทำให้บางกรณีกว่าจะสร้างบ้านเสร็จเจ้าของบ้านต้องจ่ายใต้โต๊ะไปนับแสนบาทเลยทีเดียว
ขณะที่ นายสรรค์ สุขุขาวดี ที่ปรึกษาอาวุโส บริษัท แอล. พี. เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ได้แสดงความคิดเห็นในมุมมองภาคเอกชนผู้ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ว่า
“จริงๆแล้วผู้ประกอบการไม่มีใครอยากจ่ายใต้โต๊ะเพราะทุกอย่างเป็นต้นทุน การไปยื่นใบอนุญาตก่อสร้างในแต่ละครั้ง จะมีเจ้าหน้าที่เรียกไปคุยก่อน เพื่อต่อรองกันเรื่อง ‘การแบ่งปันรายได้’ ซึ่งเหตุผลที่ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจในการต่อรองมี 2 ประเด็นหลักคือ การที่ผู้ประกอบการทำผิดกฎหมาย และการซื้อเวลา ดังนั้นจึงอยากให้หน่วยงานรัฐ จัดตั้ง One Stop Service เพื่อให้การทำงานต่างๆ รวดเร็วขึ้น”
จากสถานการณ์ที่เป็นอยู่เห็นได้ชัดว่าปัญหา “เงินใต้โต๊ะ” คงไม่มีทางหมดไปจากสังคมไทย หาก “คนไทย” จะลุกขึ้นมาต่อต้านการคอร์รัปชั่น และสร้างวัฒนธรรมใหม่ที่ให้คุณค่ากับการปฏิบัติราชการด้วยความโปร่งใส และไม่ยินยอมที่จะจ่ายเงินเพื่อซื้อความสะดวก