xs
xsm
sm
md
lg

ปปง.เดินหน้ายึดทรัพย์ “ ทักษิณ-โอ๊ค-เอม”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เร่งดำเนินคดี “โกงภาษีหุ้นชินคอร์ป” งัดกฎหมาย ปปง. มาตรา 3(5) ดำเนินการอายัด-ยึดทรัพย์ทักษิณและพวก

นับเป็นคดีประวัติศาสตร์ที่ถูกกล่าวหาว่ามีการใช้อำนาจเล่ห์เหลี่ยมกลโกงชนิดที่ไม่เคยปรากฏในตำราเล่มไหนมาก่อน สำหรับ “คดีโกงภาษีในการขายหุ้นชินคอร์ปฯ” ที่ยังยืดเยื้อยาวนานมาถึง 10 ปี คดีจวนเจียนจะหมดอายุความก็ยังไม่มีการเรียกเก็บภาษีจาก “โอ๊ค-นายพานทองแท้ ชินวัตร” และ “เอม- นางพินทองทา คุณากรวงศ์” ลูกชายและลูกสาวของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ออกหน้าถือหุ้นและดำเนินการขายหุ้นแทน “นายทักษิณ” ซึ่งเป็นเจ้าของหุ้นตัวจริง ทั้งที่มีหลักฐานทุกอย่างชัดเจน

ขณะเดียวกันก็มีประเด็นความสับสนในเรื่องบุคคลที่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีว่าเป็น “โอ๊คกับเอม” หรือ “ทักษิณ” กันแน่ กระทั่งสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ต้องออกมาจี้ให้กรมสรรพากรเร่งดำเนินการ พร้อมทั้งกำชับว่าถ้ายังเพิกเฉยจะมีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

งานนี้รัฐบาลหาได้นิ่งนอนใจ โดยรองนายกฯ วิษณุ เครืองาม ได้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเก็บภาษีหุ้นชินคอร์ป เพื่อหาทางออก โดยได้ข้อสรุปให้ดำเนินการพร้อมกันใน 2 ช่องทาง คือ

แนวทางแรก ที่ประชุมเห็นว่าควรใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 820, 821 และคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง ที่เรียกภาษี 12,000 ล้านบาทจากโอ๊คและเอม มาดำเนินการ เนื่องจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 820 บัญญัติว่า “ตัวการย่อมมีความผูกพันต่อบุคคลภายนอกในกิจการทั้งหลายอันตัวแทนหรือตัวแทนช่วงได้ทำไปภายในขอบอำนาจแห่งฐานตัวแทน” และมาตรา 821 ระบุว่า “บุคคลผู้ใดเชิดบุคคลอีกคนหนึ่งออกแสดงเป็นตัวแทนของตนก็ดี รู้แล้วยอมให้บุคคลอีกคนหนึ่งเชิดตัวเขาเองออกแสดงเป็นตัวแทนของตนก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริตเสมือนว่าบุคคลอีกคนหนึ่งนั้นเป็นตัวแทนของตน” ดังนั้นเมื่อพฤติการณ์ในการขายหุ้นชินคอร์ปครั้งนี้ชี้ชัดว่า “โอ๊ค และเอม” คือตัวแทนของทักษิณ กรมสรรพากรจึงต้องไปเรียกเก็บภาษีจาก “นายทักษิณ”

แนวทางที่สอง ที่ประชุมได้มอบให้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน กลับไปศึกษาคำพิพากษาคดีเรียกเก็บภาษีของ นายพานทองแท้ และนางพินทองทา ลูกของนายทักษิณ ว่ามีส่วนใดในคำพิพากษาที่นำมาดำเนินคดีเกี่ยวกับการฟอกเงินได้อีกบ้าง เพราะฐานความผิดเกี่ยวกับการเลี่ยงภาษี ยังไม่สามารถดำเนินการเป็นคดีเกี่ยวกับการฟอกเงิน ซึ่งความผิดนี้ไม่มีวันสิ้นสุดของอายุความได้
พล.ต.อ.ชัยยะ ศิริอำพันธ์กุล เลขาธิการ ปปง.
ซึ่งทางด้าน พล.ต.อ.ชัยยะ ศิริอำพันธ์กุล เลขาธิการ ปปง. ได้ขานรับนโยบายทันที โดยระบุว่า ปปง.มีหน้าที่สนับสนุนข้อมูลการติดตามทรัพย์สินของนายทักษิณ ซึ่งตามกฎหมายการฟอกเงินถือว่าไม่มีปัญหา เพราะถ้ากลายเป็นคดีฟอกเงิน คดีไม่มีหมดอายุความ สามารถสืบและยึดทรัพย์ย้อนหลังไปได้ ต่อให้เวลาผ่านไปแล้วหลายปีก็ตาม

สำหรับการดำเนินการตามแนวทางแรกนั้น กรมสรรพากรได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ไปแปะจดหมายประเมินภาษีพร้อมเบี้ยปรับ เพื่อเรียกเก็บจากนายทักษิณ ที่หน้าบ้านจันทร์ส่องหล้า ในวงเงินรวม 17,629.58 ล้านบาท ก่อนที่คดีจะหมดอายุความแค่วันเดียวเท่านั้น ซึ่งการดำเนินการตามแนวทางนี้นั้นดูท่าว่าการเรียกเงินภาษีคืนจากนายทักษิณนั้นคงไม่ใช่ง่ายๆ เพราะล่าสุดทักษิณได้ส่งทนายไปยื่นอุทธรณ์ต่อสู้คดีแล้ว ทางกรมสรรพากรจึงมอบหมายให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ดำเนินการพิจารณา
นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร
ขณะที่ นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร ออกมาระบุว่า เรื่องนี้คณะกรรมการฯ มีเวลาพิจารณา 2 ปี และหากนายทักษิณในฐานะผู้เสียภาษีไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ภาษีก็ยังสามารถฟ้องศาลภาษีอากรได้อีก

ดังนั้นจึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าการดำเนินการตามแนวทางนี้ คดีจะยืดเยื้อลากยาวไปอีกนานแค่ไหน อีกทั้งยังไม่สามารถมั่นใจได้ว่าสุดท้ายแล้วกรมสรรพากรจะเรียกเก็บภาษีจากนายทักษิณได้หรือไม่ ?

ส่วนการดำเนินการตามแนวทางที่สองนั้น ทาง ปปง.เร่งเดินหน้าอย่างเต็มที่ โดยศึกษาช่องทางกฎหมายที่จะนำมาใช้ในการดำเนินคดีโกงภาษีหุ้นชินฯ ซึ่งการดำเนินงานของ ปปง.นั้น สอดคล้องกับความเคลื่อนไหวของคณะกรรมาธิการวิสามัญขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (สปท.) ซึ่งได้หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณา ภายใต้หัวข้อ “กรณีข้าราชการกรมสรรพากรเอื้อประโยชน์ให้เอกชนไม่ต้องเสียภาษีจากการขายหุ้น” และได้เชิญตัวแทนของ ปปง. และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มาร่วมกันศึกษาหาทางออก

กระทั่งได้ข้อสรุปร่วมกันว่า “คดีโกงภาษีหุ้นชินคอร์ป” สามารถนำ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือที่เรียกกันว่า “กฎหมาย ปปง.” มาตรา 3 (5) มาดำเนินการอายัดและยึดทรัพย์นายทักษิณและพวก เพื่อนำเงินมาชดเชยเงินภาษีที่รัฐถูกโกงไป

โดยที่ประชุมมีความเห็นว่าในการพิจารณา “คดีโกงภาษีในการขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปฯ” นั้นศาลอาญาได้ตัดสินให้ นางเบญจา หลุยเจริญ อดีตรองอธิบดีกรมสรรพากร (จำเลยที่ 1) และอดีตผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย กรมสรรพากร ทั้ง 3 คน ได้แก่ น.ส.จำรัส แหยมสร้อยทอง (จำเลยที่ 2) น.ส.โมรีรัตน์ บุญญาศิริ (จำเลยที่ 3) และนายกริช วิปุลานุสาสน์ (จำเลยที่ 4) มีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และ 83 จึงให้จำคุกคนละ 3 ปี

และตัดสินว่า น.ส.ปราณี เวชพฤกษ์พิทักษ์ (จำเลยที่ 5) ซึ่งเป็นคนใกล้ชิดของเลขานุการส่วนตัวคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ อดีตภรรยาของนายทักษิณ ชินวัตร มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนให้เจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และ 86 มีโทษ 2 ใน 3 จึงให้จำคุกเป็นเวลา 2 ปี

คำตัดสินดังกล่าวของศาลเห็นได้ชัดว่าเข้าองค์ประกอบของกฎหมาย ปปง. มาตรา 3 (5) ซึ่งระบุว่า...เจ้าหน้าที่ และผู้ถูกกล่าวหารายใด กระทำการทุจริตต่อหน้าที่ และร่วมกันทุจริต ถือเป็นความผิดที่เข้าข่ายมูลฐานการฟอกเงิน อันจะนำไปสู่การอายัดทรัพย์ และพิจารณายึดทรัพย์ต่อไป

โดยผู้กระทำผิดในกรณีนี้นั้น นอกจากจำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 5 แล้ว ยังหมายรวมถึง นายทักษิณ นายพานทองแท้ และนางพินทองทา ซึ่งถือเป็นผู้ร่วมกระทำผิดอย่างชัดแจ้งด้วย ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถดำเนินการอายัดและพิจารณายึดทรัพย์บุคคลดังกล่าวได้ทันที

ที่สำคัญ กฎหมายฟอกเงินยังไม่มีอายุความ ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงไม่ต้องวิตกว่าคดีดังกล่าวอาจจะถูกยื้อถ่วงเวลาจนหมดอายุความและไม่สามารถทวงทรัพย์สินที่ควรเป็นของแผ่นดินกลับคืนมาได้ อย่างหลายคดีที่เคยเกิดขึ้นในอดีต
นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์
นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ หนึ่งในกรรมาธิการวิสามัญขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) พูดถึงที่มาในการหยิบยกกรณีปัญหาคดีโกงภาษีหุ้นชินคอร์ป ขึ้นมาศึกษาพิจารณาว่า

เนื่องจากเราคาดการณ์ว่าคดีนี้น่าจะมีการดึงเกม อ้างข้อกฎหมาย เพื่อจะไม่เรียกเก็บภาษี แล้วก็จะปล่อยให้อายุความหมดไป เมื่อถูกกระแสสังคมโจมตี ผู้ที่เกี่ยวข้องก็อาจจะหาทางในการเรียกเก็บ แต่โอกาสที่คดีจะหลุดก็มีมาก ตอนนี้แม้กรมสรรพากรจะไปยื่นแปะจดหมายเรียกภาษีจากคุณทักษิณ แต่คุณทักษิณก็ต้องอุทธรณ์ แล้วก็ต้องไปสู้กันในชั้นศาลอีก แล้วที่ผ่านมากรมสรรพากรก็เคยไปให้การในศาลว่าเก็บภาษีคุณทักษิณไม่ได้ เพราะศาลไปยึดทรัพย์คุณทักษิณมาหมดแล้ว มันก็วนเวียนอยู่อย่างนี้ไม่จบ แต่ถ้าใช้ กฎหมาย ปปง. มาตรา 3(5) โดยให้ ป.ป.ช ทำเรื่องถึง ปปง. ให้ดำเนินการ โดยอายัดทรัพย์ทั้งหมดเพื่อมาพิสูจน์กันว่า ทรัพย์ที่ได้จากการโกงภาษีเข้าข่ายการฟอกเงินหรือไม่ ถ้าใช่ก็สามารถยึดทรัพย์คืนให้แผ่นดินได้ ซึ่งตรงนี้เป็นกฎหมายปกติที่สามารถทำได้ ไม่ใช่กฎหมายพิเศษใด ๆ ทั้งสิ้น เรื่องนี้เรายื่นให้ท่านนายกรัฐมนตรีไปแล้ว ทุกอย่างก็เป็นไปตามขั้นตอน

ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการฯ ของ สปท. ได้นำความเห็นและข้อสรุปดังกล่าวเสนอต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แล้ว ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามขั้นตอน โดย ป.ป.ช. ในฐานะเจ้าของเรื่องที่ยื่นฟ้อง “คดีโกงภาษีหุ้นชินคอร์ป” ได้ประสานไปยัง ปปง. ซึ่งมีหน้าที่ในการตรวจสอบและดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน เพื่อให้พิจารณาดำเนินการในเรื่องนี้ โดยล่าสุด ปปง.อยู่ในขั้นตอนการนำเรื่องเข้าสู่คณะกรรมการกลั่นกรองเรื่อง เพื่อนำเสนอให้คณะกรรมการ ปปง. ดำเนินการต่อไป

ช่วงกลางเดือน มิ.ย.นี้ คณะกรรมาธิการวิสามัญขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (สปท.) จะเชิญ ปปง.มาสอบถามความคืบหน้าในการดำเนินคดีดังกล่าว เพื่อเร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการในเรื่องนี้อย่างจริงจัง

เชื่อมั่นได้ว่าการดำเนินการตามแนวทางนี้จะทำให้การทวงคืนทรัพย์สินที่เกิดจากการโกงภาษีของนายทักษิณกลับมาเป็นของแผ่นดินได้อย่างรวดเร็ว

กำลังโหลดความคิดเห็น