สมาคมสภาการศึกษาเอกชนฯ ยื่นหนังสือให้ประธาน สนช. พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ฉบับใหม่ ชี้โรงเรียนเอกชนได้รับผลกระทบทั่วประเทศ ต้องเสียภาษีสูงกว่าอัตราเดิมเป็นหลายสิบเท่า “มาแตร์” จ่ายเพิ่ม 140 เท่า “อัสสัมศรีราชา” จ่ายเพิ่ม 88 เท่า “ยอเซฟอุปถัมภ์ นครปฐม” จ่ายเพิ่ม 66 เท่า “มงฟอร์ต เชียงใหม่” จ่ายเพิ่ม 61 เท่า “โรงเรียนพระวิสุทธิวงศ์ ปทุมธานี” จ่ายเพิ่ม 53 เท่า ระบุ หากไม่ได้รับการแก้ไข โรงเรียนหลายแห่งเตรียมปิดตัวเอง ส่วนทางออกเดียวคือต้องขอขึ้นค่าเทอมเพื่อผลักภาระภาษีไปให้ผู้ปกครองแทน !
จากการที่ special scoop ได้นำเสนอข่าวเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ......ฉบับใหม่ ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ......ที่มี นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธาน กมธ.วิสามัญฯ และคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2562 ซึ่งมีการนำเสนอมาแล้ว 2 ตอน “พ.ร.บ.ที่ดินบีบ “คนจน-คนชั้นกลาง” อยู่ยาก ภาษีโหด ใครไม่จ่ายถูกยึดทรัพย์สิน” และ “ล้วงลึก พ.ร.บ.ที่ดินฉบับใหม่ คนมี “ทรัพย์สิน” มีสิทธิติดคุกได้ง่าย!”
ส่วนในตอนที่ 3 จะเป็นเรื่องผลกระทบของร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ ต่อโรงเรียนเอกชนทั่วประเทศ ซึ่งมีการประชุมปรึกษาหารือกันแล้วพบว่าร่าง พ.ร.บ.ภาษีฯ ตัวนี้ทันทีที่มีผลบังคับใช้จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงกับโรงเรียนเอกชนที่จะต้องหาเงินมาจ่ายภาษีดังกล่าวเป็นมูลค่าที่สูงจากเดิมเป็น 100 กว่าเท่า และหนทางเดียวที่จะทำให้โรงเรียนเอกชนอยู่ได้ก็คือ ต้องขึ้นค่าเทอม เพื่อผลักภาระไปให้ผู้ปกครองรับผิดชอบจ่ายภาษีแทน ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้บริหารโรงเรียนไม่ต้องการให้เกิดขึ้นแต่อย่างใด
อย่างไรก็ดี สมาคมสภาการศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย ได้ทำหนังสือถึงประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อชี้แจงถึงผลกระทบจากร่าง.พ.ร.บ ภาษีที่ดินฯ ต่อโรงเรียนเอกชนในการแบกรับภาระที่ต้องถูกจัดเก็บภาษีในอัตราการใช้ประโยชน์ด้านอื่น ๆ ซึ่งมีอัตราการชำระภาษีสูงกว่าอัตราเดิมที่ชำระอยู่ในปัจจุบัน ตัวอย่างเช่น โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย จะต้องเสียภาษีสูงกว่าเดิมประมาณ 140 เท่า และถ้าต้องเสียในอัตราที่ลดให้ร้อยละ 90 ก็ยังต้องเสียภาษีสูงกว่าเดิมประมาณ 14 เท่า หรือ 1,400 %
“ มาแตร์ฯ มีมูลค่าที่ดินประเมิน 3,729,425,000.00 มูลค่าสิ่งปลูกสร้างประเมิน 93,444,697.00 แต่มีมูลค่าทรัพย์สินรวม 3,822,869,696.00 หากเสียภาษีตามร่าง พ.ร.บ.ที่ดินฉบับใหม่ จะต้องจ่ายภาษี 45,003,045,44 แต่กฎหมายนี้ให้อำนาจลดได้ถึงร้อยละ 90 ก็ยังคงต้องจ่าย 4,500,304,54 โดยปัจจุบันมาแตร์จ่ายเพียง 350,000.00 เท่านั้น”
ขณะที่โรงเรียนอัสสัมชัญ ศรีราชา จังหวัดชลบุรี จะต้องเสียภาษีสูงกว่าเดิมประมาณ 88 เท่า และถ้าต้องเสียในอัตราที่ลดให้ร้อยละ 90 ก็ยังต้องเสียภาษีสูงกว่าเดิมประมาณ 8.8 เท่า
โรงเรียนแม่พระประจักษ์ จังหวัดสุพรรณฯ จะต้องเสียภาษีสูงกว่าเดิมประมาณ 81 เท่า และถ้าต้องเสียในอัตราที่ลดให้ร้อยละ 90 ก็ยังต้องเสียภาษีสูงกว่าเดิมประมาณ 8.1เท่า
โรงเรียนยอเซฟอุปถัมภ์ จงหวัดนครปฐม จะต้องเสียภาษีสูงกว่าเดิมประมาณ 66 เท่า และถ้าต้องเสียในอัตราที่ลดให้ร้อยละ 90 ก็ยังต้องเสียภาษีสูงกว่าเดิมประมาณ 6.6 เท่า
โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ จะต้องเสียภาษีสูงกว่าเดิมประมาณ 61 เท่า และถ้าต้องเสียในอัตราที่ลดให้ร้อยละ 90 ก็ยังต้องเสียภาษีสูงกว่าเดิมประมาณ 6.1 เท่า
โรงเรียนพระวิสุทธิวงศ์ จังหวัดปทุมธานี จะต้องเสียภาษีสูงกว่าเดิม ประมาณ 53 เท่าและถ้าต้องเสียในอัตราที่ลดให้ร้อยละ 90 ก็ยังต้องเสียภาษีสูงกว่าเดิมประมาณ 5.3เท่า
วิทยาลัยเทคโนโลยีพาณิชยการหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา จะต้องเสียภาษีสูงกว่าเดิมประมาณ 13 เท่า และถ้าต้องเสียในอัตราที่ลดให้ร้อยละ 90 ก็ยังต้องเสียภาษีสูงกว่าเดิมประมาณ 1.3 เท่า เป็นต้น
แหล่งข่าวจาก สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ระบุว่า โรงเรียนเอกชนทั่วประเทศมีความกังวลว่า ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ ฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ในอัตราตามที่กำหนดไว้ในร่าง ซึ่งในความเป็นจริงทาง สมาคมสภาการศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย ก็เข้าใจว่าร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ เป็นแนวคิดที่ดีในการใช้มาตรการทางภาษีเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและการกระจุกตัวของการถือครองที่ดิน แต่กฎหมายดังกล่าวส่งผลกระทบต่อโรงเรียนเอกชนอย่างมาก เพราะเป็นอัตราที่สูงกว่าเดิมมากทั้งที่โรงเรียนเอกชนได้ช่วยรัฐในการจัดการศึกษา
“ ร่าง พ.ร.บ.นี้ทำให้เกิดความไม่เสมอภาคในเรื่องการจัดการศึกษา ระหว่างโรงเรียนเอกชน และโรงเรียนของรัฐที่ไม่ต้องมีภาระในการเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำมากขึ้น”
อีกทั้งในร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ ฉบับนี้ยังกำหนดไว้ในมาตรา 51-53 ว่า การลดภาษีสำหรับที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างบางประเภทโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพความจำเป็นทางเศรษฐกิจ สังคม เหตุการณ์ กิจการหรือสภาพแห่งท้องที่ แต่ต้องไม่ลดเกินร้อยละ 90 ของจำนวนภาษีที่จะต้องชำระ
" ขนาดลด 90 และต้องจ่าย 10% โรงเรียนเอกชนยังได้รับผลกระทบที่สูงขึ้นมาก เช่นโรงเรียนมาแตร์ ต้องจ่ายเพิ่ม 14 เท่า จากที่เคยเสีย ซึ่งถ้าคณะกรรมการจะลดเพียง 80 และให้โรงเรียนเอกชนจ่ายถึง 20% ก็เป็นสิ่งที่ทำได้เพราะกฎหมายให้อำนาจไว้ต้องไม่ลดเกินร้อยละ 90 ซึ่งถ้ามาแตร์ต้องจ่ายถึง 20 % ก็จะเสียเพิ่มเป็น 28 เท่า หรือจะไม่มีการลดจะเก็บ 100% ก็เป็นสิทธิ์ที่คณะกรรมการทำได้”
โดยจากการศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบในกลุ่มสมาชิกสมาคมสภาการศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย บอกว่า หากไม่มีการปรับแก้อัตราภาษีในร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ ฉบับนี้ โรงเรียนเอกชนทั่วประเทศจะได้รับผลกระทบจากกฎหมายนี้อย่างมาก เพราะที่ผ่านมาจำนวนนักเรียนในโรงเรียนรัฐและเอกชนก็มีอัตราการเข้าเรียนน้อยลงตามอัตราการเกิดของจำนวนประชากรอยู่แล้ว ซึ่งตรงนี้โรงเรียนเอกชนก็พยายามอย่างยิ่งที่จะแก้ปัญหาของโรงเรียนเองโดยไม่ไปขึ้นค่าเทอม ซึ่งจะเป็นภาระของผู้ปกครอง
แต่ถ้าโรงเรียนเอกชนจะต้องเสียภาษีที่มีอัตราสูงขึ้นกว่าเดิมเป็นหลายเท่าตัวก็คงได้เห็นโรงเรียนที่แบกภาระไม่ไหวต้องปิดตัวเอง โดยเฉพาะโรงเรียนที่อยู่ในเขตพื้นที่ที่มีราคาประเมินที่ดินในอัตราสูง
“ บุคลากรในโรงเรียนเอกชน ถ้าปิดกิจการก็ต้องเลิกจ้าง คนเหล่านี้ก็ต้องเดือดร้อน ต้องหางานทำใหม่ นักเรียนก็ต้องหาที่เรียนกันใหม่ หรือหากไม่ปิดยังคงดำเนินการต่อไป ก็อาจต้องลดจำนวนบุคลากร และยังไม่สามารถปรับเพิ่มเงินเดือนประจำปีให้กับคนที่อยู่ต่อไปได้”
ส่วนโรงเรียนเอกชนที่ยังคงดำเนินการต่อไป ก็ต้องใช้หนทางเดียวคือการปรับขึ้นค่าเทอม และอัตราค่าธรรมเนียมต่าง ๆ เพื่อนำรายได้ไปจ่ายภาษีที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นการสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ปกครองโดยตรง
“ถ้าต้องจ่ายภาษีแบบนี้ ก็ต้องแก้ด้วยวิธีขึ้นค่าเทอม ผลักภาระไปให้ผู้ปกครองจ่ายภาษีแทน”
นอกจากนี้ในการหารือกันภายในโรงเรียนเอกชนทุกคนต่างเข้าใจเหตุผลที่รัฐบาลต้องออก พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฉบับนี้ แต่ยังคงเห็นว่าหากเป็นไปได้และโรงเรียนเอกชนไม่ต้องแบกรับภาระมากเกินไปก็อยากให้ ลดลงจากที่กำหนด ได้ไม่เกินร้อยละ 95 ของภาษีที่ต้องจ่ายตามเกณฑ์ โดยเสียภาษีในอัตราร้อยละ 5 ของภาษีที่ต้องจ่ายตามเกณฑ์
“ภาษีที่ต้องชำระคือ 5% น่าจะเป็นอัตราที่เหมาะสม”
แหล่งข่าวกล่าวว่า หนังสือที่ทางสมาคมสภาการศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย ได้ยื่นไปยังประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งทางรัฐสภาได้ตอบกลับมาแล้วว่า ได้ดำเนินการส่งต่อไปยัง คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ......เป็นผู้พิจารณาแล้ว แต่หากเรื่องนี้ไม่ได้รับการแก้ไข ก็จะทำเรื่องเสนอไปยังองค์กรอื่น ๆ ต่อไป
“สมาคม รร.เอกชน ต้องร้องขอความเมตตาจากองค์กรอื่นต่อไป หรือขอให้รัฐบาลปรับขึ้นอัตราค่าธรรมเนียมการศึกษา เพื่อนำไปชดเชยภาระภาษีที่ต้องเสียเพิ่มขึ้น”
ดังนั้นแม้ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ จะสามารถคลอดออกมาได้ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ส่งผลให้รัฐสามารถจัดเก็บภาษีได้มากขึ้น แต่สุดท้ายผู้ที่ต้องแบกรับภาษีตัวจริงอาจไม่ใช่สถานศึกษาเอกชนแต่กลับเป็นพ่อแม่ ผู้ปกครอง ที่ต้องถูกโรงเรียนเหล่านี้ขอขึ้นค่าเทอม เพื่อนำไปชดเชยรายได้ที่ขาดหายไปเพราะนำไปเสียภาษีเพิ่มขึ้นนั่นเอง