จับตา พ.ร.บ. ที่ดินฯ ฉบับใหม่ ที่กำลังจะมีผลบังคับใช้จะทำให้คนเดือดร้อนไม่ต่างจากวิกฤตรถกระบะ เพราะคนจน คนชั้นกลาง ที่เคยเก็บหอมรอมริบซื้อทรัพย์สินไว้ให้ลูกหลาน ต้องตัดสินใจขายทิ้งหลีกหนีการเสียภาษีตลอดชีวิต ส่วนใครเบี้ยวไม่เสียภาษีตามกฎหมายกำหนด ต้องถูกยึดทรัพย์ ขายทอดตลาด ขณะที่กฎหมายเก่าไม่มีระบุไว้ ด้าน สนช.หวั่น พ.ร.บ.ฉบับนี้ ขัดกฎหมายรัฐธรรมนูญ ม.77 เชื่อบรรดาธุรกิจเอกชน โวยแน่ เพราะแบกรับภาษีหนักทั้งกลุ่มโรงแรม โรงพยาบาล โรงเรียน และพวกเช่าที่ดินรถไฟทำกิจการโดนทั่วหน้า!
พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.... ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และคาดว่าจะผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ภายใน 2-3 เดือน โดยในปี 2561 จะเป็นช่วงของการออกกฎหมายลูกและเตรียมข้อมูลในการจัดเก็บ แต่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2562
ที่สำคัญเมื่อกฎหมายตัวนี้มีผลบังคับใช้ คนจน คนชั้นกลาง และคนรวย จะได้รับผลกระทบและเดือดร้อนกันอย่างทั่วหน้า ไม่ต่างจากเมื่อครั้งที่รัฐบาลใช้คำสั่งตามมาตรา 44 แก้ไข พ.ร.บ.จราจร เกี่ยวกับเรื่องการคาดเข็มขัดนิรภัย ซึ่งตำรวจมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง มีผลไปถึงการห้ามนั่งท้ายรถกระบะ ห้ามนั่งในส่วนแค็บของรถกระบะซึ่งไม่มีเข็มขัดนิรภัยด้วย จนนำไปสู่กระแสการต่อต้านมาตรการดังกล่าว หลากหลายรูปแบบเมื่อช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา และนำไปสู่การถอยของรัฐบาลเช่นเดียวกัน
ในเบื้องต้นผู้ที่เสียภาษีอาจคิดว่า พ.ร.บ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ...(ฉบับใหม่) ที่กำลังจะมีผลบังคับใช้หากมองผิวเผินจะรู้สึกว่าดี เพราะเชื่อว่ารัฐบาลต้องการสนับสนุนให้คนมีบ้านหลังแรก เพราะในการคำนวณภาษีในกรณีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของใช้เป็นที่อยู่อาศัยและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตามกฎหมายในวันที่ 1 มกราคมของปีภาษีนั้นจะได้รับการยกเว้นในกรณีที่ไม่เกิน 50 ล้านบาท
“คนจนมีบ้านหลังเล็ก ๆ ราคา 2 แสนบาท คนชั้นกลาง มีบ้านราคา 2-5 ล้าน ส่วนคนรวยมีบ้านราคาหลายสิบล้าน แต่ไม่ถึง 50 ล้าน พวกนี้จะได้รับยกเว้นภาษีในกรณีบ้านหลังแรกเท่ากัน”
แหล่งข่าวจาก สนช. อธิบายว่า ปัญหาที่น่าห่วงสำหรับ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ ฉบับใหม่ ก็คือ คนจน กับ คนชั้นกลาง ที่เคยเก็บหอมรอมริบ เพื่อจะนำเงินไปซื้อบ้าน ซื้อคอนโดมิเนียม เพื่อเก็บเป็นสมบัติให้ลูกหลาน เพราะเชื่อว่าการเก็บในรูปของบ้านและที่ดิน เป็นทรัพย์สินที่จะมีมูลค่าเพิ่มมากกว่าการฝากเงินที่มีผลตอบแทนต่ำมากในยุคปัจจุบันนี้
ดังนั้นเราจะเห็นว่า คนเหล่านี้ จะนิยมไปซื้อบ้านและคอนโดฯ แล้วนำไปปล่อยเช่าเพื่อสร้างรายได้ส่วนหนึ่งมาบวกกับเงินออมอีกเล็กน้อยก็สามารถนำไปผ่อนบ้านหรือคอนโดฯ ได้ทันที
“คนที่ซื้อทรัพย์สินในรูปบ้านที่ดิน ก็จะเลือกทำเล และราคา ที่เห็นว่าปล่อยเช่าได้ง่าย และในอนาคตจะมีมูลค่าเพิ่มเมื่อผ่านไประยะหนึ่ง คนที่ต้องการปล่อยให้นักศึกษาเช่า ก็จะเลือกคอนโดฯ ใกล้มหาวิทยาลัย บางคนเลือกใกล้รถไฟฟ้าเพื่อให้คนทำงานเช่า”
ตัวอย่างเช่น ข้าราชการกระทรวงหนึ่ง มีบ้านหลังแรกที่ตัวเองผ่อนหมดแล้ว จากเดิมซื้อเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วราคาเพียงไม่ถึงล้านบาท แต่วันนี้บ้านของเธอมีมูลค่ากว่า 2.5 ล้านบาท ทำให้เธอมั่นใจว่าการซื้ออสังหาฯ เก็บไว้ จะเป็นทรัพย์สินให้ลูกและหลานได้เป็นอย่างดี จึงเริ่มหันไปซื้อบ้านชั้นเดียวและคอนโดฯ ที่หาคนเช่าได้ง่าย รวม 3 หลัง เฉลี่ยหลังละประมาณ 1.4 ล้านบาท และผ่อนชำระกับสหกรณ์ของทางราชการ 2 หลัง อีก 1 หลังผ่อนกับธนาคารอาคารสงเคราะห์
“บ้านทุกหลังมีคนเช่าหมด จึงได้ค่าเช่าจากทุกหลังมาผ่อนและบวกเงินส่วนตัวเพิ่มอีกเดือนละเฉลี่ยไม่เกิน 12,000 บาท และอีกไม่นานบ้าน 3 หลังก็จะเป็นกรรมสิทธิ์โดยไม่ต้องผ่อนอีกต่อไป”
ตรงนี้แหละที่กำลังจะเกิดปัญหาตามมา เพราะ พ.ร.บ.ที่ดินฯ ฉบับใหม่ บ้านหลังที่ 2 และจะมีอีกกี่หลังก็ตามทุกหลังจะต้องเสียภาษีทั้งหมดไม่ว่าเราจะนำไปปล่อยเช่าได้หรือไม่ได้ก็ตาม
“ถ้ามองกันอย่างเป็นธรรม คนจน คนชั้นกลาง จะมีบ้านหลายหลังก็ตาม แต่เมื่อนำมารวมกันแล้วก็ไม่ถึง 50 ล้านบาท พวกเขาก็ยังจัดอยู่ในกลุ่มคนจน คนชั้นกลางค่อนไปล่าง แต่พวกเขาจะต้องเสียภาษีไปตลอดชีวิต ถามว่าเป็นธรรมหรือไม่”
แหล่งข่าว สนช. อธิบายอีกว่า สิ่งที่จะตามมาจาก พ.ร.บ.ฉบับนี้ ถือเป็นเรื่องที่น่ากลัวที่สุดก็คือ ใครก็ตามไม่ว่าจะเป็นคนจน คนมีรายได้น้อย คนชั้นกลาง หรือคนรวยก็ตาม ในส่วนที่ต้องเสียภาษี แต่ไม่ยอมชำระภาษีตามที่กฎหมายกำหนดไว้ จะมีบทลงโทษที่ถือว่ารุนแรงคือต้องถูกอายัดทรัพย์ หรือ ยึดทรัพย์ เพื่อนำไปขายทอดตลาด ซึ่งกฎหมายเดิมไม่มีบทลงโทษนี้ไว้ ส่งผลให้คนกลุ่มที่เริ่มสร้างเนื้อสร้างตัว ต้องการสร้างทรัพย์สินไว้ให้รุ่นลูก รุ่นหลาน หากไม่สามารถหาคนเช่า และคาดว่าจะไม่สามารถแบกรับภาษีได้ ก็ต้องเลือกขายทรัพย์สินออกไปก่อนและเก็บเงินสดไว้แทน
“คงได้เห็นความวุ่นวายเกิดขึ้นก่อนที่กฎหมายจะบังคับใช้ เมื่อทุกคนแห่กันออกมาขาย ราคาทรัพย์สินก็จะถูกกดราคาได้ จะเป็นการซ้ำเติมคนเหล่านี้มากขึ้นไปอีก”
อย่างไรก็ดี เมื่อ พ.ร.บ.ฉบับนี้เริ่มมีความชัดเจนขึ้น สังคมไทยจะได้เห็นบรรดาเศรษฐี นักธุรกิจออกมาโวยวายเพราะต้องแบกรับภาษีหนัก โดยเฉพาะบรรดา กิจการโรงแรม โรงพยาบาลเอกชน โรงเรียนเอกชน จะถูกตีมูลค่าภาษีกันใหม่หมด ไม่เว้นแม้กระทั่งพวกที่เช่าที่ดินของการรถไฟ รวมไปถึงบริเวณสถานีที่มีสิ่งปลูกสร้างในเชิงพาณิชยกรรม ทุกรูปแบบ มีอัตราการจัดเก็บภาษีไว้ที่ 2%
ดังนั้นในการจัดเก็บภาษีที่ดินจะแบ่งตามลักษณะการใช้ประโยชน์เป็นสำคัญ โดยในส่วนของที่ดินรกร้างว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพกำหนดให้เก็บภาษีในอัตรา 2% จากเดิมที่กระทรวงการคลังเสนอให้เก็บภาษีในอัตรา 5% โดยการเริ่มเก็บภาษีในอัตรา 2% จะสามารถปรับการเก็บภาษีขึ้นได้ครั้งละ 0.5% หากไม่มีการใช้ประโยชน์ โดยจะมีการประเมินทุก 3 ปี แต่ไม่เกินอัตรา 5%
ส่วนที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรมและที่เป็นที่อยู่อาศัยคงไว้อัตราเดียวกับร่างของกระทรวงการคลังที่ 0.2 % เช่นเดียวกับที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์อื่น เช่น พาณิชยกรรม คงการจัดเก็บภาษีไว้ที่ 2% และด้านที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เป็นที่อยู่อาศัย ให้มีอัตราภาษีไม่เกิน 0.5% ของฐานภาษี
“ถ้ามาดูรายละเอียดจะพบว่า การจัดเก็บภาษีตาม พ.ร.บ.ที่ดินฉบับนี้ จะแพงขึ้นกว่าเดิม 10-100 เท่า ขึ้นอยู่กับว่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้นอยู่ในประเภทใดและอัตราใด”
อย่างไรก็ดีสิ่งที่จะเป็นประเด็นปัญหาตามมาจากการออก พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.... ให้รัฐบาลบิ๊กตู่ต้องแก้ปัญหาก็คือ พ.ร.บ.ที่ดินฉบับนี้ ขาดความชอบธรรมตามมาตรา 77 ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 6 เม.ย.ที่ผ่านมานี้ ที่จะเป็นประเด็นกดดันรัฐบาลต่อไป เพราะสาระสำคัญของมาตรา 77 ระบุไว้ให้รัฐต้องฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้อง ก่อนการตรากฎหมาย จะต้องวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบในขณะที่ พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่มีการดำเนินการแต่อย่างใด
“ตรงนี้จะเป็นประเด็นที่น่าห่วง รัฐบาลต้องวางแผนรับมือให้ดี หากต้องการบังคับใช้ พ.ร.บ.ที่ดินฉบับนี้ ไม่ใช่ปล่อยให้เกิดปัญหาแล้วค่อยมาตามแก้ สนช.ได้มีการคุยกัน และเป็นห่วงประเด็นนี้มากเพราะความจริงการจัดเก็บภาษีที่สร้างผลกระทบกับประชาชนต้องฟังเสียงประชาชนด้วย และอัตราที่จัดเก็บก็ต้องได้รับการยอมรับ” แหล่งข่าวจาก สนช.ระบุ
ดังนั้นจากนี้ไปต้องจับตาดูว่า พ.ร.บ.ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.... ฉบับรัฐบาลบิ๊กตู่ จะสามารถคลอดออกมาใช้ได้ตามที่รัฐบาลวางไว้หรือไม่ เพราะต้องไม่ลืมว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้กำลังจะทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศได้รับความเดือดร้อนกันทั่วหน้า!