เลขาฯ ส.ป.ก. เผย การแก้ไขระเบียบในการดำเนินกิจการกังหันลมผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ ส.ป.ก. จะแล้วเสร็จในเดือน มิ.ย.นี้ ระบุสั่งชะลอเฉพาะโครงการซึ่งยังไม่ได้รับการอนุมัติ ขณะที่ 16 บริษัท 17 โครงการยังเดินหน้าต่อไปได้ ส่วนกรณีผู้ประกอบการรายใหญ่เช่าพื้นที่ ส.ป.ก.ทำวินด์ฟาร์มรวมนับพันไร่ โดยใช้วิธีตั้งบริษัทลูก แยกขอรายละไม่เกิน 50 ไร่นั้น เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ เนื่องจากไม่ขัดระเบียบ คปก.
เป็นที่สับสนไม่น้อยกับคำสั่งชะลอโครงการกังหันลมผลิตกระแสไฟฟ้าบนพื้นที่ ส.ป.ก. ที่เตรียมทยอยก่อสร้าง ซึ่งเลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมให้เหตุผลว่าเป็นการชะลอโครงการเพื่อร่างเงื่อนไขหลักเกณฑ์ให้ชัดเจนรัดกุมยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งทำให้เกิดข้อกังขาว่าโครงการใดบ้างที่ต้องชะลอการดำเนินการ โครงการที่ได้รับการอนุมัติไปแล้วแต่อยู่ระหว่างการก่อสร้างต้องชะลอโครงการด้วยหรือไม่ และโครงการต่าง ๆ จะถูกชะลอออกไปนานเท่าไหร่
นายสมปอง อินทร์ทอง เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ได้ชี้แจงถึงประเด็นข้อสงสัยดังกล่าวว่า โครงการกังหันลมเพื่อผลิตไฟฟ้าบนพื้นที่ ส.ป.ก.ที่ต้องชะลอการดำเนินการออกไปก่อนนั้นมีเฉพาะโครงการที่ยื่นเสนอมาแต่ยังไม่ได้รับการอนุมัติจำนวน 11 โครงการ และบริษัทที่อยู่ระหว่างการสำรวจความเป็นไปได้ของโครงการแต่ยังไม่ได้ยื่นขออนุญาต ส่วน 16 บริษัท 17 โครงการ ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาและชัยภูมิที่ได้รับการอนุมัติไปแล้วยังคงดำเนินการต่อไปได้ และเมื่อมีระเบียบใหม่ออกมาก็ให้ปฏิบัติตามระเบียบใหม่
สำหรับการร่างหลักเกณฑ์เพิ่มเติมใหม่นั้นสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะดำเนินการแก้ไขประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องการกำหนดกิจการอื่นที่เป็นการสนับสนุนหรือเกี่ยวเนื่องกับการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ตามมาตรา 30 วรรค 5 แห่งพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2532 “ ข้อ 1.5 กิจการที่เป็นการบริการหรือที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของเกษตรกรในด้านเศรษฐกิจและสังคมในเขตดำเนินการปฏิรูปที่ดิน ซึ่งกิจการนั้นต้องอยู่ในพื้นที่ที่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คปก.) กำหนดให้เป็นพื้นที่เพื่อการนี้โดยเฉพาะ” โดยจะมีการทบทวนถ้อยคำที่กว้างเกินไปและกำหนดรายละเอียดให้ชัดเจนรัดกุมยิ่ง
“ ขอเรียนว่าไม่ใช่การสั่งชะลอโครงการ แต่จำเป็นต้องร่างระเบียบให้รอบคอบเนื่องจากมีเสียงสะท้อนว่าหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเข้าใช้พื้นที่ ส.ป.ก. ยังคงใช้ได้ดีอยู่หรือไม่ เนื่องจากคนทั่วไปมองว่า ส.ป.ก. มีภารกิจหลักในการจัดสรรที่ดินให้เกษตรกรและพัฒนาชีวิตเกษตรกรให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แล้วทำไมจึงมีกิจการอื่นอยู่ในพื้นที่ ส.ป.ก. ตรงนี้ขอชี้แจงว่าเป็นการดำเนินการตามมาตรา 30 วรรค 5 ของ พ.ร.บ.ปฏิรูปที่ดิน ซึ่งระบุว่าให้ ส.ป.ก. มีอำนาจจัดที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ให้บุคคลใดเช่า เช่าซื้อ ซื้อ หรือเข้าทำประโยชน์เพื่อใช้สำหรับกิจการอื่นที่เป็นการสนับสนุนหรือเกี่ยวเนื่องกับการปฏิรูปที่ดิน ซึ่งหมายถึงการสนับสนุนอาชีพเกษตรกรรมและชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรนั่นเอง ดังนั้นเพื่อป้องกันความสับสนที่อาจจะเกิดขึ้นเราจึงต้องปรับปรุงถ้อยคำและรายละเอียดให้ชัดเจนว่าสำหรับการประกอบธุรกิจกังหันลมเพื่อผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ ส.ป.ก.นั้น อะไรบ้างที่ควรกำหนดให้เป็นกิจกรรมเพื่อการสนับสนุนความเป็นอยู่ของเกษตรกร และอาจมีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้เกษตรกรด้วย” เลขาธิการฯ ส.ป.ก. ระบุ
สำหรับขั้นตอนในการปรับปรุงถ้อยคำในประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดังกล่าวจะใช้เวลานานเท่าไหร่นั้น เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ชี้แจงว่า ในส่วนของ ส.ป.ก.จะได้ข้อยุติภายในเดือน เม.ย. 2560 นี้ จากนั้นในเดือน พ.ค. จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพลังงาน ผู้ประกอบการธุรกิจกังหันลมเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าที่ขอใช้พื้นที่ ส.ป.ก. มาหารือเพื่อรับฟังความคิดเห็น เมื่อได้ข้อสรุปแล้วทีมกฎหมายของ ส.ป.ก.จะดำเนินการร่างระเบียบประกาศกระทรวงฯ ตามที่ได้ปรับปรุงแก้ไข และคาดว่าจะนำเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณาได้ภายในเดือน มิ.ย.นี้ เพื่อจะบังคับใช้กับผู้ประกอบการกังหันลมผลิตกระแสไฟฟ้าบนพื้นที่ ส.ป.ก. ต่อไป
ส่วนกรณีที่มีผู้ประกอบการบางรายตั้งบริษัทลูกขึ้นมาหลายบริษัท โดยแต่ละบริษัทยื่นขอดำเนินธุรกิจกังหันลมผลิตกระแสไฟฟ้าในพื้นที่ ส.ป.ก. รายละไม่เกิน 50 ไร่ แต่เมื่อรวมกันแล้วเกิน 50 ไร่นั้น เลขาธิการฯ ส.ป.ก. ระบุว่า เป็นสิ่งที่สามารถทำได้
“ เนื่องจากการยื่นขอใช้พื้นที่ ส.ป.ก. ของบริษัทที่ทำธุรกิจวินด์ฟาร์มแต่ละรายนั้นไม่ขัดต่อระเบียบ คปก. ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการอนุญาตและการให้ผู้รับอนุญาตถือปฏิบัติในการใช้ที่ดิน หรืออสังหาริมทรัพย์สำหรับกิจการที่เป็นการสนับสนุนหรือเกี่ยวเนื่องกับการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2541 ซึ่งระบุให้ ส.ป.ก.มีอำนาจหน้าที่ในการจัดที่ดินให้แก่บุคคลใด ซึ่งหมายความรวมถึง บุคคลธรรมดา นิติบุคคล เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร เพื่อใช้สำหรับกิจการอื่นที่เป็นการสนับสนุนหรือเกี่ยวเนื่องกับการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เนื้อที่ไม่เกิน 50 ไร่ ดังนั้นเมื่อผู้ที่ยื่นขอมาเป็นบุคคลคนละรายกัน และขอใช้พื้นที่รายละไม่เกิน 50 ไร่ จึงถือว่าไม่ขัดต่อระเบียบ ส.ป.ก. ก็ต้องอนุมัติให้” นายสมปองกล่าว
ทั้งนี้ มีการตั้งข้อสังเกตว่าการขอใช้พื้นที่ ส.ป.ก. ของเอกชนในลักษณะดังกล่าวนั้นเป็นการอาศัยช่องว่างของกฎหมายในการทำธุรกิจ ทั้งที่แท้จริงแล้ว 16 บริษัท 17 โครงการที่ทำธุรกิจกังหันลมผลิตไฟฟ้าบนพื้นที่ ส.ป.ก.ในเขตจังหวัดนครราชสีมาและชัยภูมินั้น มีผู้ประกอบการรายใหญ่อยู่เพียง 2 ราย โดยแต่ละรายตั้งบริษัทลูกย่อย ๆ ขึ้นมาหลายบริษัท ซึ่งบริษัทลูกแต่ละบริษัทจะตั้งอยู่ในพื้นที่ติดกัน และแต่ละบริษัทยื่นขออนุญาตใช้พื้นที่ ส.ป.ก.รายละไม่ถึง 50 ไร่ แต่เมื่อรวมทุกบริษัทเข้าด้วยกันแล้วผู้ประกอบการบางรายสามารถเข้าใช้พื้นที่ ส.ป.ก.ในการติดตั้งกังหันลมผลิตไฟฟ้าได้กว่า 2,000 ไร่ และที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือในการยื่นข้อมูลต่อตลาดหลักทรัพย์เกี่ยวกับข้อมูลในการทำธุรกิจนั้นกลับยื่นในนามของบริษัทแม่ โดยระบุรายละเอียดเป็นรายโครงการ ขณะที่แต่ละโครงการยื่นขอใช้พื้นที่จาก ส.ป.ก.ในนามบริษัทลูก
ส่วนในมุมมองของสังคมจะเห็นด้วยกับการดำเนินการในลักษณะนี้หรือไม่ และถือเป็นการยื่นข้อมูลอันเป็นเท็จต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต) ก็คงต้องไปพิจารณากันอีกที แต่ที่แน่ ๆ ทั้ง 16 บริษัท 17 โครงการ ที่ตั้งกังหันลมผลิตกระแสไฟฟ้าบนพื้นที่ ส.ป.ก. สามารถดำเนินการต่อไปได้แบบไร้ปัญหา...