xs
xsm
sm
md
lg

แฉเหตุพลังงานลมในที่ สปก.ชะงัก อยากใช้ ม.44 กลัวถูกโยงเอื้อ “วงษ์สุวรรณ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เปิดเบื้องหลังบริษัทติดตั้งกังหันลมเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าในเขตที่ดิน ส.ป.ก ต้องถูกสั่งชะลอโครงการออกไปอีก ทั้งที่ก่อนหน้านี้ “เลขาฯ ส.ป.ก.” บอกทุกบริษัทเดินหน้าได้ เหตุ บ.เอกชนและแบงก์ ต้องการให้รัฐออกกฎหมายเพื่อคุ้มครองการทำธุรกิจ หรือใช้ ม.44 จัดการ ระบุแค่บริษัท EA เพียงแห่งเดียว ที่มีคนนามสกุล “วงษ์สุวรรณ” เป็นกรรมการ มี 5 โครงการใช้พื้นที่ ส.ป.ก. 129 ไร่ ผลิตไฟฟ้า 260 เมกะวัตต์ ต้องถูกเก็บเข้าลิ้นชัก ทั้งที่มีสัญญาขายไฟฟ้าในเดือน เม.ย. 2561 ด้านวงในแจงภาครัฐอยากเสนอให้บิ๊กตู่ใช้ ม.44 แก้ปัญหา แต่หวั่นถูกโจมตีเอื้อพวกพ้อง ส่งผลให้ทุกโครงการในที่ ส.ป.ก.ต้องหยุดชะงัก

กำลังเป็นประเด็นที่สร้างความแปลกใจให้หลายฝ่าย เมื่ออยู่ ๆ เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กลับลำสั่งชะลอโครงการติดตั้งกังหันลมเพื่อผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมบนพื้นที่ ส.ป.ก. ทั้งที่ทุกอย่างผ่านขั้นตอนกระบวนการตรวจสอบในการลงพื้นที่สำรวจในระยะ 45 วัน ต้องมีคำตอบตามที่ รมว.เกษตรฯ สั่งการ รวมไปถึงในเรื่องของผลประโยชน์ตอบแทนที่เกษตรกรได้รับ ดูเหมือนเป็นที่พอใจกันทุกฝ่าย แม้กระทั่ง พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายสมปอง อินทร์ทอง เลขาธิการสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ยังออกมาให้สัมภาษณ์ว่า ส.ป.ก.อนุมัติให้บริษัทซึ่งผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมบนพื้นที่ ส.ป.ก. ทั้ง 16 บริษัท 17 โครงการ ในจังหวัดนครราชสีมาและชัยภูมิดำเนินการต่อไปได้
พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
 
โดยให้เหตุผลว่าจากผลการตรวจสอบพบว่าเป็นโครงการที่เกษตรกรเจ้าของพื้นที่ได้ประโยชน์ อีกทั้งยังระบุด้วยว่าหากบริษัท เทพสถิต วินด์ฟาร์ม จำกัด ซึ่งศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้ ส.ป.ก.ยกเลิกสัญญาเช่าพื้นที่ไปก่อนหน้านี้ ต้องการจะดำเนินโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมบนพื้นที่ ส.ป.ก.ก็สามารถยื่นเรื่องเข้ามาใหม่ได้

แต่เพียงแค่เวลาผ่านไปเพียง 1-2 สัปดาห์ ก็กลับยกเลิกข้อมูลทั้งหมด ส่งผลให้ทุกโครงการต้องหยุดชะงักไปก่อน จนนำไปสู่เสียงวิพากษ์วิจารณ์และความเคลือบแคลงสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น ? มีคำสั่งพิเศษจากใครหรือไม่ ?

บางกระแสก็มองในด้านลบสุดโต่ง ว่าเป็นเพราะผลประโยชน์ไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมาย จริงหรือไม่? จึงต้องออกมาเขย่าอีกครั้งหนึ่ง

ขณะที่นายสมปอง อินทร์ทอง เลขาธิการ ส.ป.ก. ออกมาบอกว่า เป็นการสั่งชะลอโครงการเนื่องจากต้องร่างเงื่อนไขหลักเกณฑ์ให้เกิดความรัดกุมเพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ก็ดูจะสมเหตุสมผล ในขณะที่แหล่งข่าวในกระทรวงเกษตรฯ กลับมีความเห็นว่า หาก ส.ป.ก.เห็นว่าจำเป็นต้องมีการวางหลักเกณฑ์เงื่อนไขดังกล่าวจริงก็ควรดำเนินการทันทีหลังจากลงพื้นที่ตรวจสอบโครงการของ 16 บริษัท เพราะต้องไม่ลืมว่าปัญหาบริษัทเหล่านี้ในพื้นที่ ส.ป.ก.นั้นกลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมา เนื่องจาก “คำพิพากษา” ของศาลปกครองสูงสุดที่มีคำสั่งให้ยกเลิกการเช่าที่ดินบนพื้นที่ ส.ป.ก.ของ บริษัท เทพสถิต วินด์ฟาร์ม จำกัด เนื่องเพราะศาลเห็นว่าเทพสถิตไม่ได้ทำตามสัญญาเช่า ไม่ได้ให้ประโยชน์โดยตรงแก่เกษตรกรผู้มีสิทธิ์ถือครองที่ ส.ป.ก. และไม่มีการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ทำให้ รมว.เกษตรฯ ต้องเร่งสั่งการให้ ส ป.ก. ไปดำเนินการยกเลิกสัญญาเช่าของบริษัท เทพสถิต พร้อมทั้งให้ ส.ป.ก.ตรวจสอบข้อเท็จจริงของบริษัทติดตั้งกังหันลมเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าในเขตที่ดิน ส.ป.ก.ทั้งหมด

ส่วนรายละเอียดที่ตรวจสอบนั้นครอบคลุมใน 4 ประเด็น คือ 1) ส.ป.ก.มีอำนาจตามกฎหมายในการอนุญาตให้เอกชนใช้ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินหรือไม่ 2) ผู้ประกอบกิจการกังหันลมทั้ง 16 บริษัท 17 โครงการ ได้ดำเนินการขออนุญาตถูกต้อง เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบและหลักเกณฑ์ที่กำหนดหรือไม่ 3) ผู้ประกอบการกังหันลมทั้งหมด ได้กระทำผิดสัญญาเช่าหรือไม่ 4) เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินได้รับประโยชน์จริงหรือไม่ ซึ่งทั้ง 4 ประเด็นนั้นถือว่าครอบคลุมครบถ้วน

ที่สำคัญยังได้ข้อสรุปว่าทั้ง 16 บริษัทดำเนินการอย่างถูกต้อง ไม่ได้ผิดทั้งข้อกฎหมายและหลักเกณฑ์เงื่อนไข ต่างจากบริษัทเทพสถิตที่ไม่ได้ให้ผลประโยชน์แก่เกษตรกร ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง เหตุใดจึงต้องมีการ “ร่างเงื่อนไขหลักเกณฑ์” ขึ้นมาใหม่ ? โดยให้เหตุผลว่าเพื่อป้องกันปัญหาในอนาคต และปัญหาในอนาคตที่ว่านั้นคืออะไร ?

อย่างไรก็ดีแหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรฯ และบริษัทเอกชนซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ทำธุรกิจพลังงานลม บอกว่า ปัญหาที่ต้องหยุดชะงักนั้น ข้อเท็จจริงเป็นเพราะผู้ประกอบการเอกชน และแบงก์ที่ทำการปล่อยกู้ธุรกิจพลังงานลมไม่เห็นด้วยกับวิธีการที่ ส.ป.ก.ดำเนินการ เพราะหากไม่มีการแก้ระเบียบกฎหมายที่มีความชัดเจน หากผู้ประกอบการลงทุนไปแล้วหรือแบงก์ปล่อยกู้ไปแล้ว หากมีเกษตรกร หรือ เอ็นจีโอ ร้องเรียนมาว่าเป็นการใช้พื้นที่ไม่ถูกต้อง ก็จะนำมาซึ่งปัญหาไม่รู้จบ

โดยเฉพาะแต่ละบริษัท ต่างใช้พื้นที่เกิน 50 ไร่ ซึ่งผิดเงื่อนไขตาม พ.รบ. การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 จึงเป็นเรื่องที่รัฐต้องหาทางออกให้ชัดเจน อีกทั้งในการประชุมบอร์ดบริษัทพลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ก็ได้มีการพูดคุยกันว่า เรื่องนี้ภาครัฐต้องชัดเจน เพราะบริษัท EA ได้รับผลกระทบในฐานะเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทเทพสถิต ที่ถูก ส.ป.ก.ยกเลิกสัญญาการเช่าพื้นที่เพื่อผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมไปแล้ว

“การแก้ได้เร็วที่สุดคือรัฐต้องใช้ ม.44 สั่งให้ดำเนินการได้ แต่ถ้าใช้ ม.44 ตอนนี้ก็ต้องถูกสังคมตำหนิ เป็นการใช้ฟุ่มเฟือย และก็มีบางกลุ่มคอยจ้องโจมตี และเชื่อมโยงเพราะบอร์ด EA มีผู้หลักผู้ใหญ่หลายคน โดยเฉพาะนามสกุล วงษ์สุวรรณ จะทำให้ถูกพูดโยงได้ง่ายว่ามีบิ๊กสั่งการอยู่ข้างหลัง”

นอกจากนี้ บริษัท EA ยังมีโครงการติดตั้งกังหันลมเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าในเขตที่ดิน ส.ป.ก อีกหลายโครงการภายใต้ชื่อ “โครงการหนุมาน” จำนวน 5 โครงการ ในพื้นที่ ส.ป.ก. 129 ไร่ กระจายอยู่หลายพื้นที่ของจังหวัดชัยภูมิ โดย EA ได้ทำสัญญาเช่าที่ดิน ส.ป.ก. เป็นเวลา 20 ปี และกำหนดตามสัญญาจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ ในเดือนเมษายน 2561 นี้

“เมื่อ ส.ป.ก.สั่งชะลอทุกโครงการรวมทั้งของบริษัท EA ก็ต้องหยุดทั้งหมด แต่ถ้าให้ EA ขึ้นโครงการในเวลานี้โดยไม่มีกฎหมายคุ้มครองชัดเจน EA ก็ไม่ต้องการเสี่ยงเช่นกัน เพราะจะเกิดความเสียหายเหมือนโครงการเทพสถิตที่ถูกยกเลิกไปแล้ว”

แหล่งข่าวบอกว่า ภาคเอกชนจึงต้องการความมั่นใจจากภาครัฐก่อนและตรงนี้จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่จะต้องสั่งให้มีการชะลอโครงการและเวลานี้จึงดูเหมือนว่า บริษัทเอกชน กำลังบีบภาครัฐให้ดำเนินการแก้กฎหมายซึ่งถ้าแก้ พ.ร.บ. การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 ก็จะต้องใช้เวลานาน ดังนั้นจึงต้องการเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ใช้อำนาจตาม ม.44 ดำเนินการจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดในเวลานี้

“หน่ายงานรัฐจึงต้องคิดให้รอบคอบจะใช้อำนาจใดเข้ามาจัดการเรื่องพลังงานลม และต้องไม่ลืมว่า หนึ่งในรายชื่อกรรมการบริษัท EA คือ “พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ” ! น้องชายแท้ ๆ ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ผู้มากบารมีในรัฐบาล คสช.
พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ
เรื่องนี้จึงกลายเป็นเผือกร้อนที่ เลขาฯ ส.ป.ก. ต้องวิ่งวุ่นหาทางออก เพราะประเด็นหนึ่งที่มิอาจมองข้ามคือพื้นที่ ส.ป.ก.ที่ EA ทำสัญญาเช่าเพื่อดำเนินโครงการหนุมานทั้ง 5 โครงการนั้น หากนับรวมเนื้อที่ตามที่ยื่นไว้กับ กฟผ.มีประมาณ 2,490 ไร่ ซึ่งเป็นการขัดต่อเงื่อนไขที่ระบุในระเบียบของ ส.ป.ก.แน่นอน

ท้ายที่สุดต้องจับตาดูกันต่อไปว่า ส.ป.ก.จะตัดสินใจเรื่องนี้อย่างไร เพื่อประโยชน์ของใครกันแน่?

กำลังโหลดความคิดเห็น