xs
xsm
sm
md
lg

“บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ” เกิดยาก บิ๊กๆ นั่งทับผลประโยชน์แสนล้าน!?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แฉมูลเหตุสำคัญที่ “บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ” เกิดยาก ทั้งผลประโยชน์บนโต๊ะที่โปร่งใสนับแสนล้านบาท และที่รู้เฉพาะวงในธุรกิจพลังงาน-ปตท.จึงต้องช่วยกันปกป้องยิ่งกว่า “จงอางหวงไข่” ชี้ ตั้ง NOC ขึ้นมาได้จะถูกถ่ายโอนทันที ส่วนผลประโยชน์ที่มองไม่เห็นจาก “การนำเข้าน้ำมันดิบ-น้ำมันค้างท่อ-การสูญหายของแก๊สระหว่างทาง” ว่ากันว่ามีมูลค่าเป็นหมื่นล้านบาทจะถูกเผยโฉม…ใครล่ะ? จะยอมให้ล้วงผลประโยชน์ในกระเป๋าตัวเอง!

ประเด็นปัญหาที่คนในสังคมเองก็ต้องการคำตอบว่า เหตุใด การจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ (NOC) จึงเกิดขึ้นได้ยาก หรืออาจจะไม่มีโอกาสเกิดขึ้นได้เลย ท่ามกลางความพยายามผลักดันของกลุ่มเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) เพื่อให้บรรษัทน้ำมันแห่งชาติเข้ามาทำหน้าที่ในการดูแลแหล่งปิโตรเลียมของประเทศไทยทั้งหมด ทั้งการให้สัมปทาน สำรวจ ขุดเจาะ ผลิต และจำหน่าย ซึ่งถือเป็นการกุมอำนาจเบ็ดเสร็จด้านปิโตรเลียมเข้ามาไว้ด้วยกัน ภายใต้ผลประโยชน์ตอบแทนรัฐในระบบแบ่งปันผลผลิต (พีเอสซี) และระบบรับจ้างผลิต (เอสซี) ที่ประเทศชาติจะได้ผลประโยชน์เป็นกอบเป็นกำ

ดังนั้นทันทีที่มีบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเกิดขึ้นจะสามารถเข้าไปจัดการทุกอย่างแทนรัฐในพื้นที่สัมปทานทั้งหมดตั้งแต่การเปิดประมูลสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 รวมถึงการประมูลแหล่งสัมปทานที่จะหมดอายุในช่วงปี 2565-2566 ทั้งแหล่งบงกชและเอราวัณ ถือเป็นแหล่งที่ผลิตแก๊สมากที่สุดในบรรดาแหล่งทั้งหมดที่มีอยู่ในอ่าวไทย ว่ากันว่า 2 บริษัท คือ เชฟรอน และ ปตท.สผ. ได้ลงทุนกับแท่นผลิตและอุปกรณ์ต่าง ๆ มีมูลค่า 280,000 ล้านบาท รวมทั้งพื้นที่ซึ่งจะเปิดให้มีการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมใหม่อีก 29 แปลง ทั้งบนบกและในทะเล ตลอดจนพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทยและกัมพูชา

อีกทั้ง ปตท.จะต้องโอนอุปกรณ์จากแหล่งปิโตรเลียมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นท่อส่งน้ำมัน แท่นผลิตปิโตรเลียมพร้อมอุปกรณ์ ซึ่งแต่ละแห่งไม่ได้มีแท่นผลิตเพียงแค่หนึ่งแท่นเท่านั้น บางแห่งมีหลาย 10 แท่น และยังต้องโอนสิทธิ์การซื้อแก๊สจากปากหลุม และอุปกรณ์ต่างๆ ก็ต้องโอนคืนให้กับบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ

ทั้งหมดนี้คือ “เม็ดเงินที่มีมูลค่ามหาศาล” ที่จะนำไปสู่ผลประโยชน์ของประเทศชาติในอนาคตข้างหน้า!

ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน ระบุว่า ผลประชุมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 30 มีนาคม ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม เพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมาย แต่ในมาตรา 10/1 เกี่ยวกับการจัดตั้ง “บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ” ไปใส่ไว้ในข้อสังเกตโดยเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นภายใน 60 วัน เพื่อพิจารณาศึกษาถึงรายละเอียดของรูปแบบและวิธีการในการจัดตั้ง NOC ที่เหมาะสม และให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปีนั้น ถือเป็นทางออกที่ดีที่สุด

“ถ้าวันนั้น สนช.ไม่ตัดประเด็นนี้ออกไป และรีบร้อนให้มีการจัดตั้ง NOC ก็เท่ากับว่า ปตท.ถูกตัดแขนตัดขา เพราะจะต้องมีการโอนทรัพย์สินที่ ปตท.เคยครอบครองมาให้กับ NOC ทั้งเรื่องกรรมสิทธิ์ในสัมปทานปิโตรเลียมที่จะสิ้นสุดและเกิดใหม่ อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จะต้องมีการตีมูลค่าทรัพย์สินทุกอย่างกันให้ชัดเจนและโปร่งใส”

ขณะเดียวกัน รูปแบบของบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ยังไม่รู้ว่าหน้าตาที่เหมาะสม รวมไปถึงโครงสร้างที่ถูกต้องควรจะเป็นอย่างไร ใครควรเข้ามารับผิดชอบตรงนี้บ้าง เพราะการตั้ง NOC ก็มีความเห็นเป็น 2 ฝ่าย ทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะฝ่ายที่เห็นด้วย ก็เชื่อว่า ทุกวันนี้มีกระทรวงพลังงานกำกับดูแลอยู่แล้ว และมี ปตท.ก็เป็นหน่วยงานที่รัฐบาลถือหุ้นอยู่เข้ามาทำธุรกิจปิโตรเลียม ส่วนฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ก็เชื่อว่า การตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ จะเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่ดึงทรัพยากรของชาติที่ต้องไปอยู่ในมือของกลุ่มผลประโยชน์ กลับเข้ามาเป็นผลประโยชน์ของชาติอย่างแท้จริง
ภาพจาก www.pttplc.com
“การดึง NOC ไปใส่ไว้ในข้อสังเกต โดยมอบหมายให้กระทรวงพลังงานไปดำเนินการศึกษา เป็นความฉลาดของรัฐบาล พูดง่าย ๆ เป็นการขายผ้าเอาหน้ารอด แค่ได้พักเรื่องนี้ชั่วเวลาหนึ่ง เพื่อชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลและสนช. ไม่ได้ปฏิเสธเรื่อง NOC ซึ่งมอบให้กระทรวงพลังงานไปทำการศึกษา ส่วนจะทำได้หรือไม่ เสร็จหรือไม่เสร็จ เพราะอะไรก็ต้องบอกกันมา คปพ.จะมาว่ารัฐบาลไม่ได้ ก็ต้องปล่อยให้เป็นเรื่องของรัฐบาลหลังเลือกตั้งจะมาว่ากันใหม่”

แหล่งข่าวบอกอีกว่า หากจะมองแบบคนในวงการพลังงานแล้ว เรื่องของบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ เกิดขึ้นได้ยากมาก ๆ และอาจจะไม่เกิดขึ้นเลยก็ได้ เพราะหาก NOC ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในรัฐบาล คสช.แล้ว จะหวังในรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ยิ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพราะต้องเข้าใจด้วยว่า ผลประโยชน์ในเรื่องของปิโตรเลียม ไม่ใช่มีแค่ที่เรามองเห็นด้วยตาเปล่า หรือแค่โอนสัมปทานและทรัพย์สินพร้อมอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ดูเหมือนจะโปร่งใสสามารถทำได้หากรัฐบาลต้องการจะดำเนินการจริง ๆ 

ในนั้นยังมีผลประโยชน์มหาศาลที่มองด้วยตาเปล่าไม่มีทางเห็น ต้องคนในเท่านั้นจึงจะรู้ แล้วถามว่า ถ้าเราอยู่ตรงนั้น เราจะยอมให้บรรษัทน้ำมันแห่งชาติเกิดขึ้นได้เหรอ ถ้าเราไม่อยากให้เกิดควรทำอย่างไร เป็นเรื่องที่บอกกันยากมาก และไม่ใช่ว่าพวกเราไม่หวงแหนผลประโยชน์ชาติ แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่กับรัฐและคนที่มีอำนาจ ต้องการจะให้เรื่องของปิโตรเลียมอยู่ในรูปแบบไหนมากกว่า” 
การชุมนุมคัดค้านการแก้กฏหมายปิโตรเลียม ของเครือข่ายปฏิรูปพลังงานไทย  ( คปพ  )
แหล่งข่าวในกระทรวงพลังงาน เล่าถึงเสียงเล่าลือกันภายในแวดวงของบรรดาบิ๊ก ๆ พลังงานเท่านั้น ว่าขุมทรัพย์พลังงานที่ผู้มีอำนาจช่วยกันปิด ๆ อำพราง ๆ กันนั้นมีมูลค่าเป็นพันๆ ล้านบาท ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของเครือข่ายพลังงาน อย่าง ปตท.ที่สามารถทำให้ทุก ๆ คนที่เข้าไปเกี่ยวข้องต่างก็พร้อมที่จะช่วยกันปกป้อง ไม่ให้ใครก็ตามมายื้อแย่งเอาไป

“ช่วยกันปกป้องยิ่งกว่าจงอางหวงไข่”  

ว่ากันว่าผลประโยชน์ที่มองไม่เห็นจะมาจาก 2 ส่วน ส่วนที่ 1 กรณีน้ำมันค้างท่อ ซึ่งเป็นศัพท์ที่รู้กันในแวดวงบิ๊ก ๆ ที่สามารถมีให้เห็นตลอดในการขนส่งน้ำมันจากโรงกลั่นในทุก ๆ ครั้ง และดูเหมือนจะมีสูตรหรือมีหลักเกณฑ์ให้สูญหายได้ ประมาณ 1% เช่นเดียวกับแก๊ส ที่สามารถให้สูญหายระหว่างทางจากการระเหยออกไปได้ถึง 6-8 %

น้ำมันที่ออกจากโรงกลั่น 1 ล้านลิตร สามารถเป็นน้ำมันค้างท่อได้ 1% หรือประมาณ 1 หมื่นลิตร ซึ่งขนส่งกันทั้งปี ตรงนี้ก็เป็นผลประโยชน์ปีละหลายร้อยล้านบาท

ส่วนที่ 2 จะเป็นการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ ที่มีการเคาะกันที่ 1 บาร์เรลต่อ 1 ดอลลาร์ แต่ละปีจะมีการนำเข้าน้ำมันประมาณปีละ 365 ล้านบาร์เรล ทำให้มีข่าวลือกันว่าตรงนี้จะมีผลประโยชน์เป็นหมื่นล้านบาท

กรณีฉุกเฉินที่มีการสั่งซื้อน้ำมันและแก๊ส จะใช้วิธีการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษ เพื่อนำมาใช้สำรองไว้ ก็จะเคาะผลประโยชน์กันที่ 1 บาร์เรลต่อดอลลาร์ เมื่อนำมาบวกกับน้ำมันค้างท่อ และแก๊สสูญหายระหว่างทางจึงเป็นผลประโยชน์ที่คนในเท่านั้นรู้กันว่าจริงเท็จแค่ไหน

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการจัดซื้อจัดจ้างหลาย ๆ โครงการก็อาจก่อให้เกิดผลประโยชน์ที่มองไม่เห็น มีการจ่ายออกไปตามบัญชีอย่างถูกต้อง แล้วค่อยมาหักกันภายหลังเช่น 100 ชักเท่าไร ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่ตกลงกันไว้ แล้วใช้ผลประโยชน์ตรงนี้ไปดูแลผู้มีส่วนในการให้คุณให้โทษกับเครือข่ายพลังงาน รวมไปถึงการที่ ปตท.เป็นธุรกิจผูกขาด จึงทำให้การทำธุรกิจของ ปตท.สร้างผลตอบแทนและกำไรให้ผู้ถือหุ้นในตลาดหลักทรัพย์มาตลอด

ดังนั้นใครล่ะ! จะยอมให้มีการตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติขึ้นมา เพื่อล้วงผลประโยชน์ในกระเป๋าของตัวเองออกไป!? เพราะถ้า ปตท.ถูกเฉือนเนื้อไปแล้ว สถานภาพของ ปตท.จะเป็นเช่นไร......!!

กำลังโหลดความคิดเห็น