“พลเรือเอกบรรณวิทย์” ค้านซื้อเรือดำน้ำตามเพื่อนบ้าน เหตุไทยไร้ภัยคุกคาม เรือดำน้ำต่างชาติเข้ามาสอดแนมไม่ได้เนื่องจากอ่าวไทยตื้น หากจะซื้อควรเลือกเรือจากเยอรมันเพราะมีผลงานการันตี และสามารถเช็กราคาที่แท้จริงได้ ด้าน ACT ระบุ จีทูจีก็คอร์รัปชันได้
การตัดสินใจจัดซื้อเรือดำน้ำ Yuan Class S26T จากสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่เสนอโปรโมชันซื้อ 2 แถม 1 ในราคารวม 36,000 ล้านบาท ของกองทัพเรือไทย ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาล คสช. ได้ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ทั้งในเรื่องของคุณภาพ ความจำเป็น และความโปร่งใสในการจัดซื้อ ด้วยเกรงว่าจะซ้ำรอยกับกรณีการจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิดซีทีเอ็กซ์ที่กลายเป็นประเด็นอื้อฉาวเมื่อหลายปีก่อน
หลักการซื้ออาวุธ ต้องมี “ภัยคุกคาม”
แม้รัฐบาลจะยกเหตุผลเรื่องความมั่นคงมาสนับสนุนความจำเป็นในการจัดซื้อ โดยระบุว่าประเทศเพื่อนบ้านของไทยไม่ว่าจะเป็น มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ หรือเวียดนาม ต่างก็มีเรือดำน้ำกันหมดแล้ว กองทัพเรือไทยจึงควรมีเรือดำน้ำไว้สร้างอำนาจต่อรอง แต่ในมุมมองของนายทหารที่มีประสบการณ์และเชี่ยวชาญด้านการส่งกำลังบำรุงอย่าง พลเรือเอกบรรณวิทย์ เก่งเรียน อดีตรองปลัดกระทรวงกลาโหม และอดีตประธานคณะที่ปรึกษาพิเศษกองทัพเรือ กลับเห็นต่างอย่างสิ้นเชิง โดยชี้ว่าปัจจัยสำคัญที่สุดที่กองทัพใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์คือเรื่อง “ภัยคุกคาม” และความคุ้มค่าในการใช้งาน ไม่ใช่พิจารณาจากอาวุธที่เพื่อนบ้านมี
“เป็นตรรกะที่มั่วมาก เพื่อนบ้านมีเรือดำน้ำแล้วเราต้องมี ในการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์นั้นหลักการทางทหารจะพิจารณาเรื่องภัยคุกคามเป็นอันดับแรก คือดูว่ามีปัจจัยอะไรที่ทำให้เพื่อนบ้านมารุกรานเรา ณ ตอนนี้ตอบได้เลยว่าไม่มี และต่อให้ประเทศเพื่อนบ้านมีเรือดำน้ำสัก 100 ลำ ก็ทำอะไรเราไม่ได้ เพราะหลักการของเรือดำน้ำคือการปฏิบัติการใต้ผิวน้ำ แต่อ่าวไทยมันตื้น จะส่งเรือดำน้ำเข้ามาสอดแนมหรือโจมตีไทยมันทำไม่ได้ แสนยานุภาพในการรบไม่ได้หมายความว่าเพื่อนบ้านมีอาวุธอะไรแล้วเราต้องมีเหมือนเขา จะเห็นได้ว่าไทยมีเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ ซึ่งช่วยขยายพื้นที่ลาดตระเวนและยืดระยะในการปฏิบัติการทางทะเลให้ แต่มาเลเซียกับสิงคโปร์ก็ไม่เห็นจะซื้อเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ตามไทยเลย คืออำนาจต่อรองระหว่างประเทศมันไม่ใช่แค่เรามีอาวุธอะไร” อดีตรองปลัดกระทรวงกลาโหม ระบุ
พลเรือเอกบรรณวิทย์ ยังยกตัวอย่างเพื่อนบ้านประเทศหนึ่งที่ไม่มีศักยภาพในการรบอะไรเลย แต่สามารถรุกรานไทยได้บ่อยครั้งโดยที่กองทัพไทยไม่เคยตอบโต้ทั้งที่เรามีศักยภาพเหนือเขาทุกอย่าง
“ทำไมประเทศนั้นถึงกล้า ก็เพราะเขารู้ว่านักการเมืองไทยเข้าไปตั้งบ่อนกาสิโนในบ้านเขาเยอะ เขาจะยึดบ่อนเมื่อไหร่ก็ได้ แล้วคนที่คุมกองทัพก็คือนักการเมือง” พลเรือเอกบรรณวิทย์กล่าว
เรือดำน้ำจีนเสี่ยงคอร์รัปชัน เหตุไม่มีใครรู้ต้นทุน
อดีตรองปลัดกระทรวงกลาโหม ยังแสดงความวิตกในเรื่องประสิทธิภาพและปัญหาในการประเมินราคาเรือดำน้ำที่ผลิตจากประเทศ จีน เนื่องจากไม่มีประสบการณ์ในการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ต่อต้านทางทะเล ต่างจากเรือดำน้ำที่ผลิตจากเยอรมันซึ่งมีชื่อเสียงในด้านนี้ หรือญี่ปุ่นซึ่งเคยขายเรือดำน้ำให้ไทยมาแล้ว
“ทำไมจึงซื้อจากจีนทั้งที่ไม่มีประสบการณ์ ผมว่าเรือดำน้ำจากเยอรมันเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดเพราะเป็นประเทศที่มีชื่อเสียงในการผลิตเรือดำน้ำ ในสงครามโลกครั้งที่ 2 เรือดำน้ำของเยอรมันที่เราเรียกว่าเรืออู สามารถจมเรือรบของประเทศต่างๆ ได้เยอะมาก อีกทั้งยังมีเรือดำน้ำหลายขนาดให้เลือก ซึ่งอ่าวไทยมีปัญหาในเรื่องความตื้นของทะเลจึงจำเป็นต้องเลือกเรือดำน้ำที่มีขนาดเล็กเพื่อให้สามารถปฏิบัติการในอ่าวไทยได้” พลเรือเอกบรรณวิทย์ ย้ำว่าการตรวจสอบคอร์รัปชันในการจัดซื้ออาวุธเป็นเรื่องยากเพราะเราไม่มีทางรู้ต้นทุนที่แท้จริง
ดังนั้นถ้าซื้อจากประเทศที่ผลิตเรือดำน้ำขายอยู่แล้วเราสามารถเปรียบเทียบข้อมูลราคาได้ แต่การซื้อเรือดำน้ำจากจีนเราไม่รู้จะตรวจสอบข้อมูลจากที่ไหนทั้งเรื่องราคาและคุณภาพ เพราะไทยเป็นรายแรกที่ใช้เรือดำน้ำของจีน จึงเป็นเรื่องที่ “หวาดเสียวนะ”
ACT ชี้ จัดซื้อ “จีทูจี” โกงได้
ทั้งนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าประเด็นเรื่องความโปร่งใสในกระบวนการจัดซื้อเรือดำน้ำก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สังคมจับตามอง โดย ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) หรือ ACT ชี้ว่า แม้การจัดซื้อเรือดำน้ำ จากจีนจะเป็นการจัดซื้อแบบรัฐต่อรัฐ หรือจีทูจี ก็ยังมีช่องว่างให้สามารถทุจริตคอร์รัปชันได้
“ต้องเข้าใจว่าการจัดซื้อแบบจีทูจีนั้น รัฐบาลของประเทศที่ขายสินค้าไม่ได้เป็นผู้ผลิตสินค้าเอง แต่ผู้ผลิตคือเอกชนซึ่งเขาจะมีนายหน้าเป็นคนวิ่งเต้นเจรจา ซึ่งเอกชนผู้ผลิตสินค้าจะมีค่าใช้จ่ายให้นายหน้า ส่วนนายหน้าจะไปจ่ายเท่าไหร่ หรือโดยวิธีไหนก็สุดแล้วแต่ ดังนั้นก็ต้องติดตามดูกันต่อไป” ดร.มานะ กล่าว
อย่างไรก็ดี พลเรือเอกบรรณวิทย์ ชี้ว่า แม้ทั้งกองทัพเรือและรัฐบาลจะอนุมัติให้มีการจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีน แต่หากเห็นว่าไม่เหมาะสมก็สามารถยกเลิกโครงการได้ตลอดเวลาตราบใดที่ยังไม่มีการเซ็นสัญญาซื้อระหว่างรัฐบาลไทยกับจีน