ในที่สุดโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ 3 ลำ รุ่น Yuan Class S 26 Tจากจีน ของกองทัพเรือ สำเร็จได้ในยุครัฐบาลบิ๊กตู่ หลังถูกปฏิเสธการจัดซื้อมาหลายรัฐบาล ขณะที่มีการตั้งงบประมาณไว้ 3.6 หมื่นล้านบาท เพื่อซื้อเรือดำน้ำในเงื่อนไข “2 ลำ แถม 1 ลำ” ด้านวงในบอกราคาคุยประมาณลำละ 8 พันล้านบาท ส่วนราคาขายจริงประมาณ 12,000ล้านบาท หากซื้อ 2 แถม 1 จะใช้งบประมาณ 24,000 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่างบที่ตั้งไว้กว่าหมื่นล้าน หวั่นเรือดำน้ำซื้อมาแล้วอาจเกิดปัญหาสภาพพื้นที่และคุณสมบัติของเรือฯ ไม่เหมาะสม ชี้ “บิ๊กป้อม” ให้ สตง.เข้าตรวจสอบการจัดซื้อ เป็นเรื่องน่ายินดี เพื่อสกัดกั้นการทุจริตป้องกันการแสวงหา “ส่วนต่าง” เข้ากระเป๋าผู้มีอำนาจ
โครงการจัดซื้อ “เรือดำน้ำ” ของกองทัพเรือไทย ผ่านมาหลายยุคหลายสมัยทั้งรัฐบาลบรรหาร ศิลปอาชา รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ และรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ต่างก็ได้รับการปฏิเสธมาตลอด ด้วยเหตุผลว่าต้องใช้งบประมาณในการจัดซื้อมหาศาลประกอบกับสภาพเศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวย รวมไปถึงยังไม่มีความจำเป็นในการจัดซื้อในเวลานั้น
แต่วันนี้ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม และเป็นรองหัวหน้าประธานคณะที่ปรึกษา คสช.ได้หยิบโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำมาปัดฝุ่นใหม่จนสามารถผลักดันให้โครงการนี้ผ่านการพิจารณาให้ความเห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณการจัดซื้อจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และผ่านการพิจารณาจากคณะรัฐมนตรี เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
การทยอยซื้อครั้งละ 1 ลำด้วยงบประมาณประจำปีแบบผูกพัน ในปี 2560 จะจัดซื้อจำนวน 1 ลำ ในวงเงินงบประมาณ 13,500 ล้านบาท ส่วนอีก 2 ลำที่เหลือจะใช้วิธีก่อหนี้ผูกพันข้ามปี
โดยในการจัดซื้อเรือดำน้ำในครั้งนี้ กองทัพเรือ ต้องการจัดซื้อเรือดำน้ำรุ่น Yuan Class S 26 T จากสาธารณรัฐประชาชนจีน จำนวน 3 ลำ ในวงเงินงบประมาณ 3.6 หมื่นล้านบาท และเป็นการจัดซื้อแบบจีทูจี หรือรัฐต่อรัฐ ซึ่งจะมีการทยอยซื้อครั้งละ 1 ลำด้วยงบประมาณประจำปีแบบผูกพัน ในปี 2560 จะจัดซื้อจำนวน 1 ลำ ในวงเงินงบประมาณ 13,500 ล้านบาท ส่วนอีก 2 ลำที่เหลือจะใช้วิธีก่อหนี้ผูกพันข้ามปี
อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 21 มีนาคมที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ระบุถึงโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือจากประเทศจีน จำนวน 3 ลำ ว่า “ เขาบอกแล้วเรือดำน้ำดังกล่าว ซื้อ 2 ลำ แถมมา 1 ลำ” และขอให้ทุกคนเข้าใจเหตุผลความจำเป็นในการต้องมี และถ้าต้องมีจะต้องซื้อจากที่ไหน เพราะเราผลิตเองไม่ได้และไม่มีเงินเพียงพอที่จะซื้อของแพง ๆ แต่ตัวเลือกนี้คุณสมบัติอย่างต่ำ เราจะรับได้และปลอดภัยหรือไม่ ซึ่งก็มีหลายอย่างและกองทัพไทยก็ซื้อของแบบนี้เพราะเงินเรามีน้อย ถ้าเปิดในเว็บไซต์ จะมีขายทุกอย่าง ทุกยี่ห้อ ส่วนยี่ห้อที่ใช้แล้วดี ปลอดภัย ซึ่งความปลอดภัยมีเหมือนกัน เพียงแต่คุณภาพอาจจะเป็นประเทศที่มีชื่อเสียง เมื่อผลิตออกมาก็จะมีความเชื่อมั่นมากกว่า หรือแพงกว่า ดังนั้นเราต้องดูหลายอย่าง”
พล.อ.ประยุทธ์ บอกอีกว่า กรณีจัดซื้อครั้งนี้ ราคาจะถูกที่สุดและคุณภาพใช้ได้ มีการบริการต่าง ๆ ทั้งระบบอาวุธ ระบบการซ่อม อะไรต่างๆ การช่วยสนับสนุนก่อสร้างโรงเก็บเรือ ที่เป็นข้อเสนอเพิ่มเติมขึ้นมาและโครงการนี้เป็นการจัดซื้อแบบรัฐต่อรัฐ
“ผมได้สอบถาม พล.อ ประวิตร รองนายกฯ และรัฐมนตรีกลาโหมแล้ว ท่านยินดีให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเข้ามาตรวจสอบ และที่ผ่านมา สตง ก็ตรวจสอบมาตลอด ถ้ามีข้อสังเกตให้ ทางกองทัพก็รับข้อสังเกตมาพร้อมชี้แจงตามข้อเท็จจริง เมื่อรับได้เขาก็ให้หน่วยงานดำเนินการต่อ ไม่ใช่ว่าเป็นรัฐบาลนี้แล้วไม่ต้องตรวจสอบ เขาตรวจสอบทุกโครงการ”
ขณะเดียวกัน มีรายงานข่าวจากกองทัพเรือ ระบุว่า ในการจัดซื้อเรือดำน้ำจากประเทศจีนในครั้งนี้ มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์และไม่เห็นด้วยในการเลือกซื้อเรือดำน้ำของจีนว่าอาจจะไม่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ที่จะนำมาใช้เพราะเรือดำน้ำของจีนจะใช้ในการดำน้ำลึก ไม่ใช่เป็นการใช้บริเวณชายฝั่ง และราคาที่มีการเสนอมานั้นจะเป็นการซื้อ 2 ลำ แถม 1 ลำ โดยราคาที่มีการคุย ๆ กันจะประมาณลำละ 8,000 กว่าล้านบาท แต่ราคาที่ซื้อขายจริงคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ ลำละ 12,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาของเรือดำน้ำ บวกกับอาวุธยุทโธปกรณ์ประจำเรือ ไม่เกี่ยวกับการก่อสร้างอู่หรือสิ่งเพิ่มเติมใด ๆ
“ถ้าตามสูตรที่จีนเสนอมา 2 แถม 1 ก็จะใช้งบประมาณกว่า 24,000 ล้านบาท แต่กรอบตัวเลขงบประมาณที่ขอไป 36,000 ล้านบาท ซึ่งต่างกันเยอะมาก อะไรที่จีนให้ฟรี ก็ต้องบอกชัดเจน และอะไรที่ต้องใช้งบเพิ่มจนทำให้ราคาสูงขึ้นไปอีกกว่าหมื่นล้านก็ต้องแจงกันมา เพราะยังเป็นแค่กรอบวงเงินยังไม่มีการใช้จริง แต่ปัญหาไม่ได้อยู่ตรงนี้ สิ่งที่เรากลัวก็คือเมื่อเป็นเรือชนิดดำน้ำลึก ก็เหมาะที่จะใช้บริเวณอันดามันมากกว่าและถ้ามาใช้ที่อ่าวไทยซึ่งเป็นน้ำตื้น ไม่รู้จะเจอปัญหาอย่างไรและอาจเป็นสาเหตุให้มีการโจมตีกองทัพเรือได้ในภายหลัง”
นอกจากนี้การที่ พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ว่าการจัดซื้อเรือดำน้ำครั้งนี้ เป็นการซื้อแบบ 2 แถม 1 เป็นเรื่องผู้ที่เกี่ยวข้องและคนในกองทัพเรือ รู้สึกดีใจมาก จะได้เห็นถึงความโปร่งใส และป้องกันไม่ให้ใครเข้ามาหาประโยชน์ในการจัดซื้อ
“ พวกเรางงกันที่ท่านนายกฯ ให้สัมภาษณ์เรื่องซื้อ 2 แถม 1 ถ้ามองให้ดีจะเห็นว่าท่านอ่านเรื่องการจัดซื้อออกหมด ซึ่งเรื่องการจัดซื้อเรือดำน้ำ เป็นเรื่องที่เราไม่อยากจะพูดถึงกันหรอก แต่ก็สบายใจที่ท่านนายกฯ พูดออกสื่อแบบนี้” นายทหารเล่าให้ฟังพร้อมเสียงหัวเราะแบบถูกอกถูกใจในการให้สัมภาษณ์ของบิ๊กตู่
อีกทั้งการที่ พล.อ.ประยุทธ์ บอกว่า ได้มีการสอบถาม พล.อ ประวิตร ที่พร้อมเปิดกว้างให้ สตง.เข้ามาตรวจสอบจึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีและถูกต้อง ตรงนี้อาจทำให้รัฐประหยัดงบประมาณในการจัดซื้อเรือดำน้ำจีนในครั้งนี้ได้ด้วย เพราะการจัดซื้อแบบจีทูจีใช่ว่าจะโปร่งใส หรือ ป้องกันการทุจริตได้ เพราะหากรัฐบาลทั้งสองประเทศไม่มีมาตรการทางกฎหมายต่อต้านการทุจริตที่ชัดเจน ย่อมเป็นช่องทางให้ผู้มีอำนาจใช้เป็นช่องทางหาประโยชน์ให้กับตนเองและพวกพ้องได้
“โครงการนี้สำเร็จได้และมีความโปร่งใส เป็นเพราะท่านนายกฯ กับ พล.อ.ประวิตร และกองทัพ ให้ความสำคัญ เพราะถ้าย้อนไปดูเราจะเห็นบางครั้งการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ทั้งแพง และไม่ได้คุณภาพมันทำให้ประเทศชาติเสียหายมาก ดูอย่างการจัดซื้อเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด จีที 200 ชัดเจนมาก”
ดังนั้นการที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ทำให้โครงการจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือเป็นจริงและสำเร็จได้นั้น เป็นสิ่งที่น่ายินดีอย่างยิ่ง เพียงแต่ว่าจะต้องทำให้ฝันของประชาชนเป็นจริงได้ด้วยว่า การจัดซื้อภายใต้รัฐบาลบิ๊กตู่และ คสช.สามารถสกัดกั้นการทุจริตได้จริง โดยไม่มีการบวก “ส่วนต่าง” เข้าไปในการจัดซื้อครั้งนี้เพื่อผลประโยชน์ของใครบางคนและพวกพ้อง!