xs
xsm
sm
md
lg

ลือสะพัด “ท่าเรือน้ำลึกปากบารา” บิ๊ก คสช.เอาด้วยจ่ายผลประโยชน์กว่า 40%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


จับตาท่าเรือน้ำลึกปากบารา ที่หลายรัฐบาลพยายามผลักดัน มาจนถึงยุครัฐบาล คสช.ยังคงเดินหน้าต่อ ด้าน “ประสาท มีแต้ม” ยัน “ท่าเรือน้ำลึกปากบารา” ส่อแววเจ๊งสูง เช่นเดียวกับท่าเรือ “3 แห่ง” ในภาคใต้ที่ผุดขึ้นมาด้วยวัตถุประสงค์เดียวกับ “ปากบารา” เจ๊งระนาว จนต้องแปรสภาพการใช้งาน วงในชี้ข้าราชการ ทหาร นักการเมือง และบิ๊ก คสช.ได้ผลประโยชน์ทั่วหน้าคาดจ่ายกันถึง 40% แค่ อดีต ส.ส.เพื่อไทย รับไป 120 ล้านบาทในการจัดม็อบหนุน ด้านนายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย ชี้ชัดโครงการนี้เกิดไม่ง่าย เพราะมวลชนสตูลยันสงขลาตื่นตัว!

ภาพความรุนแรงในการใช้กองกำลังตำรวจ-ทหารข้าปะทะกับชาวบ้านซึ่งเข้ายึดเวที ค.1 เวทีรับฟังความคิดเห็นในการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) เพื่อแสดงจุดยืนในการคัดค้านโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา ที่อำเภอละงู จังหวัดสตูล เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ทำให้เกิด “ภาพลักษณ์เชิงลบ” กับรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พร้อมกับมีคำถามตามมาว่าเหตุใดรัฐบาลจึงต้องเดินหน้าโครงการนี้ ทั้งที่เป็นโครงการที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในเรื่องผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลและความคุ้มค่าของโครงการที่ต้องใช้งบลงทุนนับหมื่นล้านบาท

ขณะเดียวกันโครงการนี้ได้เกิดข่าวลือสะพัดว่ามีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องเพื่อให้ผู้มีอำนาจผลักดันให้เกิดขึ้นเป็นผลสำเร็จ ทั้งที่ความจริงแล้วใครจะได้ผลประโยชน์จากโครงการนี้มากที่สุด
นายบรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย
เป็นงง รัฐบาลศึกษา EHIA แบบแยกส่วน

นายบรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย  เล่าถึงความพยายามในการผลักดันโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบาราว่า โครงการดังกล่าวมีกระแสคัดค้านจากชาวบ้านในพื้นที่มาโดยตลอดเนื่องจากเป็นโครงการที่จะสร้างความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติในทะเลไทยอย่างมหาศาล ซึ่งแน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่และการทำมาหากินของชาวเล แต่ทุกรัฐบาลก็ยังพยายามผลักดันโดยไม่ฟังเสียงประชาชน

โดยโครงการดังกล่าวขับเคลื่อนกันมาหลายรัฐบาล จนมาถึงยุคของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ได้ประกาศใช้มาตรา 44 ให้มีการศึกษาโครงการ โดยระบุว่าอาจจะไม่มีการดำเนินการก็ได้ แต่กลับมีนายทหารระดับนายพลคือ พล.ต.เจตน์พันธ์ ศรีวงศ์ รอง ผอ.กอ.รมน. จ.สตูล ออกหน้ามาเป็นประธานจัดการประชุม ค.1 พร้อมทั้งนำกำลังเจ้าหน้าที่มาประจันหน้ากับประชาชน

แต่ที่น่าประหลาดคือการทำ EHIA ของภาครัฐครั้งนี้ก็ทำแบบแยกส่วน คือทำเฉพาะในส่วนของการสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราทั้งที่จริงๆ แล้วโครงการเต็มรูปแบบคือแผนพัฒนาระบบลอจิสติกส์ ที่เชื่อมโครงข่ายการขนส่งระหว่างอันดามันกับอ่าวไทย ซึ่งผลกระทบมันกว้างมาก

ถามว่าเมื่อมีคนคัดค้านมากทำไมรัฐบาลยังดึงดันอีก มันมีเรื่องผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องเพื่อผลักดันเรื่องนี้ แต่ยังไงผมเชื่อว่าเรื่องนี้ไม่ง่ายเพราะตอนนี้ประชาชนตั้งแต่สตูลยันสงขลาตื่นกันหมดแล้ว” นายบรรจงกล่าว
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประสาท มีแต้ม นักวิชาการด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม
สร้างมาแล้ว “3ท่าเรือ” ภาคใต้เจ๊งระนาว

ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประสาท มีแต้ม นักวิชาการด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม ชี้ว่าประเด็นที่น่าจับตาอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบาราของรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ คือรัฐบาลไม่เคยพูดถึงความจำเป็นในการก่อสร้างโครงการ อีกทั้งยังมีตัวอย่างความล้มเหลวของโครงการท่าเรือขนส่งสินค้าอื่นๆ ในพื้นที่ภาคใต้ซึ่งไม่มีผู้มาใช้บริการให้เห็นอย่างชัดเจนอยู่แล้ว แต่รัฐบาลกลับไม่นำเรื่องนี้มาพิจารณา

การก่อสร้างท่าเรือปากบาราเป็นโครงการที่ใช้งบประมาณสูงมาก เฉพาะค่าใช้จ่ายในการเอาหินไปถมทะเลก็ปาเข้าไป 4,000 ล้านบาทแล้ว ยังไม่นับรวมความเสียหายที่เกิดจากการระเบิดภูเขาเพื่อเอาหินไปใช้

จะเห็นได้ว่าโครงการนี้ต้องใช้งบประมาณสูงมาก   แต่รัฐบาลก็ไม่เคยพูดถึงความจำเป็นในการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา เพราะหากสำรวจข้อมูลทางธุรกิจจะพบว่าไม่มีสินค้าให้ขนส่ง ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนคือท่าเรือในพื้นที่ภาคใต้ทั้ง 3 แห่งที่สร้างขึ้นด้วยวัตถุประสงค์เพื่อขนถ่ายสินค้า ปรากฏว่าเจ๊ง ไม่มีคนมาใช้บริการ ไม่ว่าจะเป็นท่าเรือระนอง ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการก่อสร้างเหมือนกับท่าเรือน้ำลึกปากบาราทุกอย่าง คือเพื่อใช้ขนส่งสินค้าไปยังตะวันออกกลาง แอฟริกา ยุโรป รวมถึงภูมิภาคเอเชีย แต่พบว่าไม่มีคนใช้บริการ จนปัจจุบันกลายเป็นท่าเรือให้ ปตท.สผ.เช่าเพื่อขนถ่ายอุปกรณ์ไปที่แท่นขุดเจาะ

ส่วนท่าเรือภูเก็ตก็กลายเป็นท่าเรือขนส่งนักท่องเที่ยว ขณะที่ท่าเรือสงขลา 1 ก็ใช้ประโยชน์ไม่เต็มที่ เพราะค่าระวางสินค้าแพง คนเลยเลือกใช้บริการท่าเรือปีนังของสิงคโปร์มากกว่า

งบใต้โต๊ะสูงถึง 40%

ขณะเดียวกันแหล่งข่าววงในที่ร่วมศึกษาโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา ระบุถึงประเด็นที่สังคมจับตาว่าเรื่องนี้มีผลประโยชน์ต่างตอบแทนหรือมีการทุจริตคอร์รัปชันเพื่อผลักดันโครงการนี้ ว่าโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบาราเริ่มมาตั้งแต่ปี 2538 สมัยรัฐบาลบรรหาร จากนั้นก็ผลักดันกันมาทุกรัฐบาล พรรคไหนมาก็จะหนุนให้มีการก่อสร้างโครงการนี้ และทุกรัฐบาลต่างก็ให้เหตุผลว่า เพื่อการพัฒนา แต่ในความเป็นจริงมีเรื่องของผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง

ใครขึ้นมามีอำนาจนักธุรกิจก็ไปวิ่งเต้นกับคนนั้น ยุคนี้นักการเมืองกับบิ๊กทหารร่วมด้วยช่วยกันอยู่ งานนี้เสื้อเขียวได้ใต้โต๊ะแน่นอน ปกติโครงการแบบนี้จะจ่ายกันตั้งแต่ระดับนโยบายในส่วนกลางลงมาถึงส่วนภูมิภาค กินกันอย่างน้อย 40% แล้วจ่ายกันในระดับท้องถิ่นอีกเท่าไหร่ ถึงไม่มีใครสนใจผลกระทบที่จะเกิดจากโครงการไง

ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับข้อมูลจากแหล่งข่าวในพื้นที่ ที่ระบุว่า “โครงการนี้มีผลประโยชน์มหาศาล มากกว่าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่หลายเท่า ตอนนี้มีข่าวหนาหูว่าจ่ายกันตั้งแต่ระดับพื้นที่ จนถึงผู้มีอำนาจในกระทรวงไปยันบิ๊ก คสช. ว่ากันว่านายพลที่ผลักดันโครงการได้จากบริษัทคอนซัลต์ไปไม่น้อย ที่ผ่านมาบริษัทคอนซัลต์ก็มักจะเชิญผู้ว่าฯ ไปกินข้าว คือได้รับกันถ้วนหน้าทั้งข้าราชการ นายทหาร นักการเมือง อดีต ส.ส.เพื่อไทยที่รับงานมวลชนสัมพันธ์ จัดตั้งม็อบสนับสนุน ก็ได้มา 120 ล้านบาท

สำหรับโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาระบบลอจิสติกส์ (Logistics Master Plan)เพื่อเชื่อมโครงข่ายการขนส่งระหว่างอันดามัน และอ่าวไทยภายใต้ชื่อ “โครงการแลนด์บริดจ์ สะพานเชื่อมเศรษฐกิจสองฝั่งทะเล สงขลา-สตูล” โดยโครงการนี้ประกอบด้วยโครงการย่อยๆ อีกหลายโครงการ คือ การสร้างท่าเรือน้ำลึกทั้งสองฝั่ง โครงการก่อสร้างรถไฟเชื่อมท่าเรือหัวท้ายโครงการระยะทาง 142 กิโลเมตร โครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ หรือเขื่อน รวมถึงการพัฒนาแหล่งพลังงาน หรือโรงไฟฟ้าอีกด้วย โดยมูลค่าการลงทุนรวมของโครงการแลนด์บริดจ์ อยู่ที่ประมาณ 30,000 ล้านบาท

ขณะที่โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา ประกอบด้วย การก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกและอาคาร ค่าถมทะเลเพื่อใช้เป็นพื้นที่ก่อสร้าง ค่างานขุดร่องน้ำ ค่าก่อสร้างเขื่อนกันคลื่น และค่าก่อสร้างทางรถไฟสายควนเนียง-ปากบารา มูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 12,000 ล้านบาท

ดังนั้นจากนี้ไปต้องจับตาดูว่าโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา จะสามารถดำเนินการได้หรือไม่? ภายใต้กระแสคัดค้านของมวลชนในพื้นที่ที่ต้องการปกป้องผลประโยชน์ของชุมชนเป็นสำคัญ!

กำลังโหลดความคิดเห็น