สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน เร่งตรวจสอบการจัดซื้อเรือดำน้ำสัญชาติจีนของกองทัพเรือ เหตุกังขาเรื่องความโปร่งใส ข้อมูลชี้ออฟชั่นจากจีนด้อยกว่าประเทศอื่นที่เสนอแข่ง อีกทั้งขาดประสบการณ์ หวั่นไทยเป็นหนูทดลอง
นับเป็นโครงการระดับมหากาพย์เลยทีเดียวสำหรับการจัดซื้อเรือดำน้ำ Yuan Class S26T จากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ของกองทัพเรือ เนื่องจากเป็นโครงการซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของสังคมมาตั้งแต่ปี 2558กระทั่งกระทรวงกลาโหมต้องสั่งชะลอโครงการในขณะนั้นเอาไว้ก่อนเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจกับภาคประชาชนให้ชัดเจน ล่าสุดโครงการดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาให้ความเห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณการจัดซื้อจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)แล้ว และกำลังรอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ซึ่งคาดว่าน่าจะไม่เกินเดือนมีนาคมนี้ โดยจะมีการจัดซื้อเรือดำน้ำ Yuan Class S26T จากจีน จำนวน 3 ลำ ในวงเงิน 36,000 ล้านบาท และเป็นการจัดซื้อแบบจีทูจีหรือรัฐต่อรัฐ ซึ่งในปี 2560จะจัดซื้อจำนวน 1 ลำ ในวงเงินงบประมาณ 13,500 ล้านบาท ส่วนอีก 2 ลำที่เหลือจะใช้วิธีก่อหนี้ผูกพันข้ามปี
และเมื่อเป็นโครงการจัดซื้อจัดจ้างที่สังคมมีความเคลือบแคลงสงสัย สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบการใช้จ่ายภาครัฐจึงเข้ามาตรวจสอบว่าโครงการนี้มีความโปร่งใสหรือไม่ อย่างไร
นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เปิดเผยว่า สตง.กำลังดำเนินการตรวจสอบการจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือ เนื่องจากเป็นโครงการที่สังคมจับตา โดยขณะนี้ สตง.ได้ขอเอกสารและรายละเอียดในการจัดซื้อไปทางกองทัพเรือแล้ว ทั้งในเรื่องของวัตถุประสงค์ในการจัดซื้อ สเปคหรือคุณสมบัติของเรือดำน้ำที่กองทัพเรือกำหนด ขั้นตอนและกระบวนการจัดซื้อ ตลอดจนความเหมาะสมและความคุ้มค่าของโครงการ
“เราต้องดูวัตถุประสงค์โครงการ ซื้ออะไร เหมาะสมหรือไม่ ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตถึงวิธีจัดซื้อจัดหาซึ่งบางฝ่ายมองว่าจีนอาจจะมีการเพิ่มเติมข้อเสนอภายหลังจากการยื่นเอกสารอย่างเป็นทางการไปแล้ว ซึ่งขัดต่อกระบวนการคัดเลือกและไม่เป็นธรรมต่อผู้เสนอขายรายอื่นๆนั้น ทาง สตง.ก็ต้องดูก่อนว่าระเบียบและวิธีการจัดซื้อโครงการนี้เป็นอย่างไร คือถ้าเป็นการจัดซื้อแบบปกติทำไม่ได้ แต่ถ้าเป็นการจัดซื้อวิธีพิเศษก็ทำได้หมด และไม่ว่าจะเป็นการจัดซื้อแบบจีทูจีหรือวิธีใด หากทำด้วยความละเอียดรอบคอบ อยู่บนพื้นฐานของธรรมาภิบาล ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่ถ้าไม่มีธรรมาภิบาลอะไรก็เกิดขึ้นได้ ดูอย่างโครงการจำนำข้าวที่รัฐบาลสมัยนั้นบอกว่ามีการซื้อขายข้าวแบบจีทูจีกับประเทศจีน ก็ยังเป็นจีทูจีปลอมเลย ส่วนเมื่อได้เอกสารจากกองทัพเรือแล้ว สตง.จะใช้เวลาตรวจสอบนานเท่าไรนั้นก็ขึ้นกับจำนวนเอกสารรายละเอียดการจัดซื้อว่ามีมากน้อยเพียงใด ” ผู้ว่า สตง. ระบุ
กล่าวได้การจัดซื้อเรือดำน้ำในครั้งนี้นอกจากจะทางกองทัพเรือจะขับเคลื่อนผลักดันมากว่า 2 ปีแล้ว ยังเป็นโครงการที่ พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้การสนับสนุนอย่างสุดตัวอีกด้วย โดยอู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดช กรมอู่ทหารเรือ ได้เตรียมพื้นที่ 40.78 ไร่ เพื่อสร้างโรงซ่อมเรือดำน้ำ ขนาด 50 คูณ 100 คูณ 25 เมตร รองรับเรือดำน้ำรุ่น Yuan Class S 26 T จากสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่บริเวณอ่าวสัตหีบใกล้กับจุกเสม็ดเรียบร้อยไว้แล้ว
ไม่มีใครปฏิเสธเหตุผลของกองทัพในเรื่องความจำเป็นในการจัดซื้อเรือดำน้ำเพื่อดูแลผลประโยชน์ทางทะเลของชาติที่มีมูลค่ากว่า 24 ล้านล้านบาท และเพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านยุทโธปกรณ์ในการปกป้องน่านน้ำของกองทัพเรือไทยที่ปัจจุบันยังไม่ทัดเทียมประเทศเพื่อนบ้าน แต่อย่างไรก็ดี ประเด็นที่สังคมยังคงเคลือบแคลงก็คือเหตุใดกองทัพเรือจึงไม่เลือกซื้อเรือดำน้ำจากเยอรมนี สวีเดน ฝรั่งเศส ซึ่งมีชื่อเสียงในการสร้างเรือดำน้ำ หรือแม้กระทั่งรัสเซียซึ่งเป็นต้นแบบที่ถ่ายทอดเทคโนโลยีเรือดำน้ำให้แก่จีน แต่ กลับเลือกซื้อเรือดำน้ำจากประเทศจีนทั้งที่จีนไม่มีประสบการณ์ในการสร้างเรือดำน้ำและไม่มีกองทัพเรือประเทศใดเคยใช้เรือดำน้ำจากจีนมาก่อน และที่สำคัญก่อนหน้านี้เรือรบหลายลำที่ต่อจากประเทศจีนได้เคยสร้างปัญหาให้กองทัพเรือไทยมาแล้ว
ขณะที่ประเทศอื่นได้เสนอราคาภายใต้เงื่อนไขที่กองทัพเรือประกาศ โดยนำเสนอเรือดำน้ำจำนวน 2 ลำ พร้อมอาวุธและระบบสนับสนุนต่างๆ ในวงเงิน 36,000ล้านบาท อีกทั้งบางประเทศได้เสนอการฝึก ระบบ ILS พร้อมอะไหล่ 2 ปี การปรับปรุงท่าเรือและอู่ซ่อม เครื่องฝึก ลูกตอร์ปิโด 16 ลูก (เฉลี่ยลำละ 8 ลูก) และการผ่อนชำระเป็นเวลา 8 ปี นอกจากนี้ยังเสนอว่าจะถ่ายทอดเทคโนโลยีเฉพาะทางแบบ Indirect Offset ในอุตสาหกรรมอื่นๆ นอกเหนือจากเรือดำน้ำ เช่น อุตสาหกรรมการเกษตร อุตสาหกรรมเคมี และอุตสาหกรรมพลังงาน อีกด้วย
แต่เรือดำน้ำ S26T ที่จีนเสนอมาในวงเงิน 36,000ล้านบาทนั้น มีจุดเด่นเพียงอย่างเดียวคือจำนวนเรือดำน้ำ ที่เสนอให้ 3 ลำ แต่ยังขาดความครบถ้วนในหัวข้อสำคัญหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น ระบบการส่งกำลังบำรุงรวม (ILS) อะไหล่ซ่อมบำรุง การปรับปรุงอู่ซ่อมเรือดำน้ำ อีกทั้งจำนวนลูกตอปิโดที่เสนอให้ก็มีเพียง 4 ลูกสำหรับเรือดำน้ำ 3 ลำ (เฉลี่ยลำละไม่ถึง 2 ลูก) ซึ่งหากต้องการออฟชั่นที่ครบถ้วนก็ต้องจ่ายเพิ่ม
ดังนั้นการตัดสินใจเลือกเรือดำน้ำจากจีนจึงสร้างความกังขาให้หลายฝ่ายไม่น้อย บ้างกังวลว่าทัพเรือไทยจะกลายเป็นหนูทดลองให้เรือดำน้ำจีนหรือไม่ เหล่านี้ล้วนเป็นประเด็นที่รัฐบาลและกองทัพต้องตอบคำถามเพื่อสร้างความกระจ่างให้แก่สังคม