xs
xsm
sm
md
lg

ชงตั้ง “พระไพศาล วิสาโล” เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


จับตามีการชงชื่อ “พระไพศาล วิสาโล” พระนักปฏิบัติ เป็นเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย หลังมหาเถรสมาคมมีการประชุมและใช้ กฎ มส.ฉบับที่ 21 สั่งให้ธัมมชโยสึก ชี้คุณสมบัติพระไพศาล เหนือกว่า ธัมมชโย ที่เป็นเพียงนักธรรมตรี คาด 2 ภารกิจเร่งด่วนต้องเปลี่ยนแปลง สะสางและจัดระเบียบคณะกรรมการวัดและไวยาวัจกรใหม่ทั้งชุด รวมไปถึงการจัดวัตรปฏิบัติพระให้ถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนา ขณะเดียวกันพระไพศาล โพสต์ข้อความชัดเจน “กรณีธัมมชโย/ธรรมกาย เป็นปัญหาที่ร้ายแรงในตัวมันเอง” คาดพระสงฆ์และศิษยานุศิษย์ ต้านพระไพศาล หวั่นไปรื้อผลประโยชน์ของวัดพระธรรมกายที่มีการหมกเม็ดไว้!

หลังมีพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ถอดถอน พระเทพญาณมหามุนี (พระไชยบูลย์ สุทธิผล)ออกจากสมณศักดิ์ ตั้งแต่วันที่ 4 มี.ค. 2560 ที่ผ่านมา และมีข่าวว่า มหาเถรสมาคมจะประชุมในวันที่ 10 มีนาคม ที่จะถึงนี้เพื่อพิจารณาเกี่ยวกับธัมมชโย ซึ่งอาจจะมีการใช้กฎ มส.ฉบับที่ 21 ปี 2538 สั่งให้ ธัมมชโย สละสมณเพศ เหมือนครั้งหนึ่งเคยมีมติให้พระยันตระพ้นจากการเป็นพระโดยไม่ต้องนำตัวมาดำเนินการ ส่งผลให้สถานะธัมมชโยจะเป็นเพียง นายไชยบูลย์ สุทธิผล ผู้ต้องหาคดีร่วมกันฟอกเงิน และรับของโจรกรณีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น และคดีตามหมายจับอีกหลายคดี
พระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ
อย่างไรก็ดีมีข่าวลือในวงการคณะสงฆ์ว่าจะมีการพิจารณาแต่งตั้งให้ พระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ ซึ่งเป็นพระภิกษุสงฆ์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังในทางธรรม เป็นพระนักปฏิบัติ นักคิด นักวิชาการ เข้ามาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายรูปใหม่

โดยในการเสนอชื่อเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายนั้น ตามหลักการแล้ววัดพระธรรมกายไม่ได้เป็นวัดพระอารามหลวง คุณสมบัติของพระที่จะมาเป็นเจ้าอาวาสนั้นคือผ่านการบวชมา 5 พรรษา ก็สามารถเป็นได้ ขณะที่พระไพศาล บวชมากว่า 34 พรรษา จบนักธรรมเอก ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านหลักพุทธศาสนา ซึ่งสูงกว่าธัมมชโยที่เป็นเพียงนักธรรมตรี อีกทั้งยังเป็นพระนักปฏิบัติ นักพัฒนา ที่มีความโปร่งใส ที่จะทำให้วัดพระธรรมกายได้การยอมรับทั้งในเรื่องหลักธรรมคำสั่งสอนตามแนวทางพุทธศาสนาที่ถูกต้อง และสร้างความโปร่งใสภายในวัดพระธรรมกายให้เกิดขึ้นได้

อีกทั้งมีข่าวว่าเจ้าอาวาสรูปใหม่จะต้องเข้ามาแก้ไขปัญหาและที่เร่งด่วนจะต้องดำเนินการคือ การเข้าไปเปลี่ยนแปลง สะสาง และจัดระเบียบคณะกรรมการวัดและไวยาวัจกรใหม่ทั้งชุด รวมไปถึงการจัดวัตรปฏิบัติพระใหม่ ทั้งเรื่องการทำวัตรเช้า วัตรเย็น เรื่องพระวินัย ต้องมีการกวดขันให้พระทุกรูปต้องปฏิบัติ และอะไรที่ไม่ได้อยู่ในหลักพุทธศาสนา ก็จะถูกแยกแยะอย่างชัดเจน
ข้อธรรม คำสอน พระไพศาล วิสาโล
พระไพศาล วิสาโล อุปสมบทเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2526 ณ วัดทองนพคุณ กทม. ได้เรียนกรรมฐานจากหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ วัดสนามใน ก่อนไปจำพรรษาแรก ณ วัดป่าสุคะโต อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ โดยศึกษาธรรมกับหลวงพ่อคำเขียน สุวณฺโณ

“พระไพศาล เป็นพระรุ่นใหม่ เป็นเป็นพระนักปฏิบัติ นักคิด นักเขียน นักบรรยายธรรม ที่ทำให้คนเข้าใจเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ด้วยการเชื่อมโยงความรู้ด้านพุทธธรรมมาอธิบายปรากฏการณ์ของชีวิตและสังคมได้ดี ทั้งในรูปของสื่อโทรทัศน์ สื่อออนไลน์ การนำคำสอนทางพุทธศาสนามาทำเป็นอินโฟกราฟิก มีการแชร์ในโลกออนไลน์กันไปทั่ว และยังเขียนหนังสือออกมาเป็นจำนวนมาก จนทำให้คนทั่วไปมองเห็นธรรมะเป็นเรื่องที่ไม่ยากและน่าศึกษา”

ขณะเดียวกัน พระไพศาลยังได้เปิดเฟซบุ๊กไว้ตอบคำถามในทางธรรมซึ่งทุกคนที่สนใจสามารถเข้าไปอ่านและสนทนาธรรมกับพระไพศาลได้ที่ www.facebook.com/visalo หรือไปที่ twitter.com/pvisalo

อย่างไรก็ดี การแต่งตั้งพระไพศาล ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายนั้น ก็อาจไม่ราบรื่นเสียทีเดียว เนื่องจากพระไพศาลได้มีการแสดงความเห็นเกี่ยวกับธัมมชโยและวัดพระธรรมกาย ให้สังคมได้ตื่นรู้ว่าธัมมชโยและวัดพระธรรมกาย บิดเบือนคำสอนในพระพุทธศาสนาจนกลายเป็นภัยร้ายแรงอย่างหนึ่ง

ตัวอย่างข้อความที่พระไพศาลโพสต์ใน facebook.com/visalo เกี่ยวกับกรณีธรรมกาย

“กรณีธัมมชโย/ธรรมกาย เป็นปัญหาที่ร้ายแรงในตัวมันเอง ขณะเดียวกันก็เป็นภาพสะท้อนปัญหา ที่ร้ายแรงยิ่งกว่า ของวงการพุทธศาสนาไทย”

ประการแรกกรณีดังกล่าวไม่เพียงชวนตั้งคำถามกับคุณธรรมและวิจารณญาณของกรรมการมหาเถรสมาคมเป็นรายบุคคลเท่านั้น หากยังบ่งชี้ถึงข้อบกพร่องของระบบการปกครองคณะสงฆ์ไทยในปัจจุบัน โดยเฉพาะการรวมศูนย์อำนาจมาไว้ที่คนเพียง 20 คน โดยไม่มีกลไกการตรวจสอบภายใน ไม่ต้องรับผิด (accountability) กับผู้ใด อีกทั้งขาดความโปร่งใส จึงเปิดโอกาสให้มีการวิ่งเต้นใช้เส้นสายหรือผลประโยชน์เพื่อชักจูงโน้มน้าวกรรมการมหาเถรสมาคม นำไปสู่การละเลย ไม่ใส่ใจ ต่อการประพฤติผิดพระธรรมวินัยของพระที่ร่ำรวยหลายรูป หรือถึงกับสนับสนุน รู้เห็นเป็นใจให้กับพระเหล่านั้นครั้งแล้วครั้งเล่า (รวมทั้งเลื่อนสมณศักดิ์) จนบุคคลอย่างธัมมชโยสามารถแผ่อำนาจและเครือข่ายไปอย่างกว้างขวาง

ประการต่อมา การที่ธัมมชโย/ธรรมกาย ได้รับความนิยมจากผู้คนอย่างต่อเนื่องเป็นลำดับ สาเหตุสำคัญเป็นเพราะชาวพุทธจำนวนมาก มีความเข้าใจน้อยมากในหลักธรรมทางพุทธศาสนา แม้กระทั่งเรื่องพื้นฐาน เช่น บุญ ก็มีความเห็นที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อน เช่น เชื่อว่าบริจาคเงินมากเท่าไรก็ได้บุญมากเท่านั้น หรือทำบุญเพื่อเอา มิใช่ทำบุญเพื่อละ (ยังไม่ต้องพูดถึงหลักธรรมขั้นสูง เช่น นิพพาน) ดังนั้นจึงง่ายที่จะคล้อยตามและหลงใหลศรัทธาในธัมมชโย/ธรรมกาย และพร้อมที่จะปิดหูปิดตาต่อพฤติกรรมที่ไม่ชอบมาพากลของธัมมชโย/ธรรมกาย กล่าวอีกนัยหนึ่งกรณีดังกล่าวสะท้อนถึงความล้มเหลวในการเผยแผ่ธรรมของชาวพุทธไทย โดยเฉพาะคณะสงฆ์ ซึ่งโยงไปถึงความล้มเหลวของการศึกษาคณะสงฆ์อย่างชัดเจน

เหตุผลอีกประการหนึ่งที่ทำให้ธัมมชโย/ธรรมกายได้รับความนิยมจากผู้คนโดยเฉพาะคนชั้นกลางก็คือ พฤติกรรมที่ไม่น่าศรัทธาของพระจำนวนมาก ซึ่งไม่เพียงปรากฏเป็นข่าวอื้อฉาว แต่ยังพบเห็นได้ทั่วไปบนท้องถนน ปรากฏการณ์ดังกล่าวชักนำให้คนชั้นกลางจำนวนไม่น้อย หันไปศรัทธาชื่นชมพระธรรมกาย ซึ่งดูเรียบร้อยกว่า มีความสงบเสงี่ยมมากกว่า (โดยหาได้ตระหนักไม่ว่าผู้นำสำนักนี้มีพฤติกรรมที่เสียหายแต่แนบเนียนกว่า ร้ายแรงกว่าและส่งผลกระทบกว้างไกลกว่า) คนเหล่านี้จึงไม่เห็นด้วยเลยหากว่ามหาเถรสมาคมจะลงโทษธัมมชโย/ธรรมกาย แต่กลับปล่อยให้พระอลัชชี (กลุ่มอื่น) ลอยนวล

คลิกอ่านข้อความเฟสบุ๊ก

อย่างไรก็ตาม นั่นไม่ใช่ประเด็นสำคัญในที่นี้ ประเด็นที่สำคัญกว่าก็คือคำถามว่าอะไรทำให้พระที่มีพฤติกรรมไม่น่าศรัทธามีอยู่เต็มบ้านเต็มเมือง คำตอบนั้นไม่ได้อยู่ที่ความไร้ประสิทธิภาพของผู้ปกครองสงฆ์ โดยเฉพาะมหาเถรสมาคมเท่านั้น หากยังอยู่ที่ตัวระบบการปกครองคณะสงฆ์ ที่ก่อให้เกิดปัญหาตามมามากมาย รวมทั้งการมีพระประพฤติผิดพระธรรมวินัยมากมาย จะว่าไปแล้วการที่ระบบปกครองคณะสงฆ์เป็นอย่างทุกวันนี้ย่อมทำให้คณะสงฆ์มีผู้ปกครองระดับสูงสุดที่อ่อนแอ ไร้ประสิทธิภาพ และมีข้อกังขาในทางคุณธรรมอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก

ดังนั้นหากมองย้อนข้อความที่ พระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต เขียนไว้นั้นอาจทำให้พระสงฆ์และศิษยานุศิษย์วัดพระธรรมกายไม่ยอมรับ และตั้งป้อมต่อต้านได้ โดยเฉพาะพระและศิษย์เหล่านี้อาจเกรงว่าพระไพศาล ซึ่งเป็นพระที่ซื่อสัตย์ โปร่งใส จะเข้าไปรื้อเรื่องผลประโยชน์ภายในวัดที่มีมากมายมหาศาล และไม่มีการทำบัญชีที่ถูกต้อง อีกทั้งพระไพศาลก็เป็นพระในแนวสันติวิธี อาจจะปฏิเสธการเสนอให้ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายก็ได้ ส่งผลให้การส่งพระไพศาล ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายก็อาจจะเป็นเรื่องที่สำเร็จได้ยากเช่นกัน!

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2560 เวลา พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต จ.ชัยภูมิ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีทีมีข่าวว่าจะไปดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายว่า "เป็นข่าวลวงหรือข่าวกุที่อาตมาไม่ทราบเรื่องด้วย ที่ผ่านมาก็ไม่มีใครติดต่อมา ถึงเสนอมาอาตมาก็ไม่รับ"


กำลังโหลดความคิดเห็น