xs
xsm
sm
md
lg

ม็อบถ่านหินกร้าว “กฟผ.” ขยับขึ้นเมื่อไหร่ระดมพลต้าน!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศึกโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ เตรียมปะทุอีกรอบ กฟผ.ยันสร้างแน่ นำ EIA และ EHIA ของเดิมมาปรับใหม่ ด้านเครือข่ายต่อต้านฯ ประกาศกร้าว โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่เกิดแน่นอน ลั่นรัฐสั่งเดินหน้าเมื่อไหร่? พร้อมชุมนุมต่อต้านทันที พบพิรุธ กฟผ.โกหกหน้าตาย  ไม่มีนโยบายซื้อถ่านหินจากบริษัท AI ในอินโดฯ แต่เว็บ กฟผ.บอกเองนำเข้าจากอินโดฯ

หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ของโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ใหม่ โดยรัฐบาลระบุว่าน่าจะใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปี เริ่มแรกบรรยากาศอันร้อนแรงจากการเคลื่อนไหวคัดค้านต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินก็ดูจะลดอุณหภูมิลง แต่แล้วก็กลับปะทุขึ้นอีกครั้ง เนื่องเพราะกระทรวงพลังงาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ยืนยันตรงกันว่าจะนำผลการศึกษา EIA และ EHIA เดิมมาปรับแก้ แล้วส่งให้สำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.)พิจารณาว่าจะรับรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่ปรับแก้หรือไม่

และหาก สผ.ต้องการให้ทำประชาพิจารณ์เพิ่มเติม กฟผ.ก็สามารถเปิดรับฟังความคิดเห็นอีกรอบได้ พร้อมทั้งบอกด้วยว่าการทำประชาพิจารณ์เพิ่มเติมจะทำให้การก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ล่าช้าออกไปจากปี 2564 เป็นปี 2566 ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณชัดเจนว่า “สร้างแน่” !
นายประสิทธิ์ชัย หนูนวล ผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน
และหาก สผ.ต้องการให้ทำประชาพิจารณ์เพิ่มเติม กฟผ.ก็สามารถเปิดรับฟังความคิดเห็นอีกรอบได้ พร้อมทั้งบอกด้วยว่าการทำประชาพิจารณ์เพิ่มเติมจะทำให้การก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ล่าช้าออกไป  จากปี 2564 เป็นปี 2566 ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณชัดเจนว่า “สร้างแน่” !

ฉับพลันที่ กฟผ.มีท่าทีดังกล่าวออกมาบรรดาเครือข่ายต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินก็ออกมาสวนกลับ โดยตอกย้ำถึงความไม่ชอบมาพากลในการผลักดันโครงการนี้ เริ่มจาก นายประสิทธิ์ชัย หนูนวล ผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน บอกถึงความพยายามในการผลักดันโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ว่า วันนี้ได้พิสูจน์แล้วว่าคำสั่งของ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่อยู่ในสายตาของ กฟผ. นายกฯ สั่งให้ทำ EIA ใหม่ กฟผ.บอกไม่ทำ แต่จะไปปรับจากรายงานเดิม

“ผมตั้งสมติฐานว่าถ้า กฟผ.ผนวกรวมกับทหารบางกลุ่ม อำนาจนั้นยิ่งทรงอิทธิพล เห็นได้จากความพยายามในการใช้อำนาจทางการปกครองเกณฑ์คนมาหนุนถ่านหิน สมมติฐานนี้ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้เพราะธุรกิจโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่หากสร้างได้จะมีคนหลายกลุ่มที่ได้ผลประโยชน์จำนวนมหาศาล”

นายประสิทธิ์ชัย  บอกถึงผลประโยชน์มหาศาลจะมีตั้งแต่ค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้าก่อสร้าง มูลค่า 3.2 ล้านบาท ธุรกิจท่าเทียบเรือขนส่งถ่านหิน ไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท มีการซื้อถ่านหินตลอดการดำเนินงานตลอด 25 ปี อีกประมาณ 1.7 แสนล้านบาท รวมตลอด 25 ปีจะมีค่าการดำเนินงานมากกว่า 2 แสนล้านบาท
ม.ล.รุ่งคุณ กิตติยากร หนึ่งในเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน
ขณะที่ ม.ล.รุ่งคุณ กิตติยากร หนึ่งในเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ระบุว่า โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ยังไงก็มีปัญหา ไม่ว่าจะทำ EIA และ EHIA ใหม่ หรือนำของเก่ามาปรับปรุง เพราะโครงการนี้ไม่ผ่านเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม จากการศึกษาของทั่วโลกยืนยันตรงกันว่ามันมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน

“ทำ EIA เมื่อไหร่ก็มีปัญหา ทาง กฟผ.ก็ต้องพยายามให้ผ่าน จึงต้องหาวิธีโกงเหมือนครั้งที่แล้ว อีกทั้งยังมีกลุ่มทหารถ่านหินที่ออกมาประสานเสียงสนับสนุน ชาวบ้านบอกไม่เอาก็ดึงดันจะทำให้ได้ ผมว่าจริง ๆ ตอนนี้ภาคเอกชนของไทยที่มีศักยภาพในการผลิตพลังงานหมุนเวียนมีอยู่จำนวนไม่น้อย ถ้ารัฐบาลอยากได้ไฟฟ้าราคาถูกก็สามารถดึงเอกชนเหล่านี้มาร่วมประมูลเสนอขาย แต่รัฐไม่ทำ เพราะอะไรก็น่าจะรู้อยู่” ม.ล.รุ่งคุณระบุ

อย่างไรก็ดีเป็นที่รับรู้กันในแวดวงพลังงานว่าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่เป็นโครงการที่มีผลประโยชน์สูง และน่าจะมีการจ่ายใต้โต๊ะกันไปแล้ว เพราะโครงการลักษณะนี้จะมีการจ่ายกันเป็นงวด ๆ ตั้งแต่เริ่มเสนอโครงการ เมื่อโครงการคืบหน้าไประดับหนึ่งก็จ่ายอีกก้อนหนึ่ง อีกทั้งยังมีธุรกิจไม่น้อยที่ได้ประโยชน์จากการดำเนินโครงการ ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างโครงการ การซื้อขายถ่านหิน ซึ่งผลตอบแทนนั้นคุ้มที่จะจ่ายใต้โต๊ะเพื่อให้โครงการเกิดได้

นอกจากเรื่องผลประโยชน์แล้วยังมีการตั้งข้อสังเกตถึงความพยายามผลักดันโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินของ กฟผ. โดยเฉพาะเรื่องการเปิดประมูลทั้ง ๆ ที่โครงการยังไม่ผ่านมติคณะรัฐมนตรี การตั้งบริษัทลูกเข้าไปลงทุนในธุรกิจถ่านหินที่ประเทศอินโดนีเซีย รวมถึงการปิดบังข้อมูลเกี่ยวกับการซื้อถ่านหินที่จะนำมาใช้ในการผลิตไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ซึ่งเรื่องนี้ นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี รองผู้ว่าการประจำสำนักผู้ว่าการในฐานะโฆษกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ยืนยันว่าการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ไม่เกี่ยวข้องกับการที่ บริษัท กฟผ.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (EGATi) เข้าไปลงทุนในเหมืองถ่านหินที่อินโดนีเซีย และ กฟผ.ไม่ได้วางแผนที่จะรับซื้อถ่านหินจากเหมืองถ่านหินดังกล่าวแต่อย่างใด เพราะถ่านหินจากเหมืองในอินโดนีเซียนั้นมีค่าความร้อนไม่ตรงกับคุณสมบัติถ่านหินที่ใช้กับโรงไฟฟ้ากระบี่

แต่จากข้อมูลก่อนหน้านี้ ซึ่ง นายวัชรา เหมรัชตานันต์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กฟผ.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (EGATi) ได้ให้สัมภาษณ์ถึงเหตุผลที่บริษัท EGATi เข้าไปลงทุนใน บริษัท Adaro Indonesia (AI) ประเทศอินโดนีเซียว่า    “เนื่องจากเป็นธุรกิจที่มีโอกาส หลายประเทศมีแผนที่จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มขึ้น ทำให้บริษัทสามารถสร้างผลกำไรจากการขายถ่านหินให้แก่โรงไฟฟ้าต่าง ๆ ได้ และในอนาคตสามารถขายให้แก่ กฟผ.ได้ด้วย อีกทั้งบริษัท AI  เป็นเจ้าของแหล่งถ่านหินประเภทซับบิทูมินัสที่มีคุณภาพดี มีแบรนด์การค้าที่มีชื่อเสียงทั่วโลก”

ขณะที่ข้อมูลจากเว็บไซต์ กฟผ.พบว่า กฟผ.ระบุชัดเจนว่าโรงไฟฟ้ากระบี่เลือกใช้เทคโนโลยีที่ดีที่สุด และใช้ถ่านหินคุณภาพดี ประเภทซับบิทูมินัสที่นำเข้าจากอินโดนีเซียหรือออสเตรเลีย

อีกทั้งการเข้าไปลงทุนใน บริษัท Adaro Indonesia (AI) ของ บริษัท กฟผ.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ก็เป็นประเด็นที่สร้างความเคลือบแคลงใจให้สังคมเช่นกัน นายประสิทธิ์ชัย ตั้งข้อสังเกตว่า การเข้าไปลงทุนใน AI ของบริษัทลูกของ กฟผ.นั้นเป็นเรื่องที่ผิดปกติ เพราะถ้าหากพิจารณาจากความต้องการในตลาดโลกแล้วจะเห็นว่า ปัจจุบันโรงไฟฟ้าถ่านหินในหลายประเทศทั่วโลกทยอยปิดตัว ทำให้ราคาหุ้นในกลุ่มถ่านหินตกลงไปมาก เรียกว่าเป็นธุรกิจที่ไม่มีอนาคต แล้วเหตุใด กฟผ.จึงให้บริษัทลูกไปลงทุนในธุรกิจนี้ และที่ผิดปกติอีกอย่างคือขณะที่ราคาหุ้นถ่านหินของทั้งโลกตกลง หุ้นถ่านหินในอินโดนีเซียกลับพุ่งสูงขึ้น เรื่องนี้ต้องมีความไม่ชอบมาพากล

ดังนั้นเมื่อข้อมูลของฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายต้านออกมาเป็นเช่นนี้จึงเป็นที่แน่ชัดว่าโอกาสที่โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่จะเกิดขึ้นได้ คงเป็นเรื่องยากเย็นแสนเข็ญ เพราะทันทีที่รัฐบาลประกาศเดินหน้า ฝ่ายม็อบต้านก็พร้อมจะเปิดศึกทันที!!

กำลังโหลดความคิดเห็น