xs
xsm
sm
md
lg

สินบนข้ามชาติ หวยออก “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ”?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ผู้ว่าการ สตง.แจงนำทุกรายชื่อที่มีโอกาสรับสินบน “บินไทย” มาตรวจสอบตามหลักฐานของทางอังกฤษ และมั่นใจทำเป็นขบวนการ ชี้ถ้าหลักฐานสาวไม่ถึงคนมีอำนาจต้องตรวจ “ร่ำรวยผิดปกติ” โดยเฉพาะที่ไปที่มาของการนำเงินไปซื้อที่ดินแปลงใหญ่มูลค่ามหาศาล พร้อมเปิดรายชื่อผู้รับสินบนทุกคน ทุกช่วงเวลา แม้คดีจะหมดอายุความก็ต้องนำรายชื่อ “ประจาน” เพื่อให้สังคมรับรู้ ใครกินสินบน ด้านวงในเชื่อ “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” ดิ้นไม่หลุด ขณะที่หลักฐานสินบน ปตท.เสมือนจะเอาผิดยาก

“ข้อมูลหลักฐานที่มีอยู่ขณะนี้ มีรายชื่อผู้ต้องสงสัยรับสินบนค่อนข้างเยอะ ทุกคนที่เกี่ยวข้องมีโอกาสเป็นไปได้คนละนิดคนละหน่อย ยืนยันการติดสินบนไม่ใช่ติดเฉพาะคนที่มีอำนาจสูงสุดเพียงคนเดียว เราต้องคาดเดาว่า คนมีอำนาจสูงสุดถ้าจะไปโต้แย้งเหตุผลของเสียงส่วนใหญ่ เป็นเรื่องที่ยากมาก จึงต้องมีการติดสินบนกันมากพอสมควรเพื่อให้มั่นใจว่าจะผ่านการพิจารณาไปอย่างราบรื่น” นาย พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กล่าว

กรณีสินบนข้ามชาติซึ่งบริษัทโรลส์-รอยซ์ ผู้ผลิตเครื่องยนต์สำหรับอากาศยานรายใหญ่ สัญชาติอังกฤษยอมรับว่าได้จ่ายสินบนให้หลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทย โดยเฉพาะการบินไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อให้ได้ขายเครื่องยนต์ใน 3 ช่วงเวลา ระหว่างปี 2534-2548 เป็นเงิน 1,253 ล้านบาท และจ่ายสินบนให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ) จำกัด (มหาชน) รวม 393 ล้านบาทใน 6 โครงการระหว่างปี 2543-2556 นั้น นายพิศิษฐ์ ผู้ว่าการ สตง. ระบุว่า การที่ต่างชาติมีการออกกฎหมายการติดสินบนข้ามชาติและเคยมีเหตุการณ์การติดสินบนในประเทศไทยมาแล้ว อย่างกรณีที่เกิดขึ้นกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย มาจนถึงสินบนที่กำลังโด่งดังทั้งการบินไทย ปตท. การไฟฟ้านครหลาง ไฟฟ้าภูมิภาค และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) รวมไปถึงหลักฐานที่ สตง.มีอยู่ขณะนี้ ทำให้เชื่อว่า การทุจริตข้ามชาติจะต้องมีอีกหลายโครงการ ซึ่ง สตง.จะต้องเข้าไปติดตามตรวจสอบต่อไป

กางบัญชีรายชื่อผู้อยู่ในข่ายกินสินบน

ส่วนในเรื่องของการบินไทยนั้น ยอมรับว่า สตง.มีการตรวจสอบข้อมูลหลักฐานทางเอกสารตั้งแต่ระดับนโยบายว่ามีแผนการจัดซื้ออย่างไร การประชุมบอร์ดในแต่ละครั้งกรรมการท่านใดมีความเห็นอย่างไรบ้าง ใครออกความเห็นบ้าง ใครเชียร์บ้าง การเดินทางไปต่างประเทศทั้งในเรื่องของการดูงาน การเอนเตอร์เทนต่าง ๆ รวมไปถึงขั้นเซ็นสัญญา

“เราเอารายชื่อตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ มาเรียงร้อย ทั้ง 3 ช่วงเวลา เพราะเรารู้ว่ากระบวนการของเส้นทางกว่าจะมาถึงอนุมัติทำสัญญาได้ ตั้งแต่คนเสนอเรื่อง เพื่อให้มีการจัดซื้อ คนกำหนดเงื่อนไข กำหนดสเปก คนที่มาคัดเลือกตัวเครื่องยนต์ คนที่มาทำหน้าที่อนุมัติ เลือกว่าจะเอาตัวนี้หรือตัวโน้น จนกระทั่งทำสัญญา”

ผู้ว่าการ สตง.บอกว่า ทุกคนที่มีรายชื่ออยู่ในบัญชี สตง.ครั้งนี้ มีโอกาสรับสินบนด้วยกันทั้งนั้น แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกคนรับสินบนทั้งหมด ซึ่งบางคนมีเหตุผลทางเทคนิคว่าต้องใช้ยี่ห้อนี้ แต่ที่น่าประหลาดคือคนที่ไม่มีความรู้ด้านเทคนิคด้านเครื่องยนต์ แต่กลับเชียร์มาก ๆ ให้ซื้อยี่ห้อนี้

ตรงนี้ สตง.ก็ต้องพิจารณาเป็นพิเศษว่า คนคนนี้เชียร์เป็นพิเศษเพราะทำตามหน้าที่หรือถ้าหลักฐานที่ได้มาพบว่ามีการให้สินบนเพื่อให้คนคนนี้ไปพูดเชียร์ ก็ต้องถูกดำเนินคดีเช่นกัน

“หลักฐานจากทางอังกฤษ จะทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้น เพราะคนที่ตอบได้ชัดเจนที่สุดก็คือคนให้สินบน ที่ทางอังกฤษมีการสืบสวนและตรวจสอบมาแล้ว จึงเป็นหลักฐานที่เชื่อถือได้”

อย่างไรก็ดี จากข้อมูลตรวจสอบของ สตง.ที่มีการไล่เรียงตั้งแต่ระดับเจ้าหน้าที่ขึ้นไป จนถึงระดับผู้มีอำนาจสูงสุดของหน่วยงานก็คือกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ หรือที่เรียกกันว่า “ดีดีการบินไทย” นั้น สตง.ได้นำข้อมูลมาดูว่ากระบวนการจัดซื้อจบที่ตรงนี้หรือไม่ และเมื่อไม่จบก็ต้องไปดูว่าถึงผู้กำกับดูแลซึ่งหมายถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมหรือไม่ หรือรัฐมนตรีได้มอบหมายหน่วยงานการบินไทยให้รัฐมนตรีช่วย หรือผู้ช่วยรัฐมนตรีมีอำนาจดำเนินการทั้งหมด

“สตง.ไม่ดูแค่นี้ ได้ตามไปดูข้อมูลต่อว่า เรื่องการจัดซื้อในแต่ละครั้งมีการนำเข้า ครม.หรือไม่ และมีการเสนออะไรใน ครม.ชุดนั้นอย่างไร”

หลักฐานโยงไม่ถึงตรวจร่ำรวยผิดปกติ

ผู้ว่าการ สตง.บอกว่า ถ้ารัฐมนตรีจะอ้างว่ามอบอำนาจให้รัฐมนตรีช่วย เป็นผู้ดูแลการบินไทยในการดำเนินงานหรือบริหารงานก็ต้องอยู่กับรัฐมนตรีช่วย ไม่ใช่บอกว่ามอบหมายงานแต่ในความเป็นจริงรัฐมนตรีว่าการเป็นผู้มีอำนาจหรือแอกชั่นในการบริหารทั้งหมด

ตรงนี้ถ้าหลักฐานจากอังกฤษระบุว่าผู้ที่ให้สินบนมีการซัดทอดถึงรัฐมนตรีว่ามีการไปรับเลี้ยง ไปดูงานต่างประเทศ ก่อนที่จะมีการเซ็นสัญญาจัดซื้อกับบริษัท ทั้งที่รัฐมนตรีอ้างว่ามีการมอบอำนาจให้รัฐมนตรีช่วยไปแล้ว

“ตรงนี้ก็เหนื่อยเหมือนกันในการไปตรวจสอบ” นายพิศิษฐ์ บอก

ผู้ว่าการ สตง.ยืนยันว่า หากมีการตรวจสอบอย่างรัดกุมแล้วแต่หลักฐานโยงไม่ถึงผู้มีอำนาจ สตง.ก็ต้องดำเนินการนำหลักฐานทั้งหมดส่งให้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อให้ตรวจสอบความร่ำรวยผิดปกติ ว่าในแต่ละช่วงนั้นมีทรัพย์สินอะไรเพิ่มขึ้นหรือไม่ เช่นการไปซื้อที่แปลงใหญ่ แม้ว่าผู้ที่เกี่ยวข้องจะซื้อในนามบริษัทก็สามารถตรวจสอบได้ ว่าที่มาของเงินมาจากแหล่งไหน จากบัญชีบริษัทหรือบัญชีส่วนตัว ซี่งมีวิธีการสืบสวนสอบสวนได้เช่นกัน

ส่วนกรณีสินบนข้ามชาติของบริษัท ปตท.นั้น จากข้อมูลที่ สตง.นำมาเรียงร้อย ก็ยังต้องมีการตรวจสอบเพิ่มเติม เนื่องจากมีการชี้แจงมาว่า บุคคลที่อยู่ในข่ายพัวพันเรื่องสินบนนั้น มีการลาออกจากบริษัท ปตท.ไปแล้ว แต่เรื่องนี้ สตง.ก็ยังคงตรวจสอบเพื่อหาหลักฐานความจริงและส่งให้ ป.ป.ช.หรือดีเอสไอ เพื่อดำเนินการในด้านกฎหมายต่อไป
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
“สุริยะ” ชงยกเว้นกฎ-เปิดทางซื้อเครื่องบิน

ด้านแหล่งข่าวจาก ป.ป.ช. ระบุว่า กรณีสินบนการบินไทยนั้น มีข้อมูลที่สามารถเชื่อมโยงว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมขณะนั้นมีการแก้ระเบียบกฎเกณฑ์ต่าง ๆ เพื่อให้สามารถจัดซื้อเครื่องบินตามสเปกที่ระบุไว้

โดยนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในขณะนั้น ได้ทำหนังสือขอยกเว้นการปฏิบัติตามระเบียบการก่อหนี้ของประเทศ พ.ศ. 2528 ของบริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) เมื่อ 15 พฤศจิกายน 2547 เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีในขณะนั้น

ซึ่งเป็นเรื่องต่อเนื่องจากการที่ทางบริษัท การบินไทย มีโครงการจัดหาเครื่องบินตามแผนวิสาหกิจ ปี 2548/49 -2552/53 จำนวน 14 ลำ ดังกล่าว ประกอบด้วย เครื่องบินพิสัยไกลขนาดใหญ่มาก แบบ A380 จำนวน 6 ลำ เครื่องบินพิสัยไกลพิเศษ แบบ A340-500 จำนวน 1 ลำ เครื่องบินพิสัยไกลขนาดกลาง แบบ A340-600 จำนวน 1 ลำ และเครื่องบินพิสัยไกลขนาดกลาง แบบ B777-200 ER จำนวน 6 ลำ ในวงเงินลงทุนทั้งสิ้น 96,355 ล้านบาท

ทั้งนี้เนื่องจากโครงการจัดหาเครื่องบินใหม่ดังกล่าว ติดขัดที่กฎระเบียบในการก่อหนี้ต่างประเทศของรัฐวิสาหกิจอย่าง การบินไทย ทำให้วงเงินตามเพดานหนี้เงินกู้ต่างประเทศของการบินไทย ได้รับการจัดสรรอาจจะไม่เพียงพอต่อความต้องการเงินกู้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศในอนาคต การกำหนดวงเงินสำหรับเพดานหนี้เงินกู้ต่างประเทศที่กระทรวงการคลังนำเสนอในแต่ละปีที่กำหนดให้หน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจสามารถทำการกู้ได้ มีแนวโน้มลดลง

ดังนั้นหากพิจารณาร่วมกับแผนการลงทุนในอนาคตแล้ว การบินไทยจะไม่สามารถจัดหาแหล่งเงินกู้จากต่างประเทศได้อย่างเพียงพอต่อความต้องการ หากยังต้องปฏิบัติตามระเบียบก่อหนี้ต่างประเทศ 2528 ซึ่งอาจส่งผลให้สูญเสียโอกาสทางการแข่งขันในอนาคต

นับเป็นการกรุยทางสำหรับแผนการจัดซื้อเครื่องบินของรัฐบาลในขณะนั้น จนเข้าสู่ขั้นตอนของการประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อการอนุมัติในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2547 จนเป็นที่มาของผลการสอบสวนบริษัทโรลส์-รอยซ์ ว่ามีการจ่ายสินบนให้กับบริษัท การบินไทย ในครั้งที่ 3 ดังเนื้อหาที่มีการระบุไว้ในเอกสารภายในของโรลส์-รอยซ์ว่า ช่างเป็นการประชุมที่ดีเหลือเกิน การจัดซื้อเครื่องบินรุ่นใหม่ แอร์บัส A340 และ โบอิ้ง 777 กำลังอยู่ในวาระการประชุมของคณะรัฐมนตรีในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2547

อีกทั้งยังมีข้อมูลจากวงในกรมที่ดิน ระบุว่า ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ได้เข้าไปซื้อที่ดินแปลงใหญ่ ๆ ย่านสมุทรปราการและชลบุรี รวมไปถึงสนามกอลฟ์วินด์มิลล์ พร้อมทั้งได้ทำการปรับปรุงสนามกอล์ฟและโรมแรมรองรับนักท่องเที่ยวในนามบริษัท โดยวิธีการเซ็นสัญญาซื้อขายจะใช้แบบมีส่วนลด

“ในสัญญาแบบมีส่วนลด 500 ล้าน แต่จ่ายจริงคือ 1 พันล้าน”

ส่วนใครบ้างที่รับสินบนข้ามชาติ จากนี้ไปคงต้องหนาว ๆ ร้อน ๆ เพราะผู้ว่าการ สตง.ยืนยันว่าต้องดำเนินการถึงที่สุดเพื่อเปิดโปงให้สังคมได้รับรู้ว่าใครบ้างที่กินสินบนข้ามชาติ!

กำลังโหลดความคิดเห็น