xs
xsm
sm
md
lg

ยุค คสช.นายทุนตอบแทนบิ๊กข้าราชการเอื้อทุจริตบอกอินไซด์ "ซื้อ-ขายหุ้น"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


จับตาผลประโยชน์ตอบแทน การทุจริตในยุค คสช.ที่ปลอดการเมือง พบรูปแบบยอดนิยมไม่ใช่การ “งาบหัวคิว” แต่เป็นการตอบแทนในตลาดหุ้นด้วย “ข้อมูลอินไซด์” เพื่อเข้าซื้อ-ขายหุ้นให้ถูกจังหวะ ชี้ ข้าราชการยิ่งทำตัวดี จะรวยหุ้นทันตา ทั้งหุ้นบริษัทที่ชนะการประมูล และหุ้นน้องใหม่ที่บริษัทเข้าไปถือหุ้น โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มบริการ โรงพยาบาลและกลุ่มอุตสาหกรรม ระบุแนวทางปราบคอร์รัปชันต้องไล่ยึดทรัพย์คืนตามจำนวนเงินที่โกงไป ไม่ว่าทรัพย์จะโอนเป็นมรดกลูกหลานก็ต้องสั่งยึด อย่าให้ได้ใช้เงินกันอย่างสุขสบาย

ข่าวอื้อฉาวกรณีโรลส์-รอยซ์ออกมายอมรับว่ามีการทุจริตจ่ายสินบนในการจัดซื้อเครื่องยนต์ให้กับนายหน้าการบินไทย วงเงิน 1.3 พันล้านบาท ที่มีการดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2534-2548 ทำให้ชื่อเสียงของประเทศไทยเสียหาย และเรื่องนี้ ผู้ที่ร่วมขบวนการทุจริตคงต้องร้อน ๆ หนาว ๆ หาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ดำเนินการตรวจสอบและเอาผิดกับคนเหล่านี้อย่างจริงจัง

ที่ผ่านมาการทุจริตคอร์รัปชันในระบบราชการไทย เป็นการร่วมวงไพบูลย์ที่มีทั้งนักการเมือง ข้าราชการและพ่อค้าเข้าไปเกี่ยวข้อง สร้างความเสียหายต่อการพัฒนาประเทศ ซึ่งแม้จะมีความพยายามในการแก้ไขแต่ดูเหมือนว่าผู้ที่คิดทุจริตเหล่านี้ก็มักหาช่องโหว่ที่จะเข้าไปกระทำการทุจริตคดโกงได้ตลอดเวลา
กระแสร้อนแรงเมื่อ โรลส์-รอยซ์  ยอมรับว่าได้จ่ายสินบนก้อนโต ในการจัดซื้อเครื่องยนต์ให้กับนายหน้าการบินไทยในช่วงปี 2543-2556
ข้อมูล ม.หอการค้าชัดเจน หัวคิว 30-35%

มาถึงยุครัฐบาล คสช. สังคมต่างก็มีความคาดหวังว่า “บิ๊กตู่” จะสามารถขจัดปัญหาคอร์รัปชันลงไปได้ ซึ่งหากดูตัวเลขจากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่มีการสำรวจดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชัน   เมื่อกลางปี 2559 พบว่าลดลงจากปี2558 เพียงเล็กน้อย ซึ่งนายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า การสำรวจครั้งนี้พบว่า ยังมีความพยายามหาช่องว่างของกระบวนการที่จะจ่ายเงินใต้โต๊ะหรือเงินพิเศษเพิ่มขึ้น โดยบางรายต้องการจ่าย 30-35% เพื่อให้บริษัทตัวเองได้งาน

ขณะที่ประชาชนต่างมีความคาดหวังให้รัฐดำเนินการเพื่อต่อต้านการทุจริต    ทั้งในเรื่องการใช้ดุลพินิจ การเข้าไปตรวจสอบการทุจริตของข้าราชการ รวมทั้งการสร้างระบบที่ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการตรวจสอบได้ด้วย

จากข้อมูลของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย สะท้อนถึงผู้ที่จะกระทำการทุจริต คอร์รัปชัน ยังคงมีความพยายามที่จะแสวงหาผลประโยชน์อยู่ตลอดเวลา เพียงแต่ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามจะจับได้ไล่ทันคนพวกนี้หรือไม่?

ดังนั้นในการประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เมื่อวันที่ 9 มกราคมที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มีการเสนอรายงานปฏิรูปเรื่องการควบคุมและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ โดยเฉพาะในส่วนของบทลงโทษผู้ที่กระทำผิดในคดีคอร์รัปชันถึงขั้นประหารชีวิตซึ่งถือเป็น “ยาแรง” แต่ก็มีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

สำหรับผู้ที่เห็นด้วยเชื่อว่าจะทำให้การบริหารงานในโครงการต่าง ๆ ที่บรรดานักการเมืองและข้าราชการ จะมีความระมัดระวังมากขึ้น และไม่เห็นแก่ประโยชน์ที่ภาคเอกชนเสนอมาให้ ส่วนผู้ที่ไม่เห็นด้วย เชื่อว่า บทลงโทษนี้ใช้ไม่ได้ผลและไม่สามารถป้องกันการทุจริตได้ เพราะที่ผ่านมาก็มีกฎหมายอาญาที่จะครอบคลุมผู้กระทำความผิดอยู่แล้ว และเชื่อว่าผู้ที่คิดทุจริตก็จะมีวิธีการดำเนินการหลบเลี่ยงที่จะทำให้เราไม่สามารถเอาผิดคนเหล่านี้ได้

อาจจะใช้วิธีการซอยโครงการให้เล็กลง ไม่จำเป็นต้องเป็นโครงการเดียวที่มีมูลค่าเป็นหลักพันล้านขึ้นไป ซึ่งจะเป็นการแบ่งเค้กกันได้ด้วย

สำหรับข้อเสนอที่ กมธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมืองเสนออัตราการลงโทษตามมูลค่าความเสียหายที่เกิดจากการทุจริตคอร์รัปชัน ประกอบด้วย 1.จำนวนเงินไม่เกิน 1 ล้านบาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี 2.จำนวนเงินเกินกว่า 1 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 10 ล้านบาท ต้องระวางโทษจำคุก 10 ปี 3.จำนวนเงินเกินกว่า 10 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 100 ล้านบาท ต้องระวางโทษจำคุก 20 ปี 4.จำนวนเงินเกินกว่า 100 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 1 พันล้านบาท ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต และ 5.จำนวนเงินเกินกว่า 1 พันล้านบาทขึ้นไปต้องระวางโทษประหารชีวิต
ภาพจาก Voice TV
รูปแบบทุจริตเปลี่ยนตามยุคสมัย

ส่วนข้อเสนอให้มีการลงโทษผู้ร่วมกระทำผิดทั้งหมด ทั้งผู้สั่งการ ผู้กระทำผิด ที่เป็นนักการเมือง ข้าราชการและพ่อค้า เป็นเรื่องดีที่จะนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ แต่ประเด็นสำคัญที่จะทำให้การปราบปรามทุจริตให้ได้ผล ก็คือ เราจะต้องติดตามดูว่าการให้สินบน หรือการให้ผลประโยชน์กันระหว่างพวกที่ร่วมกันทุจริตนั้นมีวิธีการอย่างไรในยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป จะได้หาวิธีการป้องกันและปราบปรามได้

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) บอกว่า ในอดีตรูปแบบการทุจริตคอร์รัปชันจะหาผลประโยชน์หรือการกินหัวคิวจากการจัดซื้อจัดจ้างและการประมูลโครงการที่ภาครัฐกำหนดออกมาแล้ว เป็นการจ่ายเปอร์เซ็นต์จากค่างานซึ่งจะอยู่ระหว่าง 35-45% ของมูลค่างาน ส่งผลให้เอกชนต้องใช้วิธีการมาลดสเปกในเรื่องวัสดุต่าง ๆ แทน กระทั่งมาถึงยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร การทุจริตคอร์รัปชันมีการเปลี่ยนรูป แปลงร่าง มาสู่การทุจริตเชิงนโยบายมากขึ้น ตรงนี้จะมีบรรดานักวิชาการเข้ามาร่วมขบวนการทำมาหากินกับนักการเมือง ข้าราชการ พ่อค้า โดยเข้ามาร่วมเขียนแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ เขียนทีโออาร์ให้กับหน่วยงานรัฐที่จะมีการเปิดประมูลจัดซื้อจัดจ้างตามที่คนกลุ่มนี้ต้องการ 

“เรียกว่าโครงการทั้งหมดเกิดขึ้นตามความต้องการของพวกที่ต้องการทุจริต พวกพ่อค้าก็สามารถจองงานกันได้เลยว่าบริษัทไหน ต้องการตรงไหน เรียกว่าฮั้วงานกันแบบสบาย ๆ”

ยุคนี้ตอบแทนเป็น “อินไซด์” หุ้น

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธาน บอกว่า การทุจริตคอร์รัปชันทั้งแบบเดิม ๆ และพัฒนาไปสู่การทุจริตเชิงนโยบายนั้นทำให้งบประมาณของรัฐรั่วไหลไปมาก แต่ในเรื่องการจ่ายผลประโยชน์กันนั้น ถ้ารัฐต้องการจะปราบปรามกันแบบจริงจัง จะสามารถติดตามดูเส้นทางการไหลของเงินที่ถูกจัดสรรไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องได้ง่ายกว่า วิธีการที่กำลังนิยมใช้กันอยู่ในระยะ5 ปีที่ผ่านมาและปัจจุบันเป็นที่นิยมมากขึ้น

โดยระยะหลังที่มีการติดตามและตรวจสอบซึ่งอยู่ระหว่างการหาหลักฐาน ก็คือรูปแบบการตอบแทนที่พ่อค้า จ่ายให้กับนักการเมือง ข้าราชการ ที่เอื้อต่อการให้บริษัทเอกชนได้งาน จะออกมาในรูปของ “ข้อมูล” การลงทุนในตลาดหุ้น ซึ่งตรงนี้นักการเมืองและข้าราชการที่ได้ประโยชน์อาจจะบอกว่า พวกเขาก็ใช้เงินของตัวเองไปลงทุนซื้อหุ้น ไม่ได้ใช้เงินหลวงแต่ประการใด

ข้อมูลที่เรามีอยู่ พวกนี้จะเน้นใช้นอมินี บางคนก็ให้ลูก-หลานที่อยู่ในวัยทำงาน เข้าซื้อหุ้นในตลาดโดยเข้าซื้อถูกจังหวะที่หุ้นตัวนั้นกำลังจะไล่ราคาขึ้นมาพอดี และก็ขายถูกจังหวะที่หุ้นจะไหลลง โดยมีการคำนวณผลประโยชน์กันเรียบร้อยว่า ควรจะได้เท่าไหร่ ข้าราชการผู้ใหญ่บางคนที่ยังไม่ใช่เซียนหุ้น ก็จะมีการขายหุ้นออกก่อนกำหนดเล็กน้อย เพราะกลัวว่าถ้าถือไว้นานราคาหุ้นจะตกลงมา ทำให้กำไรหายไปบ้างจากที่คาดการณ์ไว้”

บิ๊กข้าราชการรวยจากหุ้นอินไซด์

แหล่งข่าวบอกอีกว่า บรรดาข้าราชการที่ได้ผลประโยชน์รูปแบบนี้ ต่างก็รู้อยู่แล้วว่า บริษัทพวกนี้ให้ “ข้อมูล” เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนกับการชนะประมูลจัดซื้อจัดจ้างนั้น เขาก็ใช้วิธีการมาถอนทุนกับโครงการก็คืองบประมาณแผ่นดินนั่นเอง เพราะการให้ข้อมูลการขึ้นลงของหุ้นนั้น บริษัทเองก็ต้องใช้เงินจำนวนมหาศาลเข้าไปรับหุ้นในตลาดไว้เช่นกัน โดยใช้วิธีการแบ่งกันดูหุ้นในแต่ละช่วงเพื่อให้คนพวกนี้ได้ประโยชน์ไปเต็ม ๆ จากตลาดหุ้นนั่นเอง

“ยุคนี้เป็นยุคปลอดการเมือง คนที่ได้เต็ม ๆ ก็คือพวกบิ๊ก ๆ ข้าราชการผู้ใหญ่ ยิ่งคนไหนทำตัวดี ๆ จะรวยหุ้นตาม ๆ กัน บางคนยังสามารถได้หุ้นที่บริษัทพวกนี้เข้าไปลงทุนได้ด้วย เรียกว่าได้หุ้นน้องใหม่ที่กำลังจะเข้าตลาด โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มบริการ โรงพยาบาล หุ้นกลุ่มอุตสาหกรรม เป็นการตอบแทน”

แหล่งข่าวบอกว่า ในอดีตเรียกว่าเป็นการให้สินบนจากการหักหัวคิว ซึ่งมาพร้อมกับโครงการ เป็นการแลกเปลี่ยนกันแบบชัด ๆ แต่วันนี้เป็นการให้ “ข้อมูลอินไซด์” แล้วให้ไปลงทุนซื้อกันในตลาดหุ้น แต่ถามว่ารัฐเสียหายเหมือนกันหรือไม่? คำตอบคือ เสียหายเหมือนกัน เพราะพ่อค้าก็ต้องกลับมาถอนทุนด้วยการลดสเปกจากการทำโครงการเช่นกัน ซึ่งเรื่องนี้ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ก็มีพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กำกับดูแลอยู่แล้ว

“ก.ล.ต.ก็มีกฎเกณฑ์ กติกา ที่จะเอาผิดอยู่แล้ว แต่คำถามอยู่ที่ว่า ก.ล.ต.จะเอาจริงเอาจังแค่ไหน และพวกสมาคมแมลงเม่า ที่วิ่งไล่ซื้อเมื่อเห็นหุ้นอินไซด์ตัวนี้ปั่นขึ้นไปแล้ว ต้องไปติดดอย ต้องไม่ยอม เรื่องนี้ต้องเป็นเรื่องของผู้ถือหุ้น ต้องมีความรู้และรักษาสิทธิ์ของตัวเอง เพราะถือว่าพวกนั้นเอาเปรียบ เพราะเหตุการณ์แบบนี้จะมีอยู่เรื่อย ๆ”

แหล่งข่าวย้ำว่า บรรดากองทุนขนาดใหญ่ก็พยายามที่จะให้บริษัทต่าง ๆ มีธรรมาภิบาล ในส่วนของ ก.ล.ต.ก็มีกฎเกณฑ์ กติกา ที่ทุกฝ่ายก็ต้องร่วมมือกันและใช้กลไกที่มีอยู่ไปจัดการให้ได้ ซึ่งเรื่องนี้คงต้องมีการเสนอและให้มีการเชิญทางผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์ กองทุนต่าง ๆ และหน่วยงานที่ทำหน้าที่ต่อต้านการทุจริต มาหารือเพื่อหามาตรการและตรวจสอบในเรื่องนี้อย่างจริงจัง

“นายกฯ ย้ำในการประชุม คตช.ทุกโครงการที่จะออกมา ห้ามทุจริต และโครงการเก่าที่มีการทุจริตก็ต้องแก้ไขให้ได้ ส่วนของใหม่ต้องไม่ให้เกิดขึ้นและต้องหามาตรการป้องกันให้ได้”

อย่างไรก็ดี แนวทางในการป้องกันการทุจริตที่กำลังศึกษาข้อมูลจากต่างประเทศ เชื่อว่า วิธีที่ดีที่สุด ไม่ใช่เรื่องของการเสนอบทลงโทษประหารชีวิต แต่ควรจะเป็นเรื่องของการยึดทรัพย์และให้ผู้กระทำผิดทุกคนต้องชดใช้ตามจำนวนที่มีการทุจริตคืนให้แผ่นดินและต้องตามยึดทรัพย์ให้ได้ไม่ว่าจะมีการถ่ายโอนไปอยู่ที่ใคร

“พวกที่ทุจริตคอร์รัปชัน ก็ต้องการมอบเป็นมรดกให้กับครอบครัว ลูก หลาน จะได้อยู่กันอย่างสุขสบาย เราจะต้องไล่ยึดทรัพย์ ถึงแม้จะมีการโอนเป็นมรดกไปให้ลูกหลาน ก็ต้องไปยึดคืนมา อย่าให้ลูกหลานได้ใช้ประโยชน์จากเงินทุจริตโกงชาติ แล้วมาใช้ชีวิตอยู่กันอย่างสุขสบาย”

แหล่งข่าวกล่าวว่า ข้อมูลที่มีการศึกษาและมาตรการต่าง ๆ จะต้องมีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและต้องมีการจัดสัมมนาเพื่อระดมความเห็น เพื่อนำเสนอต่อ คตช.ต่อไป

กำลังโหลดความคิดเห็น