นักวิชาการด้านการศึกษา ค้นพบวิธีการช่วยเหลือเด็กมัธยมที่ไร้ทิศทาง ไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร อยากเรียนอะไร และอยากเป็นอะไร สามารถค้นหาตัวเองได้ด้วยหลักการ COMPASS ที่สามารถมุ่งเข้ามหา’ลัย “คณะที่ชอบ สาขาที่ใช่” เพื่อสร้างความสุขในอาชีพในอนาคต ชี้ระบบการศึกษาไทยเป็นอุปสรรค เน้นท่องจำ ขณะที่ความจริง การศึกษาไทยมีหลากหลายช่องทางไม่ต้องติดยึดกับปริญญาบัตรก็รวย เลี้ยงตัวเองได้ เผยเด็กจากกาฬสินธุ์ มีปัญหากับพ่อแม่ ติดเกม แต่วันนี้มีรายได้เดือนละกว่า 2 แสน เพียงแค่เดินตามฝันและสุขกับอาชีพที่รัก แม้ไร้ปริญญา
“ไม่รู้จะเรียนอะไร ไม่รู้ว่าอยากเป็นอะไร ไม่รู้ว่าชอบอะไร” ยังเป็นคำถามที่คาใจของเด็กไทยหลายๆ คน โดยเฉพาะเด็กมัธยมปลาย หรือ ม.6 ที่กำลังจะก้าวเข้าไปสู่รั้วมหาวิทยาลัย ซึ่งถือเป็นย่างก้าวหนึ่งที่สำคัญของชีวิต
ในความเป็นจริง ถ้าเด็กตอบโจทย์นี้ได้เร็ว ค้นหาตัวเองได้เร็ว ก็จะไม่หลงทาง และมีความมุ่งมั่น หรือหาหนทางที่จะเดินตามฝันเพื่อไปสู่จุดมุ่งหมายได้สำเร็จ ขณะที่เด็กบางคน และอาจจะเป็นเด็กจำนวนมาก ที่ยังหาตัวเองไม่เจอ ดังนั้นระบบคะแนน หรือ การวัดผล จึงเป็นตัวชี้นำให้เด็กมีโอกาสเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยบางคณะ บางสาขา แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่ใช่ตัวตน หรือใช่สิ่งที่เด็กต้องการหรือไม่ก็ตาม
อย่างไรก็ดี ดร.วิริยะ ฤาชัยพาณิชย์ นักวิชาการอิสระด้านความคิด และเป็นผู้ก่อตั้ง www.eduzones.com ได้คิดค้นหาวิธีการค้นหาพรสวรรค์ และความชอบในตัวเด็ก เพื่อให้เด็กได้มุ่งสู่มหาวิทยาลัยในคณะที่ชอบ และสาขาที่ใช่ เพื่อก้าวไปสู่อาชีพในฝันเมื่อจบการศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัย โดยที่ผู้ปกครอง และเด็กต้องร่วมสานฝันไปด้วยกัน
สำหรับ www.eduzones.com นั้นเป็นเว็บไซต์ด้านการศึกษาเบอร์หนึ่งของไทยที่เด็กและผู้ปกครองนิยมเข้าไปใช้บริการ เพราะเว็บนี้ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ประชาสัมพันธ์ข่าวสารการศึกษา แต่ยังเป็นเว็บที่เด็กสามารถพึ่งได้จากประกาศ ที่รวบรวมข่าวสารข้อมูลเกี่ยวกับการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นแนวทางการศึกษาต่อ รวบรวมแนวข้อสอบ ทุนการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ หรือค่ายกิจกรรมต่างๆ และที่น่าสนใจ คือ ที่นี่มีแบบทดสอบประเมินผลเพื่อค้นหาตัวเอง เพื่อเป็นแนวทางให้เด็กค้นหาตัวเองในเบื้องต้นว่าควรจะก้าวไปทางใด หรือจากความนึกคิดเรา ควรประกอบอาชีพไหน ที่ตัวเองต้องการและน่าจะมีความสุขที่สุด
‘3 ปัจจัย’ ช่วยแก้ปัญหาการเรียนไร้ทิศทาง
ดร.วิริยะ บอกว่าปัญหาเด็กไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร และควรเรียนอะไร เป็นเพราะในปัจจุบันประเทศเรายังยึดกับระบบการสอน-การวัดผลแบบเดิมๆ และยังไม่มีวิธีการที่จะช่วยให้เด็กได้ค้นหาตัวเอง หรือเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ เพื่อหาความฝันได้ แม้จะมีการพัฒนาแก้ไขมาตลอด แต่เป็นการแก้ไขไม่ถูกจุด ส่งผลให้เด็กส่วนใหญ่เรียนแบบไร้ทิศทาง ไร้เป้าหมาย
“ปัญหาการเรียนไร้ทิศทาง ไร้เป้าหมาย มีมาเนิ่นนาน และไม่ได้มีเฉพาะเด็ก ม.ปลาย เด็ก ม.ต้น ก็เป็น” โดยตามหลักวิชาการ ระบุว่า เส้นทางที่จะประสพผลสำเร็จได้นั้น มาจาก 3 องค์ประกอบ คือ
1. ด้านความรู้จากวิชาการต่างๆ ตามหลักสูตร ขณะเดียวกันความรู้ยังหาได้จากสื่อต่างๆ ไม่ใช่แค่โรงเรียน ไม่ว่าจะทาง internet ความรู้ จึงไม่จำเป็นต้องจัดเป็นหลักสูตร เพราะความรู้เปลี่ยนเร็วมาก ประกอบกับปัจจุบัน ความทันสมัยของเทคโนโลยีทำให้โลกพัฒนาไปได้มาก ซึ่งความรู้เป็นส่วนที่ง่ายที่สุดที่จะทำให้คนประสพผลสำเร็จ
2. ด้านทักษะ จะแตกต่างจากความรู้ตรงที่การฝึกฝน เช่น ทักษะที่จำเป็นต่ออาชีพในอนาคต การทำงานร่วมกับผู้อื่น ทักษะ จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องฝึกฝน ทักษะ ต่างจากความรู้ตรงต้องใช้เวลา ตัวยากที่สุดคือ ทักษะ ระบบการเรียนการสอนของคนไทยต้องฝึกทักษะไม่ใช้วิธีการเรียนการสอนแบบเดิม ซึ่งเด็กจะได้แต่ท่องจำ เดาข้อสอบ มีแต่ทักษะการนั่งฟัง แต่ขาดทักษะในด้านการคิด (thinking skill) เราไม่ได้ส่งเสริมให้เด็กคิด แต่ส่งเสริมให้เด็ก Silence skill คือฟังอย่างเดียว ครูพูดคนเดียว ครูพูดเก่ง เด็กไม่ได้พูด
3.ตัวเรา เป็นองค์ประกอบสุดท้ายที่ถือว่าสำคัญสุดและเปลี่ยนแปลงยากที่สุด เพราะสิ่งที่เป็นตัวเรา หรือที่เป็นDNAของเรา เป็นเคมีของเรา เป็นจริตของเรา หรือเป็นบุคลิกภาพของเรา ซึ่งหมายถึงความเป็นตัวตนของเรา มันฝังอยู่กับตัวคน เป็นตัวที่ฝึกก็ยาก สอนก็ไม่ได้ เพราะเป็นสิ่งที่มีในเด็กทุกๆ คน ซึ่งเราสามารถหามันได้ เพียงแต่ต้องรู้วิธีการค้นหาตัวเราเองเท่านั้น
โปรแกรม ‘ค้นหาตัวเอง’ ชี้ทิศทางเข้ามหา’ลัยให้เด็กได้
ดร.วิริยะ เล่าว่าเป็นเวลานับ 10 ปีที่ได้ก่อตั้ง www.eduzones.com ขึ้นมา และเป็นเว็บไซต์ยอดฮิตของนักเรียน นักศึกษา ซึ่งพบว่าจะมีเด็กนักเรียนเขียนเข้ามาถามตลอดว่า หนูควรไปเป็นอะไร ควรจะเรียนอะไร ซึ่งคำถามที่ว่า “หนูควรไปเป็นอะไร ควรจะเรียนอะไร” เป็นคำถามที่เกิดจากเด็ก มีความศรัทธาต่อตัว ดร.วิริยะ และ www.eduzones.com ที่ได้ให้ความรู้ด้านการศึกษาซึ่งมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทันกับระบบการศึกษาของไทยที่มีการเปลี่ยนแปลงในขณะที่ผู้ปกครอง อาจารย์ผู้สอน หรือตัวนักเรียน บางกลุ่มอาจตามไม่ทัน
ดังนั้นปัญหาของเด็กนักเรียนที่ถามกันมานั้น จึงเป็นตัวจุดประกายในการคิดค้นวิธีการหาตัวช่วย หรือหาคำตอบให้กับเด็กนักเรียน เริ่มตั้งแต่การไปสอบถามครูแนะแนว นักจิตวิทยา ว่าเขาใช้อะไรไปแนะนำเด็ก จากนั้นจึงตัดสินใจตั้งทีมวิจัย ซึ่งระยะแรกได้คิดค้นจากการนำหลักการสมองซีกซ้าย สมองซีกขวา เอามาทำแบบค้นหาตัวเองใน เว็บไซต์ จากนั้นได้นำทฤษฎีอื่นๆ อีก 3 ทฤษฎีป้อนข้อมูลเข้าไป แล้วนำมาเปรียบเทียบ ปรากฏว่าแต่ละอันให้ผลไม่ต่างกันเท่าไหร่
“เราเริ่มเอาสถิติเข้ามาจับ เริ่มเอานักวิชาการเข้ามา แล้วดูผลว่าตกลงอะไรที่แม่นที่สุด ปรากฏว่าให้เด็กเขียนๆ ตอบเอง โปรแกรมอันหนึ่งแม่นที่สุด แม่นคือว่า สัก 60-70% เรียกว่าใช้ได้ และพอจะเป็นแนวทางได้ว่า น่าจะไปทางไหน บุคลิกภาพแบบนี้ควรจะไปทางไหน อย่างไร ควรจะไปทำงานอะไร ถ้าเรียนสิ่งแวดล้อม ควรจะเรียนสาขาไหนถึง จะไปได้ไกล”
เบื้องต้นเด็กนักเรียนสามารถเข้าไปใช้โปรแกรม ‘ค้นหาตัวเอง’ ใน www.eduzones.com ได้เลย โดยโปรแกรมนี้มีความแม่นยำ และไม่มีค่าใช้จ่าย ปัจจุบันมีผู้เข้าไปใช้งานเป็นจำนวนกว่าล้านครั้ง แม้การค้นหาตัวเองทางออนไลน์ใน www.eduzones.com จะให้ความแม่นยำ และเป็นแนวทางได้บ้าง แต่ แบบทดสอบทางนี้ยังมีข้อจำกัดที่ทำให้ผลประเมินอาจคลาดเคลื่อน ซึ่งปัญหาหลักแห่งความคลาดเคลื่อน คือ การตอบคำถามของเด็กที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง และเพื่อให้การค้นหาตัวเองแม่นยำที่สุด คือ เปลี่ยนจากการให้เด็กทำแบบทดสอบด้วยตัวเองทางออนไลน์ มาเป็นการทำกิจกรรมในรูปแบบเวิร์กชอป 10 ชั่วโมง หรือโครงการ Workshop Compass ที่ทาง ดร.วิริยะ คิดค้นขึ้นมา
คอร์ส COMPASS ค้นหาตัวตนที่แม่นยำ
สำหรับโครงการ Workshop Compass เป็นการค้นหาความเป็นตัวเอง ความถนัด บุคลิกภาพ ที่นำไปสู่การเรียนต่อในมหา’ลัยและการประกอบอาชีพในอนาคต เปรียบเสมือนเข็มทิศให้กับเด็กนักเรียน ซึ่งวิธีการค้นหานั้นเริ่มจากการจัดกระบวนการเรียน การทำกิจกรรมในรูปแบบเวิร์กชอป 10 ชั่วโมง เปลี่ยนบทบาทเด็กให้เป็นผู้เรียน ผู้เล่นในเรื่องต่างๆ ให้เด็กได้พรีเซนต์ ได้พูด ได้ทำกิจกรรม โดยมีคนบันทึกพฤติกรรมต่างๆ แล้วแปลค่า โดยยึด 2 ทฤษฎีในการประเมินผล คือ แบบค้นหาตัวเอง จากการวัดความถนัดสมองซีกซ้าย-ขวา จากการที่เด็กได้ทำ และทฤษฎีจำแนกอาชีพ ตามบุคลิกภาพของ จอห์น ฮอลแลนด์ เป็นบุคลิกภาพด้านต่างๆ และมีการประมวลผลโดยโปรแกรมวิเคราะห์บุคลิกภาพ 6 ด้านของจอห์น ฮอลแลนด์ ว่า เด็กมีความเด่น หรือ ด้อยด้านใดบ้าง
โดยบุคลิกภาพของคนเรา จะมีองค์ประกอบสำคัญ 6 ด้าน ผนวกกับข้อมูลในการประเมินผล จะชี้ให้เห็นว่า เด็กคนนั้นเหมาะที่จะไปเรียนด้านใด ตามหลักการ ดังนี้
ด้านที่ 1 A: Artistic คือพวกศิลปะ ศิลปิน มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ไม่ชอบความซ้ำซาก สนใจความงาม ซึ่งอาชีพที่เหมาะกับคนที่มีความเด่นด้านนี้ คือ พวกนักแสดง นักศิลปะ
ด้านที่ 2 E: Enterprising คือ พวกชักจูงคนเก่ง ชอบประกอบการ ชอบเสี่ยง มีทักษในการต่อรอง มีความคิดสร้างสรรค์ อาชีพที่เหมาะกับคนที่เด่นด้านนี้ คือ นักธุรกิจ เจ้าของกิจการ
ด้านที่ 3 C: Conventional คือ พวกมีความละเอียด กฎเกณฑ์ มีขั้นตอน มีกฎกติกา เจ้าระเบียบ ความรอบคอบ มีแบบแผน อาชีพที่เหมาะกับคนที่เด่นด้านนี้ คือ พวกนักบัญชี ข้าราชการ
ด้านที่ 4 R: Realistic คือ พวกนักปฏิบัติ ไม่ค่อยคิดฝัน ชอบทำจะจะ ทำเห็นๆ ชอบทำอะไรที่จับต้องได้ ไม่ชอบคิดมาก ชอบทำมากกว่าคิด อาชีพที่เหมาะกับคนที่เด่นด้านนี้ คือ เกษตรกร วิศวกร แพทย์
ด้านที่ 5 S: Social คือ เห็นใจผู้อื่น เอื้อเฟื้อ ชอบสอน มีทักษะด้านภาษา ชอบสนทนา ชอบแสดงตัว อาชีพที่เหมาะกับคนที่เด่นด้านนี้ คือ อาจารย์ นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา
ด้านที่ 6 I : Investigative คือ ชอบคิด ค้นคว้า สังเกต วิเคราะห์ อย่างมีเหตุผล ไม่ชอบชักจูง ไม่ชอบเข้าสังคม อาชีพที่เหมาะกับคนที่เด่นด้านนี้คือ นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์
ดร.วิริยะ ระบุว่า การเข้าโครงการ Workshop Compass จะช่วยค้นหา ด้านเด่น ด้านด้อย ของตัวเด็กเอง ซึ่งจะมีผู้บันทึกทุกขั้นทุกตอน และนำมาประมวลผล โดยผู้ประเมินผลจะมีทักษะและความชำนาญ จะสามารถบอกถึงลักษณะ อาชีพที่น่าจะเป็นตัวตนของเด็กคนนั้นได้ ซึ่งเด็กคนนั้นก็จะประสบความสำเร็จได้ง่าย และไม่เหนื่อยในการเสียเวลาค้นหาตัวเอง
“คนที่ไม่ทำตามบุคลิกภาพของตัวเอง ก็สามารถประสบความสำเร็จได้ แต่จะเหนื่อยกว่าคนอื่น ต้องใช้ความพยายามมากกว่าและต้องไปฝึกเยอะมาก เพื่อจะทำให้ตัวเองเป็นนั่นเป็นนี่”
ดร.วิริยะ บอกว่า วิธีการค้นหาตัวเองด้วยหลักการ Workshop Compass ที่ยึดหลักการตาม 2 ทฤษฎีที่กล่าวมานั้นถือเป็นวิธีการค้นหาตัวเองได้แม่นยำที่สุดในปัจจุบันสำหรับคนไทย เพราะกว่าจะเป็นหลักการนี้ออกมาได้ ได้ใช้เวลาในการศึกษาและเก็บข้อมูลมาเป็นเวลากว่า 10 ปี โดยมีการใช้หลักการนี้มาแล้วเป็นเวลา 3 ปี ซึ่งสิ่งสำคัญที่จะทำให้การค้นหาตัวเองประสบความสำเร็จได้ดีที่สุดคือ ผู้ปกครอง เด็ก และconsultant ซึ่งก็คือผู้ให้คำปรึกษานั่นเอง
“โครงการนี้เสียค่าใช้จ่ายแค่หลักพัน แต่คุ้มค่าถ้าเราค้นหาตัวเองได้เร็วว่าต้องการเรียนอะไร และต้องการทำอาชีพอะไร จะได้ไม่ต้องเสียเวลา ผู้ที่เป็นคอนซัลต์ จะช่วยเด็กได้ดี ซึ่งความจริง เด็กและผู้ปกครองก็สามารถใช้โปรแกรมในเว็บได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายอยู่แล้ว”
ค้นหาตัวเองได้เร็ว จะช่วยให้ไม่หลงทาง
ดร.วิริยะ อธิบายว่า ความจริงในเรื่องการศึกษาทุกคนสามารถแสวงหาความรู้หรือเรียนรู้หลักสูตรได้ด้วยตัวเอง แต่ด้วยสังคมไทยในปัจจุบัน ให้ค่าของอาชีพต่างกัน ยังติดในเรื่องของปริญญาบัตร คิดว่ายิ่งจบสูงยิ่งได้เงินมาก ความจริงแล้วมันอยู่ที่คุณค่ามากกว่า ขณะที่โลกทุกวันนี้เปลี่ยนไปแล้ว เพียงแต่คนไทยยังติดกับดักอยู่เท่านั้น
“มีเด็กคนหนึ่งจากกาฬสินธุ์ เคยเดินเข้ามาปรึกษาและเขาเป็นแฟนเพจ เมื่อตอนอายุ 14-15 ปี เขาเป็นเด็กที่เรียนไม่เก่ง มีปัญหากับครอบครัว ติดเกม ได้เข้ามาปรึกษา ขณะที่ตัวเด็กก็รู้ตัวอยู่ว่าอยากเดินไปทางไหน ก็ให้คำแนะนำ หาแหล่งข้อมูลในการหาความรู้ ซึ่งเขาก็ต้องเรียนด้วยตัวเองอย่างหนัก เรียนรู้ภาษาอังกฤษด้วยตัวเอง หาความรู้ ซึ่งไม่ได้มาจากห้องเรียน ตอนนี้เด็กคนนี้อายุ 18 ปี ทำจังหวะดนตรีขาย อย่างดนตรีประกอบในเกม มีรายได้เดือนหนึ่งประมาณ 200,000 บาท กับงานที่เขารักและมีความสุข ทั้งที่ไม่ได้เรียนมหาวิทยาลัย ไม่ได้จบมหาวิทยาลัย”
ความสำเร็จที่เกิดขึ้นของเด็กคนนี้ สะท้อนให้สังคมได้เห็นว่า การที่เด็กจะประสพผลสำเร็จ มีความสามารถหารายได้ ไม่จำเป็นต้องอยู่ในระบบการเรียนการสอนในโรงเรียนแต่อย่างใด เพียงแต่ถ้าเด็กมีความฝัน รู้ตัวตน ค้นหาตัวเองให้พบ และมีเวลามากพอที่จะได้เรียนรู้ ทุ่มเทในการเรียนรู้ และเพิ่มทักษะโดยเรียนรู้ในสิ่งนั้นๆ อย่างเต็มที่ จากสื่อเทคโนโลยีต่างๆ เด็กจะได้เรียน และทำงานอย่างมีความสุข และตรงตามบุคลิกภาพของตัวเองจริงๆ และจะไม่สับสนกับชีวิต หรือเสียเวลาในการเรียนรู้ ที่ไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของตนเองได้เลย
“ทุกวันนี้เราสามารถเรียนได้ทุกช่องทาง เรียนรู้หลักสูตรด้วยตัวเอง ที่สำคัญเราต้องเรียนรู้อย่างหนัก ขณะที่ถ้าเรียนในกรอบ ในรั้วมหาวิทยาลัย จะมีใบปริญญาเป็นตัวบ่งบอก แต่การเรียนแบบนี้ ทำให้ความสามารถของเราเกิดการยอมรับจริงๆ”
ขณะเดียวกัน ถ้าเด็กเรียนไปโดยไร้ทิศทาง ยังไม่รู้ตัวตนว่าใช่หรือไม่ ส่งผลเสียทั้งเวลา เงิน และถ้าเรียนภายใต้การกดดัน สุดท้ายก็ต้องออกมา จึงไม่น่าแปลกกับเด็กบางคน แม้จะอยู่ปี 3 ก็ลาออกจากมหาวิทยาลัย หรือ ขอซิ่ว โดย ดร. วิริยะ ให้ข้อคิดว่าการที่เด็กซิ่ว ก็ต้องมาดูว่า เด็กซิ่วมาจากสาเหตุใดบ้าง เด็กเรียนไม่ไหวหรืออย่างไร เช่น เรียนไม่ไหว ที่จริงการเรียนไม่มีไม่ไหว ถ้ามีการสอนและประเมินผลดีๆ ไม่มีคำว่าไม่ไหว ทุกคนเรียนได้หมด แต่ความเป็นจริง การเรียนการสอนบ้านเรา เอาตำราเป็นที่ตั้ง และให้เด็กจำในตำรา ทีนี้พอปีหนึ่งที่เข้าไป กิจกรรมเยอะมาก เลยไม่มีเวลาดูหนังสือ คะแนนออกมาไม่ดี ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งของการซิ่ว หรือ ไทร์ ได้ และเด็กอีกพวกหนึ่ง คือ พวกรู้สึกไม่ใช่ตัวตน เรียนๆ ไปแล้วความรู้สึกแรงขึ้นๆ ซึ่งก็เป็นการดีที่เขาค้นพบตัวเองได้ เพราะถ้าดันทุรังเรียนจนจบ ก็อาจได้ทำงานที่ไม่ใช่สิ่งที่ตัวเองรัก ชอบ และสุดท้ายก็จะไม่มีความสุขในการทำงาน
ดังนั้นผู้ปกครองจึงถือเป็นกลไกสำคัญ ที่จะทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาเบื้องต้น และเป็นตัวขับเคลื่อนที่จะให้เด็กได้มีโอกาสค้นหาตัวตน เพียงต้องเปลี่ยนมุมมอง ต้องหาแนวทาง หรือ หนทางที่จะสามารถหาตัวตนของลูกได้ ไม่ว่าการไปหาประสบการณ์ การเรียนรู้ การพาไปเที่ยว หรือ การเข้าคอร์สกิจกรรมต่างๆ ฯลฯ เพื่อให้เด็กได้รู้ตัวตน มีแรงบันดาลใจ ได้เจอกับโลกกว้าง แทนที่จะหาคอร์สเรียนให้ลูกให้อยู่ในห้องสี่เหลี่ยม เรียนแต่เรื่องซ้ำๆ มุ่งแต่การสอบแข่งขัน โดยไม่รู้จักตัวตน ไร้ทิศทาง และอยู่ภายใต้กรอบความเชื่อที่ว่า การเรียนมากๆ รู้มากๆ จะสร้างอนาคตให้กับเด็กได้”
ดร.วิริยะ ย้ำว่า เด็กทุกคนมีดี และดีพอที่จะประสพผลสำเร็จในทางของเขา เพียงแค่เราเข้าใจ และจัดการศึกษาให้เหมาะสมกับเด็กเป็นสำคัญ เพราะเด็กทุกคนมีพรสวรรค์ ถ้าให้เขารู้จักตัวเอง และค้นพบตัวเอง เด็กก็จะมีเส้นทางเดินที่มั่นคง มีความสุข และประสพผลสำเร็จได้ในที่สุด