xs
xsm
sm
md
lg

พบรอยเลื่อนระนองสัมพันธ์แผ่นดินไหวปี 49 ม.เกษตรชี้'สึนามิ'เกิดได้แค่ 2 ชม.ถึงกทม.!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นักวิจัย ม.เกษตรฯ จับมือ วช.สำรวจรอยเลื่อนมีพลัง พบรอยเลื่อนระนองในทะเลอ่าวไทย สัมพันธ์กับการเกิดแผ่นดินไหว ปี 2549 ที่จังหวัดชุมพร-ประจวบและบริเวณใกล้เคียง ชี้มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิได้ จากโมเดลจำลองคลื่นสึนามิใช้เวลาเดินทางแค่ 2 ชั่วโมงถึง กทม.-สมุทรปราการ แนะทุกฝ่ายวางแผนรับมือกับสิ่งที่ไม่สามารถคาดการณ์ในอนาคตได้ ประชาชนต้องสร้างที่อยู่อาศัยให้แข็งแรง ส่วนภาครัฐและเอกชนต้องเปลี่ยนมุมมอง ภัยจากแผ่นดินไหว-สึนามิไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป !

ประเทศไทยมีรอยเลื่อนมีพลัง ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวอยู่ทั้งหมด 14 แห่ง ที่ผ่านมานักวิจัยจะมีการสำรวจ นำข้อมูลมาประเมินผลกระทบเกี่ยวกับแผ่นดินไหวอย่างต่อเนื่องว่า รอยเลื่อนพื้นที่ตรงไหนบ้างที่มีการเคลื่อนตัว และจะนำไปสู่เหตุการณ์แผ่นดินไหว หรือคลื่นยักษ์สึนามิตามมา เช่นเดียวกับการสำรวจ “รอยเลื่อนระนอง” 1 ใน 14 รอยเลื่อนมีพลัง ซึ่งเป็นความร่วมมือไทย-เยอรมัน โดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จับมือนักวิจัย ม.เกษตรศาสตร์ จัดทำ “โครงการสำรวจหาหลักฐาน ส่วนต่อของกลุ่มรอยเลื่อนระนองที่ยาวต่อลงไปในทะเลฝั่งอ่าวไทย” เพื่อประเมินอันตรายจากแผ่นดินไหวและเพื่อการวางแผนรับมือแผ่นดินไหว-สึนามิ

จากการสำรวจธรณีฟิสิกส์ด้วยเครื่องสำรวจตะกอนใต้ทะเลด้วยคลื่นเสียง (sub-bottom profiler) และเครื่องสำรวจด้วยวิธีคลื่นไหวสะเทือนแบบสะท้อนระดับตื้นในทะเล (shallow marine seismic reflection survey) รวมระยะทางการสำรวจทั้งสิ้นประมาณ 485 กิโลเมตร พบหลักฐานที่บ่งชี้รอยเลื่อนที่อาจมีความสัมพันธ์กับการเกิดแผ่นดินไหวในทะเล ที่คาดว่าเป็นส่วนหนึ่งของรอยเลื่อนมีพลังระนองที่ยาวต่อลงไปในทะเลด้านอ่าวไทยอยู่ห่างจากชายฝั่งประมาณ 30 กิโลเมตร

นอกจากนี้รอยเลื่อนที่พบเป็นบริเวณเดียวกับที่มีรายงานการเกิดแผ่นดินไหวในอ่าวไทยช่วงปี พ.ศ. 2549 โดยลักษณะรอยเลื่อนระนองในทะเลและบนบกมีความสอดคล้องกัน มีการวางตัวในทิศทางเดียวกัน คือ ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ทิศตะวันตกเฉียงใต้

นักวิจัยชี้ความเสี่ยงรอยเลื่อนบนบกอันตรายกว่า

ผศ.ดร.ภาสกร ปนานนท์ หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และนักวิจัยหัวหน้าโครงการนี้ กล่าวกับ “Special Scoop” ถึงการประเมินความเสี่ยงกลุ่มรอยเลื่อนมีพลังระนองที่ยาวต่อลงไปในทะเลด้านอ่าวไทยว่า ระดับอันตรายจากแผ่นดินไหว (seismic hazard analysis) พบค่าอัตราเร่งสูงสุดของพื้นดิน (PGA) ของภาคใต้และภาคกลางตอนล่างที่มีรอบในการเกิดแผ่นดินไหว 475 ปี (มีโอกาสเกิดขึ้น 10% ในรอบ 50 ปี) ซึ่งเป็นรอบการเกิดแผ่นดินไหวที่เหมาะสมกับการประเมินเพื่อใช้ในการก่อสร้างบ้านเรือนทั่วไป มีค่าอยู่ระหว่าง 1-29 % g ความรุนแรงระดับนี้สามารถทำให้เกิดความเสียหายอย่างมากต่ออาคารที่ไม่แข็งแรงได้

การจำลองผลกระทบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ศึกษาครอบคลุมภาคกลางตอนล่างและภาคใต้ตอนบน จากการสมมติเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่มีขนาด 5.0 และ 6.0 เกิดขึ้นที่ตำแหน่งต่างๆ กัน พบว่าแผ่นดินไหวดังกล่าวทำให้พื้นที่ศึกษามีค่าอัตราเร่งสูงสุดของพื้นดิน (PGA) อยู่ที่ 0-9.6 % g ซึ่งมีโอกาสทำความเสียหายไม่มากถึงปานกลางสำหรับอาคารที่ไม่แข็งแรง

“แม้จะมีโอกาสทำให้เกิดแผ่นดินไหวในระดับ 6 ซึ่งเป็นระดับที่มีความรุนแรงมากก็ตาม แต่ไม่น่ากังวล เนื่องจากเป็นพื้นที่ห่างไกลจากชุมชนประมาณ 30 กิโลเมตร อาจจะส่งผลกระทบเท่ากับระดับ 5 ที่อยู่ใกล้เมืองก็เป็นไปได้ ขณะที่รอยเลื่อนบนบกที่ผ่านในเมืองย่านชุมชนแล้วถือว่าน่ากังวล เพราะจะสร้างความเสียหายมากกว่า

ตามหลักสถิติของการเกิดแผ่นดินไหวขนาดเล็ก ถือว่ามีโอกาสเกิดขึ้นมากกว่าแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ ดังนั้นหากมีแผ่นดินไหว 50 ครั้งใน 1 ปี จะมีโอกาสเกิดระดับ 6 เพียงครั้งเดียว เช่นเดียวกับการเกิดแผ่นดินไหวที่ประเทศไทย จะเกิดในระดับปานกลาง คือระดับ 4 ปลายๆ ซึ่งหากเกิดขึ้นในพื้นที่ในเมืองย่านชุมชนก็สามารถสร้างความเสียหายได้ “นี่คือสิ่งที่ทำให้รอยเลื่อนบนบก มีความน่ากลัวกว่ารอยเลื่อนในทะล”

โอกาสเกิดคลื่นสึนามิน้อย ใช้เวลา 2 ชั่วโมงถึงกทม.

ส่วนการประเมินสถานการณ์หากมีคลื่นสึนามิเกิดขึ้น บริเวณนี้โดยการสร้างแบบจำลองเฉพาะระยะเวลาที่คลื่นสึนามิใช้ในการเดินทางถึงชายฝั่ง กรณีเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ ซึ่งมีโอกาสเกิดไม่มากนัก

ทั้งนี้จากการจำลองการเกิดแผ่นดินไหวทั้งหมด 4 แห่งในบริเวณที่รอยเลื่อนระนองวางตัวอยู่ในทะเล พบว่าคลื่นสึนามิจะเดินทางถึงชายฝั่งทะเลด้านบริเวณสามร้อยยอด-ปากน้ำปราณ-อ่าวมะนาว จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ภายในเวลาเพียง 15-40 นาทีหลังจากเกิดแผ่นดินไหว ซึ่งเป็นเวลาที่ค่อนข้างน้อยสำหรับประชาชนในการรับมือกับคลื่นสึนามิ

นอกจากนี้ยังพบว่าคลื่นสึนามิจะใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงถึง 2.40 ชั่วโมง ก่อนเดินทางมาถึงชายฝั่งด้าน สมุทรสงคราม-สมุทรสาคร-กรุงเทพฯ-สมุทรปราการ แต่เนื่องจากน้ำทะเลในอ่าวไทยค่อนข้างตื้น หากเกิดคลื่นสึนามิจริงก็น่าจะมีความสูงไม่มาก ซึ่งจำเป็นต้องทำการศึกษาต่อไปโดยใช้ข้อมูลความสูงต่ำของภูมิประเทศและความลึกของพื้นทะเลบริเวณชายฝั่งที่มีความละเอียดสูงในการสร้างแบบจำลอง

แต่การที่จะทำให้เห็นภาพรวมของรอยเลื่อนระนองและรอยเลื่อนคลองมะรุ่ยที่ต่อลงไปในทะเลมีความชัดเจนมากขึ้น จำเป็นต้องมีการศึกษาสำรวจรอยเลื่อนดังกล่าวทั้งสองรอยเลื่อน และการศึกษาในทะเลทั้งฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน จึงจะทำให้สามารถประเมินระดับอันตรายจากแผ่นดินไหว รวมถึงการนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ในการจัดทำแผนที่ระดับอันตรายแผ่นดินไหว บริเวณภาคใต้และภาคกลางตอนล่างของประเทศไทย ได้ใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุด

โดยงานวิจัยที่จะสำรวจในเรื่องต่อไปภายในเดือนมีนาคมนี้ จะเป็นงานวิจัยคล้ายๆ กับที่ศึกษามา ซึ่งอยู่ภายใต้งบประมาณประจำปีของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) คือ โครงการสำรวจ “รอยเลื่อนคลองมะรุ่ย” ฝั่งตะวันออกของจังหวัดภูเก็ต โดยมีการตั้งข้อสันนิษฐานไว้ว่า มีรอยเลื่อนตรงพื้นที่นี้หรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่ามีเหตุแผ่นดินไหวเกิดขึ้นที่จังหวัดภูเก็ตหลายครั้ง และมีทั้งเกิดบนเกาะหรือในทะเล และหากดูหลักฐานคลองมะรุ่ยจะพบว่า มีการวิ่งไปแถวทะเลฝั่งตะวันออกจังหวัดภูเก็ต

ส่วนในปี 2560 จะขยายโครงการสำรวจไปที่ “รอยเลื่อนคลองมะรุ่ย” ฝั่งตะวันตกของจังหวัดภูเก็ตด้วย เพื่อนำผลไปใช้ในการประเมินความเสี่ยงที่จะเกิดแผ่นดินไหวในภูเก็ต โดยจะมีการสัมมนาทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยให้สื่อมวลชน และให้ความรู้เรื่องแผ่นดินไหวให้แก่หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งประชาชนที่สนใจเรื่องผลกระทบจากธรณีพิบัติภัยแผ่นดินไหวอีกด้วย

แนะพื้นที่เสี่ยงต้องวางแผนรับมือ

ผศ.ดร.ภาสกร กล่าวว่า ในกรณีที่เกิดแผ่นดินไหวบนบกในบริเวณนี้ จะส่งผลกระทบแน่นอนเพราะอยู่ใกล้เมืองมากกว่า เนื่องจากลักษณะอาคารสิ่งก่อสร้างในพื้นที่บริเวณนี้ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับเหตุแผ่นดินไหว ยกเว้นสิ่งก่อสร้างที่สร้างขึ้นมาในระยะหลังภายใต้การควบคุมทางกฎหมาย

เพราะฉะนั้นสิ่งที่ควรเร่งดำเนินการ และเป็นวิธีการที่ดีที่สุดสำหรับการรับมือกับภัยแผ่นดินไหว คือ เน้นที่ภาคประชาชนให้สร้างอาคารบ้านเรือนให้มีความแข็งแรง โดยเฉพาะอาคารสาธารณะที่มีประชาชนเข้าไปอยู่จำนวนมาก ต้องแข็งแรงมากขึ้น ซึ่งวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) และสภาวิศวกรรม รวมทั้งหน่วยงานอื่นๆ ได้มีการวิจัยศึกษาถึงวิธีการสร้างหรือปรับบ้านและอาคารให้มีความแข็งแรงมากขึ้น

โดยเฉพาะพื้นที่ความเสี่ยงจากรอยเลื่อนมีพลัง แต่ไม่เคยเกิดแผ่นดินไหว ควรมีการซ้อมอพยพเมื่อมีแผ่นดินไหวเกิดขึ้น รวมถึงตระหนักถึงการติดตั้งระบบเตือนภัย เช่นเดียวกับพื้นที่ที่เคยเกิดเหตุ นำมาใช้เป็นมาตรฐานเดียวกัน

“ปัจจุบันระบบเตือนภัยแผ่นดินไหวทั่วโลกค่อนข้างดี เพราะมีเวลาเตือนล่วงหน้าพอสมควร อย่างฝั่งอันดามัน จังหวัดภูเก็ตและพังงา หากมีแผ่นดินไหวบริเวณสุมาตราจะมีการเตือนให้เตรียมตัวในเวลาประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง นอกจากนั้นยังเป็นเรื่องการบริหารจัดการเพื่อให้เกิดความวุ่นวายน้อยที่สุด เพราะที่ผ่านมาวุ่นวายพอสมควรแม้จะมีการฝึกซ้อมแล้วก็ตาม
ผศ.ดร.ภาสกร ปนานนท์ หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ผศ.ดร.ภาสกร กล่าวทิ้งท้ายว่า คนไทยต้องเปลี่ยนมุมมองและการรับรู้เรื่องแผ่นดินไหวใหม่ เพราะในอดีตความรุนแรงของแผ่นดินไหวไม่ถึงระดับ 6 เรียกได้ว่า จากที่ปลอดภัยไม่ใช่แล้ว และต้องบอกว่ายังไม่รู้ว่าปลอดภัยจริงหรือไม่

นอกจากนั้นยังเสนอแนะภาครัฐ และหลายๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญกับภัยด้านแผ่นดินไหวมากขึ้น โดยเฉพาะงบประมาณในการสำรวจและศึกษาที่เกี่ยวกับ “แผ่นดินไหว” ที่เมื่อเทียบกับหลายๆ ประเทศที่มีความเสี่ยงเรื่องแผ่นดินไหว ยังถือว่าให้ความสำคัญน้อยมาก ส่วนหนึ่งอาจจะมองว่า แผ่นดินไหว เมื่อเทียบกับภัยแล้ง น้ำท่วม ดินถล่ม ยังเป็นเรื่องที่ไกลตัว และเป็นภัยที่อยู่ในอันดับท้ายๆ เพราะนานๆ จะเกิดขึ้น แต่เมื่อเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวก็สร้างความเสียหายนานเป็น 10 ปี และโอกาสที่จะกลับมาสร้างให้เหมือนเดิมต้องใช้เวลานานมาก

กำลังโหลดความคิดเห็น