xs
xsm
sm
md
lg

พาณิชย์ดัน SMEs สู่ Trading Nation ตั้งศูนย์เบ็ดเสร็จ-โมบายแอปฯช่วยผู้ลงทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


การหาแหล่งเงินทุน-การตลาดการจัดการขาย-นวัตกรรม นับว่าเป็น 3 ด่านหินที่เป็นปัญหาของเอสเอ็มอีไทยมาหลายยุคหลายสมัย กระทั่งในปัจจุบันที่ภาวะ “เศรษฐกิจโลกยังไม่ดีนัก” ทำให้มูลค่าการส่งออกไทยลดลงมาก ขณะเดียวกันภาคเศรษฐกิจของประเทศเองก็ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้นั้น กระทรวงพาณิชย์ ชูความพร้อมหนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทำตลาดในประเทศ และต่างประเทศ ด้วยหน่วยงานที่ให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ สร้างโมบายแอปพลิเคชันทันโลกธุรกิจยุคดิจิตอล เพื่อก้าวสู่เป้าหมาย Trading Nation สนองนโยบาย “บิ๊กตู่” ดันเอสเอ็มอีเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

นโยบายในการขับเคลื่อนธุรกิจเอสเอ็มอี ถูกกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ ที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถือเป็นอีกภาคส่วนธุรกิจที่สำคัญ ที่อยู่ในโครงสร้างเศรษฐกิจของชาติ และในฐานะที่พลเอกประยุทธ์ เป็นประธานกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เฉพาะกิจ) ได้ให้นโยบายไว้ว่า

“รัฐบาลมีหน้าที่สนับสนุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือธุรกิจเอสเอ็มอี (SMEs) ด้านเงินทุน-การให้ความรู้-การสร้างความเชื่อมโยงและหาตลาด”

หากจะมองความพร้อมในด้านการส่งเสริมสนับสนุนให้ธุรกิจเอสเอ็มอีเติบโตและแข็งแกร่งโดยเฉพาะด้านการตลาดแล้วจะพบว่า กระทรวงพาณิชย์ เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญที่จะช่วยบูรณาการให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี สามารถขยายตัวและเติบโตไปถึงเป้าหมายเพื่อพัฒนาเข้าสู่ Global Supply Chain คือ การร่วมกับกลุ่มพันธมิตรทั้งบริษัทไทยและบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ รวมทั้งองค์กรธุรกิจ ดำเนินกิจกรรมการตลาดเพื่อสร้างช่องทางการขายให้กับสินค้าของผู้ประกอบการ SMEs ไทย และภายในปี 2558 GDP ของธุรกิจเอสเอ็มอีจะมีการขยายตัวร้อยละ 3.0-4.4%

ถึงวันนี้มาสำรวจความพร้อมของหน่วยงานภายใต้กระทรวงพาณิชย์ ว่ามีหน่วยงานใดบ้างเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญทั้งในด้านเทคโนโลยี การตลาด บุคลากร ฯลฯ ที่จะหนุนให้ธุรกิจเอสเอ็มอี สามารถประสบความสำเร็จตามนโยบายรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้!

“บริการเบ็ดเสร็จ” ทั้งในประเทศ และตลาดส่งออก

อย่างไรก็ดีกระทรวงพาณิชย์นั้น มีนโยบายให้หลายหน่วยงานเข้ามาสนับสนุนหรือมีบทบาทในการเป็นพี่เลี้ยงให้กับธุรกิจเอสเอ็มอี โดยเฉพาะการตลาดหาคู่ค้า และตลาดทุนให้กับธุรกิจเอสเอ็มอี โดยมีหน่วยงานหลักที่ดูแลการค้าในประเทศ อย่าง กรมการค้าภายใน, กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ตลอดจนดูแลการขยายตลาดต่างประเทศให้เอสเอ็มอี คือ กรมส่งเสริมการส่งออก, กรมการค้าต่างประเทศ, กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

โดยช่วงที่ผ่านมานั้น กระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินนโยบายตามพลเอกประยุทธ์ในหลายๆ ด้าน ทั้งกรมพัฒนาธุรกิจการค้า สามารถผลักดันธุรกิจเอสเอ็มอี 1,600 รายให้ทำธุรกิจในรูปแบบระดมทุนทำธุรกิจ (Crowd funding) ซึ่งเป็นวิธีการที่เหมาะกับผู้เริ่มต้นทำธุรกิจแต่ไม่มีแหล่งเงินทุน โดยขอทุนได้ทั้งการขายหุ้น รูปแบบบริจาค หรือการให้ผลตอบแทน และขอกู้แบบจ่ายดอก

สิ่งสำคัญอีกประการที่ชี้ว่ากระทรวงพาณิชย์มีความพร้อมในการสนับสนุนผู้ประกอบการเอ็สเอ็มอได้อย่างรวดเร็ว คือ สร้างความสะดวกแบบเบ็ดเสร็จให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่มุ่งเน้นตลาดในประเทศด้วย “ศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จ หรือ One Stop Service โดยตั้ง “ศูนย์บริการร่วมกระทรวงพาณิชย์” (MOC SERVICE LINK) ให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ การออกใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า ใบรับรองการขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วน-บริษัท ใบรับรองด้านสุขอนามัยสินค้าปศุสัตว์ ใบรับรองสินค้าฮาลาล ใบรับรองปลอดศัตรูพืช ใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าและรับรองเอกสารทั่วไปโดยหอการค้าไทย รับรองลายมือชื่อโดยกรมการกงสุล จดทะเบียนห้างหุ้นส่วน-บริษัท จดทะเบียนห้างหุ้นส่วน จำกัด จดทะเบียน บริษัทจำกัด

คลินิกให้คำปรึกษาประกอบด้วย 1.การแนะนำด้านการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ สมาคมผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ สมาคมตัวแทนขนส่งสินค้าทางอากาศไทย ด้านการเงินการธนาคาร กิจกรรมส่งเสริมการตลาดซึ่งมีกิจกรรมงานแสดงสินค้า 3 ประเภท คือ กิจกรรมงานแสดงสินค้าภายในประเทศ กิจกรรมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ กิจกรรมงานแสดงสินค้าไทยในต่างประเทศ (Made in Thailand Exhibition) และกิจกรรมพัฒนาผู้ประกอบการไทย

2.การฝึกอบรมสัมมนาการค้าระหว่างประเทศ การตรวจสอบและคัดสำเนาเอกสารทางทะเบียน งบการเงิน และบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ต้องการจะขยายตลาดส่งออก กระทรวงพาณิชย์ได้ตั้ง “ศูนย์บริการส่งออกแบบเบ็ดเสร็จ” กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันด้านการส่งออกและส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน และเป็นหน่วยงานที่อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ส่งออกในการออกเอกสารรับรองต่างๆ และใบอนุญาตที่ใช้ในการส่งออก ตลอดจนให้คำปรึกษาและแนะนำในด้านเอกสารการส่งออก ถือเป็นยุทธศาสตร์ที่ช่วยธุรกิจเอสเอ็มอี ให้ดำเนินธุรกิจได้อย่างรวดเร็วทันกับการแข่งขันในยุคนี้

สุดล้ำด้วย APP เสริมศักยภาพการค้าในยุคดิจิตอล

นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์ยังมีการเตรียมความพร้อมในการให้บริการด้านข้อมูลข่าวสารที่สอดคล้องกับสังคมออนไลน์ในยุคดิจิตอล นอกจากมีบริการสายด่วน หรืออีเมล ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ต้องการทราบข้อมูล/คำปรึกษาเพิ่มเติมสามารถติดต่อสอบถามได้แล้ว กระทรวงพาณิชย์ยังเปิดตัว โมบายแอปพลิเคชัน ที่เสริมศักยภาพการค้าในด้านต่างๆ ได้อย่างครอบคลุมในทุกมิติ

โดยในปีที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ ได้ปรับแผนยุทธศาสตร์การทำงานให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่จะผลักดันประเทศให้เข้าสู่เศรษฐกิจดิจิตอลภายใน 1 ปี ด้วยหลัก 3 ประการได้แก่ 1.การพัฒนาระบบดิจิตอลเพื่อรองรับการให้บริการอย่างครบวงจร เพื่อให้ผู้ประกอบการและประชาชนได้รับบริการและข้อมูลอย่างสะดวก รวดเร็ว 2.การส่งเสริมการส่งออกผลิตภัณฑ์ดิจิตอล ทั้งผลิตภัณฑ์ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ อุปกรณ์สื่อสาร และโทรคมนาคมดิจิตอล และการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์โดยใช้สื่อดิจิตอล 3.การส่งเสริมและผลักดันธุรกิจอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยให้เติบโตอย่างต่อเนื่องและครบวงจร ด้วยการพัฒนาผู้ประกอบการ ตลาด และศักยภาพของธุรกิจ

นั่นจึงเป็นที่มาของการเพิ่มช่องทางการให้ข้อมูลข่าวสารอันเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ โดยเฉพาะการเปิดตัวโมบายแอปพลิเคชัน ซึ่งสร้างความสะดวกให้สามารถหาข้อมูลด้วยสมาร์ทโฟน และแท็บเล็ต ได้ในทุกที่ทุกเวลา เรียกได้ว่า การเปิดตัวโมบายแอปพลิเคชันนี้ เป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ในการสร้างเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการไทยมีความพร้อมในการค้าในยุคดิจิตอล ที่สามารถดาวน์โหลดโมบายแอปพลิเคชัน ทั้งที่เป็นระบบปฏิบัติการ IOS และ Android และโปรแกรมรองรับการแสดงผลภาษาไทยได้อีกด้วย
โมบายแอปพลิเคชันของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
สำหรับแอปพลิเคชันของ “กรมพัฒนาธุรกิจการค้า” ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทในการส่งเสริมศักยภาพในการทำการค้าในประเทศ คือ DBD e-service มีคุณสมบัติที่สามารถตรวจสอบข้อมูลนิติบุคคล ซึ่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้าออกแบบมาเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้งาน ให้สามารถตรวจสอบข้อมูลนิติบุคคล และข่าวประชาสัมพันธ์ต่างๆ ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ได้อีกด้วย มีคุณสมบัติสามารถตรวจสอบข้อมูลนิติบุคคล เช่น เลขทะเบียน ชื่อ วันที่จดทะเบียน สถานะ ทุนจดทะเบียน ที่ตั้ง หมวดหมู่ธุรกิจ วัตถุประสงค์ ปีที่ส่งงบการเงิน กรรมการของนิติบุคคล โดยสามารถค้นจากเลขทะเบียนนิติบุคคล หรือชื่อของนิติบุคคล

ขณะเดียวกันแอปพลิเคชันของ “กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ” จะช่วยในการเสริมสร้างศักยภาพการขยายตลาดส่งออกให้กับผู้ประกอบคนไทย ให้มีความพร้อมที่จะเผชิญกับการแข่งขันบนเวทีการค้าโลก ซึ่งได้เปิดตัว 2 โมบายแอปพลิเคชันขึ้นมา นับตั้งแต่ DITP CONNECT เป็นแอปฯ ที่รวบรวมข้อมูลข่าวสารจากฐานข้อมูลของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงข้อมูลการค้าที่สำคัญ เช่น กิจกรรมงานแสดงสินค้า การฝึกอบรม กิจกรรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เหมาะสมสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารในการทำตลาดต่างประเทศ
โมบายแอปพลิเคชันของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
ส่วน ThaiTrade.com เป็นอีกหนึ่งแอปฯ ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ที่ต่อยอดมาจาก www.thaitrade.com เว็บไซต์ตลาดกลางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ โดยรูปแบบของแอปฯ นี้จะเน้นการอัปเดตสินค้าที่ได้มาตรฐานของผู้ประกอบการไทย และสินค้าโปรโมชันล่าสุด เพื่อนำเสนอให้กับผู้ซื้อในประเทศต่างๆ ทั่วโลกสามารถจะเลือกค้นหาสินค้าได้ด้วยตนเอง ผ่านหน้าจอที่ปรับเมนูได้ตามต้องการ ส่วนผู้ขายจะได้รับการแจ้งเตือนเมื่อมีคำสั่งซื้อและตอบสนองได้ทันทีผ่านการแชต หรือวิดีโอคอล กับคู่เจรจาธุรกิจได้ทุกเวลาตลอด 24 ชั่วโมง

พาณิชย์ดัน SMEs ก้าวสู่ Trading Nation

ด้าน นางสาวผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า บอกกับ Special Scoop ว่า ธุรกิจเอสเอ็มอีถือว่าเป็นรากฐานที่สำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจไทย ซึ่งประเทศไทยให้ความสำคัญต่อการพัฒนาเอสเอ็มอีมาอย่างต่อเนื่อง และยังกำหนดให้การพัฒนาเอสเอ็มอีเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อบูรณาการการพัฒนาทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนให้มีการทำงานที่ชัดเจน มีเป้าหมายและทิศทางเดียวกัน

จากข้อมูลที่ชี้ให้เห็นว่าธุรกิจเอ็มเอ็มอีเป็นกลไกที่ขับเคลื่อนการเจริญเติบโต (Engine of Growth) ในระบบเศรษฐกิจของประเทศ นั่นคือจำนวนผู้ประกอบการในธุรกิจเอ็มเอ็มอีในปัจจุบัน 2.76 ล้านราย หรือคิดเป็นร้อยละ 97ของวิสาหกิจรวมทั้งหมด โดยปีที่ผ่านมาสามารถสร้างมูลค่าต่อ GDP ได้ถึง 4.45 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 37 ของมูลค่า GDP ทั้งหมด เพราะแหล่งรองรับการจ้างงานขนาดใหญ่และกระจายอยู่ทั่วประเทศ มีการจ้างงาน 11.41 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 80.96 ของการจ้างงาน (ที่มา : สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม) นอกจากนี้ยังสร้างมูลค่าเพิ่มในตัวสินค้า รวมทั้งรายได้นำเงินตราต่างประเทศจากการส่งออก และสามารถผลิตสินค้าเพื่อทดแทนการนำเข้าได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตามจากสถานการณ์ธุรกิจในปัจจุบัน จะพบว่าผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอีไทยยังต้องเผชิญกับความท้าทายที่เพิ่มขึ้น ทั้งจากปัจจัยภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันที่สูงขึ้นจากจำนวนคู่แข่งที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลให้เอสเอ็มอีที่มีอยู่และที่กำลังเข้ามาสู่ตลาดจำเป็นต้องเร่งปรับตัวเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน และสร้างฐานของกิจการให้เข้มแข็ง

ทั้งนี้เพื่อเตรียมรับกับความท้าทายจากปัจจัยภายนอกประเทศก็มีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก และผลกระทบจากการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC (ASEAN Economic Community) ซึ่งเอสเอ็มอีไทยจะต้องเร่งสร้างโอกาสและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบธุรกิจตามยุทธศาสตร์การพัฒนาเอสเอ็มอีไทยที่กระทรวงพาณิชย์วางแนวทางไว้ตามภารกิจหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้าของไทย ไปสู่เป้าหมายให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็น Trading Nation ที่สามารถสร้างเศรษฐกิจที่มีมูลค่าเพิ่มได้สำเร็จ
นางสาวผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ย้ำว่า “กรมพัฒนาธุรกิจการค้า” มีการดำเนินงานเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจเอสเอ็มอี โดยเฉพาะการสร้างความพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) รวมถึงพัฒนาการให้บริการยกระดับเป็นประเทศที่ง่ายต่อการทำธุรกิจ (Ease of Doing Business) โดยมีเป้าหมายสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการและวิสาหกิจ มีศักยภาพในการบริหารจัดการธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน เป็นที่ยอมรับและเชื่อถือได้จากผู้ใช้บริการ และมีโอกาสขยายตลาดเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ความสามารถในการแข่งขันของเอสเอ็มอีไทย พบว่ายังมีจุดอ่อน คือ การขาดการวางแผนธุรกิจหรือทักษะในการบริหารจัดการธุรกิจ ขาดความสามารถในการดำเนินกิจกรรมการตลาดเชิงรุกทั้งในประเทศและต่างประเทศที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ขาดการนำเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่ๆ ไปใช้ในการประกอบธุรกิจ และขาดความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน

นับว่าจุดอ่อนดังกล่าวทำให้เอสเอ็มอีของไทยมีความสามารถในการแข่งขันทั้งด้านราคาและคุณภาพ ทำให้สินค้าหรือบริการมีราคาสูงกว่าเมื่อเทียบกับราคาสินค้าหรือบริการชนิดเดียวกันหรือสินค้าทดแทนในตลาดโลก และทางด้านคุณภาพ

ส่วนข้อได้เปรียบของเอสเอ็มอีไทย คือ มีภูมิศาสตร์ (Location Advantage) ที่เอื้อต่อโอกาสทางการค้าของประเทศไทยเป็นอย่างมาก เช่น ธุรกิจให้บริการลอจิสติกส์ ธุรกิจบริการเกี่ยวกับการท่องเที่ยว เป็นต้น รวมถึงการมีความได้เปรียบด้านผู้ประกอบการ (Ownership Specific Advantage) ซึ่งหมายถึงความชำนาญของผู้ประกอบการเอง รวมถึงความยาก-ง่ายในการได้มาซึ่งวัตถุดิบ ทรัพยากร รวมถึงการวางแผนลดต้นทุนที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ

ส่วนเส้นทางการมุ่งสู่การเป็น Trading Nation นั้นไม่ได้มีเพียงการขายสินค้าและบริการ หรือการลงทุน ในประเทศเป้าหมายเท่านั้น แต่ยังมีการประกอบธุรกิจในมิติอื่นๆ อีก เช่นการซื้อมาขายไป ธุรกิจให้บริการ และธุรกิจอำนวยความสะดวกธุรกิจ (Service : Trade Support) เนื่องจากในโลกธุรกิจปัจจุบันมีการแข่งขันและเทคโนโลยีสูงขึ้นมาก

ดังนั้น การทำธุรกิจต้องเน้นความโดดเด่นเหนือคู่แข่งทางธุรกิจ ต้องใช้กลยุทธ์ที่เลียนแบบได้ยากเป็นสิ่งสำคัญ รวมถึงการปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ ในประเทศให้เอื้อต่อการประกอบธุรกิจ เน้นการสร้างแนวคิดในเชิงธุรกิจให้ผู้ประกอบธุรกิจ เพื่อให้เข้าใจและเห็นโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ปรับใช้ให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาจะช่วยให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างยั่งยืน

“การมุ่งเน้นส่งเสริมผู้ประกอบธุรกิจให้เข้าใจและใช้ประโยชน์จากสิ่งที่เลียนแบบไม่ได้ เช่น ความได้เปรียบด้านสถานที่ตั้งและความได้เปรียบด้านผู้ประกอบการ ภายใต้กิจกรรมต่างๆ เช่น การสร้างนักธุรกิจมืออาชีพรองรับ AEC การยกระดับมาตรฐานคุณภาพด้านบริหารจัดการในแก่ธุรกิจ และการสนับสนุนให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ด้วยวิธีระดมทุน Crowding ร่วมกับสานักงาน ก.ล.ต. จะช่วยให้ผู้ประกอบการขับเคลื่อนธุรกิจต่อไปได้

รวมไปถึงการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีความรู้ความเข้าใจในมิติต่างๆ และมีต้นแบบธุรกิจที่ดีเพื่อนำไปเป็นแบบอย่างหรือเปรียบเทียบตนเอง (Benchmark) ก็จะทำให้เอสเอ็มอีไทย SMEs ปรับตัวและการพัฒนาตนเองให้ทันต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าบริบทของการเปลี่ยนแปลงนั้นจะเปลี่ยนไปในทิศทางใดเพื่อให้ธุรกิจนั้นเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน“ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้ากล่าวทิ้งท้าย

กำลังโหลดความคิดเห็น