xs
xsm
sm
md
lg

จี้รัฐเร่งศึกษารอยเลื่อนมีพลัง “กทม.-เมืองใหญ่” พร้อมดึง 3 ฝ่ายรับมือแผ่นดินไหวสกัดการสูญเสีย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านแผ่นดินไหว ชี้แผ่นดินไหวที่เนปาลต้องสูญเสียมหาศาลเนื่องเพราะประชาชนอาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยจำนวนมาก และไม่มีมาตรการป้องกันหรือการเฝ้าระวังที่ดี แนะประเทศไทยต้องเข้าไปศึกษารอยเลื่อนมีพลังทั้งหมด โดยเฉพาะในพื้นที่ กทม.และเมืองใหญ่ที่มีรอยเลื่อนพาดผ่าน พร้อมบูรณาการทั้ง 3 ส่วน คือด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมสถานฯ และภาคประชาชน เพื่อรับมือแผ่นดินไหวให้ครบทุกมิติ อีกทั้งขอให้ประชาชนที่พอมีทุนทรัพย์ต้องปรับปรุงบ้านเรือนให้แข็งแรงเพื่อรับมือแผ่นดินไหวในอนาคต
ความเสียหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เชียงรายเมื่อ 5 พฤษภาคม 2557
จากกรณีแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ 7.8 แมกนิจูดที่ประเทศเนปาล เมื่อวันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมาได้ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวง ทั้งต้องสูญเสียชีวิตและบาดเจ็บหลายหมื่นคน อาคารบ้านเรือนทรัพย์สินของมีค่า ต้องจมอยู่ภายใต้ซากปรักหักพัง ยังความเศร้าสลดให้กับประชาคมโลก ขณะเดียวกันรัฐบาลประเทศต่างๆ รวมถึงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็มีการระดมทีมงานและงบประมาณเข้าไปช่วยรัฐบาลและประชาชนชาวเนปาลเช่นกัน

นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 10 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติชาวเนปาลในครั้งนี้

สำหรับเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่รุนแรงขนาดนี้มีโอกาสจะเกิดขึ้นในประเทศไทยได้หรือไม่นั้น ผศ.ดร.ภาสกร ปนานนท์ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านแผ่นดินไหวและธรณีแปรสัณฐานของโลก (SEIS-SCOPE) ภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และนักวิจัยชุดโครงการลดภัยพิบัติแผ่นดินไหวในประเทศไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เปิดเผยข้อมูลกับ Special Scoop ว่า กรมทรัพยากรธรณี มีการศึกษาถึงรอยเลื่อนมีพลังในประเทศไทยทั้งหมด และในปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 14 รอยเลื่อน ตั้งแต่เหนือจรดใต้ โดยในประเทศไทยมีการศึกษาข้อมูล “รอยเลื่อนมีพลัง” ซึ่งเป็นรอยเลื่อนที่มีโอกาสทำให้เกิดแผ่นดินไหวได้ในอนาคต ซึ่งเป็นการศึกษาเพียงระดับหนึ่งเท่านั้น

เพราะการจะระบุรอยเลื่อนว่ามีพลังหรือไม่ ระบุได้จากหลักการศึกษาต่างๆ เช่น ศึกษาหลักฐานจากการเกิดแผ่นดินไหวในอดีต โดยวิธีการ “ขุดร่องสำรวจที่ตำแหน่งรอยเลื่อน” ว่ามีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นมากี่ครั้ง ระยะเวลานานมากหรือไม่ โดยหลักฐานประเภทนี้จะใช้เวลาที่เจอหลักฐานของการเกิดแผ่นดินไหวมาประมาณ 11,000 ปี ซึ่งหากหลักฐานที่พบนั้นมีร่องรอยการเกิดแผ่นดินไหวที่มีอายุน้อยกว่านี้ จะถือว่ารอยเลื่อนนั้นมีพลัง และมีศักยภาพในการเกิดแผ่นดินไหวในอนาคต

แต่ในทางกลับกันหากหลักฐานที่พบนั้นมีระยะเวลาการเกิดแผ่นดินไหวมากกว่า เช่นเป็นแสนๆ ปีขึ้นไป ก็จะยังไม่เรียกว่ารอยเลื่อนนั้นมีพลัง

การศึกษา “รอยเลื่อนมีพลัง” ในอีกวิธีคือ ดูจาก ”ข้อมูล” การเกิดแผ่นดินไหวตามแนวรอยเลื่อน รอยเลื่อนใดที่มีหลักฐานบ่งบอกว่า “มีรอบการเกิดแผ่นดินไหวสั้นๆ” ก็จะมีความเสี่ยงสูงขึ้น หรือรอยเลื่อนใดที่มี “อัตราการเลื่อนตัวสูง” ก็มีความเสี่ยงสูงขึ้นเช่นกัน

สำหรับรอยเลื่อนที่มีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นบ่อยๆ เป็นกลุ่มรอยเลื่อนที่มีพลัง และมีศักยภาพจะเกิดแผ่นดินไหวได้ในอนาคต ซึ่งพบกระจุกตัวอยู่ในบริเวณภาคเหนือของไทยค่อนข้างมาก ภาคตะวันตก และภาคใต้บางส่วน ตามแผนที่ของกรมทรัพยากรธรณี แต่หากจะคาดการณ์ว่ารอยเลื่อนใดเสี่ยงกว่ากันเป็นสิ่งที่ตอบยาก เพราะประเทศไทยมีการศึกษาหาข้อมูลในเรื่องนี้น้อยมาก มีข้อมูลที่ชี้ว่าเราผ่านการเกิดแผ่นดินไหวจากรอยเลื่อนนี้ย้อนหลังไปเพียง 50 ปีเท่านั้น จึงทำให้ไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่า ณ เวลานี้รอยเลื่อนไหนสะสมพลังงานจนใกล้จุดแตกหัก ไม่สามารถทำนายได้ว่าจะเกิดแผ่นดินไหวเมื่อไหร่บนรอยเลื่อนไหน

นอกจากนี้ก็ยังศึกษาได้จากรอยเลื่อนที่มีขนาดใหญ่และยาวมากๆ ก็มีโอกาสจะทำให้เกิดแผ่นดินไหวได้มากกว่า แต่ก็ยังไม่ถึงระดับที่สามารถชี้ชัดได้ว่ารอยเลื่อนไหนจะเกิดแผ่นดินไหวก่อนหรือหลัง
ผศ.ดร.ภาสกร ปนานนท์ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านแผ่นดินไหว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โอกาสที่รอยเลื่อนไม่มีพลังจะกลับมามีพลัง?

ผศ.ดร.ภาสกร กล่าวว่า ตามหลักฐานที่บอกว่ารอยเลื่อนไม่มีพลัง คือ รอยเลื่อนที่เคยมีแผ่นดินไหวมานานมากแล้ว และมีอายุหลาย 10 ล้านปีเกิดพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของโลก จะเปลี่ยนแปลงกลับมาเป็นรอยเลื่อนที่มีพลังหรือไม่นั้น มีโอกาสเกิดขึ้นไม่มาก โดยอาจมีบางกรณีที่อยู่ใกล้กับแผ่นดินไหวใหญ่ รอยเลื่อนเหล่านี้ก็มีโอกาสที่จะกลับมามีพลังได้เช่นกัน แต่แผ่นดินไหวที่มากระตุ้นนั้นต้องมีขนาดใหญ่ มีแรงอัดที่รุนแรงมากๆ ซึ่งไม่สามารถระบุระดับเป็นตัวเลขได้ โดยปัจจัยที่จะเกิดแผ่นดินไหวคือพลังงานหรือความเค้นสะสม (Stress) เกิดจากการที่แผ่นเปลือกโลกเคลื่อนที่ไปชนกันและดันต่อเนื่องมาเรื่อยๆ เป็นเวลาหลายๆ สิบล้านปี พลังงานสะสมก็เพิ่มขึ้นทีละน้อยๆ จนถึงจุดที่ทานไม่ไหวก็จะหัก หรือมุดออกมาแตกออกมาจึงเกิดแผ่นดินไหวขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่คาดการณ์ไม่ได้ พลังงานสะสมบอกได้เพียงคร่าวๆ เพราะใต้โลกมีความซับซ้อนมาก เช่นประเภทของหินที่แตกต่าง เป็นต้น จึงทำได้เพียงการประเมินคร่าวๆ ไม่สามารถประเมินวัน เวลาได้

รอยเลื่อนที่มีพลังในไทย 14 แห่ง

ขณะเดียวกันโอกาสจะเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงในไทยนั้น ดูจากข้อมูลแผ่นดินไหวที่บันทึกไว้ ภาคเหนือมีอัตราการเกิดแผ่นดินไหวมากที่สุดอยู่แล้ว เทียบกับทุกภาค โดยประวัติจะมีตัวเล็กตัวน้อยเยอะมาก และจากอีกปัจจัยคือภาคเหนืออยู่ติดกับทางฝั่งพม่าและลาว ซึ่งในบริเวณนั้นมีการชนกันของแผ่นธรณี แผ่นเปลือกโลกอยู่ ซึ่งในพม่าและลาวมีการเกิดแผ่นดินไหวตัวใหญ่ๆ ขึ้นตลอด

ดังนั้นภาคเหนือจึงได้รับผลกระทบไม่โดยทางตรงก็ทางอ้อม ถ้าไปดูสถิติแผ่นดินไหวใหญ่ๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยทั้งหมด ขนาดปานกลางตั้งแต่ 5 แมกนิจูดขึ้นไปนั้น เกิดขึ้นในภาคเหนือเกินกว่าครึ่ง ดังนั้นภาคเหนือจึงมีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นมากกว่าทั้งในทางสถิติและปัจจัยส่งเสริม

“ไม่อยากให้ทุกคนตื่นตระหนกและไม่อยากให้ประชาชนในภาคใดควรกังวลหรือภาคใดไม่ควรกังวล”

อย่างไรก็ดีทางด้านวิชาการนั้น ควรต้องศึกษาให้เข้าใจในธรรมชาติของเหตุการณ์ และในส่วนของประชาชนและภาคสังคมก็ต้องเตรียมความพร้อมรับมือไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอาคารบ้านเรือน สิ่งก่อสร้างที่แข็งแรง หรือการปฏิบัติตัวเมื่อเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยลดความสูญเสียได้

ความรุนแรงของแผ่นดินไหวมีมากขึ้น?

ผศ.ดร.ภาสกร บอกด้วยว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวในประเทศเนปาลครั้งนี้นั้น สะท้อนให้เห็นถึงภัยธรรมชาติจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในปัจจุบันมีความรุนแรงมากขึ้น และก็ไม่ได้มีสัญญาณใดที่ชี้ชัดได้ว่าจะมีความรุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม โดยหากศึกษาข้อมูลจากสถิติย้อนหลัง พบว่าอัตราการเกิดแผ่นดินไหวไม่ได้เกิดบ่อยขึ้น ขณะเดียวกันเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ๆ ก็ไม่ได้มีมากขึ้นด้วยเช่นกัน

“แต่สิ่งที่ทำให้เกิดผลกระทบ สร้างความเสียหายมาก มีคนเสียชีวิตมากขึ้น นั่นเพราะจำนวนประชากรที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวมีปริมาณมากขึ้น ตลอดจนการเตรียมพร้อมเพื่อรับมือภัยแผ่นดินไหวก็ไม่ได้มีมาตรการป้องกันหรือการเฝ้าระวังที่ดี”

ดังนั้น เมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้นจึงมีความเสียหายมาก เช่นกรณีที่เกิดขึ้นที่ประเทศเนปาลนั้น จากเดิมที่พื้นที่นี้มีประชากรอาศัยไม่กี่แสนคน และในเวลาอันรวดเร็วไม่ถึง 20 ปี ประชากรที่นี่ก็ทวีเพิ่มขึ้นเป็นหลักใกล้ๆ 2 ล้านคน เมื่อมีแผ่นดินไหวในชุมชนขนาดใหญ่จึงเป็นสาเหตุทำให้ส่งผลกระทบวงกว้าง

เหตุการณ์เนปาลจะมีผลถึงไทย?

ผศ.ดร.ภาสกร ย้ำว่าโอกาสการเกิดแผ่นดินไหวในประเทศไทย มักจะได้รับอิทธิพลจากรอยเลื่อนในประเทศพม่าและลาว ซึ่งมีรอยเลื่อนที่มีพลัง โดยที่ผ่านมาไม่มีเหตุการณ์ในเนปาลหรือแผ่นดินไหวใหญ่ๆ ที่อื่น ก็มีแผ่นดินไหวเกิดในพม่ากับลาวตลอด ซึ่งแผ่นดินไหวที่มีขนาด 6-7 ก็เคยมี เช่นใน 2-3 ปีที่ผ่านมาในอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย

แต่หากถามว่าเหตุการณ์ในเนปาลจะส่งผลมาถึงพม่าหรือไม่นั้น มีความเป็นไปได้น้อยมาก เพราะลักษณะการถ่ายเทพลัง ในเวลาที่เกิดแผ่นดินไหวก็จะมีการส่งพลังงานออกมาและพลังงานนั้นก็จะวิ่งไปเรื่อยๆ แต่พลังงานก็จะลดลงอย่างรวดเร็วตามระยะทางที่มากขึ้น ประเทศเนปาลมีระยะทางห่างจากพม่าประมาณ 1,000 กม. ดังนั้นพลังงานที่มาถึงพม่าน่าจะน้อยมาก และคิดว่าโอกาสจะส่งผลกระทบโดยตรงมีน้อย นอกจากบังเอิญมีรอยเลื่อนใดที่มีพลังงานเต็มที่พร้อมใกล้จุดแตกหักและได้รับพลังงานจากเนปาลมาเติมพอดี

ทั้งนี้ในความเป็นไปได้แล้ว การที่แผ่นดินไหวตัวใหญ่ไปกระตุ้นให้เกิดแผ่นดินไหวตัวใหญ่ในบริเวณใกล้ๆ นั้น มักเกิดขึ้นในแนวรอยเลื่อนเดียวกัน เช่นสมมติว่ารอยเลื่อนที่เนปาลยาว 1,000 กม. (ตัวเลขสมมติ) ศูนย์กลางแผ่นดินไหวครั้งนี้ก็มีโอกาสทำให้เกิดแผ่นดินไหวได้ในบริเวณรอยเลื่อนเดิม แต่การที่จะเกิดข้ามมาเป็น 1,000 กม. โอกาสที่จะเกิดนั้นน้อยมาก จึงไม่น่ากังวล คนที่อยู่รอบๆ ศูนย์กลางแผ่นดินไหวในรัศมี 200-300 กม. อาจต้องกังวลมากกว่า ว่าจะมีการเกิดแผ่นดินไหวในรอยเลื่อนเดิม เพราะพลังงานถูกส่งต่อมาตามรอยเลื่อนได้ และเป็นรอยเลื่อนเดียวกัน สำหรับเนปาลนั้นเป็นคนละรอยเลื่อน ไม่ได้เกี่ยวข้องกันโดยตรง
การขุดร่องสำรวจที่ตำแหน่งรอยเลื่อนเพื่อศึกษาโอกาสการเกิดแผ่นดินไหว
อัตราการเกิดแผ่นดินไหวในไทย

ขณะที่เหตุการณ์แผ่นดินไหวโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือตามสถิติ มีบ่อย ระดับความรุนแรงปานกลาง รู้สึกได้ถึงแรงสั่นสะเทือน ส่วนภาคตะวันตกแม้นไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย แต่เนื่องจากเคยเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ใกล้บริเวณเขื่อนศรีนครินทร์ แถวรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ จึงเป็นความกังวลของประชาชนว่าแผ่นดินไหวขนาดใหญ่จะส่งผลกระทบอะไรมาถึงเขื่อนหรือไม่ ซึ่งถ้าดูในภาพรวมทั้งหมดของจังหวัดกาญจนบุรี เกิดแผ่นดินไหวใหญ่ๆขึ้นประมาณปี 1980 หลังจากนั้นก็ไม่มีอีก จนปัจจุบันแผ่นดินไหวที่กาญจนบุรีมีประมาณครั้งหรือสองครั้งต่อปีซึ่งเป็นขนาดเล็กๆ เท่านั้น

ส่วนทางภาคเหนือเกิดแผ่นดินไหวรวมทั้งหมดมีถึงประมาณปีละ 50 ครั้งทั้งขนาดเล็กและใหญ่ โดยข้อมูลแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น ภาคเหนือเกิดมากกว่าอยู่แล้ว แต่คนมักจะนึกถึงแผ่นดินไหวที่จังหวัดกาญจนบุรี เพราะกังวลว่าจะมีผลกระทบต่อเขื่อนศรีนครินทร์และจะส่งผลต่อพื้นที่ในปริมาณกว้าง

สำหรับภาคใต้มีรอยเลื่อนสำคัญคือ ใน จ.พังงา มี 2 รอยเลื่อน คือ รอยเลื่อนระนอง ซึ่งเป็นรอยเลื่อนที่ยาวพอสมควร วิ่งจากฝั่งอันดามันมาถึงอ่าวไทย เป็นรอยเลื่อนที่มีศักยภาพทำให้เกิดแผ่นดินไหวได้เช่นกัน ส่วนรอยเลื่อนคลองมะรุ่ย ซึ่งลากจากนครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ไปออกตรงภูเก็ต สำหรับรอยเลื่อนนี้ตอนนี้เป็นประเด็นอยู่ เนื่องจากมีเหตุการณ์แผ่นดินไหวเกิดขึ้นแถวภูเก็ตหลายครั้ง ซึ่งอาจจะเป็นผลพวงจากเหตุการณ์สึนามิเมื่อหลายปีก่อนหรือไม่ ก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่ตำแหน่งที่เกิดแผ่นดินไหวสัมพันธ์กับกลุ่มรอยเลื่อนคลองมะรุ่ย แต่ทั้งนี้ประเทศไทยยังไม่มีการศึกษาที่เป็นเรื่องราวว่ารอยเลื่อนนี้เป็นอย่างไร

เตรียมพร้อมรับมือแผ่นดินไหว

ผศ.ดร.ภาสกร กล่าวถึงความพร้อมในด้านวิชาการของไทยนั้นมีอยู่ในระดับหนึ่ง แต่ถ้าเปรียบเทียบกับการศึกษาในประเทศที่มีความเกี่ยวข้องเกี่ยวกับแผ่นดินไหวที่มีอัตราการเกิดแผ่นดินไหวมากกว่าเรา เช่นประเทศสหรัฐอเมริกา หรือญี่ปุ่นนั้น ประเทศไทยถือว่ายังมีการเตรียมความพร้อมน้อยกว่าประเทศเหล่านั้นมาก

กรณีตัวอย่างการลงทุนในการศึกษารอยเลื่อน แซนแอนเดรอัสฟอลต์ (San Andreas Fault) ที่แคลิฟอร์เนีย รอยเลื่อนตัวเดียว สหรัฐอเมริกาใช้การลงทุนไปถึง 5-6 หมื่นล้านบาท เทียบกับการลงทุนในการศึกษาของไทย ภาพรวมการลงทุนทั้งประเทศของทุกหน่วยงานต่างกันมาก

เพราะฉะนั้นสเกลของการได้ข้อมูลจึงน้อยกว่ากัน ทำให้เราไม่สามารถได้ข้อมูลเชิงลึก จึงเป็นความไม่แน่นอนอย่างหนึ่งในเรื่องระดับอันตรายที่เรามีอยู่จริง ต้องทำความเข้าใจว่าภัยพิบัติเกิดจาก 2 อย่างคือระดับอันตรายที่ทำให้เกิดภัยนั้นขึ้น กับผลกระทบที่เกิดขึ้นคือความเสี่ยง เช่นบ้านเรือนเราไม่แข็งแรงพอ หรือประชาชนเราไม่มีความรู้ มีสองส่วนประกอบกันคือส่วนธรรมชาติกับส่วนมนุษย์ ส่วนธรรมชาติหากจะพูดกันตรงๆ เราก็มีข้อมูลไม่สมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ ทำให้เราทำนายหรือวางแผนอะไรได้ยากขึ้น

“เราคาดการณ์ไม่ได้เลยว่าแผ่นดินไหวจะเกิดเมื่อไร สมมติว่าหากมีการเกิดแผ่นดินไหวในเมืองใหญ่ๆความเสียหายของเราจะเกิดขึ้นมหาศาล เพราะอาคารส่วนใหญ่ในประเทศไทย สร้างมาก่อนที่กฎหมายกำหนด ดังนั้นก็จะต้านทานแผ่นดินไหวได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น”

นับว่าเป็นความโชคดีของประเทศไทยที่แผ่นดินไหวที่สำคัญๆ ทุกครั้ง ไม่เคยเกิดขึ้นในบริเวณกลางเมือง เมืองจึงยังไม่เคยได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเกิดแผ่นดินไหว เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งล่าสุดที่เชียงรายก็เกิดห่างจากอำเภอเมืองเชียงรายไปประมาณเกือบ 30 กม. ลงไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ หากแผ่นดินไหวเกิดใกล้ตัวเมือง เราจะเสียหายมาก ที่สำคัญคือหลายๆ เมืองใหญ่ในประเทศไทยมีรอยเลื่อนอยู่ข้างใต้ แต่เราไม่เคยได้ศึกษาในระดับที่เพียงพอ ด้วยข้อจำกัดหลายประการ อันที่จริงเราทำอะไรได้อีกมาก เช่น เราต้องศึกษารอยเลื่อนที่มีพลังทั้งหมดใหม่ และเมืองใหญ่เมืองไหนที่คิดว่ามีรอยเลื่อนอยู่ต้องเข้าไปศึกษา

แต่ประเทศไทยก็มีข้อจำกัดอื่นๆ อีกมากมาย ทำให้ไม่ได้ศึกษารอยเลื่อนอย่างจริงจัง เพราะบริเวณนั้นเป็นพื้นที่เอกชน หรือบริเวณนี้เป็นบริเวณต้องห้าม ทำให้เราเข้าไปศึกษาไม่ได้ แต่ถ้าจะศึกษาไปข้างหน้า ก็ต้องช่วยกันเสียสละ เพื่อให้การศึกษารอยเลื่อนเดินหน้าต่อไปได้

กรณีที่มีการถกเถียงกันมานานว่ากรุงเทพฯ มีรอยเลื่อนหรือไม่ ก็จะยังเป็นที่ถกเถียงกันต่อไป เพราะไม่มีใครศึกษาเป็นเรื่องเป็นราว บริเวณรอบๆ กรุงเทพฯ เองก็ยังศึกษารอยเลื่อนได้อีกมาก เพราะยิ่งรอยเลื่อนใกล้กรุงเทพฯ มากเท่าไร และถ้าเป็นรอยเลื่อนที่มีพลัง แน่นอนว่าเราต้องกลัวมากขึ้น ซึ่งไม่ใช่แค่กรุงเทพฯ แต่เป็นเมืองใหญ่ทุกเมือง จังหวัดใหญ่ๆ เช่น เชียงใหม่ เชียงราย ภูเก็ต มีรอยเลื่อนหรือไม่ ก็เป็นประเด็นที่พูดกัน แต่ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ว่ามีหรือไม่ ซึ่งต้องไปศึกษา และถ้ามีต้องคิดต่อว่าจะทำอะไรกับมัน ถ้ามีข้อมูลจะมีปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เพิ่มเติมให้ศึกษา เพราะประเทศไทยมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เป็นบันทึกไม่มาก เมื่อเทียบกับทางตะวันตก หรือแม้แต่ของจีนหรือญี่ปุ่นที่มีบันทึกย้อนหลังเป็นพันๆ ปี เราจึงต้องอาศัยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ช่วย

นอกจากนี้ยังมีข้อจำกัดในการศึกษา สมมติเรามองว่าพื้นที่ตรงนี้มีหลักฐานที่มีรอยเลื่อนที่มีพลังอยู่ วิธีที่ดีที่สุดคือจะต้องไปขุด และเมื่อเราเจาะจงได้แล้วว่าพื้นที่ตรงนี้ถ้าขุดเราจะเห็นร่องรอยแผ่นดินไหวในอดีต แต่เราไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปศึกษา จะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม พื้นที่ตรงนั้นก็จะเป็นเครื่องหมายคำถามว่าสรุปมันเป็นรอยเลื่อนที่มีพลังหรือไม่ ทำให้ข้อมูลที่ได้จึงไม่สมบูรณ์ กับคำถามว่าการขุดต้องขุดลงไปลึกมากเท่าไรนั้น ขุดลงไปเพียงประมาณ 5 เมตร แต่ถ้าเป็นหลังบ้านเรา เราก็อาจจะไม่อยากให้เข้ามาขุด ก็เข้าใจในมุมมองของเจ้าของที่ดินว่าอาจต้องการใช้ประโยชน์เพื่อการอื่น

หลักการศึกษารอยเลื่อนมีพลังนั้น เนื่องจากรอยเลื่อนนั้นแต่ละรอยยาวมาก อาจจะเป็น 100 กม. และถ้าไปดูโดยละเอียด มันไม่ได้เป็นเส้นเดียว 100 กม. มันจะเป็นเส้นสั้นๆ เรียกว่า รอยเลื่อนย่อยต่อๆ กันเป็นแนว จึงเรียกว่าเป็นกลุ่มรอยเลื่อน แนวการศึกษาที่ดีและถูกต้องจริงๆ คือต้องศึกษาทุกรอยเลื่อนย่อย ยกตัวอย่าง รอยเลื่อน 100 กม. มีรอยเลื่อนย่อยอยู่ 10 ตัว เราก็ต้องไปศึกษาทั้ง 10 ตัวนั้น ถึงจะสรุปได้ว่าเป็นอย่างไร

แต่ในปัจจุบันทำแบบนั้นไม่ได้ เนื่องด้วยข้อจำกัดทั้งทางงบประมาณ เวลา บุคลากร และการเข้าพื้นที่ ดังนั้นถ้ากรณีแบบที่ยกตัวอย่าง มีรอยเลื่อนย่อย 10 รอยเลื่อน เราอาจจะศึกษาได้แค่ 3 รอยเลื่อนย่อย แล้วนำมาสรุปให้เป็นตัวแทนของทั้งรอยเลื่อน ซึ่งมันอาจจะถูกหรือผิดก็ได้ แต่ด้วยข้อจำกัด ซึ่งไม่เฉพาะเรื่องงบประมาณ จึงเป็นปัญหาที่แก้ยากเหมือนกัน

“ได้ทำงานร่วมกับกรมทรัพยากรธรณีมาตลอด และยังมีนักวิชาการอีกหลายท่านที่ทำงานด้วยกันมาร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ เรื่องรอยเลื่อนที่มีพลัง ซึ่งมีข้อมูลอยู่พอสมควร แต่จากข้อจำกัดต่างๆ จึงยังไม่ได้ข้อมูลที่สมบูรณ์ 100% อย่างที่ควรจะเป็น”

เสนอแผนเชิงรุก-เชิงรับกับภัยพิบัติแผ่นดินไหว

อย่างไรก็ดี ช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยอาจไม่ได้มองปัญหาเรื่องแผ่นดินไหวเป็นเรื่องสำคัญมากนักเพราะดูเป็นเรื่องไกลตัว จนกระทั่งเกิดแผ่นดินไหวที่จังหวัดเชียงรายเมื่อปีที่แล้ว เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องใกล้ตัวที่เราต้องมีการวางแผนรับมือกับเหตุการณ์ที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้

ซึ่งการเตรียมความพร้อมของประเทศไทยที่ควรจะเริ่มได้แล้วในวันนี้ ทั้งในส่วนวิทยาศาสตร์ เพื่อหาสาเหตุที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหว คือ การศึกษารอยเลื่อนทั้งหมดที่มีอยู่ในประเทศไทยให้มากขึ้นกว่านี้ ส่วนนี้เป็นส่วนของปัญหาที่เรามีข้อมูลน้อยมาก โดยเฉพาะในส่วนของภาควิชาการนั้น เรายังไม่มีถึงระดับศูนย์ติดตามรอยเลื่อน รวมไปถึงการติดตั้งสถานีตรวจวัดแผ่นดินไหวตามแนวรอยเลื่อนให้มากขึ้นด้วย เพราะสิ่งที่ทราบในปัจจุบัน เรามีสถานีตรวจวัดแผ่นดินไหว เมื่อมีแผ่นดินไหวเกิดขึ้น ก็จะรายงานได้ว่ามีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นที่ไหน ขนาดเท่าไร ถ้าไปตกใกล้ๆ รอยเลื่อนก็จะบอกได้ว่าใกล้รอยเลื่อนอะไร ทางกรมทรัพยากรธรณีพยายามที่จะไปติดโครงข่ายแผ่นดินไหวตามแนวรอยเลื่อน เสริมจากกรมอุตุนิยมวิทยาที่มีสถานีแผ่นดินไหวทั่วประเทศอยู่แล้ว

สำหรับอุปสรรคตรงนี้ ก็คือ แผ่นดินไหวไม่ได้เกิดตรงที่ใดที่หนึ่งประจำ สมมติเราไปติดตรงบริเวณนั้น ก็อาจจะไม่ได้เกิดแผ่นดินไหวขึ้นในจุดนั้นในรอบ 5 ปีก็ได้ เพราะฉะนั้นจึงตอบยากและไม่มีหน่วยงานใดไปทำเรื่องนี้โดยเฉพาะ นอกจากกรมทรัพยากรธรณีที่เป็นหน่วยงานหลัก ซึ่งขุดศึกษารอยเลื่อนที่มีพลัง และมีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณจึงทำได้ปีละไม่มากนัก ส่วนอื่นก็จะมีการศึกษาเรื่องรอยเลื่อนมีพลังจากกิจกรรมอื่น เช่นการทำ ERA เวลาจะสร้างเขื่อน จึงจะมีการศึกษาเรื่องนี้แทรกเข้ามาบ้าง แต่ก็ไม่มีการศึกษาสเกลใหญ่โดยตรง

อีกส่วนก็เป็นภารกิจของวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) ซึ่งเป็นเรื่องการสร้างอาคารบ้านเรือนให้แข็งแรง และการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่ง วสท.ต้องเข้ามาเป็นผู้ช่วย รวมไปถึงการปฏิรูปกฎหมายประกันภัยให้ครอบคลุมถึงความเสียหายจากแผ่นดินไหว ขนาดปานกลางหรือขนาดเล็กด้วย ไม่ใช่ครอบคลุมแต่แผ่นดินไหวขนาดใหญ่เท่านั้น เพราะมีโอกาสเกิดในบ้านเราน้อย

สำหรับภาคประชาชน คือ การเรียนรู้เรื่องการปฏิบัติตัวขณะเกิดแผ่นดินไหว ซึ่งวันนี้ถือว่ามีการตื่นตัวมากขึ้นแล้ว แต่ปัญหามองว่าอยู่ที่สารยังไปไม่ถึงประชาชนที่อยู่ต่างจังหวัดมากนัก เช่นการปฏิบัติตนขณะเกิดแผ่นดินไหว การสร้างบ้านเรือนที่ต้านทานแผ่นดินไหวได้มากขึ้น เช่น คนที่อยากจะสร้างบ้าน เขาควรต้องไปถามใคร เรามีกฎหมายที่บังคับอาคารสาธารณะ และอาคารสูงให้ทำตามกฎระเบียบ แต่สำหรับภาคประชาชน บ้านเรือนทั่วๆ ไป เรายังไปไม่ถึงจุดนั้น การไปบังคับอาจจะถูกมองว่าไปลิดรอนสิทธิมนุษยชนของเขา แต่ควรจะต้องมีมาตรฐานกลางๆ สำหรับคนที่อยากจะทำนั้นต้องทำแบบไหน ตรงนี้อยู่ในระหว่างที่พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งต้องใช้เวลา เรื่องโครงสร้างอาคารในรายละเอียดต้องเป็นเรื่องทางวิศวกรกำหนดได้ดีที่สุด

นี่คือสิ่งที่ต้องมีการบูรณาการ 3 ส่วนนี้เข้าด้วยกัน โดยภาพรวมคือเราต้องรู้ว่าแผ่นดินไหวนั้นจะเกิดได้อย่างไร เกิดในพื้นที่ไหนในประเทศไทย คนจะต้องรู้ว่าจะเอาตัวรอดอย่างไร ต้องเตรียมตัวอย่างไร เวลาเกิดแผ่นดินไหว อาคารบ้านเรือนต้องแข็งแรงพอ

รวมทั้งกรณีที่เลวร้ายที่สุด ต้องพูดไปถึงว่าหากเกิดเหตุการณ์ขึ้น หน่วยงานที่ต้องเข้ามาฟื้นฟูต้องเป็นอย่างไร

หากจะบูรณาการอย่างจริงจัง ต้องใช้งบประมาณสูงมาก ที่ผ่านมาเมื่อมองว่าเป็นปัญหาไกลตัว งบประมาณต่างๆ ก็จะลงไปสู่งานส่วนอื่นที่มองว่าเป็นปัญหาที่เร่งด่วนมากกว่า เช่นเรื่องปัญหาน้ำท่วม หรือภัยแล้ง เป็นต้น แต่อยากให้มองว่าปัญหาภัยแล้งหรือน้ำท่วมเมื่อเกิดแล้วก็จะค่อยๆ ดีขึ้น และใช้เวลาในการกลับมาสู่ภาวะปกติไม่นานนัก ส่วนในเรื่องที่นำมาใช้ศึกษาเรื่องนี้ เมื่อเทียบกับภัยพิบัติด้านอื่นนั้นน้อยมาก หากรัฐบาลจะให้ความสำคัญจะต้องมีการศึกษาเพื่อลงในรายละเอียดว่า ตรงไหนที่ต้องศึกษา จัดอันดับความสำคัญ เรื่องใดก่อนหลังที่ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งถือว่าเรามีบุคลากร ในเชิงวิชาการ ในหลายๆ หน่วยงานที่จะฟอร์มทีมขึ้นมาได้ ส่วนนี้พร้อมที่จะทำได้ในระดับหนึ่งแล้ว

แนะนำคนไทยรับมือแผ่นดินไหว

ผศ.ดร.ภาสกร กล่าวด้วยว่า สิ่งที่คนไทยต้องเรียนรู้ คือ เข้าใจธรรมชาติของแผ่นดินไหวทั้งในแง่สาเหตุการเกิดและความเสี่ยง เราจะมีภูมิต้านทานมากขึ้น อย่าเชื่อข่าวลือ โดยเฉพาะในโซเชียลมีเดีย 90% ไม่เป็นความจริง จากคนนั้นคนนี้บอกนั้น ผิดเกือบทั้งหมด และอย่าเชื่อหมอดู เพราะแผ่นดินไหวเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ไม่ต้องใช้สิ่งเหนือธรรมชาติมาอธิบาย

รวมถึงจะปฏิบัติตนอย่างไรเมื่อเกิดแผ่นดินไหว ทั้งในแง่ของการเตรียมพร้อม เช่นหากเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น ต้องรู้ว่าจะไปที่ไหน ไปหาใคร ขณะที่เกิดเหตุต้องรู้ว่าเราจะต้องรักษาตัวรอดอย่างไร

สำหรับในภาคประชาชน หรือถ้ามีงบประมาณพอ ควรต้องปรับปรุงบ้านเราที่ไม่แข็งแรงให้แข็งแรงในระดับหนึ่งที่จะต้านทานกับแผ่นดินไหวได้บ้างถ้ามันถูกเขย่า เพราะการเสียชีวิตเกือบทั้งหมดจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว เกิดจากการถูกอาคารพังลงมาทับ ไม่ว่าจะเป็นการพังถล่มลงมาทั้งหลัง หรือพังบางส่วนก็ตาม ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตหรือบาดเจ็บที่เกิดจากแผ่นดินไหวโดยตรง หากอาคารเราแข็งแรงในระดับหนึ่ง ความเสียหายแบบนี้ก็จะลดลงไป

ในหลายๆ ครั้งจะพบว่าไม่ได้ใช้งบประมาณที่สูงมากมายเลยในการปรับปรุงบ้านให้แข็งแรงที่ระดับหนึ่ง แต่เราอาจคาดการณ์เกินไปเองว่าจะต้องใช้เงินมาก และโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางสาธารณะ ซึ่งต้องสร้างให้ถูกแบบ เพราะอาจเป็นปัญหาต่อไปในอนาคต จนกระทบไปถึงตัวอาคาร ปัจจุบันนี้มีมาตรฐานต่างๆ ออกมามาก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดูแลเรื่องของการบังคับใช้ และคนที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างอาคารก็ต้องคำนึงถึงเรื่องนี้ให้มากด้วย

“เรามีความเสี่ยงในระดับหนึ่ง แต่ไม่ถึงขนาดต้องวิตกกังวล เราควรมีความพร้อมในเรื่องนี้ในทุกๆ มิติ ไม่ใช่ด้านใดด้านหนึ่ง” ผศ.ดร.ภาสกรกล่าว

กำลังโหลดความคิดเห็น