ผลงานวิจัยของ ดร.อภิญญา เฟื่องฟูสกุล สะท้อนเรื่องราวในวัดธรรมกายได้ดีเยี่ยม ชี้เหตุและปัจจัยที่คนเข้าไปเป็นสาวกและยอมที่จะช่วยหาเงินเข้าวัด ตั้งแต่วิธีการสร้างความศักดิ์สิทธิ์ การใช้ระบบซีเนียริตี้ในการปกครอง การสร้างอัตลักษณ์ของธรรมกายสู่ระดับโลก รวมไปถึงขบวนการสร้างความเป็นเทพปราบมาร มีสภาวะที่เหนือคนธรรมดา ที่สำคัญสุดการมีกัลยาณมิตรช่วยดูดทรัพย์ไม่ใช่เรื่องน่าอาย ไม่ใช่การเรี่ยไร แต่เป็นการสร้างบุญไว้ชาติหน้า!
อีกหนึ่งผลงานวิชาการของ ดร.อภิญญา เฟื่องฟูสกุล ซึ่งเกี่ยวกับวัดพระธรรมกาย ที่สนับสนุนโดย ศูนย์พุทธศาสน์ศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี 2540 แม้ว่าจะศึกษาไว้นานแต่ยังคงเป็นเรื่องราวที่น่าสนใจ สะท้อนถึงวิธีการบริหารจัดการที่แยบยลเป็นผลให้ ‘ธรรมกาย’ยิ่งใหญ่มาจนถึงวันนี้ และได้มีการตีพิมพ์ในวารสารพุทธศาสน์ศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฉบับเดือนมกราคม - เมษายน 2551
โดยเฉพาะในบทบรรณาธิการ ระบุไว้ว่าผลงานวิจัยของ ดร.อภิญญา มีหลายอย่างที่น่าสนใจ น่าตื่นเต้น ดุเดือดบ้างเล็กน้อย ซึ่งหากจะมีความกระทบกระทั่งใดๆ จากงานวิจัยนี้ถึงพระคุณเจ้า และท่านสัตตบรุษชาวธรรมกาย ขอได้โปรดใช้ขันติธรรม เพราะงานนี้มุ่งวิชาการเป็นหลัก ไม่มีอคติแต่ประการใด
อย่างไรก็ดี ดร.อภิญญา ในช่วงที่ทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกก็มีเนื้อหาส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับสำนักธรรมกาย และในการทำวิจัยชิ้นนี้ ‘ศาสนทัศน์ของชุมชนเมืองสมัยใหม่ ศึกษากรณีวัดพระธรรมกาย’ อาจารย์ก็ได้เข้าไปใช้ชีวิตอยู่ในวัดพระธรรมกายในฐานะนักวิชาการที่ได้มีการแจ้งวัดธรรมกายอย่างเป็นทางการเช่นกัน
ผลงานวิจัยชิ้นนี้ได้แบ่งแยกวิเคราะห์ให้เห็นถึงลักษณะต่างๆ ของวัดธรรมกายนับตั้งแต่วิธีการสร้างความศักดิ์สิทธิ์ ด้วยการประสานท่าทีบางประการของพุทธปัญญาชน ซึ่งมีแนวโน้มปฏิเสธความเชื่อไสยศาสตร์ การพึ่งพาอำนาจนอกตัว เพื่อให้เข้ากับพุทธชาวบ้านนั้น ถือว่าเป็นสิ่งที่ทำให้วัดพระธรรมกายสามารถตอบสนองความต้องการและรสนิยมทางศาสนาแก่สมาชิกได้หลายระดับ
เห็นได้จากการตีความเรื่องความหมายของ “ธรรมกาย” และ “พระนิพพาน” ซึ่งเป็นจุดหมายพ้นโลกให้กลายมาเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวมากยิ่งขึ้น และกลายเป็นสิ่งที่มีจริง และสัมผัสได้ด้วยอายตนะพิเศษที่ได้รับการฝึกฝนมา แม้บุคคลที่ฝึกจะยังไม่สามารถบรรลุนิพพานได้จริงก็สามารถไปเยี่ยมได้ก่อน
นอกจากนั้นความเชื่อในเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์ของพุทธศาสนาที่มีบทบาทในการแก้ไขชีวิต แก้ไขวิกฤตในชีวิตประจำวันได้ก็เป็นจุดดึงดูดที่ทำให้ผู้ศรัทธาเกิดความเชื่อมั่นว่า “พระธรรมกาย” จะปกป้องคุ้มครองจากภัยทั้งปวง
ในกรณีของการสร้างภาพลักษณ์ที่แยกตัวโดดเด่นนั้น วัดพระธรรมกายก็แสดงความโดดเด่นและเป็นตัวของตัวเองออกมา ไม่ว่าจะเป็นเครื่องแบบชุดขาว สัญลักษณ์ลูกแก้ว เทคนิคสมาธิ ลักษณะโบสถ์และพิธีกรรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเหล่านี้ล้วนเป็น “ภาษา” เฉพาะของชาวธรรมกายที่ใช้สื่ออัตลักษณ์ร่วมของกลุ่ม ขณะเดียวกันมีความพยายามที่จะบูรณาการในระดับนานาชาติอีกด้วย
‘ธรรมกาย’เป็นเลิศด้านกายภาพดูดคนเข้าวัด
ขณะเดียวกันในด้านสภาพแวดล้อมภายในวัดเป็นที่น่าอยู่ ซึ่งเป็นลักษณะทางกายภาพที่ทำให้คนเข้าวัดพระธรรมกาย ในส่วนนี้ ดร.อภิญญา ได้ศึกษาและวิเคราะห์ลักษณะทางกายภาพของสิ่งก่อสร้าง สถานที่ และการจัดแบ่งอาณาบริเวณภายในวัดซึ่งเป็นสื่อสำคัญที่สามารถสะท้อนลักษณะเฉพาะตัวหรืออัตลักษณ์ของวัดได้
ในส่วนของการจัดแบ่งพื้นที่นั้น สิ่งก่อสร้างที่เป็นศูนย์กลางวัดในช่วงแรก คือ โบสถ์ รูปทรงที่เป็นโครงภายนอก ยังคงลักษณะทางสถาปัตยกรรมของวัดตามจารีตเดิม สิ่งที่ขาดหายไปคือ เครื่องตกแต่งวิจิตรในรายละเอียด เช่น ลวดลายปูนปั้นหรือการเขียนลายปิดทองตามซุ้มประตูหน้าต่าง หน้าบัน ตลอดจนความวิจิตรที่ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ รวมการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในโบสถ์
ตามคำบอกเล่าของผู้ที่ร่วมในการก่อสร้างระยะแรกอธิบายถึงการตัดสินใจเลือกลักษณะเรียบง่าย เพราะต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายทางหนึ่ง (เหตุผลทางเศรษฐกิจ) และโครงร่างที่ปราศจากการปรุงแต่งรายละเอียดกลับช่วยเสริมความสง่างามได้สมดุลของตัวโครงนั้นให้เด่นชัดยิ่งขึ้นอีกด้วย
เหตุผลประการหลังนี้เป็นความภูมิใจในการสร้างรูปแบบสถาปัตยกรรมพุทธร่วมสมัยที่รักษาเอกลักษณ์เดิมในเชิงโครงสร้างบวกกับการเน้นความเรียบง่าย ซึ่งมักเป็นจุดเด่นของขบวนการพุทธปฏิรูป
ความสง่างามของสิ่งก่อสร้างยังถูกจุดประกายยิ่งขึ้นด้วยการจัดพื้นที่รอบตัวโบสถ์ หากผู้มาเยือนเข้าวัดจากประตูใหญ่ด้านหน้าทางทิศตะวันออก จะเห็นภาพพระอุโบสถสีขาวเด่นอยู่ท่ามกลางหมู่ไม้ และสนามหญ้ากว้างใหญ่เขียวขจี ถนนคอนกรีตกว้างที่ทอดจากประตูใหญ่ตรงไปโบสถ์นั้น ขนาบข้างทั้ง 2 ด้าน ด้วยสระน้ำกว้างที่มีน้ำพุพวยพุ่งดูงามตา รอบบริเวณสนามประดับด้วยพุ่มไม้ที่มีการตัดแต่งอย่างเป็นระเบียบ สระน้ำใหญ่ทั้งสองที่อยู่ด้านหน้าถูกขุดให้เชื่อมกับลำคลองเล็กที่ไหลวนคดเคี้ยวไปรอบวัด บางแห่งจะเห็นศาลาน้อยสีขาวอยู่ริมน้ำท่ามกลางสนามหญ้า บางแห่งจะมีการทำน้ำตกจำลองอยู่ในสวน การขุดสระและคลอง นอกจากจะทำให้ได้ทัศนียภาพที่เจริญตาแล้ว ยังมีประโยชน์ใช้สอย คือ เป็นแหล่งเก็บน้ำที่จำเป็นเพื่อใช้หล่อเลี้ยงพื้นที่สีเขียวจำนวนมากอีกด้วย
การดูแลพื้นที่ขนาดใหญ่เช่นนี้ให้งดงามเป็นระเบียบย่อมต้องอาศัยการดูแลรักษาที่เป็นระบบ และต้องใช้กำลังคนมาก จึงไม่น่าแปลกใจที่ต้องจ้างคนสวนถึงราว 200 คน
ทั้งหมดนี้เป็นความพยายามที่จะนำเสนอ “ความศักดิ์สิทธิ์” ผ่านความเป็นระเบียบ ความสะอาด และความลงตัวสบายตาของการจัดพื้นที่ทางภูมิสถาปัตย์ ซึ่งผู้มาเยือนมักออกปากอยู่เนืองๆ ว่า เข้ามาแล้วสบายใจ ต่างกันมากกับวัดหลายวัดซึ่งชี้ให้เห็นความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อมและสภาพสถาปัตยกรรมในวัด 32 แห่งในกรุงเทพฯ ในปี พ.ศ. 2528 ที่มีการต่อเติมสิ่งก่อสร้างในวัดอย่างไม่ถูกต้อง และภายในบริเวณระเกะระกะด้วยแผงลอยของที่ระลึกให้นักท่องเที่ยว
“เมื่อคำนึงถึงภาพที่ตัดกันเช่นนี้ จะเห็นได้ว่าวัดพระธรรมกายใช้การจัดพื้นที่ในการโน้มน้าวความศรัทธาได้อย่างชาญฉลาด” ดร.อภิญญา ได้สรุปไว้
ขยายอาณาจักร’ธรรมกาย’สู่ระดับโลก
อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจในการจัดพื้นที่คือ การแบ่งเขตภายในวัด โดยทั่วไป เราจะพบการแบ่งเขตวัดเป็นเขตพุทธาวาส อันได้แก่ พระอุโบสถ และพระวิหาร และเขตสังฆาวาส อันเป็นเขตที่อยู่อาศัยของพระสงฆ์ การแบ่งเขตของวัดพระธรรมกาย จะเห็นว่ามีการอุทิศเนื้อที่จำนวนมากที่สุดให้เป็นเขต “ธรรมาวาส” หรือเขตที่ใช้สำหรับปฏิบัติธรรมของสาธุชน นี่แสดงความตั้งใจจะทำวัดให้เป็น “วัดมวลชน” โดยแท้ สภาธรรมกาย ซึ่งใช้สำหรับสาธุชนมาปฏิบัติธรรม วันเสาร์/อาทิตย์ มีเนื้อที่กว้างถึง 9 ไร่ จุคนได้หลายพันคน
กระนั้นก็ยังเล็กไปสำหรับพิธีกรรมประจำปีอย่างเช่น ทอดกฐิน หรือวิสาขบูชา ในโอกาสดังกล่าวจึงต้องใช้เนื้อที่ที่ “ลานธรรม” ซึ่งเป็นพื้นที่โล่งกว้างใหญ่ที่สามารถจุคนได้เรือนแสน แม้กระนั้นเนื้อที่เกือบสองร้อยไร่ก็ยังไม่สามารถรองรับความฝันตามแนวคิดแบบ “thinking big” ของชาวธรรมกายได้เพราะแนวคิด “วัดมวลชน” นี้มิได้จำกัดขอบเขตแค่ภายในประเทศไทยเท่านั้น
ความตั้งใจจะขยายวัดจากศูนย์กลางพุทธศาสนาระดับชาติ มาเป็นระดับนานาชาติและระดับโลก เห็นได้ชัดจากแผนการขยายวัด มีการประกาศความตั้งใจดังกล่าวเป็นทางการในโอกาสครบรอบ 20 ปีของการสร้างวัด และการประกาศนี้ปรากฏอยู่ในหนังสือครบรอบ 20 ปีด้วยภายใต้หัวข้อ “โครงการในอนาคต” อันประกอบไปด้วยโครงการมหึมา เช่น การก่อสร้าง มหาวิทยาลัยทางพุทธศาสนา พิพิธภัณฑ์พุทธศาสนา มหาเจดีย์ขนาดใหญ่ รวมถึงหมู่บ้านของสาธุชนที่อยากอยู่ใกล้วัด ดูเป็นโปรเจกต์ยักษ์แบบ “ครบวงจร” อย่างแท้จริง
เช่นที่ ดร.อภิญญา กล่าวถึงวาทะของท่านทัตตะชีโวว่า “พวกคาทอลิกเขามีวาติกัน มุสลิมก็มีเมกกะ เราชาวพุทธจึงต้องมีศูนย์กลางธรรมกายแห่งโลก” ซึ่งสะท้อนแนวคิดในลักษณะ “thinking big” และทิศทางการเติบโตของวัดพระธรรมกายได้เป็นอย่างดี วัดไม่เพียงต้องการเป็นวัดของคนเมืองสมัยใหม่เท่านั้น แต่ยังมีเป้าหมายมุ่งขยายตัวในระดับสากลด้วย การสร้างองค์กรบริหารที่เป็นระบบเพื่อรองรับเป้าหมายดังกล่าวจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น
ระบบซีเนียริตี้ เกื้อหนุนความศักดิ์สิทธิ์
ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในองค์กรยังคงผูกติดกับค่านิยมที่เน้นความสัมพันธ์แบบมีช่วงชั้น และระบบอาวุโสมากกว่าความเท่าเทียมหรือกระจายอำนาจในการตัดสินใจ ซึ่ง ดร.อภิญญา สะท้อนให้เห็นว่า ธรรมกายมีการสร้างการแบ่งชนชั้น ทิ้งระยะห่างไว้ เพื่อให้เห็นขั้นของการเป็นผู้นำ ที่มีความศักดิ์สิทธิ์ และรู้สึกอยากเห็นเจ้าอาวาส โดยธรรมเนียมของวัดพระธรรมกาย จะแบ่งพระภิกษุเป็น 2 ประเภท คือ พระใน และพระนอก คำว่า “นอก” และ “ใน” บ่งบอกถึง “ระยะห่าง” ในความสัมพันธ์ที่มีต่อวัด พระในหมายถึง พระภิกษุที่เมื่อจะบวชตั้งสัตยาธิษฐานว่าจะบวชไม่สึก อุทิศทั้งชีวิตเพื่อวัด
โดยธรรมเนียมนี้มีต้นแบบมาจากหลวงพ่อธัมมชโยเอง เมื่อปี พ.ศ. 2510 สมัยที่ท่านยังเป็นฆราวาสฝึกปฏิบัติกับคุณยายจันทร์ที่วัดปากน้ำ ท่านให้ของขวัญวันคล้ายวันเกิดของคุณยายอาจารย์ด้วยการกล่าวสัจจาธิษฐานกับคุณยายว่า “จะขออยู่เป็นโสด ประพฤติพรหมจรรย์ไปจนตลอดชีวิต” ดังนั้นการกระทำดังกล่าวเป็นการกระตุ้นกำลังใจและความเข้มแข็งของกลุ่มปฏิบัติธรรมของบ้านธรรมประสิทธิ์มาก จนเกิดความนิยมในหมู่นักปฏิบัติรุ่นนั้นที่จะตั้งสัจจะดังกล่าวด้วย แม้บางรายจะมีครอบครัวแล้วก็ตาม
สำหรับชาวธรรมกาย นี่เป็นการอุทิศที่ยิ่งใหญ่เพราะเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก และมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์มารับรู้เป็นพยานมากมาย ในยุคหลังจากสร้างวัดแล้ว จึงกลายเป็นธรรมเนียมว่า บุคคลที่จะมาเป็น “พระใน” จะเป็นอุบาสกที่พิสูจน์ตนทำงานอุทิศให้วัดนับสิบปีก่อนบวช และเมื่อบวชก็ตั้งสัจจะที่จะบวชตลอดชีวิต
ซึ่งพระในจะมีตำแหน่งเป็นผู้บริหารระดับสูงของวัด ส่วนพระนอกก็คือพระตามธรรมเนียมทั่วไปที่อาจสึกเมื่อใดก็ได้ การปฏิบัติของชาววัดต่อพระในจะมีความเคารพนอบน้อมเป็นอย่างมากในงานพิธีต่างๆ ก็นั่งในตำแหน่งสำคัญๆ เช่นแถวหน้า หรือที่ที่ใกล้หลวงพ่อจะเป็นของพระใน
นอกจากนั้นจีวรก็เป็นสัญลักษณ์ของการแบ่งระดับชั้นด้วยซึ่งจีวรของพระนอกเป็นผ้าธรรมดา จีวรของพระในจะทำมาจากผ้าป่านสวิสราคาแพง เนื้อผ้าคุณภาพเยี่ยม ห่มแล้วไม่ร้อน และเมื่อย้อมสีก็จะได้สีเหลืองที่สว่างกระจ่างตายิ่งกว่าสีจีวรทั่วไป
บริหารจัดการวัดแบบองค์กรมืออาชีพ
ในส่วนของการจัดองค์กรของวัดพระธรรมกาย ดร.อภิญญา สะท้อนภาพให้เห็นว่ามีลักษณะคล้ายกับรูปแบบการจัดการองค์กรขนาดใหญ่ สมัยใหม่ ที่จะมีการแบ่งแผนก และมีผู้นำนักบริหารด้วย ซึ่งหลวงพ่อทัตตะชีโว ท่านรองเจ้าอาวาส เป็นผู้รับหน้าที่นี้
“เราจะเห็นการแบ่งงานกันทำและภาพลักษณ์ที่ต่างกันอย่างมากของหลวงพ่อทั้งสององค์ ภาพรองเจ้าอาวาสไม่ใช่ผู้นำศักดิ์สิทธิ์ที่มีคุณสมบัติเหนือโลก แต่เป็นผู้นำด้านการบริหาร เป็นผู้นำที่เป็นมนุษย์ธรรมดา ท่านทำหน้าที่รับแขกที่มาเยือนดูแลกำกับงานในฝ่ายต่างๆ ท่านมีรูปร่างสูงใหญ่ เสียงห้าวดังฟังชัด พูดตรงไปตรงมามีบุคลิกแบบที่เรียกได้ว่า “นักเลง” ในความดุจะรู้สึกได้ถึงความใจดีมีเมตตา ท่านมักเรียกคนใกล้ชิดว่าไอ้หนู หรือ เอ็ง หากเขาจะมาหาท่านก็ทำได้ง่ายกว่าเข้าพบท่านเจ้าอาวาสมาก ท่านจะเป็นผู้ช่วยแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดวันต่อวัน บางครั้งผู้ใต้บังคับบัญชาสามารถโต้แย้งถกเถียงกับท่านในเรื่องงานได้ คนใกล้ชิดรู้สึกว่าท่านเป็นเหมือนพ่อ (ที่เป็นมนุษย์)
ขณะที่หลวงพ่อท่านเจ้าอาวาส จะเสียงเบานุ่มเนิบนาบ และจะเป็นที่พึ่งทางใจที่ศักดิ์สิทธิ์ยากที่จะมีใครกล้าโต้แย้งไม่ว่าจะเป็นเรื่องใด”
นับว่าภาพผู้นำทั้งสองของวัดพระธรรมกายนั้น สะท้อนลักษณะสองด้านของความเป็นธรรมกายได้เด่นชัด ด้านหนึ่งคือ ความเป็นองค์กร “สมัยใหม่” ที่ร่วมได้อย่างไม่ขัดเขินกับอีกลักษณะหนึ่ง ที่เป็นความเชื่อใน “สิ่งศักดิ์สิทธิ์” และอำนาจเหนือธรรมชาติ
ความสัมพันธ์กับสมาชิกฆราวาส
ชุมชนฆราวาสของวัดพระธรรมกายมิใช่ชุมชนที่เกิดตามธรรมชาติ แต่เป็น “ชุมชนจัดตั้ง” ซึ่งผูกกันด้วยอุดมการณ์ของวัดและความสัมพันธ์ส่วนตัว ซึ่งในโครงสร้างการบริหารวัดแบบที่เป็นกันมาตั้งแต่อดีต เป็นโครงสร้างที่ไม่ซับซ้อน ยอดสุดของการบริหาร คือ เจ้าอาวาส รองลงมาในบางวัดอาจมีรองเจ้าอาวาส ถัดมาก็คือ พระลูกวัด สามเณร แม่ชี และล่างสุดก็คือ กลุ่มเด็กวัด องค์ประกอบที่จะเชื่อมกับโลกฆราวาสคือ “คณะกรรมการวัด” ที่เป็นฆราวาสซึ่งมีมรรคทายกเป็นหัวหน้า
สำหรับคณะกรรมการดังกล่าวมักไม่เข้ามาก้าวก่ายกิจการบริหารภายในวัด แต่จะคอยช่วยเหลือพระในกิจกรรมบางประการที่ไม่สะดวกแก่พระภิกษุ เช่นในเรื่องที่ต้องข้องเกี่ยวกับเงินทอง และในกิจกรรมที่เกี่ยวกับการกุศลของชุมชน ขั้นตอนการได้มาซึ่งคณะกรรมการดังกล่าว ถ้าเป็นกรณีของวัดต่างจังหวัด ก็มักมาจากสายสัมพันธ์ส่วนตัวกับเจ้าอาวาส ถ้าเป็นวัดในเมืองก็อาจได้จากการแต่งตั้งเป็นทางการจากกรรมการศาสนา คณะกรรมการดังกล่าว แม้จะทำงานให้วัด แต่ก็ถือเป็นองค์ประกอบที่อยู่ข้างนอก คือจัดว่ายังอยู่ในโลกฆราวาส และไม่ได้ทำงานกินเงินเดือนของวัด หรืออาศัยในวัด
สำหรับโครงสร้างแบบเดิมและข้อจำกัดทางพระวินัยทำให้พระสงฆ์ไม่สะดวกนักที่จะขยายกิจกรรมเผยแผ่ศาสนาในวงกว้าง แต่ในวิถีชีวิตแบบเมืองสมัยใหม่ซึ่งความสัมพันธ์ส่วนบุคคลถูกแทนที่ด้วยความสัมพันธ์แบบไม่เป็นส่วนตัว (impersonal) มากขึ้น ดังนั้นการเผยแผ่ศาสนาจำต้องมีการปรับยุทธวิธีในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายของตน หลายๆ กลุ่มแก้ปัญหาด้วยการจดทะเบียนตั้งเป็นมูลนิธิขึ้น ซึ่งสะดวกกว่าในการจัดกิจกรรมหลายๆ อย่าง เช่นเดียวกันมูลนิธิธรรมกายก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2513 โดยมีลักษณะที่ต่างจากคณะกรรมการวัดแบบจารีตก็คือ ความเป็นทางการ ความมีระบบแบบแผนที่แน่ชัด (formalization and systematization) ซึ่งมูลนิธิธรรมกายไม่เพียงถูกกลืนเข้ามาเป็นเนื้อเดียวกับวัดพระธรรมกาย แต่ยังเป็นเส้นเลือดและแขนขาที่ทำให้กิจกรรมต่างๆ ของวัดดำเนินไปด้วยดี
เห็นได้จากในกระบวนการคัดเลือกบุคคลเข้ามาทำงาน การแบ่งปันกันทำเป็นแผนกต่างๆ ลดหลั่นลงไป และการควบคุมบังคับบัญชา โดยบนสุดของโครงสร้างยังเป็นเจ้าอาวาส รองลงมาเป็นรองเจ้าอาวาส และถัดมาเป็นคณะกรรมการสงฆ์ ซึ่งกำกับการดำเนินงานของมูลนิธิซึ่งมีสำนักงานอยู่ทั้งที่วัด และที่ตึกสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ปฏิบัติฆราวาสจัดเป็นเจ้าหน้าที่ที่ทำงานเต็มเวลา กินเงินเดือนวัดและพักอาศัยในวัด ที่สำคัญที่สุดพวกเขาไม่เหมือนคนทั่วไป พวกเขาเป็นหนุ่มสาวที่ถือศีลแปด มีวิถีเรียบง่ายและอุทิศชีวิตทั้งหมดเพื่อวัดและศาสนาอีกด้วย
ดึงคนเก่งการศึกษาดีเข้าวัด
งานวิจัยชิ้นนี้ยังแสดงให้เห็นอีกว่าวัดพระธรรมกายสามารถสร้างคนระดับมันสมองจากการที่ไปเข้ากับชมรมพุทธศาสนาในมหาวิทยาลัย โดยทุกปีจะมีพระภิกษุส่วนหนึ่งมาจากนักศึกษาในโครงการธรรมทายาท ที่อุปสมบทภาคฤดูร้อน โดยมีกิจกรรมหลักคือ เน้นการฝึกสมาธิ ในขณะที่พระภิกษุอื่นๆ จะทำกิจกรรมต่างๆ ในวัด โดยการฝึกพระและเจ้าหน้าที่ฆราวาสให้เป็นผู้เผยแพร่ธรรมในโลกสมัยใหม่นั้น วัดได้จัดวิชาเสริมความรู้ทักษะในการเชิญผู้ทรงคุณวุฒิมาสอนทั้งพระและเจ้าหน้าที่ที่วัด วิชาที่สอนมีตั้งแต่พระปริยัติ (ทั้งแผนกธรรมและบาลี) วิชาภาษาต่างประเทศ และทักษะในที่ชุมชน
อีกสิ่งหนึ่งที่วัดเน้นเป็นพิเศษในการฝึกคนก็คือ เรื่องของมารยาท และการแสดงออกที่สำรวม สาเหตุที่เน้นส่วนหนึ่งเป็นเพราะการรับวัฒนธรรม ระบบซีเนียริตี้ที่เข้มแข็งมากในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และอีกส่วนหนึ่งคือความเชื่อว่ามารยาทและการแสดงออกที่สุภาพนอบน้อมเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับบุคลิกภาพของผู้ที่จะออกไปเผยแพร่ธรรมแก่สาธุชน
ซึ่งโครงการประจำปีต่างๆ จะมีหลายๆ ลักษณะ ประเภทแรก เป็นโครงการที่เน้นการสอนสมาธิตามแนวของวัดและฝึกการใช้ชีวิตรวมกลุ่มอย่างมีวินัยและเอื้อเฟื้อผู้อื่น ความเข้มงวดที่เรียกร้องจากผู้ร่วมเข้ากลุ่มในแต่ละโครงการจะมีระดับที่แตกต่างกัน ที่เข้มงวดที่สุดคือโครงการธรรมทายาทและอุปสมบทหมู่ภาคฤดูร้อน ส่วนที่ผ่อนปรนได้มากขึ้นได้แก่ โครงการส่งเสริมคุณธรรมแก่เยาวชนในระดับประถมและมัธยมศึกษา ซึ่งนอกจากมีการอบรมระยะสั้นแล้ว ยังมีค่ายเยาวชนภาคฤดูร้อนด้วย นอกจากนี้ก็มีการอบรมข้าราชการและพนักงานบริษัทต่างๆ โดยร่วมมือกับหน่วยงานราชการและเอกชน และยังมีธุดงค์สุดสัปดาห์ของสมาชิกวัด โครงการอีกประเภทหนึ่ง คือ โครงการที่เน้นประสานความร่วมมือกับมหาเถรสมาคมและองค์พุทธศาสนาในต่างประเทศ เช่น การจัดพิธีมอบทุนการศึกษาที่มูลนิธิธรรมกายมอบให้แก่สามเณรที่มีผลการเรียนดีเด่น การจัดพุทธสัมมนานานาชาติ การแลกเปลี่ยนบุคลากรกับวัดพุทธในต่างประเทศ
การเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์พุทธศาสนิกชนแห่งโลก นอกจากนี้ยังมีโครงการอีกประเภทหนึ่ง คือ การจัดงานบุญใหญ่ประจำปี อย่าง วันมาฆบูชา วิสาขบูชา และกฐิน การมีโครงการมากมายตลอดทั้งปี ทำให้ความต้องการเจ้าหน้าที่ประจำมีมากขึ้น ในปี 2540 นี้จำนวนเจ้าหน้าที่ประจำเพิ่มมากขึ้นอีกจากปี 2533 หนึ่งเท่าตัว แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการ อย่างไรก็ตามวัดมีความสามารถในการระดมมวลชนของวัดที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่มาช่วยงาน อาสาสมัครเหล่านี้ได้แก่นักศึกษา นักเรียน ญาติโยมที่เป็นสมาชิกวัด ซึ่งมีตั้งแต่เรือนร้อยถึงเรือนพัน ขึ้นอยู่กับโอกาสและความจำเป็น
สิ่งนี้ชี้ให้เห็นถึงศักยภาพของวัดในการระดมคน ดร.อภิญญา เชื่อว่าเคล็ดลับของการระดมคนนี้ขึ้นอยู่กับความสามารถในการสร้าง รักษา และขยายเครือข่ายความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ซึ่งกลไกตรงนี้มีหัวใจอยู่ที่การจัดในกลุ่มสมาชิกฆราวาส (ซึ่งไมใช่เจ้าหน้าที่วัด แต่หมายถึงอุบาสก อุบาสิกา ที่มาร่วมกิจกรรม) ที่เรียกว่า “กลุ่มกัลยาณมิตร”
ยกตนเหนือคนธรรมดา
นอกจากนั้นในหมู่นิสิตนักศึกษาชมรมพุทธมหาวิทยาลัยต่างๆ ก็เป็นฐานเครือข่ายที่สำคัญยิ่ง ซึ่งไม่ใช่ของง่ายที่จะปรับตัวเข้ากับชีวิตดังกล่าว สำหรับหนุ่มสาวที่เพิ่งจบการศึกษาและมีทางเลือกอื่นๆ ที่สดใสในชีวิต อะไรเล่าที่ทำให้ทางเลือกเส้นนี้ดูน่าพิสมัย
ดร.อภิญญา ซึ่งเป็นผู้ทำวิจัยงานชิ้นนี้คิดว่า มีสิ่งที่ชดเชยที่เป็นนามธรรมสำหรับชีวิตที่ขาดแคลนสิ่งตอบแทนรูปธรรมเช่นนี้ นั่นก็คือการที่หนุ่มสาวเหล่านี้รู้สึกว่าเขาต่างจากคนธรรมดา การถือศีลแปด การดำรงชีวิตที่เสียสละ การอุทิศตน และความอดทนทำให้พวกเขาเป็น “ฆราวาสตัวอย่าง” ซึ่งเป็นทั้ง “แม่แบบ” ของฆราวาสที่ดีและเป็นทั้งจักรวาลจักรกลจำเป็นในการเผยแผ่ศาสนา พวกเขาอยู่ตรงกลางระหว่างโลกผู้ถือบวชและโลกคนธรรมดาทั่วไป การเลือกใช้คำเช่น “อาศรม อุบาสก/อุบาสิกา” (เขตที่อยู่อาศัยของเจ้าหน้าที่) ชี้ให้เห็นสภาวะธรรมของเขาที่สูงกว่าคนธรรมดา “อาศรม” สื่อถึงการเลือกชีวิตสมถะแบบผู้ถือบวช “อุบาสก/อุบาสิกา” ตามรูปศัพท์คือชายหญิงผู้ใกล้ชิดพระรัตนตรัย โอวาสตอนหนึ่งที่พระรูปหนึ่งให้ไว้กับเจ้าหน้าที่แสดงถึงอุดมการณ์ของพวกเขา
“กัลยาณมิตรนั้นเปรียบเสมือนแสงอรุณที่ส่องสว่างมาขจัดความมืดออกไปจากใจ กัลยาณมิตรไปที่ใด ความสว่างมีที่นั่น ดวงใจดวงไหนที่มืดเราจะไปทำให้สว่าง ดวงใจดวงใดที่เต็มไปด้วยโลภะ โทสะ โมหะ เราจะไปทำให้เบาบาง เราจะนำแสงสว่างเข้าไปในใจเขาให้เขาได้ประจักษ์ในความเป็นจริง ได้เห็นเป้าหมายชีวิตที่แท้จริง...หน้าที่เรายิ่งใหญ่ จงทำหน้าที่เราให้เพียงพร้อมบริบูรณ์”
เทคนิคสร้างกลุ่มบอกบุญ
วัดพระธรรมกายมีวิธีการสร้างเครือข่ายที่แน่นแฟ้นของกลุ่มสมาชิกชั้นในที่เป็นฐานสำคัญในการบริจาคให้วัดรวมทั้งเป็นฐานที่จะออกไปบอกบุญกับคนนอกที่มิใช่สมาชิกด้วย สิ่งสำคัญที่เป็นแกนของกิจกรรมดังกล่าว คือ การปรับแนวคิดเรื่องการทำบุญซึ่งมีการผสมผสานแนวคิดบริโภคนิยมเข้ามาด้วย
กรณีเช่น การสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ กลุ่มนักศึกษาอาสาวัด ประสานงานกับกลุ่มสมาชิกกัลยาณมิตรในเชียงใหม่ และร่วมกันจัดงานประจำปี ก็คือ การบวชสามเณรลูกแก้ว การจัดงานยี่เป็งสันทราย ลักษณะการจัดงานทั้งสองจะแสดงแบบแผนความสัมพันธ์อันเป็นแบบฉบับของชาววัด คือ การพยายามสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ที่ดีและแน่นแฟ้นกับข้าราชการท้องถิ่นทั้งระดับอำเภอและจังหวัด นักธุรกิจ ตลอดจนพระผู้ใหญ่ฝ่ายปกครองในท้องที่นั้น
ในงานอุปสมบทที่จังหวัดต่างๆ มักจะเชิญพระภิกษุชั้นผู้ใหญ่ระดับเจ้าคณะจังหวัดหรือเจ้าคณะอำเภอมาเป็นอุปัชฌาย์ ในบางครั้งจะเชิญเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะตำบล เจ้าคณะอำเภอใกล้เคียงมาร่วมด้วย
นอกจากนั้น กลุ่มแขกหรือวิทยากรรับเชิญก็มักจะมี นายอำเภอ ศึกษาธิการจังหวัด และอำเภอของสถาบันการศึกษาในท้องถิ่นร่วมด้วย ในจุดนี้อาจเรียกได้ว่า การเข้าใจและเข้าถึงจารีตถ้อยทีถ้อยอาศัยแบบอุปถัมภ์ ตลอดจนการเข้าหา “ให้ถูกคน” เป็นหัวใจของยุทธศาสตร์การขยายตัว
ในแง่ของสังคมวิทยาและมานุษวิทยา สิ่งที่น่าสนใจ คือ แรงจูงใจที่เกาะเกี่ยวสมาชิกไว้ด้วยกัน สำหรับในกลุ่มไม่มีสมาชิกมากนักหรือภายในกลุ่มแกนของกลุ่มใหญ่ความผูกพันส่วนบุคคล และการช่วยเหลือเกื้อกูลกันและกันมีสูง บางทีเป็นลักษณะปรับทุกข์เรื่องปัญหาส่วนตัว บางทีเป็นการช่วยเหลือทางการเงิน เป็นต้น
ดร.อภิญญา เชื่อว่า กลุ่มที่เกาะกันเช่นนี้ให้ความรู้สึกผูกพันร่วมของชุมชน (gemeinschaft) ที่ขาดหายไปในชีวิตเมืองใหญ่ สปิริตร่วมของชุมชนนี้เป็นพื้นฐานที่แข็งแกร่งของกิจกรรมในการดึงดูดทรัพยากรเข้าวัด
ส่วนแรงจูงใจอีกประการหนึ่งนอกเหนือจากเหตุผลทางศาสนา ที่ดึงดูดสมาชิกให้เข้ากลุ่มก็คือ ปัจจัยทางเศรษฐกิจ เช่น คุณ ว.เป็นเจ้าของบริษัทรถทัวร์แห่งหนึ่ง ได้รับการชักชวนให้มาวัดในช่วงที่กิจการกำลังประสบภาวะวิกฤต และได้พบกับท่านเจ้าอาวาสซึ่งให้พรแก่เขาให้ผ่านพ้นวิกฤตและมีความรุ่งเรืองยิ่งๆขึ้นไป หลังจากนั้นไม่นานก็สามารถขยายกิจการและสามารถเพิ่มจำนวนรถทัวร์ในสังกัดเพิ่มอีก 10 คัน และเขาได้เป็นสมาชิกที่แข็งขันผู้หนึ่งของกลุ่มพระโขนง
ซึ่งนอกเหนือจากการบริจาคให้วัดครั้งละมากๆ เขายังนำรถบัสมาบริการในวัดด้วย หรือหากสมาชิกกลุ่มของเขาจัดทัวร์ไปต่างจังหวัดก็ใช้บริการได้ราคามิตรภาพ ต่อมาเมื่อหัวหน้ากลุ่มนี้เลือกที่จะบวช ทางวัดก็เลือกคุณ ว. ให้เป็นหัวหน้ากลุ่ม จากนั้นเขาก็ยิ่งเพิ่มความกระตือรือร้นในการขยายกิจกรรมและเครือข่ายความสัมพันธ์ของกลุ่ม เขาเป็นผู้จัดกิจกรรมอบรมสมาธิทุกสัปดาห์ที่บ้านหลังใหญ่ของเขาเองที่จังหวัดชายทะเล ตะวันออกแห่งหนึ่ง ซึ่งเขากล่าวว่า “ศาสนาได้กลายมาเป็นพลังผลักดันสำคัญของชีวิต อย่างไรก็ตามสิ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้ก็คือ การขยายกิจการทางธุรกิจ ซึ่งสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดและเติบโตไปพร้อมๆ กับการขยายเครือข่ายความสัมพันธ์ในแวดวงผู้ปฏิบัติธรรม”
อีกกรณี ที่จังหวัดเชียงใหม่ สมาชิกระดับแกนนำจากส่วนกลางและผู้นำกลุ่มในท้องถิ่นจำนวนหนึ่งได้ลงขันกันร่วมเปิดกิจการโรงเรียนอนุบาลพิงครัตน์ และกำลังร่วมกันเปิดโรงพยาบาลอีกแห่งหนึ่งด้วย สมาชิกผู้หนึ่งเล่าให้ฟังว่า เพื่อนสมาชิกเคยขอให้ช่วยหาคนมาซื้อที่ดินของเขาในตัวเมืองเชียงใหม่
ในยุคที่กิจการอสังหาริมทรัพย์เฟื่องฟูนั้น สายสัมพันธ์ในหมู่สมาชิกช่วยกันหาลูกค้าเป็นไปอย่างราบรื่น โดยเฉพาะโครงการที่อยู่ใกล้วัดจะมีชาวธรรมกายอุดหนุนกันมากในช่วงปี 2533 อันเป็นยุคทองของธุรกิจที่ดิน มูลนิธิธรรมกายถึงกับกระโดดลงมาทำโครงการอสังหาริมทรัพย์เองในชื่อโครงการ “ตะวันธรรมตะวันทอง” ซึ่งพื้นที่โครงการอยู่ไม่ไกลจากวัดมากนัก มีการแจกแผ่นพับ ใบปลิว และมีการประชุมแกนนำกลุ่มกัลยาณมิตรอย่างคึกคักเพื่อโปรโมตโครงการนี้ โดยคอนเซ็ปต์โฆษณาที่ใช้จะเป็นภาพลักษณ์ของการก่อสร้าง “ชุมชนวัด” สมัยใหม่ ที่มีทั้งความสงบ ความสะดวกสบาย และความใกล้ชิดกลุ่มสหายที่เป็นสหธรรมิก
นอกจากนั้นการอุดหนุนโครงการยังเป็นการทำบุญทางอ้อมด้วย เพราะรายได้จากโครงการ วัดก็จะนำไปใช้ในกิจการเผยแผ่ หลังจากนั้นก็มีโครงการบ้านและที่ดินอื่นๆ เกิดขึ้นตามมา บางโครงการก็ไม่ใช่ของวัดโดยตรงแต่เป็นของสมาชิกระดับนำ แต่โครงการส่วนใหญ่จะอยู่ไม่ไกลจากวัดมากนัก
นับว่าโครงการตะวันธรรมตะวันทองนี้ เป็นตัวอย่างของการขยายอาณาจักรธุรกิจของวัดที่อาศัยเครือข่ายสมาชิกเป็นฐาน
ตั้งรางวัลล่อใจ ‘ยอดอาสากัลยาณมิตร’
ในส่วนของเทคนิคการกระตุ้นและสร้างกลุ่มบอกบุญของวัดพระธรรมกาย ในช่วงก่อนงานบุญใหญ่ประจำปี หรืองานบุญเฉพาะกิจ มีการจัดตั้งกลุ่มกัลยาณมิตร “เฉพาะกิจ” ที่มีเป้าหมายและความเชี่ยวชาญเรื่องระดมทุนโดยเฉพาะ กลุ่มพิเศษแต่ละกลุ่มจะประกอบไปด้วยเจ้าหน้าที่วัด สมาชิกฆราวาสที่กระตือรือร้นและมีประสบการณ์สูงในการระดมทุน และมี “พระใน” 1 รูปเป็นผู้ดูแล
อีกทั้งยังมีการตั้งตำแหน่งที่เรียกว่า “ประธานกอง” เมื่อผู้ใดถูกทาบทามเป็นประธานกอง ก็ต้องพยายามหาลูกกองคือ ผู้ที่ทำบุญร่วมทีมด้วย โดยแต่ละกองจะได้รับแจกแผ่นพิมพ์สีสวยงามด้วยกระดาษอย่างดีให้กรอกชื่อที่อยู่ของประธานและลูกทีม ร่วมกองและจำนวนเงินบริจาค ซึ่งชาววัดมักแข่งกัน “ทำกอง” คือไปแสวงหาเพื่อนหรือผู้รู้จักซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกวัดเลยก็ได้ให้มาเป็นประธานกอง และประธานกองก็ต้องไปหาลูกทีมมาร่วมบริจาค
เทคนิคนี้ชี้ให้เห็นวิธีการกระจายภาระบอกบุญไปนอกเครือข่ายสมาชิก การตั้งตำแหน่งประธานรองและประธานกองนี้จึงเป็นเคล็ดยุทธศาสตร์สำคัญของการขยายเครือข่ายการบอกบุญ ในลักษณะ “direct sale” ออกไปอย่างไพศาลและซับซ้อน
สำหรับเทคนิค promotion ที่นำมาใช้เพื่อกระตุ้นกลุ่มนั้น มีการประชุมกลุ่มย่อยและประชุมหัวหน้ากลุ่มบ่อยครั้ง บรรยากาศที่ประชุมคึกคัก มีการฉายสไลด์มัลติวิชัน วิดีโอ เชิญวิทยากรมาให้ความรู้เกี่ยวกับเทคนิคการจูงใจคน มีการวางแผนแบ่งกลุ่มจัดสายออกเพื่อบอกบุญประชาชน และเพื่อให้แต่ละคนทุ่มเทเต็มที่ มักมีการกำหนดเป้าหมายว่าตนจะ “ทำยอด” ได้สักเท่าใด
การแข่งขันระหว่างกลุ่มต่างๆ จึงมีมาตรการสำคัญที่ทำให้ทุกคนทุ่มกายถวายชีวิตต่อกิจกรรมนี้ คือ การสร้างกระแสด้วยการตั้งรางวัลสำหรับผู้ที่สามารถ “ทำเป้า” ภายในเวลาที่กำหนดให้ได้ก่อนผู้อื่น เช่น ภายใน 2 หรือ 3 อาทิตย์ บอกบุญครบ 1,000 บาท ได้ลูกแก้วเล็กๆ ไว้ใช้ในการภาวนา 1 ลูก บอกบุญได้ 10,000 บาท ได้ล็อกเกตรูปคุณยายจันทร์ทำเป้าครบ 20,000 บาท ได้พระพุทธรูปธรรมกายหน้าตัก 3 นิ้ว หากได้ยอด 100,000 บาท ได้พระพุทธรูปธรรมกายหน้าตัก 9 นิ้ว เป็นต้น
มาตรการปลุกกำลังใจอีกประการหนึ่ง คือ พิธีมอบโล่เกียรติคุณแด่ผู้ที่ได้รับคัดเลือกเป็น “ยอดอาสากัลยาณมิตร” ที่สามารถทำเป้าสูงสุด พิธีนี้จัดขึ้นหลังงานบุญใหญ่ราวหนึ่งหรือสองอาทิตย์ ในพิธีมีการสดุดีและเชิญผู้ได้รับการคัดเลือกมาเล่าถึงประสบการณ์การทุ่มเทมอบกายถวายชีวิตแด่กิจกรรมนี้ ซึ่งในครั้งหนึ่งดร.อภิญญา ได้เข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย ได้รู้สึกประทับใจกับเรื่องของยอดอาสากัลยาณมิตรผู้หนึ่ง ซึ่งถูกมะเร็งคุกคาม ขณะนอนในโรงพยาบาล ความอยากสั่งสมบารมีทำให้เธอพากเพียรบอกบุญกับหมอ พยาบาล ผู้มาเยี่ยมไข้และทุกคนที่โผล่เข้ามาในห้อง จนกระทั่งสามารถบอกบุญได้ทะลุหลักล้านบาท ทั้งที่นอนป่วยอยู่ และความปีติทำให้เธอเอาชนะโรคได้อย่างน่าอัศจรรย์
ซึ่งเรื่องนี้ชี้ให้เห็นถึงองค์ประกอบสำคัญของพลังใจดังกล่าว คือ การเชื่อว่าการบอกบุญนั้นในตัวเองคือ การสั่งสมบารมี ในครั้งแรกที่ผู้วิจัยไปวัดเมื่อกลางปี พ.ศ. 2533 ตรงเหนือซุ้มประตูทางเข้าวัดด้านทิศตะวันออก มีข้อความเขียนด้วยโฟมเป็นอักษรขนาดใหญ่ประดับอย่างสวยงามว่า “เราเกิดมาเพื่อสร้างสมบารมี” ซึ่งความเชื่อนี้ได้รับการปลูกฝังในหมู่เจ้าหน้าที่และเหล่าสมาชิกกลุ่มกัลยาณมิตรอย่างเข้มข้น ในการไปบอกบุญ คือ รูปแบบหนึ่งของการเสียสละเพื่อสังคม เพราะผู้ไปบอกบุญคือ ผู้ที่นำโอกาสที่ดีกว่าไปเสนอให้ เป็นผู้ไปให้ความรู้ด้านธรรมะ ไปชี้ให้สังคมเข้าใจความหมายของการสั่งสมบุญเพื่อภพชาติที่ดียิ่งๆ ขึ้นไป
ดังนั้นผู้ที่ไปบอกบุญจึงมิได้เกิดความรู้สึกกระดากว่าเขากำลัง “เรี่ยไร” หรือขอเงินจากผู้อื่น ตรงข้าม เขามีความรู้สึกเมตตาในฐานะ “ผู้ให้” คือให้โอกาสผู้อื่นที่จะสั่งสมบุญ
ธรรมกายผู้นำฝ่ายขาว
ดร.อภิญญา เขียนในงานวิจัยด้วยว่าสิ่งที่นำไปสู่ความเชื่อและศรัทธาในพิธีกรรมต่างๆ ของธรรมกาย คือ ความเข้าใจเรื่องบุญจะไม่อาจสมบูรณ์ได้หากไม่เข้าใจระบบจักรวาลวิทยาของชาวธรรมกาย ซึ่งชาวธรรมกายสร้างจักรวาลวิทยาของตนขึ้นมาใหม่โดยมีฐานอยู่บนแนวคิดคู่ตรงข้ามที่ตัดกันเป็นฝ่าย “มาร” และฝ่าย “พระ” ทุกอย่างในโลกนี้ตั้งแต่ปฐมกาลของกำเนิดแห่งสรรพสิ่งไปจนถึงกำเนิดโลกและมนุษย์ - กำเนิดความดีและความชั่ว เหตุการณ์ต่างๆในอดีต ปัจจุบันและอนาคตล้วนอธิบายได้จากปฏิสัมพันธ์ของ “ฝ่ายขาว” และ “ฝ่ายดำ” ชาวธรรมกายเป็นกำลังหลักของฝ่ายขาว ซึ่งมีภารกิจอันศักดิ์สิทธิ์ในการปราบฝ่ายมาร การ “ปราบ” มีได้หลายรูปแบบ
แต่สำคัญที่สุดคือ การสร้างบุญบารมีและการชักชวนผู้คนให้รอดพ้นจากการถูกฝ่ายมารย้อมใจไปเป็นพวก อาวุธสำคัญคือ อำนาจบุญและสมาธิที่แข็งแกร่ง ส่วนหนึ่งจากโอวาทหลวงพ่อธัมมชโย อธิบายว่า
“งานสายใน (ภายใน) เป็นงานทำวิชชา (คือการทำสมาธิ ผู้วิจัย) เป็นงานหนัก ต้องนั่งกับที่ ทำละเอียดรุกไปข้างหน้า ส่วนสายที่สอง เป็นงานภายนอก (เผยแผ่) เคลื่อนที่ไปเผยแพร่ธรรม จะมีสายแรกช่วยปกป้องคุ้มกันให้ปลอดภัย .... งานจริงคืองานประสานกันระหว่างงานภายในกับงานภายนอก คืองานเผยแผ่ที่เป็นระบบ ที่ทำให้คนรู้ว่าเราเกิดมาทำไม ... งานสองส่วนนี้จะประสานกันได้ดี ถ้าทุกคนได้เข้าถึงธรรมกาย...ขอให้พยายาม อีกไม่นานหรอก จวนแล้วที่มารเขาจะกันไม่อยู่ในทางละเอียด ส่วนทางหยาบ เขากันไม่อยู่แล้ว ไม่เช่นนั้น เราคงไม่ได้มานั่งกันอยู่อย่างนี้”
โดยสานุศิษย์ของหลวงพ่อเชื่อมั่นว่า หลวงพ่อของพวกเขาคือ “รถไฟขบวนสุดท้าย” ที่จะขนพาสรรพสัตว์ข้ามวัฏสงสาร ดังนั้นทางรอดทางเดียวก็คือ การสั่งสมบุญอย่างสุดชีวิตเพื่อให้ปฏิบัติเข้าถึงพระธรรมกายให้ได้ความสำคัญของการไปบอกบุญผู้อื่น จึงเข้าใจได้จากวิสัยทัศน์ดังกล่าวนี้เอง ซึ่งเป็นบทสรุปของงานวิจัยชิ้นนี้