อาณาจักรธุรกิจมืด ยังคงเป็นเส้นเลือดใหญ่ของวงการตำรวจไทยที่ใช้หากิน สร้างความร่ำรวยตลอดมา วงในตำรวจ ระบุ ตำรวจยุคนี้ มีสภาพเป็น ‘ส่วยแบบข้าทาส’ อยู่ได้เพราะสนอง ‘มูลนาย’ ทันเวลาที่ ‘นายเคาะ’เรียก ชี้ทุกท้องที่จะมี 4 หน่วยงานสร้างรายได้ให้ตำรวจ ขณะเดียวกันยอมรับการเก็บส่วยมีการเก็บซ้ำซอน ท้องที่ก็เก็บ สอบสวนกลางยังส่งคนมาเก็บอีก แจงพวกธุรกิจสีเทา ไม่กล้าหือยอมจ่ายซ้ำซ้อน เพราะกลัวอำนาจขบวนการสีกากี
ข่าวครึกโครมในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาต่อเนื่องมาจนถึงวันนี้และเป็นที่สนใจจากประชาชนในสังคม หนีไม่พ้นการทลายอาณาจักรสอบสวนกลาง หรือ บช.ภ ซึ่งมีการคุมตัว พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธ์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และผู้ร่วมขบวนการในทุกระดับชั้น ด้วยข้อหาฉกรรจ์ ทั้งหมิ่นสถาบันตาม ป.อาญา ม.112 ตามด้วยข้อหาเป็นเจ้าพนักงานเรียกรับผลประโยชน์ ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ มีการขู่กรรโชกทรัพย์ รวมทั้ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
ส่วนข้อหาหนึ่งที่น่าสนใจ ในเรื่องการรับส่วยน้ำมันเถื่อนจากภาคใต้และเชื่อมโยงไปสู่การสร้างสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ขณะเดียวกันภาพที่ทำให้คนในสังคมต้องตกตะลึงก็คือ การนำของกลางที่ทางตำรวจยึดได้มาโชว์ทั้ง เงิน ทอง เครื่องประดับ พระพุทธรูป วัตถุโบราณ และงาช้างจำนวนมาก โดยเฉพาะตู้เซฟใต้ดินนั้น ถึงขนาดต้องนำรถแบ็กโฮ เข้าไปทำลายเพื่อตรวจสอบของกลางด้านในล้วนมีมูลค่ามหาศาล
การที่ บช.ภ.สามารถจัดเก็บ ‘ส่วย’ ได้อย่างมโหฬารเป็นเพราะโครงสร้างอำนาจของ บช.ภ. ครอบคลุมทั่วประเทศ หรือเรียกได้ว่ามีอำนาจเหนือกองบัญชาการตำรวจนครบาล หรือกองบัญชาการตำรวจภูธรภาคต่างๆ ที่มีสถานีตำรวจในพื้นที่ควบคุมอยู่ก็ตาม
ปัจจุบันกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางมีหน่วยงานระดับกองบังคับการจำนวน 12 กอง ประกอบด้วย
1.กองบังคับการอำนวยการ 2.กองบังคับการปราบปราม 3.กองบังคับการตำรวจทางหลวง 4.กองบังคับการตำรวจรถไฟ.5.กองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว 6.กองบังคับการตำรวจน้ำ 7.กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม 8.กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ 9.กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ 10.กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ 11.กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค 12.กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี
อย่างไรก็ดี โครงสร้างอำนาจและภารกิจของ บช.ภ.ที่มีกองบังคับการ 12 กอง ทำให้ บช.ภ. เข้าไปเกี่ยวข้องและเป็นที่เกรงขามของบรรดาพวกธุรกิจสีเทาทั่วประเทศ ทั้งๆ ที่ธุรกิจสีเทาเหล่านี้ต้องจ่าย ‘ส่วย’ให้กับท้องที่อยู่แล้ว
“ทุกพื้นที่ต้องจ่ายส่วยให้กับตำรวจท้องที่ แต่สอบสวนกลางก็จะส่งคนของตัวเองเข้ามาเก็บอีก พวกธุรกิจที่ผิดกฎหมายไม่มีใครกล้าปฏิเสธไม่จ่าย เพราะถ้าไม่จ่าย สน.ท้องที่ไม่สามารถคุ้มครองได้ พวกเรารู้ว่าจริงๆ ตำรวจกินซ้ำซ้อน”
ดังนั้นส่วยจึงเป็นเสมือนตาข่ายที่ใช้ปกคลุมธุรกิจสีเทาเพื่อแสดงให้รู้อาณาเขตที่จะต้องชำระและไม่อาจปฎิเสธหากต้องการจะทำธุรกิจเหล่านี้ต่อไป
‘ธุรกิจมืด-เส้นเลือดใหญ่’ วงการตำรวจ
ด้วยวัฒนธรรมอุปถัมภ์ขององค์กรตำรวจที่สืบทอดมายาวนาน และยังมีโครงสร้างที่สะท้อนให้เห็นถึง ‘ลูกน้อง’เลี้ยงนาย จึงเป็นที่มาของการส่งส่วยในวงการตำรวจ ทั้งที่หน้าที่สำคัญของตำรวจได้แก่ การรักษาความสงบเรียบร้อยแก่ประชาชน การบังคับใช้กฎหมาย และดูแลรักษาผลประโยชน์สาธารณะในเชิงป้องกันและปราบปรามความเลวทรามในสังคมในรูปของอาชญากรรม การคอร์รัปชัน และธุรกิจมืด หรือธุรกิจสีเทา
แต่กลับพบว่าตำรวจพยายามหาช่องโหว่หรือหาโอกาสที่จะแสวงหาผลประโยชน์จากตำแหน่งหน้าที่ในทุก ๆ พื้นที่ หรือทุกๆ สน.จะมีรายได้มาจาก 4 สายงาน
1.สายงานปราบปราม จะเป็นงานเชิงรุกในการบังคับใช้กฎหมาย เช่นการจับ-ปรับ เป็นต้น
2.สายงานสืบสวน ลักษณะขอบเขตความรับผิดชอบก็คือ การสืบสวนไปยังแหล่งธุรกิจผิดกฎหมายต่างๆ เช่น ยาเสพติด การค้าบริการทางเพศ ซึ่งที่ผ่านมาถือเป็นสายที่ทำรายได้สูงที่สุดในสถานีหากตำรวจงานสืบสวนขยันหาข่าวและนำโอกาสนั้นมาหาประโยชน์ได้โดยง่ายในรูปของส่วย
3.สายงานจราจร มีหน้าที่ดูแลและควบคุมการจราจรให้เป็นระเบียบ ส่วนใหญ่มีรายได้มาจากค่าปรับ รวมถึงรายได้จากการขออนุญาตใช้ประโยชน์บนผิวจราจร
4.สายงานสอบสวน มีหน้าที่เป็นคนกลางในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างคู่กรณี ก่อนที่คดีความจะถูกส่งไปยังชั้นอัยการและเข้าสู่การพิจารณาโดยศาลยุติธรรม ซึ่งตำรวจถือเป็นต้นทางของกระบวนการ สามารถตัดตอนมิให้คดีความขึ้นสู่ขั้นต่อไปได้ ในรูปแบบของการไกล่เกลี่ยเจรจายอมความ รวมถึงการกระทำอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำให้สำนวนอ่อน ผ่อนหนักเป็นเบา เพื่อลดโทษ อำนวยความสะดวก ไปถึงตัดความรำคาญนั่นเอง
“รายได้ตำรวจแต่ละพื้นที่ ซึ่งมีทั้งรายได้ที่ถูกกฎหมายและรายได้นอกกฎหมายที่เขาเรียกว่าธุรกิจมืด ธุรกิจสีเทา ล้วนมาจาก 4 สายงาน แต่รายได้หลักจะมาจากบ่อนการพนัน กับจราจร”
แหล่งข่าวจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุว่า รายได้ที่ตำรวจได้มาอย่างถูกกฎหมายนั้นมีน้อย แต่สิ่งที่ทำให้ตำรวจมีรายได้มากคือรายได้จากธุรกิจผิดกฎหมาย หรือธุรกิจมืด ได้แก่
1 ธุรกิจการพนัน ทั้งตู้ม้า หวยใต้ดิน การพนันฟุตบอล บ่อนการพนัน ยิ่งบ่อนใหญ่ตำรวจจะยิ่งมีรายได้มาก
2.ธุรกิจด้านขนส่ง พวกรถตู้โดยสารเถื่อน รถบรรทุกขนอิฐ หิน ดิน ทราย ที่ใช้ในการก่อสร้าง รถบรรทุกสินค้าที่เกินน้ำหนัก
3. ธุรกิจสถานบันเทิง ธุรกิจบริการทางเพศ สถานบริการอาบอบนวด ที่เปิดเกินเวลา และมีสิ่งผิดกฎหมายเข้ามาอยู่ในสถานบันเทิงแห่งนั้น หรือมียาเสพติดเข้ามาเกี่ยวข้อง พวกบรรดาอพาร์ตเมนต์ที่ผิดกฎหมาย ไม่ได้ขออนุญาต ประกอบกิจการ หรือหอพักต่างๆ สิ่งเหล่านี้จะไม่รอดสายตาตำรวจได้
4.ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับคนงานต่างด้าว หรือคนที่ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย บรรดาเจ้าของกิจการที่มีคนต่างด้าวที่ลักลอบเข้ามาจะจ่ายให้กับตำรวจเพื่อซื้อค่าคุ้มครองซึ่งจะมีตำรวจหน่วยอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองในพื้นที่ตำรวจภูธรตำรวจสันติบาล ตำรวจปฏิบัติการพิเศษ ตำรวจน้ำ ตำรวจกองปราบและตำรวจตรวจคนเข้าเมือง
ขณะที่พื้นที่ใดที่มีแหล่งที่สามารถสร้างรายได้มากๆ จะเป็นที่หมายตาของตำรวจที่ต้องการจะไปลงในท้องที่นั้น โดยพิจารณาจากแหล่งธุรกิจ ประกอบด้วย ห้างร้าน อาคารพาณิชย์ ธนาคาร ร้านทอง ซึ่งตำรวจจะสามารถเรียกเก็บค่ารักษาความปลอดภัยได้ ส่วนจะมีรายได้มากเพียงใดขึ้นอยู่กับจำนวนความหนาแน่นของกิจการนั่นเอง
นอกจากนี้จะมีที่พักอาศัยของประชาชนต่างๆ เช่น หอพัก แฟลต อพาร์ตเมนต์ สถานบริการ ซึงรวมไปถึงร้านอาหาร ร้านคาราโอเกะ โรงแรม สถานบันเทิง ผับ บาร์ สถานอาบอบนวด โต๊ะสนุ้กและบริเวณที่มีการตั้ง “ตู้แดง” ล้วนเป็นแหล่งรายได้ที่จะบ่งบอกว่าพื้นที่นี้เป็นสถานีตำรวจเกรด A, B, C หรือ D เป็นต้น
แหล่งท่องเที่ยว-อาชญากรข้ามชาติ ‘เหยื่อ’ จ่ายส่วย
แหล่งข่าวจากสำนักงานตำรวจ ย้ำว่า ธุรกิจต่างๆ ที่ผิดกฎหมายจะมีอยู่ในทุกๆ พื้นที่ และเมื่อมีการเก็บส่วยจาก ‘หัวเบี้ย’ ในพื้นที่ไปเก็บแล้ว ก็จะมีหน่วยงานจากสอบสวนกลางตามไปเก็บอีกที เช่นย่านพัฒน์พงษ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ควบคุมของตำรวจนครบาลนั้น เชื่อว่ามีมูลค่ามหาศาล และหากเทียบกับตัวเลขการจ่ายส่วยในเมืองท่องเที่ยวอย่างจังหวัดภูเก็ต ผู้ประกอบการในย่านสถานบันเทิงที่เปิดให้บริการเกินเวลา จะมีการลงขันเพื่อจ่ายส่วยให้เจ้าหน้าที่ถึง 3 แสนบาทต่อเดือน เพื่อแลกกับผลกำไรทางธุรกิจ และไม่มีโอกาสโต้แย้งแม้จะโดนเรียกเก็บส่วยซ้ำซ้อนก็ตาม
สำหรับพื้นที่จังหวัดท่องเที่ยว จะมีบรรดาอาชญากรข้ามชาติที่หลบหนีเข้ามาเมืองไทยไปอาศัยกบดานอยู่ เช่น พัทยา เชียงใหม่ ภูเก็ตนั้น เชื่อว่าตำรวจในสน.ท้องที่และกองบังคับการตำรวจท่องเที่ยวในสังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง มีข้อมูลทั้งหมด แต่กลับใช้ข้อมูลที่ตัวเองมีอยู่ไปแสวงหาประโยชน์กับอาชญากรดังกล่าวที่กระทำความผิด หนีมาซ่อนตัว และยังมาดำเนินธุรกิจผิดกฏหมายในพื้นที่ เนื่องจากแก๊งข้ามชาติเหล่านี้ยินยอมจ่ายส่วยแลกกับอิสรภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่พัทยา ซึ่งเป็นที่รู้กันว่ามีแก๊งข้ามชาติหนีคดีมาอยู่เป็นจำนวนมาก และเข้ามาลงทุนธุรกิจต่างๆ เพื่อฟอกเงินอยู่ในประเทศไทยและ เป็นช่องทางหากินของตำรวจที่ต้องการรีดไถต่อไป
อีกทั้งส่วยดังกล่าวที่ตำรวจจะได้จากนักท่องเที่ยว ก็คือพวกที่เข้ามาด้วยวีซ่าท่องเที่ยว แต่ลักลอบประกอบอาชีพในเมืองไทย ซึ่งบางคนวีซ่าหมดอายุ แทนที่ตำรวจจะจับส่งตัวออกไป กลับไม่ดำเนินการและยังมีการแลกผลประโยชน์เป็นเม็ดเงินจากคนกลุ่มนี้
“ไปดูได้พวกอินเดีย บังกลาเทศ ย่านพาหุรัด สำเพ็ง เต็มไปหมด ส่วนคนจีน ก็ให้ไปดูเยาวราช รัชดา เข้ามาค้าขายเปิดกิจการกันเต็มไปหมด”
รวมถึงแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเช่น พม่า กัมพูชา ลาว ที่เข้ามาทำงานแล้วไม่ต่อใบอนุญาตต้องจ่ายเงินให้เจ้าหน้าที่หัวละไม่น้อยกว่า 500 บาททุกๆเดือน เพื่อแลกกับอิสรภาพและการมีงานทำที่มีรายได้สูงกว่าประเทศตัวเอง
ขณะเดียวกันหากตำรวจท้องที่สืบรู้ว่าโรงงานใดมีการจ้างแรงงานผิดกฎหมาย ก็จะเป็นโอกาสในการเก็บส่วยได้หลายทาง ทั้งจากคนงาน และผู้ประกอบการเจ้าของกิจการ ที่เผชิญวิกฤตขาดแคลนแรงงาน ว่ากันว่าผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการเล็กๆ ต้องจ่ายส่วยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจประมาณแสนบาทต่อเดือน
ส่วยทางหลวง
การเก็บส่วยลักษณะนี้ หากินกับรถบรรทุก รถผี รถตู้ ที่รู้กันอยู่ทั่วไปว่า รถบรรทุกสินค้าจากท่าเรือ หรือรถขนดินขนทรายที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐานกว่าที่กฎหมายกำหนดหรือออกวิ่งขนส่งสินค้าในเวลาที่ห้าม ตลอดจนการตรวจจับควันดำ ซึ่งผู้ประกอบการและเจ้าของธุรกิจเองก็มีความสนิทสนม จึงสมยอมที่จะจ่ายส่วยให้ตำรวจทางหลวงมาโดยตลอดในทุกยุคทุกสมัย ซึ่งทำกันเป็นขบวนการ จนเรียกได้ว่าเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ
เช่นเดียวกับที่เป็นข่าวครึกโครมเรื่องส่วยสติกเกอร์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจทางหลวงติดไว้หน้ารถเพื่อเป็นใบเบิกทางและสัญลักษณ์ว่ารถคันนี้จ่ายส่วยเป็นรายเดือนแล้ว แต่ก็ยังมีโอกาสจะถูกเรียกเก็บเป็นรายวันตลอดเส้นทางที่มีสน.ท้องที่คุมพื้นที่อยู่บ่อยครั้ง และเป็นต้นทุนการขนส่งและโลจิสติกส์ที่ค่อนข้างสูงสำหรับธุรกิจ ซึ่งในแต่ละปีผู้ประกอบการต้องรับภาระไม่ต่ำกว่า 500 ล้านเพื่อแลกกับความสะดวกรวดเร็ว และการเลี่ยงความผิดตามกฎหมาย
“ส่วยทางหลวง เมื่อวิ่งเข้าพื้นที่ สน.ใด ก็ต้องโดนเก็บเหมือนกัน ไม่ใช่ตำรวจทางหลวงจะได้หน่วยเดียว”
ตำรวจ! เหยื่อขบวนการส่วย
ดังนั้นพื้นที่หรือหน่วยงานใดที่จะสามารถสร้างเม็ดเงินได้มหาศาล จึงเป็นที่หมายปองของตำรวจในทุกระดับชั้น จนเป็นที่มาของการวิ่งเต้น ซื้อตำแหน่ง ย้ายพื้นที่ เพื่อสร้างผลประโยชน์ให้กับตัวเองและพวกพ้องได้มากยิ่งขึ้น
“ตำรวจก็เป็นเหยื่อ เพราะต้องการความก้าวหน้า และได้ผลประโยชน์บางส่วน จึงวิ่งเข้าหา “มูลนาย” ที่เป็นบิ๊กทั้งหลาย แต่สุดท้ายตำรวจพวกนี้กลายเป็นส่วยแบบข้าทาสกันไปหมด”
แหล่งข่าวจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อธิบายว่าเมื่อตำรวจกลายเป็นเหยื่อและส่วยแบบข้าทาส ก็เพราะว่าในอดีตนั้นใครอยากได้ตำแหน่งก็ต้องหาเงินสดๆ มาจ่ายก่อนได้รับตำแหน่ง และ ห้ามผ่อนภายหลังได้ตำแหน่ง แต่วันนี้บรรดาบิ๊กสีกากีทั้งหลาย เขาจะเลือกตำรวจที่วิ่งเข้าหาต้อนเข้ามาอยู่ในอาณัติหรืออาณาจักรของตัวเองก่อน
จากนั้นจะมีการจัดสรรด้วยการเอาลูกน้องไปวางไว้ในตำแหน่งต่างๆ กระจายไปให้ทั่วที่เชื่อว่าจะเป็นแหล่งสร้างผลประโยชน์ได้อย่างดี เพื่อให้ตำรวจเหล่านี้มีหน้าที่ส่ง ‘ส่วย’กลับมายังตนเองได้ ในทุกๆ ครั้งที่ ‘นายเคาะ’ก็ต้องรีบดำเนินการและปฎิเสธไม่ได้เด็ดขาด
“วิธีนี้จะได้ตำรวจในสังกัดได้ง่าย กว่าในอดีตที่ต้องเอาเงินมาให้เป็นก้อน 2 ล้าน 5 ล้านหรือ10 ล้านขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่จะนั่ง แต่เดี๋ยวนี้ไปนั่งก่อนจ่ายทีหลัง แต่จ่ายหนักกว่าในอดีต”
เมื่อมองย้อนดูวัฒนธรรมตำรวจที่ว่า ‘ลูกน้องเลี้ยงนาย’ ก็ยังปรากฏให้เห็นจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งแม้ว่าการทลายอาณาจักรสอบสวนกลางครั้งนี้ ก็อาจจะทำให้ขบวนการเก็บ ‘ส่วย’ ซบเซาลงไปชั่วระยะหนึ่งเท่านั้น แต่เมื่อการจัดระเบียบลงตัวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขบวนการเก็บส่วยก็จะฟื้นคืนชีพและอาจมารุนแรงหรือหนักกว่าเดิมก็เป็นได้
และคงปฏิเสธไม่ได้ว่านับแต่สมัยที่พลตำรวจเอกพจน์ บุณยะจินดา เป็นอธิบดีกรมตำรวจ ได้กล่าวถึงการล้างบาง ถอนรากถอนโคนระบบ “ส่วย” ให้สิ้นซาก รวมทั้งนโยบายหลักของผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติทุกยุค ทุกสมัย ก็ประกาศจะปราบส่วย ในที่สุดก็ยังไม่มีใครสามารถจัดการกับเรื่องนี้ได้ เพราะขบวนการนี้ไม่ธรรมดา มีความซับซ้อน ทุกครั้งที่มีการตรวจสอบ มักจะสาวไส้ไปถึงผู้บงการซึ่งเป็นนายตำรวจระดับสูงที่เข้าไปมีส่วนพัวพันทั้งสิ้น
ยิ่งไปกว่านั้นในทุกธุรกิจ ก็พร้อมจะเอื้อประโยชน์ต่างตอบแทนกับตำรวจ แลกกับการเลี่ยงกฎหมาย ‘ส่วย’จึงกลายเป็นวงจรอุบาทว์ ที่จะอยู่คู่กับสังคมไทยตลอดไป