ขบวนการหมิ่นสถาบันยิ่งเหิมเกริมหนัก เข้าไปป่วนในเฟซบุ๊กส่วนตัวมากขึ้น ทหารชี้ พวกนี้เริ่มป่วนอีกครั้งหลังการรวบตัวในงานพิธีศพ พ.อ.อภินันท์ วิริยะชัย ผนวกกับรัฐไม่สามารถจัดการ 'ตัวพ่อ' ที่หนีไปกบดานต่างประเทศแถมมีเงินทุนมหาศาลหนุนได้ มั่นใจหลังนโยบาย “ดิจิตอล อีโคโนมี” ของบิ๊กตู่ สัมฤทธิผล จะปราบได้ง่ายขึ้น ด้านเลขานุการสมาคมความมั่นคง TISA เตือน 'บิ๊กตู่'เร่งเจรจากับเฟซบุ๊ก ก่อนจะกลายเป็นวิกฤตในอนาคต แจงพวกเสพสื่ออินเทอร์เน็ตมาก ๆ เปลี่ยนขาวเป็นดำได้ทันที พร้อมปรับทัศนคติเยาวชนรุ่นใหม่ รักเทิดทูนสถาบันและร่วมปกป้องสัญลักษณ์แห่งความดีนี้ไว้ !
การท่องโลกออนไลน์ในเฟซบุ๊กของเราขณะนี้ หลายๆ คนอาจจะเจอสิ่งที่พวกเราคนไทยทุกคนไม่ปรารถนาจากขบวนการหมิ่นสถาบันเข้ามาป่วนด้วยการแทรกเข้ามาในหน้าเพจที่เรากำลังออนไลน์อยู่ ซึ่งทำให้คนที่ไม่รู้หรือไม่ตั้งใจ คลิกเข้าไปอ่านข้อความต่างๆ ที่มีเจตนาสร้างความเข้าใจผิดในเรื่องสถาบัน จนผู้อ่านรู้สึกเสียอารมณ์และรีบติดต่อแจ้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ดำเนินการจัดการกับขบวนการเหล่านี้
“พวกนี้มันเหิมเกริมมาก เรากำลังเล่นเฟซบุ๊กอยู่ มันขึ้นข้อความหมิ่นสถาบันแทรกเข้ามาทันที ไม่เข้าใจทำไมรัฐบาลถึงจัดการคนพวกนี้ไม่ได้ เราได้ร้องเรียนไปที่นี้ ก็ไม่รู้ว่าจะได้เรื่องหรือเปล่า” ผู้บริหารระดับกลางบริษัทมือถือแห่งหนึ่ง เล่าให้ฟังด้วยน้ำเสียงโกรธ ไม่พอใจข้อความที่โจมตีสถาบัน
ขณะที่อีกรายหนึ่งซึ่งกำลังออนไลน์บนเฟซบุ๊กกับเพื่อนๆ เมื่อมีข้อความหมิ่นสถาบันแทรกเข้ามาแต่ด้วยที่เขาเป็นคนที่มีความรู้เรื่องไอทีพอสมควร จึงจัดการขบวนการที่แทรกเข้ามาได้
“ มันผุดเข้ามา เราก็ถีบมันออกไป ต้องสู้กับมันไม่ให้มันมาใช้เฟซบุ๊กของเราได้”
โดยก่อนหน้านี้ขบวนการหมิ่นสถาบันจะใช้วิธีการเดินสายสร้างเครือข่าย จัดงานอีเวนต์ ปราศรัยบนเวทีเสื้อแดง จัดรายการตามสถานีวิทยุออนไลน์ สร้างเว็บเพจที่มีข้อความจาบจ้วงสถาบัน มาเป็นการเคลื่อนไหวในเชิงรุกผ่านโลกออนไลน์ ที่สามารถเข้าถึงทุกคนได้ในทุกเวลาและทุกพื้นที่
อย่างไรก็ดีขบวนการหมิ่นสถาบันแม้จะเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง แต่ดูจะสงบลงไปบ้างหลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ายึดอำนาจ โดยได้มีการสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และสำนักงานอัยการสูงสุด ติดต่อประสานงานเพื่อดำเนินการกับตัวการใหญ่ที่มีการเคลื่อนไหว ซึ่งบางคนก็มารายงานตัวแต่บางคนยังเชื่อและฝังหัวกับอุดมการณ์ของตัวเองก็เลือกใช้วิธีการหลบหนีไปกบดานในต่างประเทศจนทุกวันนี้
ผุดหน่วยงานรับดิจิตอล อีโคโนมี ปราบพวกหมิ่น?
แหล่งข่าวจากกองทัพ บอกกับSpecial Scoop ว่าในยุคของรัฐบาลคสช. พวกหมิ่นสถาบันมีหลายคนที่โดนกวาดล้าง จับกุมซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นตัวเล็ก ๆ ที่ซึมซับความคิดหมิ่นมาจากรุ่นใหญ่แต่ด้วยความที่เชี่ยวชาญในเทคโนโลยีอยู่แล้ว จึงเข้าไปใช้โลกออนไลน์เผยแพร่ทั้งสื่ออินเทอร์เน็ตและสถานีวิทยุออนไลน์ แต่บรรดาแกนนำตัวพ่อต่างพากันหนีไปกบดานต่างประเทศ ทั้งนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ นายจักรภพ เพ็ญแข นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง ล้วนเป็นตัวการใหญ่ที่มีความคิด ความเชื่อของตัวเองและเป็นมันสมองสำคัญที่จะผลักดันให้ขบวนการหมิ่นสถาบันเดินหน้าไป
“ตัวพ่อพวกนี้ เป็นมันสมอง แถมมีเงินจำนวนมหาศาลเข้าไปสนับสนุนกับเรื่องหมิ่นสถาบัน”
ขณะเดียวกันการที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ไม่สามารถนำบรรดา 'ตัวพ่อ'ซึ่งเป็นโต้โผใหญ่มาดำเนินการได้ทั้งในเรื่องการปรับทัศนคติ ความคิด ความเข้าใจ และดำเนินคดีได้ ก็อาจเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้พวกหมิ่นสถาบันได้กลับมาเคลื่อนไหวและเหิมเกริมขึ้นมากในช่วงนี้
“การกลับมาเหิมเกริมของพวกนี้ เกิดขึ้นมาพร้อมๆกับขบวนการคลื่นใต้น้ำและสถานการณ์การรวมตัวของคนเสื้อแดงที่วัดบางไผ่ นนทบุรี ที่มาร่วมพิธีศพของพ.อ.อภินันท์ วิริยะชัย แกนนำเสื้อแดงและแกนนำพรรคเพื่อไทย ซึ่งตรงนั้นเป็นจุดเริ่มต้นของการเคลื่อนไหวในรอบใหม่ โดยอาศัยจังหวะที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กำลังเร่งดำเนินการเพื่อบริหารงานด้านต่างๆเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายและนโยบายที่ได้กล่าวไว้”
แหล่งข่าวจากกองทัพ ย้ำว่า สิ่งที่น่าติดตามจากนี้ไป คือ การปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่าง กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จะเกียร์ว่างปล่อยให้เรื่องนี้กลับมาเป็นเหมือนรัฐบาลในยุคที่ผ่านมาหรือไม่
“ กระทวงไอซีทีดูเหมือนจะไม่มีอำนาจที่จะดำเนินการเรื่องนี้โดยตรง แต่เชื่อว่าสถานการณ์น่าจะดีขึ้นในเร็วๆนี้ เพราะหลังจากนโยบายดิจิตอล อีโคโนมี อาจจะมีการตั้งหน่วยงานขึ้นมารองรับการปฏิบัติงานที่ดูแลความผิดที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศโดยตรง ”
สำหรับนโยบายในการจัดตั้งดิจิตอล อีโคโนมี จะมีแผนงาน 5 ด้าน หลักๆแล้วครอบคลุมตั้งแต่การสร้างเครือข่ายอินเทอร์เน็ตให้มีความเสถียร การสร้างความเชื่อมั่นในการใช้งานระบบการทำธุรกรรมออนไลน์อย่างปลอดภัย มีระบบและกระบวนการจัดการเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ที่กฎหมายรองรับ เวลาฟ้องร้องที่ศาล แล้วศาลต้องรับฟ้อง และมีทีมดูแลเรื่องความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ ให้กับระบบที่ใช้ในการทำธุรกิจและในหน่วยงานที่สำคัญของประเทศ ซึ่งเรื่องนี้ได้มอบหมายให้ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สพธอ. เป็นหน่วยงานที่ดูแลด้านนี้โดยตรง
ห้ามใช้ไม้แข็งกับขบวนการหมิ่นเจ้า
ด้านแหล่งข่าวจากหน่วยงานความมั่นคง บอกว่า จากการที่ต้องทำงานประสานกับหน่วยงานคดีทางเทคโนโลยีและมีการปรึกษาหารือกับผู้บังคับบัญชาระดับสูงในหน่วยงานดังกล่าวทำให้เข้าใจวิธีคิด และวิธีทำงาน เพราะเห็นว่าในเรื่องของมาตรา 112 ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อน จะดำเนินการใด ๆ ต้องมีความรอบคอบเพราะไม่เช่นนั้นจะยิ่งเป็นการเรียกแขก ดังนั้นหากจะใช้นโยบายในการจับหรือบล็อกสื่อโซเชียลมีเดียจึงไม่มีประโยชน์ และอาจจะเป็นนโยบายที่ผิดพลาด เพราะยิ่งโหมเชื้อไฟ และทำให้คนที่กำลังคิดจะทำเรื่องนี้ นำมาเป็นประเด็นในการขยายขอบเขตให้เรื่องใหญ่โตไปมากยิ่งขึ้น
“ หากยิ่งบล็อกจะยิ่งไปกันใหญ่ ไปเข้าทางพวกขบวนการหมิ่นนำไปขยายกลายเป็นประเด็นใหญ่ว่า ไปจำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชน”
ดังนั้นผู้บริหารหน่วยงานรัฐจึงเชื่อว่าการจะจัดการพวกที่ใช้วิธีการผุดในโลกออนไลน์จะต้องไม่ใช้ไม้แข็งเด็ดขาด เพราะคนกลุ่มนี้บางคนยังสามารถพูดคุยให้เปลี่ยนทัศนคติได้ เพราะหากใช้ไม้แข็งจะทำให้ขยายวงได้ง่ายจาก 1 คนจะเพิ่มเป็น 10 คนในเวลารวดเร็ว
ส่วนพวกที่สุดขั้วแบบ 100% จะไม่มีการพูดคุยแต่ประการใด แต่จะต้องเฝ้าระวังคนกลุ่มนี้อย่างใกล้ชิดไม่ให้ไปใช้สื่อในการกระจายความคิดนี้อีกต่อไป
“การจัดการพวกหมิ่น ไม่จำเป็นต้องแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ เพราะยิ่งเป็นการเติมเชื้อไฟให้ปะทุง่ายขึ้น แต่เราต้องใช้วิธีการสืบว่าคนพวกนี้เป็นใครและเรียกมาคุย สร้างทัศนคติใหม่แบบที่เห็น คสช.ใช้ตอนยึดอำนาจ”
ขณะเดียวกันรัฐบาลต้องเร่งปรับทัศนคติ สร้างความเข้าใจต่อเยาวชนคนรุ่นใหม่ในเรื่องของสถาบันในทางที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ในเชิงจิตวิทยา โดยจะต้องไม่บล็อกหรือปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น แต่จะเป็นการสร้างและปรับความเข้าใจเป็นหลัก
“ขอให้เชื่อมั่นหน่วยงานทางด้านความมั่นคง สำนักข่าวกรองเองไม่ได้นิ่งนอนใจ ซึ่งทหารรักและเทิดทูนพระมหากษัตริย์มาก อาจดำเนินการอย่างเงียบๆอยู่”
ที่สำคัญรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ มีนโยบายดิจิตอล อีโคโนมี ก็อาจจะมีการดึงหน่วยงานขึ้นมาดูแลรับผิดชอบเรื่องความผิดที่อยู่ในโลกดิจิตอลโดยตรง ซึ่งมีขอบเขตครอบคลุมไปถึงการกระทำการใดๆก็ตาม ที่อยู่ในโลกโซเชียลมีเดีย แต่คงไม่ถึงขั้นตั้งหน่วยงานที่ดูแลปราบปรามเรื่องหมิ่นสถาบันตรงๆ เพราะเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนเกินไป
รับมือเสื้อแดงยุค Social Propaganda
อย่างไรก็ดีการเคลื่อนไหวของขบวนการหมิ่นเจ้าที่กำลังฮึกเหิมในเฟซบุ๊ก ยูทูบ และเว็บไซต์ต่างๆ นั้น อาจารย์ปริญญา หอมอเนก และผู้ก่อตั้ง ACIS Professional Center และเลขานุการสมาคมความมั่นคงปลอดภัยระบบสารสนเทศ TISA ได้อธิบายให้เห็นถึงรูปแบบการทำงานของขบวนการหมิ่นเจ้าที่อยู่ในโลกไซเบอร์ว่า กลุ่มนี้ยังคงใช้รูปแบบการทำงานเป็นเหมือนที่ผ่านมา แต่สิ่งที่แตกต่างในวันนี้ คือรูปแบบของการนำเสนอผ่านเฟซบุ๊กนั้น อาจจะมีการสื่อโฆษณา ทำโปรโมชันมีเงินมีงบมากขึ้น
ส่วนการใช้สถานีวิทยุออนไลน์ ซึ่งมีวิทยุเสื้อแดงหลายราย ใช้โปรแกรม TuneIn Radio ที่ออกอากาศทั้งในเมืองไทยและจากต่างประเทศ ใช้โปรแกรมนี้ทั้งหมดเลย ซึ่งเป็นเรื่องน่ากลัวมาก เพราะสามารถออกอากาศกระจายเสียงได้ทั่วโลก และจัดรายการได้ในทุกสถานที่ และทุกเวลา บางครั้งอาจจะบอกว่าจัดรายการจากต่างประเทศแต่อันที่จริงแล้ว ใช้เซิร์ฟเวอร์หรือระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์จากต่างประเทศ แต่ตัวคนจัดรายการอยู่เมืองไทยหรือที่ไหนในโลกนี้ก็ได้
“นับว่าเป็นยุคที่น่ากลัวมากๆ โดยเฉพาะคนสมัยนี้หากเสพสื่ออินเทอร์เน็ตมากๆ ทำให้เปลี่ยนความคิดได้ หรือคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดเทาๆ ยังไม่ชัดเจน ก็ใช้วิธีการ Social Propaganda หรือ Cyber Bullying ที่สามารถโน้มน้าวจิตใจคนได้ เปลี่ยนจากขาวเป็นดำ จากชั่วเป็นดี”
ดังนั้นการที่รัฐบาลจะจัดการกับขบวนการหมิ่นสถาบันเหล่านี้ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในเรื่องเทคโนโลยีชั้นสูง จึงเป็นเรื่องที่จะกระทำได้ยากมาก!
อาจารย์ปริญญา ย้ำว่า ในความเห็นส่วนตัวในฐานะที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี มองว่าการหาทางออกเพื่อให้บ้านเมืองอยู่ได้อย่างสงบสุข เพราะสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นเป็นการต่อสู้ระหว่างความคิดของคน 2 ยุคที่มีความคิดต่างกัน รัฐบาลจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งจะต้องสร้างความเข้าใจว่าทำไมประเทศไทยและคนไทยต้องมีสถาบันพระมหากษัตริย์และทำไมคนไทยจะต้องลุกขึ้นมาปกป้องสถาบันที่คนไทยรักยิ่ง
“ประเทศไทยเรามีประวัติศาสตร์อันยาวนานเรามีสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่คู่กับประชาชนมานาน ซึ่งเราต้องปกป้องสัญลักษณ์แห่งความดีนี้ไว้”
แนะรัฐถกเจ้าของโซเชียลมีเดีย
นอกจากนี้จากสถิติตัวเลขคนเล่นเฟซบุ๊ก 30 ล้านคน อินเทอร์เน็ตจำนวน 26ล้านคน……. และโทรศัพท์มือถือ 94 ล้านเลขหมาย ตลอดจน โซเชียลฯต่างๆ เช่น ไลน์ที่มีคนไทยลงทะเบียนใช้งานกว่า 33 ล้านบัญชี ส่งผลให้พฤติกรรมการรับสื่อเปลี่ยนไปด้วยการรับสารทั้งการดูทีวี วิทยุ สิ่งพิมพ์ ทุกอย่างอยู่บนโทรศัพท์มือถือ ดังนั้นขบวนการหมิ่นจึงสามารถใช้สื่อตัวนี้มาเป็นเครื่องมือในการแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว
อาจารย์ปริญญา บอกว่า นโยบายของโปรแกรมดังๆ ที่คนไทยนิยมใช้อย่าง กูเกิล เฟซบุ๊ก ยูทูบ ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องหมิ่นสถาบัน ที่น่ากลัวคือนโยบายล่าสุดของเฟซบุ๊กที่ต้องการขยายธุรกิจ เพื่อเพิ่มจำนวนให้คนใช้เฟซบุ๊กให้มากขึ้น โดยนำจุดเด่นเรื่องความเป็นส่วนตัวมาใช้ในระบบ โดยจับมือกับ TOR Network (The Onion Router) ซึ่งเป็นเน็ตเวิร์กที่พวกมาเฟีย ขบวนการค้ายาใช้เป็นเครื่องมือในการติดต่อสื่อสารกัน และนั่นหมายความว่า จะทำให้คนเล่นเฟซบุ๊กสามารถอำพรางตัว โดยปิดบังข้อมูลตัวตนของตัวเองแบบมิดชิด แบบที่ว่าไม่ให้รู้ว่าเป็นใคร และไม่รู้ว่าคนเล่นอยู่ที่ไหนเลย
อีกทั้งนโยบายนี้อาจจะขัดต่อลักษณะขนบประเพณีของแต่ละประเทศ โดยเฉพาะการเปิดใช้งานในประเทศไทยที่เฟซบุ๊กมีนโยบายร่วมมือกับรัฐเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติด หรือการสร้างเว็บโป๊เท่านั้นที่จะเปิดทางให้รัฐเข้าไปดูข้อมูลได้
ดังนั้นน่าจะมีการตกลงให้มีการดำเนินธุรกิจที่เหมาะสมสอดคล้องกับกฎเกณฑ์ ที่ภาครัฐสามารถควบคุมได้ ซึ่งเจ้าของโปรแกรมเหล่านี้จะยึดบริการของลูกค้าเป็นหลัก และถ้าหากว่ารัฐจะละเมิดโดยขอดูเฟซบุ๊กหรือ G-mail ของคนที่มีพฤติกรรมน่าสงสัยนั้นไม่สามารถกระทำได้
“เรื่องนี้เป็นปัญหาที่จะอยู่ร่วมโลกกันระหว่าง People security กับ Nation security ที่ทำนายว่าจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคต ซึ่งหน่วยงานของรัฐกับบริษัทเฟซบุ๊ก จะต้องหันมาถกกัน โดยตั้งคณะทำงานเพื่อหาแนวทางที่จะทำงานร่วมกัน” อาจารย์ปริญญา ให้ความเห็น
จากนี้ไปต้องติดตามว่ามาตรการรับมือกับการเคลื่อนไหวที่อยู่ท่ามกลางนโยบายปรองดองของรัฐบาลคสช.จะจัดการอย่างไร หากพวกหมิ่นที่มีความคิดสุดขั้วต่อสถาบันยังไม่ยอมลดราวาศอก ยังเคลื่อนไหว พลิกวิธีการ ด้วยรูปแบบและเทคโนโลยีใหม่ๆที่ก้าวหน้าต่อไป!