xs
xsm
sm
md
lg

เหลือบในวงการพุทธศาสนา 3 ยุทธวิธีหาประโยชน์ในวัด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พระที่มีสมณศักดิ์ระดับเจ้าคุณ แฉ “ขบวนการต้มตุ๋นหลอกลวง” หาผลประโยชน์จากวงการพระพุทธศาสนาทั่วประเทศ มีด้วยกัน 3 ยุทธวิธี “แอบอ้าง-แอบอิง-ชิงผลประโยชน์” โดยใช้จุดอ่อนของพระสงฆ์ หรือความสนิทสนมใกล้ชิดกับพระระดับสูง มาเป็นใบเบิกทาง มีทั้งการวิ่งเต้นเลื่อนสมณศักดิ์ ใช้ที่ดินวัดมาหาผลประโยชน์พวกพ้อง หรือการแอบอิงของเจ้าอาวาสในเชิงพุทธพาณิชย์ ด้วยการทำบุญเบี่ยงเบน หารายได้จากการปล่อยโคกระบือ ตลอดจนการชิงผลประโยชน์จากทุกๆ ตารางนิ้วของวัด
“ปัญหาวงการศาสนาพุทธ” ที่กำลังเป็นข่าวครึกโครมอยู่ในโซเชียลเน็ตเวิร์กขณะนี้ ทำให้คนไทยหลายๆ คนเสื่อมศรัทธาต่อการเข้าวัดทำบุญกับพระสงฆ์ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วจุดเสื่อมที่สร้างวิกฤตศรัทธาครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก แต่กระทำกันเป็นขบวนการของบุคคลหลายๆ กลุ่มที่มาเกี่ยวโยงกัน ตั้งแต่ กลุ่มพระสงฆ์ กรรมการ และกลุ่มฆราวาส เข้ามาหากินกับวงการศาสนา และจากความโลภนี่เองที่เป็นต้นเหตุของบรรดาปัญหา พาให้มาถึงจุดเสื่อมในยุคปัจจุบัน

โดยต้นเหตุที่ทำให้พุทธศาสนาด่างพร้อยในขณะนี้เกิดจาก “จุดอ่อนของพระสงฆ์” เป็นหลัก ประกอบด้วย 1.) การขาดความรู้ 2.) ไม่กล้า หรือ ตาขาว 3.) มีความขัดข้อง มีความโลภ 4.) มีความลับกลัวถูกเปิดเผย โดยเฉพาะเรื่องราวในทางชู้สาวระหว่างพระกับสีกา หรือการที่พระรูปนั้นมีผลประโยชน์ในเรื่องเงินทองแอบแฝง 5.) ผู้ที่มาติดต่อเป็นผู้มีอุปการคุณ 6.) พระผู้ใหญ่ที่มีสมณศักดิ์สูงกว่าบีบคั้นให้ทำสิ่งที่ขัดต่อพุทธศาสนา เพราะเมื่อคนที่จะเข้ามาหาผลประโยชน์คุยกับเจ้าอาวาสของวัดนั้นไม่ได้ก็จะใช้วิธีการดึงพระผู้ใหญ่มาบีบเพื่อให้ได้ประโยชน์ตามที่พวกตนต้องการ

ปัญหาทั้ง 6 ประการจึงเป็นจุดอ่อนที่มีที่มาจากการปฏิบัติตัวของพระโดยตรง และถูกใช้เป็นช่องว่างให้กับคนที่จ้องจะแฉนำเรื่องราวเบื้องหลังที่ไม่ดีของพระมาใช้ประโยชน์หากินให้ตัวเอง โดยจะมีการสร้างอำนาจต่อรองด้วยการแบล็กเมล์ หรือขู่ว่าจะเปิดเผยข้อมูลของพระสู่สาธารณชน เรียกว่า ขบวนการนี้สามารถเรียกประโยชน์จากพระที่ติดกับดักนี้ได้อย่างมหาศาล

อย่างไรก็ดี “พระที่มีสมณศักดิ์ระดับท่านเจ้าคุณ” ของวัดชื่อดังแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ฉายภาพให้เห็นถึงเหลือบในวงการพุทธศาสนาว่า จากข้อมูลของวัดทั่วประเทศไทยทั้งหมด 3.7 แสนแห่ง (ข้อมูลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2554) มีวัดที่กลุ่มคนบาปเข้าไปทำมาหากินใน 3 รูปแบบ คือ การแอบอ้าง แอบอิง และการชิงผลประโยชน์ จะมีสัดส่วนเพียงแค่ 15% และที่เหลือ 85% เป็นวัดที่มีชื่อเสียง และยังคงไว้ซึ่งบทบาทตามหลักพุทธศาสนาที่ดีไว้ได้เป็นอย่างดี

รู้ทันทำบุญแบบ “แอบอ้าง”

ในกรณีแรกเป็นการ “แอบอ้าง” โดยคนภายนอกเข้ามาหากินเกี่ยวกับวัด อาศัยความใกล้ชิดสนิมสนมกับพระผู้ใหญ่มาเป็นใบเบิกทางในการกอบโกยผลประโยชน์ ซึ่งวงจรของการแอบอ้างลักษณะนี้ ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับวัดที่มีสถานภาพดี มี “พระผู้ใหญ่” หรือ “พระมหาเถระ” มีบทบาทเป็นที่นับถือของคณะสงฆ์ ซึ่งเมื่อได้ใกล้ชิดสนิทสนมกับพระแล้วจะมีการนำชื่อไปแอบอ้างในลักษณะต่างๆ เช่นการแอบอ้างวัดที่มีพระที่มีสมณศักดิ์ มีความขลังความศักดิ์สิทธิ์ จัดกิจกรรมที่เกี่ยวกับการบุญการกุศลในวัด หรือกิจกรรมเฉพาะหน้า ตั้งแต่งานวันเกิดท่าน งานวันพิเศษต่างๆ

กระทั่งการจัดกิจกรรมถาวรที่เป็นประเพณีของวัดใหญ่เอง ก็จะมีทั้งคนกลุ่มเล็กและกลุ่มใหญ่ที่เล็งเห็นผลประโยชน์ โดยแอบอ้างอาศัยชื่อของพระใช้ในทางที่ผิด ซึ่งในจุดที่เป็นช่องว่างนี้ทำให้มีการเข้ามาหาประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ ดังที่กล่าวมานั้น คนที่เข้ามาหาผลประโยชน์โดยใช้ความใกล้ชิดสนิทสนม และล่วงรู้ความลับของพระจึงสามารถทำได้ โดยพระก็ไม่สามารถทัดทานเพราะมีการป้องกันไว้ และหากมีการสอบสวนใดๆ ก็มีโอกาสจะโดนโต้กลับ สอบสวนไปถึงขบวนการนี้ได้

“ลักษณะนี้ถือเป็นการแอบอ้างแบบข่มขู่โดยนัย ซึ่งการแอบอ้างทั้งหมดนี้ทำโดยไม่ได้รับอนุญาตเลย และในส่วนใหญ่ทำได้ไม่มากนัก เพราะหากมีการซักถามและมีข้อมูลไม่มากพอ จะทำให้ไม่น่าเชื่อถือ หรือกรณีการสร้างวัตถุมงคลที่ไม่มีทุนมากพอ การแอบอ้างจึงทำได้ในขอบเขตไม่มากนัก” ท่านเจ้าคุณกล่าว

วิ่งเต้นจะขอสมณศักดิ์ให้!

นอกจากการแอบอ้างชื่อพระดังเพื่อหาผลประโยชน์เข้าตัวเองแล้ว ยังมีการหากินกับพระในอีกลักษณะคือ ขบวนการต้มหรือหลอกลวงเรียกรับผลประโยชน์จากแวดวงพระสงฆ์ในรูปแบบ “การหาผลประโยชน์ในเชิงสมณศักดิ์หรือบรรดาศักดิ์” ซึ่งเป็นยศพระสงฆ์ที่ประพฤติดี ประพฤติชอบ ได้รับพระราชทานยศจากพระมหากษัตริย์ โดยจะมีการติดสินบนผู้ที่มาแอบอ้างว่าเป็นคนใกล้ชิดกับพระหรือคนที่มีข้อมูลภายในก่อนการประกาศสมณศักดิ์ โดยแอบอ้างว่าเป็นคนจากในวังหรือข้าราชการที่เกี่ยวข้อง
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
ในความเป็นจริงพระสงฆ์รูปนี้อาจมีชื่อในโผบัญชีรายชื่อของพระที่จะได้เลื่อนสมณศักดิ์อยู่แล้ว แต่เมื่อข้อมูลยังไม่เปิดเผย จึงถูกผู้แอบอ้างนำไปเรียกร้องผลประโยชน์ขอสินบน เพื่อวิ่งเต้นให้พระสงฆ์ที่เป็นเหยื่อได้เลื่อนสมณศักดิ์ก็มี ซึ่งคนกลุ่มนี้เป็นคนกลุ่มเดิมๆ ที่แฝงตัวอยู่ในเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะภาค ฯลฯ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติบางคนหรือคนในวัง

แต่ในบางกรณีที่พระบางรูปอยากได้ยศ อยากได้ตำแหน่ง จากการเลื่อนและตั้งสมณศักดิ์ แต่ไม่มีสิทธิ์และไม่อยู่ในเกณฑ์พิจารณานั้นแต่มีกำลังทรัพย์ จะต้องจ่ายเงินสินบนเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ รูปแบบของขบวนการนี้จะเริ่มโดยมีการวิ่งเต้นโยงใยเพื่อให้สนิทสนมกับพระผู้ใหญ่ มีกิจกรรมการทำบุญที่วัด และมีพระผู้ใหญ่ที่มีสมณศักดิ์สูงๆ ที่พอจะเกื้อกูลได้ไปร่วมงาน ซึ่งวัตถุประสงค์การจัดกิจกรรมของวัดเพื่อเป็นการพรางตาแบบทั่วถึง ให้คนเห็นว่ามีพระผู้ใหญ่มาเยี่ยมวัด

“ลำดับการขอสมณศักดิ์อาจจะเริ่มต้นจากขอเป็นพระครูปลัดของเจ้าคุณระดับชั้นธรรมขึ้นไป พระครูปลัดระดับนี้เริ่มแพง บางทีอาจจะไม่มีตำแหน่งสำคัญๆในคณะสงฆ์ แต่ก็เริ่มมีราคา ยิ่งตำแหน่งระดับสมเด็จ ซึ่งมีผลงานและเป็นมหาเถรสมาคมด้วยจะแพงมาก เพราะขอทีเดียวบางทีปีเดียวก็ได้เป็นเจ้าคุณแล้ว โดยที่ตำแหน่งความสำคัญก็ไม่มี

แต่เมื่อวัดนี้มีเงินทอง จึงนำไปสู่การวิ่งเต้นสมณศักดิ์เกิดขึ้น แต่สุดท้ายก็คล้ายๆ กันนั่นแหละ ตำแหน่งพระครูปลัด ตามฐานานุกรมของพระระดับเจ้าคุณขึ้นไป ต้องมีเหมือนลูกน้องทำงานให้ พระครูปลัดดูแลด้านการบริหาร เหมือนมีรอง ผอ. ด้านบริหาร พระครูสมุหฯ เป็นเลขาฯ เป็นต้น ลำดับก็สูงขึ้นตามชั้นธรรมที่สูงขึ้นมา ที่ว่าแพงนั้นเป็นระดับแสนในแต่ละครั้ง ซึ่งมีกิจกรรมหลากหลาย ไม่ใช่การจ่ายคราวเดียว ในบางครั้งไม่ใช่พระอยากได้ แต่ลูกศิษย์ลงทุนกันเอง เพราะอยากให้อาจารย์มีตำแหน่ง”

ทั้งนี้ยิ่งตำแหน่ง “ระดับสมเด็จ” ซึ่งมีผลงานและเป็นมหาเถรสมาคมด้วยจะ “แพงมาก” ไม่ใช่การจ่ายครั้งเดียว และต้องมีองค์ประกอบอื่นๆ เช่นการจัดกิจกรรมเข้ามาร่วมด้วย

อย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้เป็นเหตุให้วงการพระสงฆ์เกิดภาพของ “คนมีผลงาน” แต่ไม่มีเงินก็น้อยใจ “คนมีเงิน” แต่ไม่มีตำแหน่งปกครองก็ย่ามใจ ซึ่งมีการจ่ายกันหลายตังค์ และคิดว่าจ่ายกันชั่วชีวิตของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนั่นล่ะ เพราะมันกลายเป็นความลับที่มีต่อกัน ซึ่งส่วนใหญ่ในวงการก็รู้กันว่าใครทำอะไร ซึ่งนอกจากการหาผลประโยชน์ในเชิงของการปกครองแล้ว ผลประโยชน์อื่นๆ ก็มี เช่นในเชิงคดีความ เช่นถ้าพระมีคดีก็มีผู้มาวิ่งเต้นหาผลประโยชน์ให้เรื่องมันยุติ ก็สามารถทำได้

แอบอ้างที่ดินวัด

ขณะที่วัดในเมืองที่มีทำเลโลเกชันดีๆ ถือว่าเป็นอีกช่องทางหากินของคน 4 กลุ่มที่อยู่ในขบวนการนี้ คือ 1 .กรรมการวัด 2.สมภาร 3.นายหน้าตัวกลาง 4.เจ้าของเงินทุน นำมาใช้แอบอ้างหาผลประโยชน์ในบทบาทของการเป็นนายหน้าเพื่อประสานประโยชน์เกี่ยวกับเรื่องทรัพย์สินที่ดินของวัด ซึ่งมีจำนวนหลายแปลงและสามารถนำมาใช้ประโยชน์ โดยการแอบอ้างที่ดินวัดในรูปแบบมาขอเซ้งที่ดิน เช่นเข้ามาปรึกษาว่ามีเศรษฐีมาขอสร้างอาคาร ต้องมาติดต่อกับสำนักงานพระพุทธศาสนาฯ อย่างไร และจะตอบแทนหลวงพ่ออย่างไร ซึ่งรูปแบบการเซ้งที่ดินวัดจะเป็นการทำสัญญาระยะยาวหลายๆ ปี เช่น 20 ปี หรือ 30 ปี และเมื่อครบรอบจะต่อสัญญาในแต่ละครั้งวัดก็จะมีส่วนรู้เห็นด้วย

โดยขบวนการนี้จะมีทั้งบนดินที่โปร่งใส ยุติธรรม สังคมรับรู้ แต่การจ่ายใต้ดิน ไม่มีใครทราบ เพราะว่าที่เดิมของวัดในอดีต มักจะเป็นที่บริจาค ซึ่งห่างไกลชุมชน เป็นป่า เมื่อมีวัดก็นำความเจริญเข้ามา “ชุมชนสร้างวัด วัดก็นำความเจริญ” และเมื่อชุมชนอื่นเริ่มเข้ามา สุดท้ายเมื่อวัดมีระบบสาธารณูปโภคพร้อม มีไฟฟ้าใช้ มีการตัดถนนเข้ามาราคาที่ดินก็เริ่มแพงขึ้น
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
ต่อมาก็จะมีธุรกิจจัดผลประโยชน์ที่ดินวัด ด้วยการให้เช่า การสร้างตึก การจัดตลาดนัดต่างๆ สิ่งที่น่าเป็นห่วงตรงนี้คือ การไล่ที่ชาวบ้าน ซึ่งแต่เดิมเป็นที่ชุมชน เป็นที่อยู่ของชาวบ้าน หากความเจริญเข้ามามากๆ จะมีการไล่ชาวบ้านที่อยู่เดิมในชุมชนหรือไม่ หากมีการดำเนินการโดยส่วนราชการ วัดไม่เกี่ยว ชาวบ้านจะถูกรังแก หรือไม่คนที่จะมาเซ้งที่ดินจะยอมจ่ายเพื่อแลกกับผลประโยชน์ที่ได้มา
ขณะที่ชาวบ้านที่เกื้อกูลอุดหนุนวัดมาแต่ในอดีต จะประสบชะตากรรมแบบนั้นหรือไม่ ทั้งนี้ทั้งนั้นอยู่ที่เจ้าอาวาส จะเมตตาชุมชนหรือไม่ หรือเข้มแข็งกว่ากรรมการวัดหรือไม่

ปัญหานี้เกิดขึ้นเห็นได้ทั่วไป เจ้าอาวาสที่ทนไม่ได้ลาสึกไปก็มีให้เห็น การคุกคามต่างๆ ก็มี ทั้งการแบล็กเมล์ ไปจนถึงการเอาชีวิตกรรมการวัด ซึ่งต้องมีการพิจารณาให้ดีและอย่างรอบคอบที่สุด หากได้คนไม่ดีมาก็จะเป็นอันตราย “วัดจะดีหรือไม่” ต้องขึ้นอยู่กับทั้ง “เจ้าอาวาสและกรรมการ” บางครั้งเจ้าอาวาสเป็นพระหนุ่มที่เคยเป็นเณรที่กรรมการอุปถัมภ์มา ก็ไม่สามารถขัดขืนสิ่งที่กรรมการวัดต้องการได้

จุดเสื่อมจากคนในวัดนำชื่อไป “แอบอิง”

สำหรับการหาประโยชน์กับวัดในรูปแบบ “การแอบอิง” ซึ่งในลักษณะนี้คล้ายๆ กับ “แอบอ้าง” แต่ทำได้เนียนกว่า มีทั้งอาศัยชื่อเสียงเจ้าอาวาส และ “เจ้าอาวาส” เป็นผู้หาประโยชน์โดยอิงศาสนาและวัดเป็นหลัก โดยในวิธีการจะไม่มีการวางกรอบหรือหลักการที่ชัดเจน แล้วแต่จะครีเอตกิจกรรมที่มองเห็นประโยชน์ขึ้นมาเอง และจะมีการคำนวณด้วยว่าส่วนไหนคือรายได้เข้าวัด และส่วนไหนที่เข้าประโยชน์ส่วนตัว และบริวารจะได้เท่าไหร่

กรณี “ขบวนการสร้างพระเครื่อง” โดยอาศัยวัดที่มีชื่อเสียงโด่งดังมีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ หรือการสร้างรูปหล่ออดีตเจ้าอาวาสที่มรณภาพไปแล้ว โดยสร้างขึ้นมารุ่นต่อรุ่นจนจำไม่ได้ ถือว่าเป็นตัวอย่างของการแอบอิงที่มีให้เห็นอยู่ทั่วไป ซึ่งการทำงานนี้ต้องมีเงินทุน สำหรับการโปรโมตเจ้าอาวาส โดยจะอาศัยที่ตัวเองเป็นเจ้าอาวาสแล้วจ้างสื่อมาตีข่าวประชาสัมพันธ์ตัวเอง
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
ต่อไปคือ "การจัดจ้าง" โดยเจ้าอาวาสจะติดต่อคนนอกให้ช่วยงาน และมีการพูดถึงผลประโยชน์กันในรูปแบบการจัดจ้าง หรือการแบ่งเปอร์เซ็นต์กัน เช่น หากต้องการสร้างพระเครื่องจะมีคนจากวงการพระเข้ามารับสมอ้างในการประชาสัมพันธ์ และจะมีการแบ่งผลประโยชน์ พร้อมทั้งมีการระบุด้วยว่า ต้องการแบ่งงานให้คนนอกไปทำและขาย โดยใช้วิธีปั่นราคาที่แบ่งเป็นพระเครื่องที่สร้างขึ้นมาเป็นรุ่นพิเศษ รุ่นกรรมการ รุ่นประชาชนทั่วไป

ที่น่าสนใจคือ องค์ประกอบที่ทำให้เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น และจะไม่มีการขาดทุน เพราะมีคน 2 ประเภท คือ โกง และคนที่มีความศรัทธาในการเช่าพระเครื่องไป โดยมี 3 ลักษณะ คือ 1.กลุ่มคนที่ศรัทธาแบบดั้งเดิม 2.ศรัทธาใหม่คือตามสื่อ และ 3.กลุ่มซื้อไปเก็งกำไรมีไว้เพื่อขายต่อ ซึ่งการสร้างที่มีจำนวนมากรู้จักกันในวงการพระ และการใช้สื่อประชาสัมพันธ์ทำให้ได้กำไร

หากินด้วยการ“ชิงผลประโยชน์” ในวัด

ขณะเดียวกันยังมีเหลือบอีกประเภทหนึ่งที่อาศัยแรงศรัทธาของพุทธศาสนิกชนที่เข้าไปทำบุญในวัด ในอีกรูปแบบที่ท่านเจ้าคุณเล่าให้ฟัง คือ การชิงผลประโยชน์กันเองภายในวัดดังๆ ซึ่งไม่มีพื้นที่ตรงไหนไม่มีผลประโยชน์ ถ้าหากวัดใดมีชื่อเสียงมีคนเข้ามาทำบุญมาก จะมีการหาประโยชน์มากขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะการชิงผลประโยชน์กันในรูปแบบการจัดกิจกรรม จัดงานเทรดแฟร์ขายสินค้า พร้อมเปิดให้มีการทำบุญในรูปแบบต่างๆ ทั้งทำบุญโลงศพ การปล่อยโคกระบือ

รวมถึงการชิงผลประโยชน์ด้วยการตั้งร้านค้า ขายของที่ระลึก ขายสังฆทาน ซึ่งคนที่จะเข้ามาได้ต้องมีการประมูลกันโดยมีเจ้าอาวาสและกรรมการรับเป็นแกนหลัก และจะมีการแบ่งประโยชน์ให้คนที่เกี่ยวข้องกันเป็นทอดๆ ทั้งขายสังฆทาน แผงพระเครื่อง กิฟต์ชอปของที่ระลึก สารพัดทั้งนั่งสะเดาะเคราะห์ และปล่อยปลา-ปล่อยเต่าหน้าวัด

นี่คือบุญเบี่ยงเบนที่เป็นบาป คือ เมื่ออ้างว่าจะนำเงินไปทำสิ่งนี้ แต่กลับนำเงินไปทำสิ่งอื่น เช่นการปล่อยโคกระบือ ที่ว่าจะปล่อยมัน แต่จุดประสงค์ลึกๆ ที่ตั้งมาคือ นำเงินบริจาคไปสร้างโบสถ์ สร้างศาลาขึ้นในวัด ถามว่าจำนวนเท่าใดที่นำไปทำกิจกรรมให้กับวัดจริงๆ เพราะไม่มีตัวเลขรายได้ที่ชัดเจนให้ประชาชนได้รับรู้

ท่านเจ้าคุณฯ ยังบอกเตือนพุทธศาสนิกชนที่นิยมไปทำบุญทั้งหลายว่า หากเห็นป้ายที่ติด คืนชีวิตให้โคกระบือเกลื่อนในที่ต่างๆ นั่นละน่ากลัว และให้ทุกคนที่ทำบุญจำสัญลักษณ์ในตัวโค กระบือให้ได้ เพราะไม่ว่าจะมีผู้บริจาคไปเท่าไร นานแค่ไหน เราจะสังเกตได้ว่ายังเป็นโค กระบือ ตัวเดิมนั่นเอง
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
รวมไปถึงการประกาศเชิญชวนทำบุญลูกนิมิตถ้าเรี่ยไรเงินทำบุญโดยติดป้ายข้ามเขต อยู่ต่างจังหวัดและติดข้ามเขตมาถึงกรุงเทพฯ ก็ไม่ควรที่จะเข้าไปข้องเกี่ยวหรือทำบุญ เพราะวิธีการแบบนี้เป็นการแอบอิงผลประโยชน์ให้กับกลุ่มมากกว่าที่วัดจะได้

“ถ้ามีเป็นลักษณะรถแห่ข้ามเขตจังหวัดเข้ามา ตระเวนตามตลาดสดและมีการเรี่ยไรไปทั่วๆกรุงเทพฯ หรือมีลูกนิมิตมาพรมน้ำมนต์ หรือนำซองกฐินมาเรี่ยไรตามร้านอาหาร ไม่ใช่แล้ว อันนี้เป็นขบวนการ จับได้เลย”

ท่านเจ้าคุณบอกอีกว่า คนที่มาทำบุญเพราะมีความทุกข์จนต้องอาศัยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เขาจะมีแรงอธิษฐานที่สูง บรรดาเหลือบที่นำเงินบุญที่คนเหล่านี้ไปใช้ผิดประเภทจะยิ่งได้รับกรรมมากขึ้น ซึ่งยังไม่เห็นใครมีความสุข มีทั้งเจ็บออดๆ แอดๆ เพราะไปโกงเงินบุญ ขณะที่คนทำบุญนั้นมีความสุขได้บุญไปแล้ว

ทำบุญอย่างไรได้บุญเต็มๆ

อย่างไรก็ดี การที่ท่านเจ้าคุณฯ เปิดเผยวิธีการหาผลประโยชน์ของเหลือบในวงการพระพุทธศาสนานั้น ไม่ได้ต้องการให้ประชาชนเสื่อมต่อพระพุทธศาสนา แต่ต้องการให้ประชาชนที่นิยมทำบุญ ได้รับบุญจริงๆ และบรรดาเหลือบทั้งพระผู้ใหญ่ เจ้าอาวาส พระสงฆ์ กรรมการวัด บรรดานายหน้าวิ่งเต้น ได้คิดและถอยจากการกอบโกยโกงกินที่เป็นบาป กำจัดสิ่งเหล่านี้ออกไปให้ได้

ส่วนประชาชนที่ชอบทำบุญ ก็ต้องทำอย่างมีสติ ด้วยการวิเคราะห์ก่อนว่าสถานที่หรือวัดที่จะไปทำบุญเป็นอย่างไร พระในวัดเป็นอย่างไร รายได้จากการทำบุญได้ใช้ถูกวัตถุประสงค์ต่อวัดหรือไม่ ซึ่งการที่คนเราจะไปทำบุญนั้น จะต้องยึดหลัก “วิเจยยะ ทานัง” หมายถึงต้องมีการวิเคราะห์ถึงสถานที่ทำบุญ บุคคลที่จะรับบุญเรา เงินทองที่เรานำไปทำบุญได้ประโยชน์อะไรกับใคร และการทำบุญที่เคยทำกันมานั้น เกิดผลตามที่กล่าวกันมาหรือไม่ เช่นเดียวกับการสร้างพระที่ว่าจะนำเงินไปทำโน่นนี่ เคยมีบัญชีแสดงชัดเจนหรือไม่ เป็นต้น

ดังนั้น พุทธศาสนิกชนที่ต้องการทำบุญจะต้องไม่ยอมให้เหลือบเหล่านี้มาอาศัยผ้าเหลืองหรือจัดกิจกรรมบังหน้าเพื่อเบียดบังพุทธศาสนาให้มัวหมองอีกต่อไป

กำลังโหลดความคิดเห็น