xs
xsm
sm
md
lg

ยุทธวิธีคนมีสีเด็ดหัวแกนนำ-”สุเทพ”เป้าต่อไป!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การเมืองงวดเข้าทุกขณะ ใครขวางเลือกตั้งเจอปฏิบัติการเก็บแกนนำ กรณีวัดศรีเอี่ยมส่งสัญญาณเตือนแกนนำอย่าง สุเทพ เทือกสุบรรณ ที่มีสิทธิถูกสอยได้ตลอดเวลา คนในวงการเห็นต่างคนลงมือเป็นทั้งมืออาชีพและมือธรรมดา แต่ต้องเป็นทีมของคนมีสีแน่นอน เป้าต่อไปเป็นแกนนำระดับสูงขึ้น ส่วนลงมือเมื่อไหร่ขึ้นกับสถานการณ์และจังหวะเวลาที่เหมาะสม เป็นเหตุสุเทพปรับแผนไม่เคลื่อนวันเลือกตั้ง

ตลอดระยะเวลา 3 เดือนที่นักการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์อย่างนายสุเทพ เทือกสุบรรณ กระโดดลงมาบนถนนเพื่อต่อสู้กับรัฐบาลพรรคเพื่อไทย อันเนื่องมาจากการต่อสู้ผ่านระบบรัฐสภาไม่มีทางที่จะเอาชนะพรรคเพื่อไทยได้ โดยเฉพาะการคัดค้านร่างกฎหมายต่างๆ ที่พรรคเพื่อไทยแก้กฎหมายหลายฉบับเพื่อเอื้ออำนวยให้การกลับมาของพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร กลับมาประเทศไทยได้อย่างไร้มลทิน ด้วยจำนวนเสียงที่น้อยกว่าเมื่อลงมติครั้งใดพรรคเพื่อไทยก็ชนะทุกครั้ง

จากเวทีที่สามเสนเมื่อ 31 ตุลาคม 2556 จนถึงปัจจุบัน การต่อสู้กับรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวทักษิณ ยังไม่บรรลุผล แม้จะมีการยุบสภาเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2556 แต่ก็ยังเป็นรัฐบาลรักษาการและเดินหน้าเข้าสู่การเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์นี้

เวทีชุมนุมที่เคลื่อนย้ายมาที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีประชาชนเข้ามาร่วมเป็นจำนวนมาก การนัดชุมนุมใหญ่แต่ละครั้งสามารถระดมคนมาแสดงพลังได้นับล้านคน

นับเป็นเรื่องปกติที่ระหว่างการชุมนุมในแต่ละวัน มักจะมีกลุ่มคนที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามเข้ามาปฏิบัติการป่วนการชุมนุมอยู่เสมอ ครั้งนี้ก็เช่นกันมีการเข้ามาสร้างความวุ่นวายอยู่บ้างบริเวณด้านนอกของเวทีชุมนุม

ระดับความรุนแรงที่ฝ่ายผู้ชุมนุมถูกกระทำมีทั้งบาดเจ็บและเสียชีวิต แม้จะมีการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับผู้ชุมนุมที่บริเวณทำเนียบรัฐบาลและที่หน้ากองบัญชาการตำรวจนครบาลในช่วงปลายปี แต่ครั้งนั้นก็ไม่มีผู้เสียชีวิต

แต่ในวันที่ 26 ธันวาคม 2556 เหตุการณ์ที่บริเวณสนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง กลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) ได้ปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 รายคือ นายวสุ สุฉันทบุตร อีกรายเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจคือดาบตำรวจณรงค์ ปิติสิทธิ์ ทั้งสองถูกยิงด้วยอาวุธปืน
นายวสุ สุฉันทบุตร
พร้อมด้วยปริศนาชายชุดดำบนอาคารของกระทรวงแรงงานที่ปฏิบัติการต่อผู้ชุมนุม แม้ภายหลังพลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จะออกมายอมรับว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่สังคมก็ยังคลางแคลงใจเกรงว่าอาจเป็นชายชุดดำที่เคยเข้ามาปฏิบัติการช่วยเหลือคนเสื้อแดงสังหารทหารที่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่เมื่อปี 2553

พร้อมกับอาการเกรี้ยวกราดจากเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบที่ออกมาทุบทำลายทรัพย์สินของประชาชน แม้กระทั่งรถยนต์ของอาสาพยาบาลที่ยังอยู่ในรถยนต์ ภาพวันนั้นยิ่งทำให้ทัศนคติของประชาชนที่มีต่อตำรวจที่รับใช้ระบอบทักษิณยิ่งแย่ลงไปจากเดิมอีกหลายเท่า

ถัดมาในวันที่ 28 ธันวาคม 2556 มีกลุ่มคนใช้อาวุธปืน M16 มายิงการ์ดกลุ่ม คปท. ที่บริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ ทำให้นายยุทธนา องอาจ เสียชีวิต
นายยุทธนา องอาจ
หลังจากนั้นตำรวจมีการแสดงพลังปกป้องศักดิ์ศรี เมื่อ 30 ธันวาคม 2556 และอีกหลายแห่งในวันต่อมา โดยระบุว่าที่ผ่านมาถูกดูหมิ่นศักดิ์ศรีจากฝ่ายผู้ชุมนุม นับเป็นการปลุกพลังของตำรวจให้ลุกขึ้นมาให้มีทัศนคติด้านลบต่อผู้ชุมนุม

ปฏิบัติการใต้ดิน

จากวันนั้นเป็นต้นมาจึงยังไม่เห็นการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบอีก การเคลื่อนมวลชนไปกดดันตามสถานที่ราชการต่างๆ ทำได้อย่างเสรี ในระหว่างนั้นได้เกิดกลุ่มคนเสื้อขาวขึ้นมาโดยรณรงค์ไม่อยากเห็นความรุนแรง และสนับสนุนให้ไปเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ จนแกนนำเสื้อแดงเองต่างก็หันไปสวมเสื้อสีขาว เลิกใส่เสื้อสีแดง โดดร่วมขบวนกับกลุ่มนี้ไปทันที โดยที่แกนนำของกลุ่มนี้ล้วนเคยร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดงและบางท่านก็เป็นนักวิชาการที่อยู่ในเครือข่ายของกลุ่มนิติราษฎร์ ที่แปลงร่างมาเป็นสมัชชาปกป้องประชาธิปไตย

ปฏิบัติการป่วนตามเวทีการชุมนุมของ กปปส.ในหลายเวที ทั้งโยนระเบิดปิงปอง ประทัดยักษ์และใช้อาวุธปืนยิงเวทีชุมนุมเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทุกอย่างสะดวก แม้จะมีด่านตำรวจตั้งบริเวณรอบเวทีชุมนุม แต่ไม่สามารถจับตัวผู้กระทำผิดได้

ระดับของความรุนแรงเพิ่มขึ้นเมื่อ 17 มกราคม 2557 มีคนร้ายปาระเบิดสังหาร RGD 5 ในขบวนของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ บริเวณถนนบรรทัดทอง ทำให้นายประคอง ชูจันทร์ ถูกสะเก็ดระเบิดเสียชีวิต ถัดมา 19 มกราคมคนร้ายขว้างระเบิดชนิดเดียวกันที่เวทีการชุมนุมอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ครั้งนี้มีภาพวงจรปิดชัดเจน ตำรวจยังไม่สามารถจับตัวคนร้ายได้ และยังมีปฏิบัติการป่วนเวทีของเครือข่ายนักศึกษาประชาชนฯ (คปท.) ที่ถือเป็นแนวหน้าอย่างต่อเนื่อง
นายประคอง ชูจันทร์
มีข้อสังเกตว่าเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นกับกลุ่มผู้ชุมนุมเริ่มมากขึ้นนับตั้งแต่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส. ได้ประกาศจับตัวนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อค่ำวันที่ 13 มกราคม 2557 จากนั้นความรุนแรงจึงเพิ่มขึ้นมาตามลำดับ

แม้จะไม่พบหลักฐานว่าบุคคลที่เข้ามาก่อกวนเหล่านี้เป็นฝีมือของรัฐบาล แต่เป็นที่ทราบกันดีว่าคนที่เข้ามาปฏิบัติการเหล่านี้อยู่ในฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาล เมื่อการเข้ามาลอบทำร้ายผู้ชุมนุมเริ่มถี่ขึ้น ทุกอย่างจึงเข้าทางรัฐบาลจากการประกาศใช้พระราชบัญญัติความมั่นคงขยับเข้าสู่พระราชกำหนดฉุกเฉิน เมื่อ 22 มกราคม 2557 นับเป็นการติดอาวุธจริงให้กับเจ้าหน้าที่ ซึ่งรัฐบาลได้ใช้กำลังตำรวจเป็นเครื่องมือหลัก พร้อมๆ กับกระแสข่าวว่ามีการนำเอากองกำลังจากประเทศกัมพูชาเข้ามาร่วมปฏิบัติการกับรัฐบาลในครั้งนี้

เริ่มเก็บแกนนำ

ล่วงเลยจนถึงการเลือกตั้งล่วงหน้าเมื่อ 26 มกราคม 2557 ที่รัฐบาลก็ทราบอยู่แล้วว่ามวลชน กปปส. ต้องหาทางสกัดกั้น เพื่อให้มีการปฏิรูปประเทศไทยก่อนการเลือกตั้ง แต่รัฐบาลยังคงเดินหน้าต่อ จนเกิดเหตุการณ์เลวร้ายเกิดขึ้น เมื่อนายสุทิน ธราทิน แกนนำกลุ่มกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.) ถูกยิงเสียชีวิตขณะอยู่บนรถกระจายเสียงที่นำมวลชนไปคัดค้านการเลือกตั้งล่วงหน้าที่เขตบางนา หน้าวัดศรีเอี่ยม
การสังหารนายสุทิน ธราทิน
พื้นที่ดังกล่าวมีมวลชนที่สนับสนุนรัฐบาลที่ไม่ได้สวมเสื้อแดงเข้ามาทำร้ายมวลชนที่ไปคัดค้านการเลือกตั้งล่วงหน้า โดยปราศจากเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะเข้ามาหยุดยั้งสถานการณ์ จนเกิดเหตุการณ์การสังหารอย่างอุกอาจ

ผลการชันสูตรพบว่า นายสุทินเสียชีวิตจากการถูกยิง 2 นัด โดยถูกยิงมาจากทั้ง 2 ข้างของตัวรถในระยะที่ใกล้มาก แผลเฉียงจนเกือบเป็นแนวดิ่ง เป็นการยิงในลักษณะจากล่างขึ้นบน กระสุนเข้าจากขวาไปซ้าย กระสุนนัดแรกที่ยิงถูกนายสุทิน ยิงเข้าที่รักแร้ด้านขวาทะลุอกด้านซ้าย ส่วนนัดที่ 2 ยิงเข้าที่ลำคอด้านขวาทะลุศีรษะบนซ้าย ทำลายเส้นเลือดใหญ่และสมองเป็นเหตุให้เสียชีวิต และในร่างกายไม่พบกระสุนตกค้างอยู่ จึงยังไม่สามารถระบุได้ว่าถูกยิงด้วยปืนชนิดใด

ปฏิบัติการสังหารแกนนำการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลกลายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่กรณีของนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อช่วงเช้ามืดของวันที่ 17 เมษายน 2552 ได้รับบาดเจ็บ

ในการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่มีต่อรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จากพรรคประชาธิปัตย์ ครั้งนั้นกลุ่มคนเสื้อแดงได้ปฏิบัติการโจมตีทหารและเป็นเหตุให้พันเอกร่มเกล้า ธุวธรรม เสียชีวิต เมื่อ 10 เมษายน 2553

จากนั้นมีการลอบยิงพลตรีขัตติยะ สวัสดิผล เมื่อ 13 พฤษภาคม 2553 ขณะกำลังให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนต่างประเทศบริเวณแยกศาลาแดง ภายหลังปฏิบัติการกระชับพื้นที่ของรัฐบาล บริเวณทางขึ้นลงรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT สถานีสีลม ฝั่งสวนลุมพินี บริเวณแยกศาลาแดง เมื่อเวลาประมาณ 19.20 น. เป็นการยิงมุมสูงเข้าที่ศีรษะท้ายทอยด้านขวาและทะลุท้ายทอยด้านซ้าย

มีหลายทีม-เป็นคนมีสี

แหล่งข่าวจากวงการตำรวจประเมินว่า ภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองที่เป็นอยู่ในเวลานี้มีความเป็นไปได้ที่อาจจะเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ขึ้นได้อีก เนื่องจากทุกอย่างถูกลากให้เข้าสู่การเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ อาจจะมีผู้ชุมนุมเพื่อคัดค้านก็จะเข้าทางกลุ่มที่จ้องเล่นงาน

กลุ่มที่ปฏิบัติการในลักษณะนี้ได้ประกอบด้วย กลุ่มแรกเป็นพวกที่ไปกดดันบ้านแกนนำ อย่างเช่นบ้านอดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ ท่านชวน บ้านสาทิตย์ วงศ์หนองเตย หรือบ้านผู้ว่าฯ สุขุมพันธุ์ และยังมีกลุ่มอื่นที่เข้าไปก่อกวนตามที่ต่างๆ อีกกลุ่มหนึ่งในพื้นที่ชุมนุม

ส่วนกรณีของคุณสุทินเท่าที่ดูจากภาพน่าจะไม่ใช่มืออาชีพ อาจเป็นเพียงมือปืนธรรมดา แต่เป็นพวกใจถึงมีการฝึกฝนด้านอาวุธมาในระดับหนึ่ง คนเหล่านี้จะต้องมีคนมีสีเข้ามาคุมอีกทีหนึ่ง และปฏิบัติการทุกอย่างจะต้องเป็นไปตามคำสั่งที่ได้รับมอบหมายมา

เขากล่าวต่อไปว่า คนที่เข้ามาทำงานในลักษณะนี้ เป็นไปได้ทั้งส่วนที่เป็นกลุ่มคนเสื้อแดงที่ได้รับการฝึกอาวุธมา หรืออาจจะเป็นทีมงานของคนมีสี แต่คงไม่ใช่ทีมที่มาจากหน่วยปฏิบัติการพิเศษใดๆ เนื่องจากการลงมือนั้นต้องกระทำหลายครั้ง แตกต่างจากทีมปฏิบัติการพิเศษที่ลงมือครั้งเดียวต้องปิดเกมให้ได้

ส่วนการที่จะดำเนินการกับแกนนำในระดับที่สูงขึ้นไปนั้น คงต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ทั้งเงื่อนไข สถานที่ และเวลาที่เอื้ออำนวย ทีมที่จะลงมือนั้นก็ขึ้นอยู่กับคนสั่งการว่าจะเลือกใช้ทีมใด หรืออาจเลือกใช้ทีมที่มาจากต่างประเทศตามที่เป็นข่าวก็ได้ โดยอาจวางรูปแบบทั้งการจับกุมตัวหรือเน้นไปที่การจ้องเอาชีวิต หากเน้นการจับกุมตัวก็ต้องใช้ทีมในประเทศเพราะต้องฝ่าผู้ชุมนุมเข้าไป

ยิงหัวน่าจะมืออาชีพ

ขณะที่ฝ่ายความมั่นคงอีกรายกลับมองว่า ทีมที่ปฏิบัติการยิงแกนนำกลุ่ม กปปส.ที่บริเวณหน้าวัดศรีเอี่ยมนั้น หากพิจารณาจากบาดแผลที่ถูกยิง การที่กระสุนเข้าไปแถวศีรษะนั้นถือว่าเป็นจุดตาย หากเป็นความตั้งใจยิงในบริเวณดังกล่าวถือว่าเป็นทีมมืออาชีพ ส่วนปืนที่ใช้ 11 มม. ก็มองได้ว่าน่าจะอยู่ในเครือข่ายของตำรวจ

ส่วนคนที่จะเข้ามาทำงานนี้คงไม่ถึงขั้นเป็นคนที่มาจากหน่วยปฏิบัติการพิเศษ เพราะทีมจากตำรวจก็มีคนแม่นปืนเช่นกัน อาศัยแค่ใจถึงและซ้อมมาบ่อยๆ ก็ปฏิบัติการได้ ส่วนการติดตามจับกุมคนร้ายมาดำเนินคดีนั้นร้อยละร้อยจะไม่สามารถจับกุมได้ เนื่องจากอยู่ในเครือข่ายเดียวกัน

สำหรับทีมปฏิบัติการพิเศษของตำรวจนั้นจะมีด้วยกัน 2 หน่วยหลักคือหน่วยนเรศวร 261 และหน่วยอรินทราช 26 หากจะมีการเรียกใช้คงไม่พ้น 2 หน่วยนี้ ทีมปฏิบัติการของทหารก็มีเช่นกัน แต่งานนี้หากฝ่ายรัฐจะเลือกใช้คงเลือกใช้ทีมจากตำรวจง่ายกว่า ทีมเหล่านี้สามารถปฏิบัติการได้ทั้งการบุกเข้าจับตัวแกนนำ หรือถึงขั้นจัดการขั้นเด็ดขาดกับแกนนำ

หากมีคำสั่งปฏิบัติการให้เด็ดหัวแกนนำในการชุมนุม ก็คงเป็นทีมจากต่างประเทศที่นำเข้ามา ทั้งนี้คงต้องขึ้นกับจังหวะและเวลาที่เหมาะสม เมื่อเสร็จภารกิจก็เดินทางออกนอกประเทศ โดยมีทีมงานของตำรวจคอยอำนวยความสะดวกให้ตลอดเส้นทาง แต่จากการที่มีข่าวออกมาเรื่องการนำทีมปฏิบัติการจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาเพื่อเตรียมก่อเหตุนั้น ทำให้ทีมเหล่านี้ไม่สามารถปฏิบัติการได้สะดวกนัก เพราะเท่าที่ทราบฝ่ายทหารก็มีการจัดทีมเข้าไปประกบอยู่ตลอดเวลาเช่นกัน

เหตุการณ์การยิงผู้ชุมนุมที่หน้าสโมสรกองทัพบก เมื่อวันที่ 28 มกราคม ที่จับผู้ก่อเหตุได้ว่าเป็นตำรวจนั้นไม่ว่าจะเป็นการลงมือเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ เพื่อให้นักการเมืองที่เข้าไปใช้สถานที่ในกองทัพบกหนีออกได้ง่าย หรือตั้งใจลงมือ รวมถึงเหตุการณ์เมื่อวันที่ 26 มกราคม เหตุการณ์เหล่านี้จึงเป็นสิ่งบอกเหตุได้ว่าการออกมาเคลื่อนไหวในพื้นที่ต่างๆ นั้นมีความเสี่ยง โดยเฉพาะบางพื้นที่ที่เป็นที่มั่นของฝ่ายตรงข้ามที่อาจมีการจัดทีมงานเข้ามาปฏิบัติการทั้งกับกลุ่มผู้ชุมนุมและแกนนำ

ดังนั้นการปรับยุทธวิธีของแกนนำ กปปส.อย่างนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่เดิมตั้งใจจะใช้มวลชนไปยังพื้นที่เลือกตั้งต่างๆ จึงปรับเปลี่ยนไปเป็นการเรียกร้องให้มีการออกมาชุมนุมตามเวทีต่างๆ แทน เพราะเป็นการลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น อีกทางหนึ่งยังเป็นการยับยั้งปฏิบัติการของฝ่ายตรงข้ามไปในตัว

กำลังโหลดความคิดเห็น