xs
xsm
sm
md
lg

ฟ้อง ปตท.เอาท่อก๊าซคืนสาธารณะ บทพิสูจน์ความยุติธรรมอีกครั้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เมื่อทุนสามานย์ยึดมั่นในคติ “ด้านได้ อายอด” บวกกับข้าราชการกังฉินที่ไม่คิดปกปักรักษาสมบัติของแผ่นดินมีอำนาจปกครองบ้านเมือง ถึงวันนี้ท่อก๊าซฯ ที่มีมูลค่ากว่าแสนล้านบาทซึ่งศาลสั่งให้ ปตท.โอนกลับคืนมาเป็นของรัฐเพื่อประโยชน์สาธารณะ ยังคงถูกครอบครองผูกขาดโดย ปตท.ต่อไปเช่นเดิม

ขณะที่องค์กรในองคาพยพของรัฐโดยเฉพาะ “กระทรวงการคลัง” ซึ่งมีหน้าที่ดูแลทรัพย์สินของประเทศเพิกเฉยหรือส่อแสดงอาการว่า “ฮั้ว” กับ ปตท. เพราะร่วมกันยืนยันกับ ปตท.ว่าการส่งคืนทรัพย์สินแก่รัฐครบถ้วนหมดแล้ว มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงต้องพึ่งอำนาจศาลเพื่อทวงคืนท่อก๊าซฯ อีกครั้ง โดยยื่นฟ้องคณะรัฐมนตรี (ครม.), นายกรัฐมนตรี, รมว.กระทรวงพลังงาน, บมจ.ปตท. และ รมว.กระทรวงการคลัง ต่อศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2555 ที่ผ่านมา

อะไรคือข้อต่อสู้ใหม่เพื่อทวงคืนทรัพย์สินของประเทศชาติในครั้งนี้ ข้อกล่าวอ้างของ ปตท.ที่ว่าส่งมอบครบแล้ว และนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รมว.กระทรวงการคลัง ชี้แจงว่าเรื่องทั้งหมดดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว ความจริงเป็นเช่นนั้นหรือไม่? ที่สำคัญหากปล่อยให้ ปตท.ครอบครองผูกขาดท่อก๊าซต่อไป ประเทศชาติและประชาชนจะได้รับความเดือดร้อนเสียหายอย่างร้ายแรงอย่างไร?

หากยังจำกันได้ ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2550 ในยุครัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่มี นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษาคดี ปตท. โดยให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 คือ ครม., นายกรัฐมนตรี, รมว.กระทรวงพลังงาน, บมจ.ปตท. ร่วมกันกระทำการแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สิทธิในการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ รวมทั้งแยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐออกจากอำนาจและสิทธิของ ปตท.

ต่อมา ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ได้ดำเนินการตามคำพิพากษาของศาล โดย ครม.ได้มีมติเมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2550 มอบหมายให้กระทรวงพลังงาน และกระทรวงการคลังไปดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินและสิทธิตามคำพิพากษาของศาลฯ โดยให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้อง ทั้งนี้ หากมีข้อโต้แย้งทางกฎหมายเกี่ยวกับการตีความคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดในการดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้พิจารณาเพื่อให้มีข้อยุติ

มติ ครม.ยังมอบหมายให้กระทรวงการคลัง โดยกรมธนารักษ์รับไปดำเนินการกำหนดหลักเกณฑ์ในการคิดอัตราค่าเช่าในส่วนของทรัพย์สินที่เป็นระบบท่อ เพื่อเป็นฐานในการคำนวณค่าเช่าให้แก่ ปตท. ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ในการคิดค่าเช่าจะต้องอยู่บนฐานของหลักการทางการค้าที่เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย คือ กระทรวงการคลัง, ปตท., ผู้ถือหุ้นของ ปตท. และผู้ใช้ก๊าซฯ โดยคำนึงถึงภาระผูกพันต่างๆ ที่ ปตท.ต้องรับภาระ เช่น เงินกู้ ดอกเบี้ยเงินกู้ และคำนึงถึงลักษณะของท่อส่งก๊าซฯ ที่เป็นกิจการสาธารณูปโภคด้วย

หลังจากนั้น ปตท.ได้ส่งมอบทรัพย์สินตามคำพิพากษาให้แก่กระทรวงการคลังเป็นระยะ และเมื่อ ปตท.เห็นว่าได้ส่งมอบครบถ้วนแล้วจึงทำคำร้องรายงานสรุปการดำเนินการตามคำพิพากษา ลงวันที่ 25 ธ.ค. 2551 ยื่นต่อศาลปกครองสูงสุด ซึ่งตุลาการศาลปกครองสูงสุดท่านหนึ่งได้เกษียนหนังสือหรือบันทึกในคำร้องดังกล่าวว่า “พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องที่ 1 ถึง 4 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามคำพิพากษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว รายละเอียดปรากฏตามคำร้องรวมสำนวน” ลงวันที่ 26 ธ.ค. 2551

นั่นเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่ ปตท.นำมากล่าวอ้างมาโดยตลอดว่า ปตท.ได้ดำเนินการส่งมอบทรัพย์สินคืนรัฐครบถ้วนตามคำพิพากษาเรียบร้อยแล้ว และกระทรวงการคลังก็เห็นพ้องเช่นเดียวกัน ซึ่งหากพินิจเรื่องนี้อย่างผิวเผินก็คงบอกว่า ใช่แล้ว ส่งคืนครบหมดแล้ว ศาลท่านก็ยังเห็นว่าอย่างนั้น

แต่เรื่องไม่ได้จบลงง่ายอย่างนั้น เพราะว่าหลังจากที่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด เกษียนหนังสือในคำร้องของ ปตท.แล้ว สตง. ซึ่ง ครม.มอบหมายให้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้องในการคืนทรัพย์สินของ ปตท.แก่กระทรวงการคลัง ได้มีหนังสือรายงานผลการตรวจสอบทรัพย์สินต่อเลขาธิการสำนักงานศาลปกครองสูงสุดว่า ทรัพย์สินที่ ปตท.แบ่งแยกและส่งคืนแก่คลังจำนวน 16,176.19 ล้านบาท ยังไม่ครบถ้วนตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด

นอกจากนั้น สตง.ยังได้แจ้งการตรวจสอบการคืนทรัพย์สินของ ปตท.ที่ยังไม่ครบถ้วนแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ดำเนินการและติดตามผล ทั้งนี้ รายงานการตรวจสอบของ สตง.ได้ประเมินมูลค่าทรัพย์สินตามมูลค่าทางบัญชีเสนอต่อกระทรวงการคลังเพื่อเรียกคืนทรัพย์สินจาก ปตท. ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด มีมูลค่า 52,393.50 ล้านบาท และ ปตท.ส่งคืนตามคำพิพากษาเพียง 16,176.19 ล้านบาท ยังขาดอีก 36,217.28 ล้านบาท ซึ่งท่อก๊าซที่ยังส่งคืนรัฐไม่ครบถ้วน ประกอบด้วยท่อก๊าซบนบกและในทะเล มูลค่า 32,6131.45 ล้านบาท และทรัพย์สินอื่นอีก 3,603.83 ล้านบาท

เมื่อเป็นเช่นนั้น การส่งมอบทรัพย์สินของ ปตท.คืนแก่รัฐครบถ้วนหรือไม่ จึงยังเป็นประเด็นคาใจ ไม่สะเด็ดน้ำ เพราะ สตง.มีความเห็นแย้ง ยังไม่รับรองความถูกต้อง

ที่สำคัญที่สุด การพิเคราะห์ของศาลข้างต้นก็เป็นเพียงความเห็นหรือคำสั่งของตุลาการศาลปกครองสูงสุดเพียงคนเดียวเท่านั้น ไม่ถือว่าเป็นคำพิพากษาของศาลที่มีองค์คณะพิจารณาคดีและมีคำตัดสินพิพากษาแต่อย่างใด

“เราเอาการเกษียนหนังสือของตุลาการศาลปกครองสูงสุดในคำร้องที่ ปตท.ยื่นต่อศาลให้อดีตรองประธานศาลฎีกาท่านช่วยดู ท่านบอกว่านี่ไม่ใช่คำพิพากษาของศาล ดังนั้นเราจึงนำคดีฟ้องต่อศาลให้ศาลมีคำพิพากษาชี้ขาด” น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กรุงเทพฯ ประธานคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ผู้ฟ้องคดีในฐานะประชาชนผู้บริโภคพลังงานของประเทศ กล่าว

นอกจากนั้น ทรัพย์สินที่พิพาทในคดีที่มูลนิธิผู้บริโภคได้ยื่นฟ้องในครั้งนี้ ก็ยังไม่ได้ถูกวินิจฉัยชี้ขาดในคำสั่งคำร้องของ ปตท.ที่ยื่นต่อศาลปกครองสูงสุด ได้แก่ ทรัพย์สินของ ปตท.ที่เป็นระบบท่อส่งก๊าซบนบกและในทะเลที่เริ่มดำเนินการก่อนการแปรสภาพเป็น บมจ.ปตท.ทั้งหมด และโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติในทะเล แหล่งอาทิตย์-โรงแยกก๊าซฯ ระยอง (ท่อเส้นที่ 3) ที่มีการวางท่อในทะเลตั้งแต่ยังเป็น ปตท.ก่อนการแปรรูปเป็น บมจ.ปตท.

อันที่จริง หากกระทรวงการคลังมีความกระตือรือร้นติดตามทวงคืนทรัพย์สินตามคำพิพากษาตามที่ สตง.ได้แจ้งว่ายังไม่ครบถ้วน เรื่องนี้อาจได้ข้อยุติและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายไปนานแล้ว แต่กระทรวงการคลังกลับแจ้งผลการพิจารณาต่อ สตง. โดยสรุปว่า เมื่อศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยและมีคำสั่งตามคำร้องของ ปตท.แล้วว่า ปตท.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการแบ่งแยกและโอนทรัพย์สินให้กระทรวงการคลังครบถ้วนแล้ว ดังนั้น กระทรวงการคลังจึงเห็นว่าการแบ่งแยกและโอนทรัพย์สินของ ปตท.ให้กระทรวงการคลังเป็นอันเสร็จสิ้น และนำผลการพิจารณาเสนอต่อ ครม.เพื่อรับทราบเมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2553

การรวบรัดตัดตอนให้เรื่องจบของกระทรวงการคลังทั้งที่ยังมีข้อโต้แย้งกันอยู่ มิหนำซ้ำยังละเลยไม่ส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาเพื่อให้ได้ข้อยุติตามที่ระบุไว้ในมติ ครม.เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2550 จึงมีการเสนอเรื่องร้องเรียนมายังคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ให้ตรวจสอบและผลักดันให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติราชการอย่างมีธรรมาภิบาล

และเมื่อกระทรวงการคลังยังเพิกเฉย คณะกรรมาธิการฯ จึงมีหนังสือถึงคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขอให้พิจารณาดำเนินคดีต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งขณะนี้เรื่องอยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวน

ส่วนเรื่องที่กระทรวงการคลังไม่ได้ส่งรายงานการตรวจสอบของ สตง.ที่มีความเห็นแย้งว่าการส่งมอบทรัพย์สินยังไม่ครบถ้วน เพื่อให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาให้ได้ข้อยุติตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2550 นั้น ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาฯ ที่มาชี้แจงในที่ประชุมคณะกรรมาธิการฯ แจ้งว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาไม่กล้าตีความหรือให้ความเห็น เพราะความเห็นของกฤษฎีกาไม่เป็นที่ยุติ จะต้องไปยุติที่ศาลปกครองสูงสุดที่จะตัดสินชี้ขาด

เมื่อไม่มีภาคส่วนใดหรือองค์กรใดในองคาพยพแห่งรัฐที่จะชี้ขาดว่า ปตท.แบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สิทธิในการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อคืนให้แก่รัฐหรือกระทรวงการคลังครบถ้วนหรือไม่ ท้ายที่สุดมูลนิธิผู้บริโภคจึงต้องฟ้องคดีเพื่อขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดให้เรื่องนี้เป็นที่ยุติและยอมรับของทุกฝ่าย

ในคำฟ้องของมูลนิธิผู้บริโภค นอกจากจะขอให้ศาลได้โปรดวินิจฉัยชี้ขาดเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ปตท.คืนแก่รัฐยังไม่ครบถ้วนแล้ว ยังกล่าวถึงความเดือดร้อนของประชาชนผู้ใช้ก๊าซฯ ในประเทศว่าจะได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงหากไม่มีการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้ได้ทรัพย์สินกลับคืนมาเป็นของรัฐ

กล่าวคือ จะทำให้รัฐขาดรายได้ที่จะนำมาพัฒนาประเทศ ซึ่งรายได้ที่ว่าค่าบริการส่งก๊าซผ่านระบบท่อโดยนับจากที่มีการแปรรูป ปตท. เมื่อปี 2544 ถึงปี 2554 รวม 11 ปี ปตท.มีรายได้จากค่าผ่านท่อก๊าซฯ ประมาณ 215,995 ล้านบาท ค่าผ่านท่อนี้ ปตท.ได้นำไปรวมกับราคาจำหน่ายก๊าซแก่ผู้บริโภค

เมื่อระบบท่อส่งก๊าซฯ เป็นของรัฐตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ค่าผ่านท่อ 215,995 ล้านบาทก็ควรจะต้องเป็นของรัฐทั้งหมด แต่ตามข้อเท็จจริงปรากฏว่า ปตท.ได้ชำระค่าตอบแทนในการใช้ท่อส่งก๊าซฯ ย้อนหลังจากปี 2544-2554 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 3,797 ล้านบาทเท่านั้น ทำให้รัฐเสียหายและประชาชนต้องจ่ายค่าก๊าซแพง

นอกจากนั้น ยังส่งผลให้ประชาชนต้องจ่ายค่าไฟฟ้าแพงขึ้นด้วย เพราะการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ต้องซื้อก๊าซเพื่อเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าจาก ปตท.ในราคาสูง เนื่องจาก ปตท.เป็นผู้ผูกขาดท่อก๊าซและการค้าก๊าซในประเทศ ซึ่งต้นทุนค่าซื้อก๊าซจาก ปตท.ของ กฟผ.ถูกผลักภาระมาให้ประชาชนในรูปของค่าไฟฟ้าผันแปร หรือค่า Ft

ปตท.ยังฉวยโอกาสที่กฎหมายเปิดช่องให้ขึ้นราคาค่าผ่านท่อส่งก๊าซโดยไม่เป็นธรรม เอาเปรียบผู้บริโภคก๊าซและไฟฟ้า ทั้งที่ ปตท.ไม่ใช่เจ้าของและผู้ลงทุนที่แท้จริง กล่าวคือ ปตท.ได้ประเมินมูลค่าท่อส่งก๊าซใหม่เมื่อปี 2551 เพิ่มขึ้นมาเป็น 91,556 ล้านบาท จากเดิมขณะที่แปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนเมื่อปี 2544 ประเมินว่ามีมูลค่าเพียง 47,664 ล้านบาท

มูลค่าท่อก๊าซที่เพิ่มขึ้นนี้ถูกนำมาคิดค่าตอบแทน (กำไร) อีกร้อยละ 18 โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ยังมีมติให้ปรับขึ้นค่าผ่านท่ออีก ทำให้ผู้ใช้ก๊าซและไฟฟ้าต้องรับภาระค่าผ่านท่อที่เพิ่มขึ้น ขณะที่หากท่อส่งก๊าซเป็นของรัฐซึ่งไม่หวังผลกำไรคงไม่มีการประเมินมูลค่าท่อก๊าซใหม่ และประชาชนคนไทยก็ต้องรับภาระค่าผ่านท่อที่เพิ่มขึ้น

“ตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปัจจุบัน ปตท.ได้เงินมากกว่าปีละ 200,000 ล้านบาท กลายเป็นต้นทุนราคาก๊าซและค่าไฟฟ้าแพง” น.ส.รสนา ในฐานะผู้ฟ้องคดี กล่าว

อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุที่ ปตท.เป็นบริษัทมหาชนในตลาดหุ้นในระดับ “บิ๊กแคป” การฟ้องร้องปตท.อาจสร้างความกังวลต่อการพิจารณาคดีของศาล ทางผู้ฟ้องคดีจึงกราบเรียนต่อศาลว่า การฟ้องให้แบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษาของศาลคืนแก่รัฐนั้นไม่ทำให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจและผู้ถือหุ้นของ ปตท.แต่อย่างใด เพราะ บมจ.ปตท.ได้บรรยายความเสี่ยงเรื่องท่อส่งก๊าซไว้แล้วในหนังสือชี้ชวนซื้อหุ้น ซึ่งระบุว่าต้องแบ่งแยกส่งคืนรัฐหลังแปรสภาพภายในหนึ่งปี แม้ว่าเงื่อนไขนี้จะถูกยกเลิกในภายหลังก็ตาม

นอกจากนั้น ผู้ถือหุ้นยังได้รับประโยชน์จากการประเมินมูลค่าท่อส่งก๊าซที่เพิ่มขึ้นจากเดิมเกือบสองเท่า

หากศาลมีคำพิพากษาให้การคืนทรัพย์สินตามฟ้องมีผลตั้งแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาเป็นต้นไป ค่าผ่านท่อที่ ปตท.ได้รับไปแล้วในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาที่คิดเป็นเงินประมาณ 215,995 ล้านบาทนั้นก็ไม่ต้องส่งคืนรัฐ และ ปตท.ได้นำเงินส่วนนี้ไปสร้างท่อส่งและจำหน่ายก๊าซอีกหลายโครงการและแสวงหาประโยชน์ได้ต่อไป ระบบงบดุลและการเงินของ ปตท.ก็ไม่มีผลกระทบ ต่อตลาดหุ้น และเศรษฐกิจก็ไม่กระทบเช่นกัน

แต่หากศาลพิจารณาพิพากษาให้ ปตท.ชดใช้เงินที่รับจากค่าผ่านท่อให้แก่รัฐ ก็จะเกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนยิ่งขึ้น ซึ่ง ปตท.มีทรัพย์สินมากเพียงพอที่จะชดใช้คืนได้ และยังมีท่อส่งก๊าซและท่อจำหน่ายอีกหลายโครงการที่นำไปหาประโยชน์ได้ต่อไปเช่นกัน

ผู้ฟ้องคดีจึงขอให้ศาลโปรดพิจารณาและพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 5 ร่วมกันดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินของ ปตท.ที่เป็นระบบท่อส่งก๊าซบนบกและในทะเลที่เริ่มดำเนินการก่อนการแปรสภาพเป็น บมจ.ปตท.ทั้งหมด และโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติในทะเล แหล่งอาทิตย์-โรงแยกก๊าซฯ ระยอง (ท่อเส้นที่ 3) ที่มีการวางท่อในทะเลตั้งแต่ยังเป็น ปตท.ก่อนการแปรรูปเป็น บมจ.ปตท.ให้กลับมาเป็นของรัฐ

การทวงท่อก๊าซจาก ปตท.คืนแก่รัฐเพื่อประโยชน์สาธารณะและเพื่อประชาชน จึงเป็นตัวชี้วัดอีกครั้งว่าสังคมไทยยังมีความยุติธรรมหลงเหลืออยู่หรือไม่?
กำลังโหลดความคิดเห็น