ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ข้อกังขาช้างป่าถูกเผานั่งยาง งาถูกตัด พื้นที่ป่าสงวนถูกรุกเข้าใช้ประโยชน์ส่วนตนแถมพัวพันถึงกลุ่มผู้มีอิทธิพลแห่งเมืองเพชร ปริศนาดำมืดเหล่านี้เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ใครคือผู้อยู่เบื้องหลัง ใครคือผู้ที่ได้รับการปกป้องจากเครือข่ายผู้มีอำนาจและทรงอิทธิพล สังคมไทยต้องร่วมกันตรวจสอบและแสวงหาคำตอบเพื่อหยุดยั้งขบวนการฉ้อฉลนี้
ข่าวการเสียชีวิตของช้างป่าที่ถูกยิงตายอย่างทารุณก่อนจะถูกเผาร่างจนไม่เหลือซาก (เว้นไว้แต่งาคู่งาม) กำลังอยู่ในความสนใจของผู้คนแทบทั้งประเทศ พร้อมกับหลากหลายความเห็นจาก ‘คนของอุทยานฯ’ ซึ่งได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนแทบทุกแขนง ทั้งที่ในความเป็นจริง ข้อมูลอีกด้านอาจกลายเป็น’หนังคนละม้วน’ กับที่นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งถูกสั่งย้ายหลังเกิดเหตุเผาทำลายซากช้าง รวมถึงนายดำรงค์ พิเดช อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพียรพยายามพูดกรอกหูสาธารณชนอยู่แทบทุกเมื่อเชื่อวัน
รายงานลับกับอาการร้อนตัว
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่ทั้งคู่ต่างกล่าวอ้างถึง ‘เอกสารลับของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม’ ที่ระบุถึง ‘ขบวนการล่าช้าง’ ไว้อย่างเป็นลำดับขั้นตอน คล้ายบทภาพยนตร์ซึ่งถูกเขียนไว้อย่างดี ผสมผสานกับข้อมูลที่ทั้งคู่ให้สัมภาษณ์ก็เป็นไปในทิศทางที่ระบุถึงขบวนการล่าช้างว่ามีอยู่จริง ทั้งมีข้อมูลเผยไว้ในรายงานว่าเป็นผู้มีอิทธิพล เป็นคนมีสี แต่ก็ไม่สามารถหาหลักฐานเอาผิดได้แน่ชัด ทั้งที่ นายชัยวัฒน์ เองยังเคยให้สัมภาษณ์ถึงข้อมูลในเชิงลึกเกี่ยวกับเหตุการณ์เผาช้างครั้งนี้ว่า
“ขบวนการล่าช้างชุดดังกล่าวได้หนีข้ามไปอยู่บริเวณป่าหมาก ตรงชายแดนไทย-พม่าแล้ว ยอมรับว่าการตามล่าตัวค่อนข้างยาก เพราะหากเจ้าหน้าที่ตามไปโดยไม่เตรียมการแบบดีที่สุด ค่อนข้างจะอันตรายมาก”
ขณะที่นายดำรงค์ ก็เคยระบุว่า “คนยิงเป็นคนในพื้นที่ เป็นนายทุนจากภูเก็ต เข้ามาว่าจ้าง มาล่า และพวกนี้ทำเป็นขบวนการด้วย ทำธุรกิจเกี่ยวกับช้างทั้งหมด มีการพาเข้ามาเที่ยว พามานั่งช้าง พอมาตกลงราคากันแล้วก็อาจจะมีการพูดคุยกันว่าอยากจะกินช้างไหม? ถ้าอยากกินก็ตกลงราคากันแล้วก็เริ่มกระบวนการ พอได้แล้วก็ส่งชิ้นส่วนไปทำอาหารที่ จ.ภูเก็ต”
ราวกับนัดกันไว้ เพราะไม่ใช่เพียงอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ จะ ‘โบ้ย’ ไปไกลถึงรถยนตร์ทะเบียนภูเก็ต แต่ผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างนายชัยวัฒน์ ก็ร่วมออกแรงพูดย้ำนักย้ำหนาถึงรถยนต์เลขทะเบียนภูเก็ตด้วย ในทำนองว่าน่าสงสัย เพราะเข้ามาในพื้นที่อุทยานช่วงที่ช้างถูกยิงตาย สวนทางกับคำบอกกล่าวของ พล.ต.อ.ปานสิริ ประภาวัต รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่ว่า “มีรถยนต์ทะเบียนภูเก็ตเข้าไปในพื้นที่จริง ซึ่งพนักงานสอบสวนได้เชิญตัวมาสอบปากคำไปแล้ว โดยเบื้องต้นไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับคดี”
มิพักต้องเอ่ยถึงความน่าเคลือบแคลงในกรณีช้างถูกเผานั่งยาง ที่ทั้งนายชัยวัฒน์ และอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ ต่างไม่เอ่ยถึง กระทั่งมีภาพปรากฏตามสื่อ โดยเฉพาะนายชัยวัฒน์ ที่แรกสุดก็ยืนยันว่าไม่มีการเผานั่งยางช้าง จากนั้นก็พลิกคำพูดว่าเป็นเพราะไฟป่า ชาวบ้านมาเห็นแล้วเข้าใจผิดว่าเจ้าหน้าที่เป็นคนทำ ก่อนที่ล่าสุด อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ และนายชัยวัฒน์ จะเผยว่ามีหลักฐานคือเอกสารที่ยื่นเรื่องแจ้งขออนุญาตเผาซากช้างอย่างถูกต้อง โดยให้เหตุผลว่าหากปล่อยไว้อาจส่งกลิ่นเหม็นเน่าและเพาะเชื้อโรคให้แพร่ระบาดไปตามลำน้ำ ซึ่งสวนทางอย่างสิ้นเชิงกับคำปฏิเสธที่เขายืนกรานมาตลอดก่อนหน้านี้
ยังมีข้อน่าสังเกตอีกมากเกี่ยวกับความเห็นที่อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ และนายชัยวัฒน์ ชี้แจงในทำนองปกป้องตัวเอง ปกป้องพวกเดียวกัน ทั้งโดยส่วนใหญ่ยังเป็นความเห็นที่สวนทางกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ กระนั้น ก็ไม่มีสิ่งใดน่าสนใจเท่าคำพูดของนายชัยวัฒน์ ที่ออกอาการ “ร้อนตัว” อย่างผิดสังเกต ไม่ต่างจากอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ ในกรณีช้างถูกเผา ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการเลือกปฏิบัติต่อผู้ใต้บังคับบัญชา กระทั่งชวนให้สังคมตั้งกังขาว่า คนที่เกี่ยวข้องกับการทำผิดอาจกำลังได้รับการปกป้องและหนุนหลังทั้งจาก “ผู้หลักผู้ใหญ่” ข้าราชการระดับสูง รวมถึงผู้มีอิทธิพลที่ยิ่งใหญ่คับฟ้าเมืองเพชร ใช่หรือไม่
จากกระทิงถึงช้างป่าและการปกป้องผู้ต้องหาคดีจ้างวานฆ่า
ข้อกังขาต่ออธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ ว่ามีการเลือกปฏิบัติและออกโรงปกป้องนายชัยวัฒน์ อย่างผิดสังเกต หรือไม่ เพียงใด? คงต้องลองย้อนกลับไปมองเรื่องราวจากผืนป่าอุทยานซึ่งนับเป็นสองกรณีที่น่าศึกษาและนำมาเปรียบเทียบกันกับเหตุการณ์ยิงและเผาช้างในครั้งนี้
กรณีแรกที่เป็นภาพสะท้อนว่า อธิบดีกรมอุทยานฯ เลือกปฏิบัติต่อผู้ใต้บังคับบัญชา คือเหตุการณ์ก่อนช้างถูกยิงที่แก่งกระจานไม่กี่วันนั้น มีกระทิงป่าเสียชีวิตในพื้นที่ใกล้เคียงกับอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ สั่งย้ายหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่อย่างเร่งด่วน ด้วยเหตุผลว่าละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ปล่อยให้มีกระทิงตายในพื้นที่อุทยาน ทั้งที่ในข้อเท็จจริงตามรายงานซึ่งเจ้าหน้าที่ของอุทยานฯ ทำการสอบสวนนั้น การเสียชีวิตของกระทิงตัวนี้เกิดขึ้นนอกพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
หลังจากเหตุการณ์กระทิงตายไม่กี่วัน ก็เกิดกรณีที่สองคือ เหตุการณ์ช้างป่าถูกยิงตายที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน แต่กรณีนี้ นอกจากอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ จะไม่ได้ออกคำสั่งย้ายหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานอย่างเร่งด่วนดังเช่นที่ปฏิบัติต่อหัวหน้าอุทยานฯ เขาใหญ่ แล้ว อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ ยังออกมาปกป้องอีกด้วย
นอกจากนั้น ทั้งคู่ยังให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนโดยเอ่ยถึงเฉพาะช้างเชือกที่ไม่ได้ถูกเผา ส่วนช้างเชือกที่ถูกเผานั้นต่างไม่มีใครเอ่ยถึง ต่อเมื่อโดน ‘รุกไล่’ จากสื่อมวลชนและมีหลักฐานซากช้างถูกเผานั่งยางปรากฏตามสื่อ อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ จึงได้มีคำสั่งย้าย นายชัยวัฒน์ แต่ยังให้ความเห็นเชิงปกป้องและเชิดชูคุณงามความดีในการปฏิบัติหน้าที่
นอกจากกรณีกระทิงกับช้างแล้ว ยังมีอีกเหตุการณ์น่าสนใจซึ่งแสดงให้เห็นถึงการเลือกปฏิบัติต่อผู้ใต้บังคับบัญชาของอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ กล่าวคือ กรณีเผาทำลายซากช้างนั้น ข้าราชการชั้นผู้น้อย อย่างเช่น นายผล ถมยา, นายจินดา พวงมาลัย, นายมานะ นกแก้ว และนายสุรินทร์ ไม้แก้ว ต่างตกเป็นผู้ต้องหาที่มีส่วนรู้เห็นในคดีเผาทำลายซากช้าง โดยคดีนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจยังคงสวบสวนเพื่อตามจับผู้ต้องหาที่ครอบครองงาช้างและตามจับผู้ต้องหาที่เป็นคนสั่งการและเป็นผู้ยิงช้างมารับโทษต่อไป
ขณะที่ นายชัยวัฒน์ นั้น กลับเสมือนลอยตัวอยู่เหนือปัญหา ทั้งที่ตัวเขาเป็นผู้บังคับบัญชาดูแลรับผิดชอบพื้นที่อุทยานดังกล่าว จริงอยู่ที่ข้าราชการชั้นผู้น้อยอย่างผู้ต้องหาจะสมควรได้รับโทษและโดนหมายจับ แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังควานหา “คนสั่งการ” นายชัยวัฒน์ ในฐานะหัวหน้าอุทยานฯ ควรต้องแสดงความรับผิดชอบหรือได้รับบทลงโทษจากอธิบดีกรมอุทยานฯ อย่างเร่งด่วนและเหมาะสมมากกว่านี้
สิ่งที่นายชัยวัฒน์ พยายามอย่างยิ่งในตอนนี้ ก็คือการทำหน้าที่ปกป้องผู้ช่วยหัวหน้าอุทยาน ซึ่งเป็นผู้ครอบครองงาช้าง อันเป็นการปฏิบัติไม่ต่างจากที่ตัวเขาเองก็ได้รับการปกป้องจากอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ เรื่องที่เกิดขึ้นจึงสะท้อนให้สังคมเห็นถึงสายสัมพันธ์และการปกป้องพวกพ้องอย่างชัดเจน
ความเอื้ออาทรที่อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติมีต่อนายชัยวัฒน์นั้น ไม่ได้มีเพียงกรณีเผาทำลายซากช้าง แต่ยังมีกรณีที่ นายชัยวัฒน์ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีจ้างวานฆ่านายทัศน์กมล โอบอ้อม ซึ่งศาลรับคำฟ้องเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2553 และจะมีการนัดไต่สวนคดีในวันที่ 6 กุมภาพันธ์นี้ ณ ศาลจังหวัดเพชรบุรี
สำหรับคดีดังกล่าว รากเหง้าต้นตออันเป็นมูลเหตุการเสียชีวิตของนายทัศน์กมลนั้น ก็เนื่องจากเขาเป็นแกนนำพาชาวบ้านมาร้องเรียนว่าถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เผาบ้านเพื่อขับไล่ชนกลุ่มน้อยออกนอกพื้นที่ป่า ทั้งที่คนเหล่านั้นไม่ได้บุกรุก แต่ใช้ชีวิตอย่างผูกพันกับระบบนิเวศน์ของผืนป่ามาช้านาน ซึ่งหลังจากนายทัศน์กมล เดินทางมาให้ข้อมูลต่ออนุกรรมการสิทธิมนุษยชน ทั้งระบุตัวผู้สั่งการเผาบ้านเรือนชนกลุ่มน้อยแล้ว เพียง 7 วันหลังจากนั้นนายทัศน์กมล ก็ถูกประกบยิงด้วยปืน 11 มม. เสียชีวิตคารถปาเจโร
เหตุการณ์จ้างวานฆ่าและเผาบ้านเรือนชนกลุ่มน้อยชาวกะเหรี่ยงนี้ นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้รับคำร้องเรียนจากชาวบ้านที่ถูกเผาบ้านเรือนและติดตามการดำเนินคดีนี้อย่างใกล้ชิด ตั้งข้อสังเกตบางประการที่น่าสนใจยิ่ง ทั้งในกรณีเผาบ้านชนกลุ่มน้อย การจ้างวานฆ่า รวมถึงความไม่ชอบมาพากลของหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน
“ผมอยากให้ย้อนกลับไปดูกรณีเผาบ้านกะเหรี่ยง ซึ่งเป็นชนวนเหตุทำให้มีเฮลิคอปเตอร์ตก 3 ลำ เมื่อปีที่แล้ว ในรายงานปฏิบัติการของกรมอุทยานแห่งชาติฯ มีรายงานบันทึกไว้ว่าเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ ทำภายใต้คำสั่งการของหัวหน้าอุทยานคนนี้ ในสรุปผลการปฏิบัติงานยุทธการตะนาวศรี โครงการขยายผลการอพยพ ผลักดัน / จับกุม ชุมชนกลุ่มน้อยที่บุกรุกพื้นที่ตามแนวชายแดนไทย-พม่า อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งเป็นเอกสารของทางราชการ ก็มีทั้งภาพถ่ายการเผาบ้านและเผายุ้งฉางของชาวบ้านและระบุคำสั่งเผาไว้ชัดเจน
“เมื่อชาวบ้านถูกเผาบ้าน ผมก็ลงพื้นที่ไปรับฟังชาวบ้านที่เขามาร้องเรียน แล้วได้เจอคุณทัศน์กมล โอบอ้อม ซึ่งพาชาวบ้านมาร้องเรียน โดยข้อมูลที่ให้ก็สอดคล้องกับรายงานสรุปผลการปฎิบัติงานฯ ที่เราได้มา หลังจากให้ข้อมูลกับเราได้ 7 วัน เขาก็ถูกยิงตายที่เพชรบุรี แกนั่งปาเจโรมา แล้วถูกประกบยิงเสียชีวิตด้วยปืน 11 มม. เป็นข่าวใหญ่พอสมควร ศาลก็ออกหมายจับมือปืนและออกหมายจับหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ในข้อหาจ้างวานฆ่า ตอนนั้นอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ คนนี้ก็ออกมาปกป้องลูกน้องว่าไม่ได้ทำเหมือนกับที่เขาพูดทุกวันนี้
“เมื่อศาลออกหมายจับแล้ว อธิบดีก็ยังไม่สั่งย้าย ให้ปฏิบัติงานต่อ และยังให้รางวัลด้วยการดูแลป่าไม้พะยูงด้วย แต่ทางเราก็สู้คดีต่อไป อัยการพิจารณาหลักฐานตามที่ตำรวจเสนอมาแล้วก็ยื่นฟ้อง ศาลก็รับฟ้องเมื่อวันที่ 29 ธันวาคมที่ผ่านมานี่เอง แล้วช่วงเดียวกับที่ศาลรับฟ้องก็มีข่าวเรื่องช้างตาย ซึ่งอธิบดีก็บอกว่าเขายังเป็นผู้บริสุทธิ์เพราะศาลยังไม่ตัดสิน
“แต่คดีใดที่ศาลรับฟ้อง นั่นหมายความว่าคดีมีมูล เพราะผ่านการกลั่นกรองจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ อัยการ และศาลรับฟ้องแล้ว นั่นหมายความว่า คุณชัยวัฒน์ เป็นผู้ต้องหาในคดีร้ายแรงคือจ้างวานฆ่าคนโดยวางแผนล่วงหน้า แต่อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ ก็ไม่ทำอะไร ทั้งที่เรื่องทำนองนี้ แม้เป็นกรณีเล็กๆ แค่โดนหมายจับก็มีคำสั่งโยกย้ายแล้ว สังเกตไหม อย่างกรณีเผาช้าง เจ้าหน้าที่ตัวเล็กๆ แค่โดนหมายจับ ทั้งที่ศาลยังไม่รับฟ้อง สำนวนยังไม่ถูกนำส่งอัยการเลยยังได้รับการปฏิบัติต่างจากหัวหน้าอุทยานที่เป็นผู้ต้องหาคดีร้ายแรง แบบนี้เรียกว่าเลือกปฏิบัติหรือไม่” ประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความแห่งประเทศไทย ตั้งข้อสังเกต
ชัยวัฒน์กับสายสัมพันธ์ตระกูลดังเมืองเพชร
นอกจากตกเป็นผู้ต้องหาจ้างวานฆ่านายทัศน์กมล โอบอ้อม ซึ่งศาลจังหวัดเพชรบุรี นัดไต่สวนคดีในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2555 นี้อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการปฏิบัติงานยุทธการตะนาวศรีฯ ที่มีการเผาบ้าน เผายุ้งข้าว และสิ่งปลูกสร้างของชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในบริเวณอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเป็นจำนวนมากกว่าหนึ่งร้อยหลังแล้ว ยังมีอีกหนึ่งคำถามที่ นายชัยวัฒน์ ควรต้องไขความกระจ่างให้แก่สังคมไทย
นั่นก็คือ เหตุใด?เขาจึงสามารถสร้างอาณาจักร ‘ไร่ราชพฤกษ์’ รีสอร์ทหรูบนที่ดินซึ่งกินอาณาเขตกว้างถึง 300 ไร่ บนพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ โดยไม่ถูกจับดำเนินคดีในข้อหาบุกรุกและใช้อำนาจหน้าที่ในทางมิชอบ ตรงกันข้าม การเปิดโปงอาณาจักร 300 ไร่ของเขา กลับเป็นไปอย่างเงียบเชียบไร้คนสนใจ และคดีไม่มีความคืบหน้าใดๆ
เรื่องดังกล่าวข้างต้นเกิดขึ้นในสมัยที่นายอุภัย วายุพัฒน์ ยังดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช โดยเรื่องการบุกรุกป่าสงวนของนายชัยวัฒน์ ได้ถูกส่งมายังฝ่ายอนุรักษ์และป้องกันทรัพยากร สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี ซึ่งเมื่อตำรวจป่าไม้ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้ามาตรวจสอบพื้นที่บริเวณดังกล่าวเพื่อค้นหาหลักฐานเมื่อครั้งที่นายชัยวัฒน์ถูกออกหมายจับในคดีจ้างวานฆ่านายทัศน์กมล ก็พบว่า ‘ไร่ราชพฤกษ์’ ของนายชัยวัฒน์ ซึ่งมีที่ตั้งอยู่บริเวณ ม.5 บ้านห้วยปลาดุก ต.สองพี่น้อง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี นั้น ตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติจริง
นอกจากนั้น ยังมีข้อน่าสงสัยอีกบางประการ นั่นก็คือในรายงานการตรวจสอบของตำรวจป่าไม้ ระบุว่าพื้นที่ซึ่งนายชัยวัฒน์ ครอบครองอยู่ 300 ไร่นั้น แท้ที่จริงอาณาบริเวณดังกล่าวคือพื้นที่ซึ่งถูกระบุให้เป็นโครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งโครงการดังกล่าวมีชื่อของนายชัยวัฒน์ เป็นผู้ดูแลพื้นที่ทั้งหมดของโครงการ ครอบคลุมอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาล คือกินพื้นที่ถึง 600 ไร่
คำถามสำคัญต่อมาก็คือ เมื่อนายชัยวัฒน์ครอบครองพื้นที่ 300 ไร่ ซึ่งอยู่ในโครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติที่ตนรับผิดชอบแล้ว อีก 300 ไร่ที่เหลือ ตกไปอยู่ในมือของใคร?
คำตอบก่อนนี้ที่ฝ่ายอนุรักษ์และป้องกันทรัพยากร สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี น่าจะทราบดีก็คือ อีก 300 ไร่ที่เหลือ เกี่ยวข้องกับตระกูล ‘อังกินันท์’ ตระกูลผู้ทรงอิทธิพลแห่งเมืองเพชรบุรี เพราะมีป้ายติดหน้าโครงการว่า “สวนเกษตรอังกินันท์”
แต่เรื่องราวความเกี่ยวข้องกับคนในตระกูลอังกินันท์ที่ชัดเจนนั้น ล่าสุดเมื่อ “ASTVผู้จัดการออนไลน์” สอบถามไปยังนายรักษ์กล้า สถานสุข ผอ.ฝ่ายอนุรักษ์และป้องกันทรัพยากรฯ สาขาเพชรบุรี กรมอุทยานแห่งชาติฯ กลับโยนเรื่องให้ไปสอบถามที่หัวหน้าศูนย์จัดการป่าไม้ และศูนย์จัดการป่าไม้ฯ ก็โยนเรื่องไปให้ศูนย์ประสานป่าไม้เพชรบุรี ก่อนที่จะได้รับคำตอบสุดท้ายว่า "เรื่องนี้เปิดเผยไม่ได้"
เรื่องนี้จึงน่าสงสัยอย่างยิ่งว่า การจัดทำพื้นที่โครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติ ที่กินอาณาเขตนับ 600 ไร่ โดยมีนายชัยวัฒน์ เป็นหัวหน้าประจำแปลง และมีสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 10 เป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบนั้น เหตุใด ? นายชัยวัฒน์ จึงสามารถนำพื้นที่ดังกล่าวมาปลูกสร้างบ้านของตนเอง ทั้งยังทำเป็นไร่มะนาวและสวนไม้ผลหลากหลายชนิดโดยไม่ถูกดำเนินคดีอย่างจริงจัง
จริงอยู่ว่าแม้ตำรวจสภ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี จะเคยเข้าตรวจสอบภายในบริเวณรีสอร์ทของนายวัฒน์ แล้วพบว่ามีบ้านพักขนาดใหญ่สูง 2 ชั้น ด้านนอกสร้างด้วยอิฐแต่ด้านในสร้างและตกแต่งด้วยไม้หายากแทบทั้งหลัง เฟอร์นิเจอร์ในบ้านทุกชิ้นเป็นไม้ราคาแพง โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม้มะค่าและไม้พะยูง ทั้งยังมีบ้านพักอีกหลายหลัง นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่ยังพบลูกปืนเอ็ม 16 อยู่ในกล่องกระดาษกว่า 100 ลูก ส่วนไม้ที่นำมาสร้างและตกแต่งบ้าน เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้ถ่ายภาพไว้เป็นหลักฐานเพื่อนำไปตรวจสอบร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
แต่ตราบจนบัดนี้ก็ยังไร้วี่แววของการดำเนินคดีเอาผิดกับอดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานผู้ที่นำพื้นที่ป่าสงวนไปสร้างบ้านพักขนาดใหญ่โตมโหฬาร บนโครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติที่ตนเองเป็นผู้ดูแล แต่อย่างใด
ยิ่งสืบสาวลึกลงไป จึงมิเพียงพบเห็นเครือข่ายที่เกาะกลุ่มกันเหนียวแน่น ทว่า ยังได้เห็นถึงความฉ้อฉลดำมืดบางจุดบางตำแหน่งในวงการอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช การรู้เห็นเป็นใจของ “คนใน” ที่พร้อมจะหลับตาข้างเดียวเพื่อเปิดทางให้การกระทำผิดกฏหมายในรูปแบบต่างๆ เป็นไปอย่างสะดวกและง่ายดาย ทั้งยังมีพวกพ้องที่พร้อมจะปกป้องและมีผู้มีอิทธิพลคอยหนุนหลัง
กรณีสร้างรีสอร์ทบุกรุกป่าสงวนเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่เห็นได้ชัด มิพักต้องเอ่ยถึงอีกสารพัดเรื่องราวความดำมืดในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ที่นอกเหนือไปจากช้างสองเชือกซึ่งถูกฆ่าตายในครั้งนี้แล้ว ยังมีอีกหลายต่อหลายครั้งที่สัตว์ป่าถูกฆ่าอย่างเหี้ยมโหดตามออเดอร์ที่ได้รับมา โดยผู้กระทำผิดยังลอยนวล เพราะหากย้อนกลับไปเมื่อปีที่แล้ว ในบริเวณอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน มีช้างไม่ต่ำกว่า 8 เชือกเสียชีวิต ซึ่งหนึ่งในแปดเชือกนั้น มีคนในพื้นที่ยืนยันว่าเป็นช้างที่ถูกฆ่าตาม ‘ออเดอร์’ ของนักการเมืองผู้มีอิทธิพล
นอกจากช้างแล้ว ยังมีคำบอกเล่าจากชาวบ้านในพื้นที่ว่าก่อนนี้ในบริเวณอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน มีจระเข้น้ำจืดอาศัยอยู่ ซึ่งในบางครั้งหากพบเศษเนื้อสัตว์หรือซากสัตว์ตายใหม่ๆ ชาวบ้านก็มักจะนำมาให้จระเข้ตัวนี้ ครั้นต่อมา เมื่อมีชาวบ้านแจ้งแก่เจ้าหน้าที่ผู้หนึ่งในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานว่าพบเห็นจระเข้น้ำจืด ไม่นานนักเจ้าหน้าที่ผู้นั้นก็มาเก็บเอาไข่จระเข้ไปด้วยมุ่งหมายจะนำไปฟักเลี้ยงตาม ‘คำสั่ง’ แต่เมื่อนำไปไว้ในสถานที่ผิดธรรมชาติ ระบบนิเวศน์แตกต่างจากที่ตัวอ่อนคุ้นเคย ไข่จระเข้ที่ถูกนำไปจึงไม่ฟักเป็นตัว เป็นเหตุให้จากนั้นไม่นานนัก จระเข้น้ำจืดตัวดังกล่าว ก็ถูก ‘อุ้มหาย’ สาบสูญไปอย่างไร้ร่องรอย
ใครคือเจ้าหน้าที่ผู้นั้น ใครคือผู้ที่คอยรับ ‘ออเดอร์’ สัตว์ป่าหายาก ทำไมนายชัยวัฒน์ และตระกูลดังเมืองเพชรบุรี จึงสามารถเข้าครอบครองพื้นที่ป่าสงวนโดยคดีไม่มีความคืบหน้า และทำไมอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ นายดำรงค์ พิเดช จึงต้องปกป้องนายชัยวัฒน์ ตลอดมา ล้วนแล้วแต่เป็นข้อกังขาที่สังคมรอคอยคำตอบ
ตราบใดที่คำถามเหล่านี้ยังไม่ได้รับการไขข้อข้องใจ สังคมไทย คงต้องช่วยกับจับตาและตรวจสอบอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้วงจรการค้าสัตว์ป่า การฆ่าและการทำลายหลักฐานอย่างทารุณ เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าบนผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดของเมืองไทย