ASTVผู้จัดการออนไลน์ - กัมพูชาวาดหวังสองชาติรื้อฟื้นการเจรจาการพัฒนาทรัพยากรปิโตรเลียมในพื้นที่เขตทับซ้อนในอ่าวไทยในโอกาส “ยิ่งลักษณ์” เยือนกัมพูชาอย่างเป็นทางการ 15 ก.ย.นี้ ก่อน “ทักษิณ” บินร่วมสัมมนาอนาคตเศรษฐกิจเอเชียที่กรุงพนมเปญในวันถัดไป ขณะที่เชฟรอนยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานสัญชาติอเมริกันหยิบชิ้นปลามันยึดครองสัมปทานของทั้งสองฝั่งไว้ในมือ
กำหนดการเยือนกัมพูชาของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทย ในวันที่ 15 กันยายน 2554 แม้จะเป็นการเยือนในวาระโอกาสที่ขึ้นรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ด้วยปัญหาระหว่างไทย-กัมพูชาที่ค้างคามาตั้งแต่รัฐบาลอภิสิทธิ์ ทำให้ผู้เกี่ยวข้องทั้งสองฝ่ายต่างคาดหมายว่าจะมีการหยิบยกเรื่องที่เป็นประเด็นสำคัญขึ้นมาหารือ
ทางฝ่ายไทยนั้น สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ บอกว่า นายกรัฐมนตรีของไทย อาจมีการเจรจาเรื่องการขอให้ปล่อยตัว วีระ สมความคิด และ ราตรี พิพัฒนาไพบูลย์ แกนนำกลุ่มคนไทยหัวใจรักชาติ ที่ถูกจำคุกอยู่ในเรือนจำที่กรุงพนมเปญ
อย่างไรก็ตาม สำหรับประเด็นอื่นที่ยังค้างคาทั้งปัญหาเขตแดนทางบก โดยเฉพาะกรณีปราสาทพระวิหาร การถอนทหารออกจากบริเวณปราสาทพระวิหารของทั้งสองฝ่าย และการอนุญาตให้ผู้สังเกตการณ์เข้ามายังบริเวณพื้นที่พระวิหารตามคำสั่งศาลโลก รวมทั้งการเจรจาเรื่องการแบ่งเขตทางทะเลและการพัฒนาพื้นที่ร่วม ซึ่งต้องมีการเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์ในพื้นที่ทับซ้อน ไม่เป็นที่ชัดเจนว่าคณะผู้นำของไทยจะหยิบยกเรื่องต่างๆ ดังกล่าวขึ้นมาหารือหรือไม่
ขณะที่ฟากฝั่งกัมพูชา สำนักข่าวซินหัวของจีน และสื่อของกัมพูชา อ้างคำแถลงและการให้สัมภาษณ์ของ ซก อาน รองนายกรัฐมมนตรีกัมพูชา ว่า ปัญหาที่ต้องแก้อย่างเร่งด่วน คือ บริเวณพื้นที่ปราสาทเขาพระวิหาร ซึ่งแน่นอนว่า ทาง น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายกฯ ของไทย กับทางสมเด็จฮุนเซน จะหยิบยกมาเป็นวาระในที่ประชุม
ซก อาน รองนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ในฐานะประธานการปิโตรเลียมแห่งชาติกัมพูชา ยังยืนยันว่า ไทย-กัมพูชาควรรื้อฟื้นการเจรจาเรื่องการร่วมพัฒนาทรัพยากรน้ำมันในพื้นที่ทับซ้อนในอ่าวไทย ซึ่งในระหว่างการมาเยือนกัมพูชาของนายกรัฐมนตรีของไทย จะมีการหยิบยกเรื่องพื้นที่ทับซ้อนในอ่าวไทยขึ้นมาหารือ เพราะเชื่อว่าบริเวณนั้นเป็นแหล่งที่อุดมด้วยน้ำมันดิบและแหล่งสำรองแก๊สธรรมชาติ “เราจะไม่เก็บทองคำสีดำไว้ เราต้องการนำออกมากลั่น”
นายซก อาน กล่าวว่า เขากำลังรอที่จะพูดคุยกับน.ส.ยิ่งลักษณ์ในเชิงเพิ่มผลผลิตและการพูดคุยครั้งนี้จะมีการเปิดเผยต่อสาธารณะ
การไปเยือนกัมพูชาของ ยิ่งลักษณ์ มีขึ้นในวันที่ 15 กันยายน 2554 ในวันถัดไป พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย พี่ชายของ ยิ่งลักษณ์ มีกำหนดเดินทางไปร่วมสัมมนาเรื่องอนาคตของเอเชียในด้านเศรษฐกิจ ที่กรุงพนมเปญ ระหว่างวันที่ 16-24 กันยายน 2554
สมเด็จฮุนเซน บอกว่า กำหนดการของพ.ต.ท.ทักษิณ กำหนดไว้ล่วงหน้าก่อนที่นายกรัฐมนตรีของไทยจะไปเยือนกัมพูชา และยืนยันว่าไม่ได้มีการหารือเรื่องน้ำมันหรือก๊าซฯ ใดๆ เพราะทักษิณ ไม่ได้มีหน้าที่มาเจรจาในเรื่องดังกล่าว เพราะเป็นหน้าที่ของรัฐบาลไทย
แม้จะมีความคลุมเครือในประเด็นที่จะหยิบยกขึ้นมาหารือของนายกรัฐมนตรีทั้งสองประเทศ แต่จากการให้สัมภาษณ์ของ ซก อาน รองนายกรัฐมนตรีของกัมพูชา เป็นที่ชัดเจนว่า กัมพูชาเตรียมการหารือกับไทยในเรื่องสำคัญทั้งเรื่องเขตแดนทางบกและเขตแดนทางทะเลซึ่งเรื่องทางทะเลนั้นมีประเด็นหลักอยู่ที่เรื่องการพัฒนาพื้นที่ร่วม ไม่เฉพาะแต่ ซก อาน เท่านั้นที่รอการหารือกับยิ่งลักษณ์ ทางสมเด็จฮุนเซน ก็ไม่ได้ปฏิเสธอย่างสิ้นเชิงว่าจะไม่มีการเจรจาเรื่องนี้กับรัฐบาลไทย
การเตรียมการเจรจาเรื่องการพัฒนาพื้นที่ร่วม ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงประจวบเหมาะในระหว่างที่ ยิ่งลักษณ์ - ทักษิณ เดินทางไปเยือนกัมพูชานั้น เป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะก่อให้เกิดข้อกังขาจากสังคม แม้ว่าฝ่ายที่สงสัยถึงการเข้าไปมีผลประโยชน์ในธุรกิจพลังงานของ ทักษิณ ในเขตพื้นที่ทับซ้อนไทย - กัมพูชา นับตั้งแต่ช่วงที่เขายังเรืองอำนาจในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของไทย ซึ่งมีการจัดทำบันทึกความเข้าใจไทย - กัมพูชาเรื่องการเจรจาสิทธิในอ่าวไทย หรือ MOU 2544 และในฐานะที่ปรึกษาทางด้านเศรษฐกิจของกัมพูชาก่อนหน้านี้จะยังคลุมเครืออยู่จนถึงวันนี้ก็ตาม
ในขณะที่ผู้นำสองชาติและอดีตผู้นำของไทย มีโอกาสพบปะเจรจากันนั้น ในอีกด้านหนึ่งก็เมื่อมีข่าวจากสื่อของกัมพูชาและสื่อต่างชาติ รายงานว่า Steve Glick ประธานของกลุ่ม Chevron ได้บินตรงจากสหรัฐฯ เข้าไปปฏิบัติภารกิจในกัมพูชาเป็นกรณีพิเศษในนับแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยมีกำหนดเวลาปฏิบัติภารกิจคราวนี้เป็นเวลา 3 เดือนติดต่อกัน โดยกลุ่มเชฟรอน แถลงยืนยันถึงการเดินหน้าสำรวจ ขุดค้นน้ำมันและแก๊สธรรมชาติในทะเลอ่าวไทย
ความน่าสนใจในการเคลื่อนไหวของกลุ่มเชฟรอนครั้งนี้ แม้ประธานของกลุ่มเชฟรอน จะไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับแผนการลงทุนและผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับการลงทุน แต่ที่ผ่านมาถือได้ว่า กลุ่มเชฟรอน เป็นกลุ่มธุรกิจพลังงานหลักที่มีความเคลื่อนไหวในการลงทุนในกัมพูชามากที่สุด โดยกลุ่มเชฟรอน ได้เริ่มสำรวจหาแหล่งน้ำมันและก๊าซในเขตไหล่ทวีปของกัมพูชา มาตั้งแต่ปี 2545
ทั้งนี้ จากรายงานผลการดำเนินประจำปี 2553 ของกลุ่มบริษัทเชฟรอน ได้ระบุการลงทุนในกัมพูชาว่า เชฟรอน ได้เข้าดำเนินการสำรวจและขุดเจาะในพื้นที่ 1.2 ล้านเอเคอร์ (4,709 ตารางกิโลเมตร) ในบล็อก เอ ในอ่าวไทย ซึ่งเมื่อปี 2553 ที่ผ่านมา บริษัทประสบความสำเร็จในการขุดเจาะในพื้นที่บล็อก เอ ดังกล่าว และคาดว่ารัฐบาลกัมพูชา จะอนุมัติสัมปทานระยะเวลา 30 ปีภายในไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 เชฟรอน ยังระบุว่า การตัดสินใจขั้นสุดท้ายเกี่ยวกับการลงทุนในการพัฒนาแท่นขุดเจาะและคลังเก็บลอยน้ำคาดว่าจะเกิดขึ้นภายในปี 2554 ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้บริหารของเชฟรอนจะบินเข้า-ออกกัมพูชาเพื่อให้ภารกิจนี้บรรลุผล
นอกจากการได้สัมปทานสำรวจและขุดเจาะในพื้นที่บล็อก เอ ในพื้นที่อ่าวไทยฝั่งกัมพูชาแล้ว กลุ่มเชฟรอน ยังถือครองสัมปทานสำรวจและขุดเจาะในพื้นที่ทับซ้อนในอ่าวไทยระหว่างไทยกับกัมพูชา โดยรัฐบาลไทยได้ให้สัมปทานแก่กลุ่มเชฟรอนและผู้ร่วมทุน ครอบคลุมพื้นที่ทับซ้อนทั้งหมด นับจาก บล็อก 5, 6, 7, 8, 9, 10, 11, 12 และ 13 ส่วนกัมพูชา ซึ่งแบ่งพื้นที่เขตทับซ้อนกับไทย ออกเป็น 4 แปลง ได้ให้สัมปทานแก่บริษัทต่างชาติครอบคลุมทุกแปลงเช่นเดียวกันกับไทย (ดูรายละเอียดในตาราง)
ตาราง การให้สัมปทานพื้นที่ทับซ้อนในอ่าวไทย ระหว่างประเทศไทยกับประเทศกัมพูชา
----------------------------------------------------------------------------------------------
พื้นที่ทับซ้อน ประเทศไทย ประเทศกัมพูชา
----------------------------------------------------------------------------------------------
พื้นที่ 1 ไทยแลนด์ บล็อก 5 และ 6 LLC(20) โคโนโค(57)
บล็อก5 และ6 อิเดนมิตซึ ออยล์แอนด์แก๊ส(50) อิเดนมิตซึ (33)
เชฟรอน ไทยแลนด์ อีแอนด์พี(20)
ยูโนแคล(เชฟรอน) บล็อก5และ6(10)
พื้นที่ 2 บริติช แก๊ส เอเชีย(50) โคโนโค(67)
บล็อก 7, 8 และ 9 เชฟรอน โอเวอร์ซีส์ฯ(33.33) อิเดนมิตซึ(33)
ปิโตรเลียม รีซอส (16.67)
พื้นที่ 3 เชฟรอน(60) เอ็นเตอร์ไพรส(50)
บล็อก 10, 11 โมอีโค(40) บีเอชพี(50)
พื้นที่4 เชฟรอน(60) บีเอชพี(50)
บล็อก 12, 13 โมอีโค(40) อินเพ็ก(50)
----------------------------------------------------------------------------------------------
แหล่งข้อมูล : 6th PPM Cambodia Case Study Workshop Siem Reap, Cambodia February 21-25, 2006
เมื่อพิจารณาถึงการถือครองสัมปทานปิโตรเลียมของกลุ่มเชฟรอนที่อยู่ในมือทั้งสองฝั่งแล้ว หากรัฐบาลไทยและกัมพูชาสามารถเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์ในพื้นที่พัฒนาร่วมลงตัว จะทำให้ทั้งไทย กัมพูชา และบริษัทพลังงานข้ามชาติต่างฝ่ายต่างสมประโยชน์ ฝ่ายไทยจะมีแหล่งเชื้อเพลิงธรรมชาติมาป้อนความต้องการภายในประเทศ ฝ่ายกัมพูชาก็จะได้นำ "ทองคำสีดำ" ขึ้นมาพัฒนาเศรษฐกิจ ขณะที่บริษัทข้ามชาติก็จะร่ำรวยมั่งคั่งจากขุมพลังงานที่มีการประเมินเบื้องต้นว่ามีมูลค่ามหาศาลถึง 5 ล้านล้านบาท