***“วิถีชีวิตท้องถิ่นจะถูกกลืนกินไปทีละเล็กละน้อย” อรุณรักษ์ อ่อนวิมล โฆษกสาวใหญ่แห่งตลาดสามชุกสะท้อนข้อกังวลของเธอและชาวตลาดร้อยปีสามชุกให้ฟัง เมื่อห้างยักษ์เทสโก้ โลตัส ปักธงลงเสาเข็มเร่งวันเร่งคืนก่อสร้างในเขตเทศบาลตำบลสามชุกเวลานี้
กรณีตลาดสามชุกกับเทสโก้ฯ เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ชี้ให้เห็นถึงแนวปะทะระหว่างทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ตะกละตะกรามกับความเป็นท้องถิ่นที่ต้องการคงตัวตนและความอยู่รอดของตัวเอง แม้ว่าในวินาทีนี้ พวกเขาจะกำลังเผชิญบททดสอบอันหนักหน่วงและโดดเดี่ยว ก่อนที่ “ตลาดมีชีวิต พิพิธภัณฑ์มีชีวา” แห่งนี้จะสุ่มเสี่ยงต่อการดับสูญพ่ายแพ้ไป
การต่อสู้ของพ่อค้าแม่ค้าในตลาดร้อยปีสามชุก จ.สุพรรณบุรี เป็นภาพขยายการรุกรานทุนท้องถิ่นของทุนโลกาภิวัตน์ พวกเขามีทั้งความกังวลใจต่อปัญหาด้านเศรษฐกิจที่ปลาตัวเล็กต้องเผชิญการไล่ล่าจากปลาใหญ่
***แถมยังเป็นปลาตัวใหญ่ที่ทำทุกอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งผลกำไรสูงสุด โดยมิติอันงดงามด้านอื่นๆ ถูกมองข้ามไปอย่างไม่ใยดี มิหนำซ้ำทุนบริโภคอย่างพวกเขาก็ไม่แคร์ต่อความขัดแย้งแตกแยกในระดับชุมชนที่เป็นพื้นที่เป้าหมายในการขยายสาขาแต่อย่างใด ไม่พักต้องพูดถึงคุณค่าอื่นๆ ที่แทรกลึกอยู่ในชุมชน ทุนใหญ่เหล่านี้คงมองไม่เห็นเช่นกัน
นอกเหนือจากนั้น ชาวชุมชนยังมีความกังวลในส่วนลึกของหัวใจ ด้วยว่าชุมชนการค้าที่มวลสมาชิกชุมชนต่างร่วมมือร่วมใจฟื้นฟูให้ภาพในอดีตของตลาดกลับคืนมามีชีวิตชีวาด้วยความเหนื่อยยากจะต้องจางหายไปอีกครั้ง หลังจากพายุบริโภคนิยมกระหน่ำลงในพื้นที่ทำลายวิถีชีวิตเมืองชนบท จนทำให้ “เสน่ห์” ที่มีชีวิตของตลาดสามชุกเลือนหายไป
ความกังวลจะไม่หนักหนาเท่านี้ หากพวกเขาไม่ได้ลงแรงรวมตัวฟื้นฟูตลาดเก่าแก่ที่ประกอบด้วยบ้านไม้เก่าๆ ผุๆ เมื่อ 7 ปีก่อน พร้อมกับการจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาตลาดสามชุกเชิงอนุรักษ์เพื่อเป็นกลไกของชุมชนในการสร้างทางเลือกที่เป็นความต้องการของชาวชุมชน แทนที่จะรื้อตลาดทิ้งและพัฒนาเป็นตลาดอาคารพาณิชย์สมัยใหม่เหมือนในพื้นที่อื่นๆ ตามแผนการของธนารักษ์ อันเป็นเจ้าของพื้นที่
***กระทั่งปัจจุบัน ตลาดร้อยปีสามชุก เป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของ จ.สุพรรณบุรี มีนักท่องเที่ยวเฉลี่ยเดือนละ 3 หมื่นคน มีเงินสะพัดไม่ต่ำกว่าเดือนละ 6 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น ประจำปี 2548 จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมป์ ขณะที่กรมศิลปากรได้เห็นชอบให้พื้นที่และอาคารภายในตลาสดสามชุกร้อยปีจัดเป็นโบราณสถานประเภท “ย่านประวัติศาสตร์” ที่มีความสำคัญในด้านประวัติศาสตร์ชุมชนและรูปแบบอาคารพื้นถิ่นเมื่อตอนต้นปีที่ผ่านมา
แน่นอนว่า สิ่งเหล่านี้ต้องแลกมาด้วยการร่วมใจและร่วมเหน็ดเหนื่อยมาด้วยกัน กว่าที่จะฟื้นสิ่งที่เกือบสูญหายไปแล้วกลับมาได้อย่างทุกวันนี้
***กระแสบริโภคนิยมพัดพาวิถีชีวิตเปลี่ยน
หากมองจากมุมที่เชื่อมั่นในพลังของชุมชนชาวตลาดร้อยปีสามชุกที่สามารถฟื้นฟูตลาดสามชุกให้หวนคืนมีชีวิตจนสำเร็จ อาจเห็นว่าการเข้ามาของห้างยักษ์เทสโก้ โลตัส คงไม่สามารถสร้างแรงสะเทือนต่อวิถีขนบประเพณีวัฒนธรรมชุมชนของชาวสามชุกได้ เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่มีให้สัมผัสใน เทสโก้ โลตัส แน่
ทว่า ข้อสะท้อนที่เชื่อมโยงวิถีชีวิตและเศรษฐกิจชุมชนของพวกเขาชี้ให้เห็นว่า ไม่ช้าก็เร็ว หายนะจะมาเยือนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
อรุณลักษณ์ บอกว่า กลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรงแน่ๆ คือร้านโชวห่วยหรือร้านค้าปลีกรายย่อยที่อยู่ในตลาด เมื่อร้านค้าเหล่านี้ซบเซาลงก็จะฉุดดึงให้สภาพบรรยากาศของตลาดโดยรวมค่อยๆ เงียบเหงาลง เพราะลูกค้าในพื้นที่และใกล้เคียงคือกลุ่มที่ช่วยหล่อเลี้ยงชาวตลาดสามชุกในวันปกติธรรมดา ส่วนวันหยุดสุดสัปดาห์จึงจะมีกลุ่มนักท่องเที่ยวเข้ามา
***ยิ่งเมื่อมองในระยะยาว อรุณลักษณ์ บอกว่า จะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้คนในพื้นที่ โดยเฉพาะเรื่องการบริโภคที่เปลี่ยนไป ส่งผลให้วิถีชุมชนที่สู้อุตส่าห์ฟื้นฟูมาก็เปลี่ยนไป ท้ายที่สุด ความงดงามของวิถีชีวิตแบบตลาดสามชุก ก็อาจไม่หลงเหลือให้คนท้องถิ่นภูมิใจและนักท่องเที่ยวได้มาสัมผัส
“ 7 ปีที่ผ่านมาเราเหนื่อยมาก แต่เพราะว่าเราทำงานเป็นทีม พร้อมใจกันฟื้นฟูชุมชน ไม่มีความขัดแย้ง เราจึงประสบความสำเร็จ แต่พอมาสู้กับห้างเทสโก้ฯ ชุมชนเราก็สู้ แต่ก็มีแบ่งเป็น 2 ฝ่าย คือฝ่ายหนุนให้สร้างก็มี เราก็ค้านไม่ให้สร้าง เรื่องมันถึงได้เกิดอย่างนี้” วิบูลย์ จึงเจริญสุขยิ่ง อีกหนึ่งแกนนำชาวตลาดสามชุก บอกเล่าถึงรอยปริแยกของชุมชนอันเนื่องมาจากการขยายสาขาเข้ามาของเทสโก้ฯ
แต่เรื่องที่เหนื่อยใจไปมากกว่านั้นก็คือ ผู้ผลักดันโครงการนี้หลักๆ แล้วคือนักการเมืองท้องถิ่น ผู้รั้งตำแหน่งนายกเทศมนตรี ซึ่งเป็นลูกหลานในตลาดร้อยปีสามชุก นั่นเอง
***นักการเมืองหนุนหลัง
วิโรจน์ วัชรคงศักดิ์ แกนนำอีกคน เล่าให้ฟังว่า พวกเขาถูกปกปิดเรื่องการก่อสร้างห้างเทสโก้ฯ จากเทศบาลตำบลมาเป็นเวลาหลายเดือนกว่าจะรับรู้แน่ชัดแล้วว่ากำลังจะมีการก่อสร้างก็ต่อเมื่อมีการติดต่อขอเช่าที่ดินของตัวเองเพื่อสร้างแคมป์พักคนงาน ทั้งที่ก่อนหน้านั้น หลังจากมีข่าวกระเซ็นกระสาย ชาวตลาดร้อยปีฯ ได้สอบถามไปยังนายกเทศมนตรี ลูกหลานชาวตลาดสามชุกว่ามีใครมาขอแจ้งขอเปิดห้างหรือไม่ แต่ก็ได้รับคำตอบว่ายังไม่มีตลอดมา
กระทั่ง พวกเขามารู้ที่หลังว่าตัวแทนของเทสโก้ฯ ได้มีการแจ้งก่อสร้างตามมาตรา 39 ทวิ ใน พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค. 2550 แล้ว
นี่คือความไม่ชอบมาพากลแรกๆ ที่ชาวตลาดเริ่มรู้สึกได้ เพราะกว่าจะรู้ว่ามีห้างยักษ์ “มาลง” ก็ปาเข้าต้นเดือน ก.ค. ซ้ำร้ายกว่านั้น พวกเขามารู้ทีหลังด้วยว่าที่ดินตรงสี่แยกสามชุกอันเป็นที่ตั้งโครงการห้างเทสโก้ฯ ขนาด 7,361 ตารางเมตร เป็นการเช่าจากลูกชายนายกเทศมนตรี ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นเลขานุการนายกเทศมนตรี และในปัจจุบันเป็นรองนายกเทศมนตรี มาถึงตรงนี้ พวกเขาจึงได้ถึงบางอ้อ !
การเคลื่อนไหวคัดค้านเทสโก้ฯ ของชาวตลาดร้อยปีสามชุก เริ่มจากก่อรูปขึ้นบนพื้นฐานของกลุ่มที่ร่วมฟื้นฟูตลาดกันขึ้นมา ตลอดจนชาวบ้านรอบนอกที่กังวลต่ออนาคตของท้องถิ่นของพวกเขา โดยมีทั้งการทำหนังสือร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ เพื่อขอให้เพิกถอนการขอก่อสร้าง การชุมนุมปราศรัย ติดป้ายผ้ารณรงค์ รวมถึงรณรงค์ให้นักท่องเที่ยวตระหนักถึงวิกฤตหลังห้างยักษ์มา เรื่อยไปจนถึงทำเพลงรณรงค์ “ต้านโลตัส” ด้วยจังหวะสามช่าอันเป็นกิจกรรมต่อสู้อันโดดเด่นของสามชุก
***ฟ้องศาล-ยื่นป.ป.ช.สอบผลประโยชน์ทับซ้อน
ชาวตลาดสามชุก ยังกลุ่มพื้นที่แรกๆ ที่เข้ายื่นฟ้องร้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้มีศาลเพิกถอนคำสั่งอนุญาตให้มีการก่อสร้างห้างเทสโก้ฯของนายกเทศมนตรี
นายพงษ์วิน ชัยวิรัตน์ ประธานคณะกรรมการพัฒนาตลาดสามชุกเชิงอนุรักษ์และชาวตลาดรวม 9 คน ได้ยื่นฟ้องในวันที่ 10 ส.ค. 2550 ในบรรยายคำฟ้องชี้ประเด็นการอนุญาตดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 7 ก.พ. 2550 ที่ให้มีการรับฟังความเห็นของประชาชนในพื้นที่ก่อนและกำชับให้พิจารณาให้ถูกต้องกฎหมายอย่างเคร่งครัด แต่ก็ไม่มีการรับฟังความเห็นแต่อย่างใด
คำสั่งดังกล่าวยังขัดกับประกาศกรมโยธาธิการและผังเมืองว่าด้วยการใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินท้องที่ จ.สุพรรณบุรี ซึ่งกำหนดว่าอาคารพาณิชยกรรมประเภทค้าปลีกค้าส่งขนาดเกิน 1,000 ตารางเมตร ต้องห่างจากเขตเทศบาลไม่น้อยกว่า 15 กิโลเมตร
***ทว่าในข้อเท็จจริง เทสโก้ฯ กลับสร้างอยู่ในเขตเทศบาลและห่างจากสำนักงานเขตเทศบาลตำบลสามชุกเพียง 1.2 กิโลเมตรเท่านั้น
และถึงแม้จะมีการแจ้งการก่อสร้างก่อนที่จะมีประกาศบังคับใช้ในวันที่ 19 พ.ค. 2550 แต่ก็ยังไม่ได้มีการก่อสร้างหรือการตอกเสาเข็มแต่อย่างใด ทั้งนี้ ชาวตลาดผู้ฟ้องได้ถ่ายภาพความเปลี่ยนแปลงในที่ดินและลงบันทึกประจำวันไว้ที่ สภ.อ.สามชุกเพื่อเป็นหลักฐานประเด็นนี้อย่างแน่นหนา
***นอกจากนี้ ยังมีประเด็นผลประโยชน์ทับซ้อนกรณีที่ดินของลูกชายนายกเทศมนตรี ที่พวกเขายังได้ยื่นไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อให้มีการตรวจสอบด้วย
แต่ทว่า เมื่อวันที่ 27 ก.ย. ที่ผ่านมา ศาลปกครองกลาง ได้พิจารณาประเด็นอำนาจการฟ้องและมีคำสั่งไม่รับฟ้อง เนื่องจากเห็นว่าไม่มีที่ดินของผู้ฟ้องรายใดอยู่ใกล้ชิดหรือติดต่อกับอาคารพิพาท ดังนั้น ผู้ฟ้องจึงไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะมีอำนาจฟ้อง พวกเขาแทบทรุดรับคำตัดสินของศาล เพราะเชื่อว่าอำนาจศาลปกครอง จะสกัดกั้นห้างยักษ์ที่จะเข้ามาทำลายชุมชนได้
เวลานี้ พวกเขาได้ยื่นอุทธรณ์ตามสิทธิ เพื่อชี้ให้เห็นว่าอย่างไรเสียพวกเขาจะเป็นผู้เสียหายแน่นอน หากห้างเทสโก้ฯ ผุดขึ้นจริงๆ
ถึงบัดนี้ ไม่เฉพาะการต่อสู้อันหลากหลายรูปแบบที่ไร้การเหลียวแลจากบรรดานักการเมืองท้องถิ่นแล้ว นักการเมืองระดับชาติ ผู้ที่น่าจะเป็นที่พึ่งพิงให้กับชาวสามชุกเมืองสุพรรณฯ ได้ ก็ยังไม่มีความชัดเจนให้พอคาดหวังได้
***แกนนำตลาดสามชุก อย่าง วิบูลย์ ผู้มีฐานะเป็นสมาชิกสภาเทศบาล เห็นว่า กรณีห้างยักษ์นี่เองที่เป็นคำถามว่ารัฐบาลมีเจตนาจะให้เศรษฐกิจรากหญ้าแข็งแรงและเลี้ยงดูตัวเองได้จริงๆ หรือไม่ ในการหาเสียงเลือกตั้งปลายปีนี้ก็ต้องฝากถามนักการเมืองในพรรคต่างๆ ด้วยว่า คิดจะแก้ปัญหาของธุรกิจค้าปลีกนี้อย่างไร หรือจะปล่อยให้ทุนจากต่างชาติรวยขึ้นทุกวัน ในขณะที่รากหญ้าแห้งตายไป
“รัฐบาลหน้าจะต้องคิดหาทางแก้ไข ก่อนที่จะเสียหายไปมากกว่านี้” วิบูลย์ กล่าวทิ้งท้าย