xs
xsm
sm
md
lg

ชั้นเชิง“เชียงคำ”ต่อกรเทสโก้ แนะระดมสมองทีมทนายสู้คดี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รายงานพิเศษ “บทเรียนต้านยักษ์ค้าปลีกด้วยกระบวนตุลาการภิวัฒน์” ความยาว 3 ตอนจบ

(ตอนที่ 2)

ผู้จัดการรายวัน – ชมรมพ่อค้าเชียงคำแนะเคล็ดลับฟ้องเจ้าพนักงานละเว้นปฏิบัติหน้าที่คดีเทสโก้ โลตัส รุกขยายสาขาอย่างไรให้ศาลปกครองรับฟ้อง เชื่อมั่นพลังมวลชนประสานการระดมสมองของทีมทนายจากทั่วประเทศนำคดีขึ้นสู่ศาลเพื่อธำรงความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมไทยได้


การคัดค้านเทสโก้ โลตัส ของบรรดาผู้ประกอบการรายย่อยที่อ.เชียงคำ เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีสีสัน เพราะมักมีการชุมนุมอยู่เนืองๆ ทว่าภายใต้การเดินขบวนชูป้ายเรียกร้องและประณามแล้ว พวกเขาก็ไม่ต่างกับอีกหลายพื้นที่ที่ใช้วิธีการ “เดินหนังสือ” ควบคู่ไปกับการ “เดินขบวน” และ ณ เวลานี้ การต่อสู้กับยักษ์เทสโก้ฯ และเจ้าหน้าที่รัฐฯ ดำเนินมาสู่การยื่นฟ้องศาลปกครอง

การยื่นฟ้องศาลของชาวเมืองเชียงคำ ถือเป็นกรณีศึกษาในเรื่องการนำคดีฟ้องร้องต่อศาลปกครองที่ศาลมีคำสั่งรับฟ้อง เช่นเดียวกับสุโขทัย จากคดีที่ผู้ประกอบการรายย่อยทั่วประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการขยายสาขาของทุนค้าปลีกยักษ์ใหญ่ ยกขึ้นสู่ศาลปกครองทั้งหมด 9 คดี ซึ่งอีก 7 คดีที่เหลือศาลปกครองไม่รับคำฟ้อง

กระบวนการต่อสู้ด้วยการพึ่งพาตุลาการภิวัฒน์ของเชียงคำ มีจังหวะก้าวเดินอย่างไร ผู้ฟ้องคดีและประเด็นที่ยกขึ้นมาต่อสู้มีความเหมือนและความต่างไปจากคดีอื่นๆ ที่ถูกปิดประตูตายแต่แรกอย่างไร ชัยพร วงศ์สถาพรชัย ประธานชมรมพ่อค้าอำเภอเชียงคำ และทีมทนายความ ถอดบทเรียนให้ผู้ประกอบการรายย่อยในพื้นที่อื่นๆ ที่กำลังคิดพึ่งศาลปกครองได้ร่วมเรียนรู้

การเคลื่อนไหวของชาวเชียงคำในช่วงแรกนั้น ชัยพร ให้ภาพว่า เป็นไปในลักษณะที่โดดเดี่ยว มวลชนก็อยู่กระจายตัว ขณะที่พ่อค้าบางคนก็ไม่กล้าแสดงออก เพราะต่างก็หวาดกลัวว่าจะถูกกลั่นแกล้งจากผู้ที่ได้ประโยชน์จากการสร้างห้างยักษ์นี้ ด้วยเหตุนี้ หนทางในการต่อสู้ครั้งสุดท้าย คือ การหวังพึ่งศาลปกครอง

เมื่อวันที่ 25 ก.ค.2550 ประสิทธิ์ เหลี่ยมไพบูลย์ ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย ได้รับมอบหมายจากชมรมพ่อค้าอำเภอเชียงคำฟ้องต่อศาลปกครองจังหวัดเชียงใหม่เป็นคดีหมายเลขดำที่ 210/2550 โดยมี ชัยพร วงศ์สถาพร และพวกรวม 38 คน เป็นผู้ฟ้อง ขณะที่มีนายกเทศมนตรีและเทศบาลตำบลเชียงคำ เป็นผู้ถูกฟ้อง

ข้อกล่าวหาผู้ถูกฟ้องคดี คือ ละเว้นการเพิกถอนใบรับแจ้งการก่อสร้างหรือยกเลิกสิทธิในการก่อสร้างอาคารของเทสโก้ฯ ซึ่งขัดกับประกาศกรมโยธาธิการและผังเมือง เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินเพื่อประโยชน์ในการวางและจัดทำผังเมืองรวม ในท้องที่ จ.พะเยา พ.ศ.2550 ซึ่งมีรายละเอียดระบุว่าในเขตเทศบาลจะมีห้างค้าปลีกได้เฉพาะขนาด 300 – 1,000 ตร.ม. เท่านั้น

ขณะที่พื้นที่ก่อสร้างห้างเทสโก้ฯ มีขนาด 7,718 ตร.ม. เป็นขนาดพื้นที่ที่เกินกว่ากำหนดไว้ในประกาศ

ทั้งนี้ แม้ว่าทางเทสโก้ฯ จะแจ้งความประสงค์ไว้เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2550 มาแล้วก่อนหน้า พร้อมทั้งระบุว่ามีการก่อสร้างในวันที่ 20 พ.ค.2550

ทว่าประกาศกรมโยธาธิการและผังเมืองฉบับดังกล่าว ประกาศใช้ในวันที่ 19 พ.ค. 2550 ในระหว่างนั้น การก่อสร้างยังไม่ได้ลงเสาเข็มอันเป็นเงื่อนไขที่คณะกรรมการกฤษฎีกาเคยตีความไว้ว่าเป็นการเริ่มก่อสร้าง หรือในที่นี้คือการใช้สิทธิตามที่ได้แจ้งแก่เทศบาลตำบลไว้

“เราไม่ต้องเดินขบวน แต่เราจะสู้ด้วยปัญญา” หนึ่งในทนายความผู้รับผิดชอบคดีของชมรมพ่อค้าเชียงคำกล่าวถึงจุดเริ่มต้นของการฟ้องร้องต่อศาลปกครอง

เขาเล่าว่า หลังจากศึกษาช่องทางของศาลปกครองและหาตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องซึ่งก็ได้แก่ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาอ่านแล้ว ประกอบกับจังหวะเวลาตามเงื่อนไขของกฎหมายลงตัวพอดี ทำให้ศาลประทับรับฟ้อง แม้ว่าศาลจะยกคำร้องที่ขอให้มีการคุ้มครองชั่วคราวโดยการระงับการก่อสร้างก็ตาม

“คาดว่าธันวาคมนี้น่าจะรู้ผล” เขาคาดคะเนช่วงเวลาที่ศาลจะแถลงคำสั่งชี้ขาด ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการยื่นค้านของแต่ละฝ่าย

ขณะเดียวกันนี้ เทสโก้ฯ ก็กำลังก่อสร้างชนิดเร่งวันเร่งคืน จวนจะแล้วเสร็จ ทั้งที่ความชอบด้วยกฎหมายของสิทธิในการก่อสร้างยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล

 
*** ย้อนบทเรียนผู้ค้าชาวเชียงคำ


เชียงคำ อำเภอชายแดนของจ.พะเยา ที่เป็นจุดศูนย์กลางอำเภอต่างๆ รอบข้าง ตัวเทศบาลห่างจาก อ.ปง 30 กม. จาก กิ่ง อ.ภูซาง 5 – 6 กม. ห่างจาก อ.จุง 30 กม. และห่างจาก อ.เทิง (เชียงราย) 20 กม. เป็นแรงดึงดูดให้เทสโก้ โลตัส วางแผนขยายสาขา ขนาด 7,718 ตร.ม. บนที่ดินข้างวัดนันตาราม ในเขตเทศบาลตำบลเชียงคำ

ด้วยเหตุผลข้างต้น ทำให้ เทสโก้ มีเป้าหมายชัดเจนในการรุกเข้าพื้นที่แห่งนี้ แต่คนเชียงคำเองกลับได้ยินแต่เรื่องราวที่เป็นเพียงข่าวลือมาล่วงหน้าเป็นปีจนไม่มีใครคิดว่าจะเกิดขึ้นจริง

“ก่อนหน้านั้นเราก็อยู่กันเฉย จริงๆ ก็ได้ข่าวมาก่อนหน้านั้นแล้วเป็นปี แต่ก็ไม่มีใครได้ติดตาม จนเขามาขออนุญาตนั่นแหละ จึงได้มานั่งดูถึงผลกระทบกัน” ประธานชมรมพ่อค้าฯ กล่าวถึงบทเรียนบทแรกๆ ที่พวกเขาประสบ

เมื่อเทศบาลตำบลได้รับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้างห้างเทสโก้ฯอย่างเป็นทางการ พวกเขาได้มาติดต่อขอดูข้อมูลที่เทศบาลตำบล จากนั้นบรรดาพ่อค้าแม่ค้าในเขตเทศบาลจึงนัดประชุมกันเพื่อปรึกษาหารือ เบื้องแรกคือทำหนังสือถึงนายกเทศบาลฯ เพื่อขอให้ชะลอการอนุญาต

“แต่ที่ไหนได้ ทางนายกฯ ได้เซ็นตรวจแบบไปแล้ว พร้อมรับค่าธรรมเนียมเรียบร้อย” ชัยพร กล่าว

ชัยพร เล่าว่า วันที่ 4 เม.ย. 2550 บริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด หรือ ห้างเทสโก้ฯ ได้ยื่นหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้างอาคารจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามมาตรา 39 ทวิ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ในเขตพื้นที่เทศบาลตำบลเชียงคำ มีเนื้อที่ประมาณ 7,718 ตารางเมตร โดยระบุว่าจะเริ่มก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 20 พ.ค. 2550 จนถึง 19 พ.ค. 2551

ขณะที่ สมชัย ศรีศิริสิทธิกุล นายกเทศมนตรีในขณะนั้น เปิดเผยในภายหลังผ่านสื่อมวลชนว่า คงไม่สามารถจะปฏิเสธห้างใหญ่เหล่านี้ได้ ในเมื่อนโยบายของภาครัฐก็สนับสนุนการเปิดเสรีทางการค้า อีกทั้งกฎหมายควบคุมก็ไม่มี หากไม่ลงนามให้ก็อาจถูกฟ้องฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ได้

ชัยพร ระบุว่า กลุ่มที่เคลื่อนไหวอยู่ในปัจจุบันมองว่า “เทศบาลตำบล” น่าจะทำงานให้กับคนท้องถิ่นให้มากกว่านี้ โดยเฉพาะตัวนายกเทศบาลฯ เอง ทั้งเป็นฝ่ายที่รับรู้ข้อมูลก่อนชาวบ้านและน่าจะคาดการณ์ผลกระทบในอนาคตต่อพ่อค้าในตลาดกลางเทศบาลได้ไม่ยากนัก

เขายังเห็นว่า แทนที่จะเทศบาลจะออกเทศบัญญัติหรือการประชุมวางมาตรการรับมือก่อนหน้านี้ แต่กลับไม่ทำอะไร หนำซ้ำเมื่อทางบริษัทฯ ยื่นเรื่องมา ก็เซ็นเห็นชอบไปภายในวันเดียวกัน ทั้งๆ ที่มีอำนาจพิจารณาถึง 90 วัน

ส่วนบทเรียนต่อมาของพวกเขา คือ การปฎิเสธที่จะมาตามนัดเพื่อชี้แจงข้อดีข้อเสียจากตัวแทนของเทสโก้ฯ ตามหมายนัดที่เทศบาลตำบลกำหนดขึ้นให้มีส่วนร่วมจากฝ่ายต่างๆ การเบี้ยวไม่ยอมมาชี้แจงครั้งนั้นเองที่ทำให้ผู้ค้ากว่า 200 คน กระจ่างชัดว่า ตัวแทนของห้างยักษ์มีความจริงใจต่อคนในท้องถิ่นเพียงใด

*** แนะระดมทนายมือดีสู้ศึก

ณ เวลานี้ การฟ้องร้องต่อศาลปกครองของพ่อค้าเชียงคำ มีนัยต่อการเคลื่อนไหวคัดค้านห้างย้กษ์ข้ามชาติอย่างสำคัญ เพราะในขณะที่ศาลปกครองนครราชสีมา ได้จำหน่ายคดีความที่เกี่ยวกับการก่อสร้างห้างยักษ์ค้าปลีกไปแล้ว 4 คดี กล่าวคือ กรณีเมืองโคราช เมืองศรีสะเกษ กันทรลักษ์ (ศรีสะเกษ) และเมืองชัยภูมิ เนื่องจากผู้ฟ้องคดีไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรง

ส่วนศาลปกครองกลาง ก็เพิ่งมีคำสั่งเมื่อวันที่ 3 ต.ค.ที่ผ่านมา จำหน่ายคดีลักษณะเดียวกันกรณีตลาดสามชุกกับห้างเทสโก้ฯ ออกจากสารบบเช่นกัน

คดีแทบจะทั้งหมดถูกยกไปด้วยประเด็นที่ผู้ฟ้องไม่มีอำนาจฟ้อง เนื่องจากศาลเห็นว่าอยู่นอกพื้นที่การก่อสร้างห้างยักษ์เหล่านี้

แต่ทว่า 38 ผู้ฟ้องแห่งอำเภอเชียงคำ ต่างเป็นผู้ที่อยู่ในเขตเทศบาล ซึ่งพื้นที่ก่อสร้างห้างเทสโก้ โลตัส ก็อยู่ในเขตเทศบาลด้วยเช่นกัน

ขณะที่การยกคำร้องส่วนใหญ่ในกรณีพื้นที่ต่างๆ มักเกิดขึ้นจากกรณีที่ผู้ฟ้องเป็นพ่อค้าในเขตเทศบาล ซึ่งเป็นกลยุทธ์ของห้างยักษ์ที่เลือกพื้นที่ “รอยตะเข็บ” ในเขตรับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนตำบล รวมทั้งไม่สามารถพิสูจน์ได้ชัดเจนว่ามีผู้ฟ้องมี “ส่วนได้ส่วนเสีย” อย่างไร

นี่อาจเป็นเทคนิคเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับยุทธวิธีการต่อสู้หลากหลายกระบวนท่าของพ่อค้าทั่วประเทศที่กำลังต่อกรกับห้างยักษ์ข้ามชาติอยู่

รายละเอียดของคดีที่มีทั้งความเหมือนและความต่างเหล่านี้ ทำให้ ประสิทธิ์ ทนายความของชมรมพ่อค้าอำเภอเชียงคำ เห็นว่า น่าจะถึงเวลาแล้วที่บรรดาทนายและที่ปรึกษาด้านกฎหมายของผู้ประกอบการรายย่อยทั่วประเทศที่ลุกขึ้นต่อสู้การรุกคืบของห้างต่างชาติจากทั่วประเทศ จะต้องมาร่วมระดมสมอง แลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน

“ต้องมาร่วมศึกษารายละเอียดของข้อกฎหมายต่างๆ รวมทั้งประเด็นข้อต่อสู้และช่องของแต่ละพื้นที่ การทำคดีอย่างนี้ต้องทำกันเป็นทีม ไม่ใช่ให้สู้กันแบบมวยวัด พอยกฟ้องก็เสียเงินไปเฉยๆ” ประสิทธิ์ ให้ข้อคิด

ข้อเสนอทิ้งท้ายข้างต้น อาจเป็นรูปธรรมของการหลอมรวมการต่อสู้ต่างที่ต่างถิ่นของผู้ประกอบการรายย่อยทั่วประเทศ เพื่อนำไปสู่การต่อกรกับทุนยักษ์ค้าปลีก และเป็นรูปธรรมของ “ยุทธศาสตร์เจ้าพระยา” ที่อาจสร้างตำนาน “แจ็คผู้ฆ่ายักษ์” ฉบับเมืองไทยได้ในอนาคต

กำลังโหลดความคิดเห็น