xs
xsm
sm
md
lg

ถอดบทเรียนฟ้องศาลปกครอง ต้านทุนยักษ์ค้าปลีก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รายงานพิเศษ “บทเรียนต้านยักษ์ค้าปลีกด้วยกระบวนตุลาการภิวัฒน์” ตอนที่ 1 (ความยาว 3 ตอนจบ)

ผู้จัดการรายวัน - บทเรียนความผิดพลาดล้มเหลวและความสำเร็จเบื้องต้นในการยกคดีขึ้นสู่ศาลปกครองของบรรดาผู้ฟ้องร้องห้างยักษ์ค้าปลีก จากพื้นที่ต่างๆ เป็นเสมือนบทเรียนที่ควรเก็บรับ ถ่ายทอด แลกเปลี่ยน สำหรับการต่อสู้ของทุนท้องถิ่น ผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อยที่เชื่อมร้อยเป็นกระดูกสันหลังของชาติ ขณะเดียวกัน กระบวนการยุติธรรม ก็จะได้เปิดรับรู้ข้อมูลที่รอบด้านยิ่งขึ้น


การต่อสู้แบบไร้กระบวนท่าของบรรดาผู้ค้าปลีกรายย่อยและผู้ประกอบการอิสระที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสจากการขยายสาขาอย่างบ้าระห่ำของทุนค้าปลีกยักษ์ทั้งทุนชาติและข้ามชาติ ไม่ว่าจะเป็นการเดินขบวนเรียกร้องขอความเป็นธรรม การพึ่งพิงบรรดาข้อกฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ ที่มีอยู่ในมือของหน่วยงานรัฐ แต่ยังไม่อาจแก้ไขปัญหาให้ทุเลาเบาบางลงได้

พวกเขาจึงพากันหันหน้าพึ่งพากระบวนการ “ตุลาการภิวัฒน์” ยกคดีขึ้นสู่ศาลปกครอง แต่ผลลัพธ์กลับไม่เป็นไปดังหวัง เพราะเกือบทั้งหมดถูกยกคำฟ้องด้วยคำสั่งศาลที่ระบุว่า ผู้ฟ้อง “ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรง”

แล้วใครคือผู้เสียหาย? ใครคือเป้าหมายที่ต้องถูกฟ้อง? สำนวนคำฟ้องที่ศาลปกครองประทับรับฟ้อง เป็นอย่างไร แตกต่างไปจากสำนวนคำฟ้องที่ถูกยกทิ้ง อย่างไร ? ฯลฯ นั่นคือคำถามที่ต้องแสวงหาคำตอบร่วมกันให้ชัดเจน ก่อนที่จะเดินหน้าพึ่งกระบวนการยุติธรรม

***ดิ้นรนพึ่งตุลาการภิวัฒน์

ขณะที่ร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง พ.ศ. ... กฎหมายค้าปลีกที่กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในไม่ช้านี้ อาจเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้ผู้ค้าปลีกค่าส่งรายย่อย ตลอดจนผู้ผลิตทั้งในระบบอุตสาหกรรมและการเกษตร ถือเป็นปราการรับมือกับการรุกคืบของ “ทุนบริโภค” ขนาดใหญ่ ทั้งที่เป็นลูกครึ่ง ข้ามชาติและสัญชาติไทยแท้

แต่ระหว่างที่ต้องลุ้นกับการแปรญัตติใน สนช. เพื่อคลอดร่างกฎหมายอันเป็นเสมือน“กฎแห่งเกม” ที่ยังไม่รู้ว่าจะออกมาในรูปการณ์ใด จะใช้เวลาอีกนานแค่ไหน ผู้ค้ารายย่อยในพื้นที่ต่างๆ ยังต้องเผชิญหน้ากับกลยุทธ์การขยายสาขาและหาวิธีรับมือแบบเฉพาะหน้าไม่ต่างไปจากหลายปีที่ผ่านมา ที่จำต้องสู้กันอย่างมวยวัดไร้กระบวนท่า

ที่ผ่านมา มีเพียงประกาศกรมโยธาธิการและผังเมือง หรือไม่ก็เทศบัญญัติในบางพื้นที่เป็น “ยันต์กันทุน (ยักษ์)” ซึ่งก็ “ใช้ได้” เป็นเพียงบางพื้นที่ ขึ้นอยู่กับว่า “เนื้อหา” หรือ “ผู้ใช้” จะหยิบฉวยใช้ประโยชน์ได้มากน้อยแค่ไหน

ส่วนแนวทางการต่อสู้ทางกฎหมายโดยการฟ้องร้องต่อศาลปกครอง ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่พวกเขาเชื่อมั่นว่าจะสามารถระงับยับยั้งการรุกของทุนต่างถิ่น

จากการประมวลของ “ผู้จัดการรายวัน” พบว่า หลังประกาศกรมโยธาธิการและผังเมืองที่กำหนดการใช้ประโยชน์ในที่ดินของแต่ละจังหวัด เริ่มทยอยประกาศในปี 2550 ผู้ประกอบการรายย่อยอย่างน้อย 9 พื้นที่ลุกขึ้นมาใช้ช่องทางศาลปกครองเพื่อระงับยับยั้งการขยายสาขาของห้างค้าปลีกยักษ์ใหญ่ ดังต่อไปนี้

*** 3 คดีที่ศาลปกครองกลาง กำแพงแสนรอลุ้น


1) เทสโก้ฯ วิเศษไชยชาญ คดีดำเลขที่ 1077/2550

คดีนี้ นายพันธุ์เทพ สุลีสถิร อดีตประธานสมาพันธ์คนไทยต้านค้าปลีกต่างชาติ ฟ้องเทศบาลตำบลศาลเจ้าโรงทอง อ.วิเศษไชยชาญ จ.อ่างทอง ฐานละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด กรณีไม่ควบคุมการก่อสร้างห้างค้าปลีกใหญ่ เพื่อให้ศาลมีคำสั่งระงับการก่อสร้างห้างเทสโก้

ผลของคดีนี้ ทางผู้ฟ้องได้ถอนฟ้องภายหลังจากที่ประชุมอนุกรรมการผังเมืองระดับจังหวัดอ่างทอง มีมติยกคำอุทธรณ์ของทางเทสโก้ต่อคำสั่งเทศบาลศาลเจ้าโรงทองที่จำกัดการก่อสร้างไม่เกิน 200 ตารางเมตร ตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายผังเมืองรวม จ.อ่างทอง ซึ่งเท่ากับว่าแผนการก่อสร้างห้างขนาด 1,000 ตารางเมตรของเทสโก้ฯ จำต้องยุติไปโดยปริยาย

2) เทสโก้ฯ กำแพงแสน คดีดำเลขที่ 1740/2550

คดีนี้นายสมคิด ภาตินทุ กับพวกรวม 11 คน โดยนายอำนาจ สิงห์รื่นเริง ผู้รับมอบอำนาจ ฟ้อง อบต.ทุ่งกระพังโหม อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม ฐานกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีมีคำสั่งอนุญาตการก่อสร้างห้างเทสโก้ฯ โดยไม่ชอบ พร้อมทั้งให้ศาลมีคำสั่งระงับการก่อสร้างห้างเทสโก้ฯ ขณะนี้คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาคำฟ้องของศาล

3) เทสโก้ฯ สามชุก คดีดำเลขที่ 1531/2550

นายพงษ์วิน ชัยวิรัตน์ ประธานชุมชนตลาดสามชุกร้อยปี จ.สุพรรณบุรี กับพวกรวม 9 คน ฟ้องเทศบาลตำบลสามชุก กับพวกรวม 2 ราย (รวมนายกเทศมนตรี) ฐานออกคำสั่งอนุญาตการก่อสร้างอาคารไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตการก่อสร้างห้างเทสโก้ฯ

ล่าสุด เมื่อวันที่ 27 ก.ย.2550 ที่ผ่านมา ศาลมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาเนื่องจากเห็นว่าผู้ฟ้องไม่ใช่ผู้เสียหาย ขณะนี้ ฝ่ายผู้ร้องกำลังอยู่ระหว่างการเตรียมยื่นอุทธรณ์

*** 4 คดีศาลปกครองนครราชสีมา ไม่รับฟ้อง

สำหรับคดีที่กลุ่มผู้ประกอบการค้ารายย่อยในท้องถิ่นยื่นฟ้องศาลปกครองนครราชสีมา จำนวน 4 คดี ปรากฏว่า ศาลไม่รับฟ้องทั้งหมด ด้วยเหตุผลว่าผู้ฟ้องไม่ใช่ผู้เสียหาย ดังนี้

1) เทสโก้ฯ ปากช่อง คดีดำเลขที่ 190/2550

คดีนี้ นายชนะศักดิ์ อุ่นเมตตาอารี แกนนำกลุ่มสมาพันธ์ปกครองท้องถิ่นนครราชสีมากับพวกรวม 10 คน ฟ้อง บมจ.สยามฟิวเจอร์ดีเวลลอปเมนท์ กับพวกรวม 4 ราย (รวมนายก อบต.ปากช่อง) ฐานกระทำการโดยมิชอบตามกฎหมาย โดยขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างอาคารห้างเทสโก้ฯ

ล่าสุดเมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2550 ศาลมีคำสั่งไม่รับฟ้อง เนื่องจากผู้ฟ้องไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรง

2) แม็คโคร ศรีสะเกษ คดีดำเลขที่ 211/2550

คดีดังกล่าว นายสุกิจ พัวไพศาล แกนนำกลุ่มผู้ประกอบการร้านค้าส่งและค้าปลีก จ.ศรีสะเกษ กับพวกรวม 5 คน ฟ้องนายตุ๋ย ทองมิตร นายก อบต.โพธิ์ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ ฐานกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยขอให้ศาลมีคำสั่งระงับหรือชะลอการก่อสร้างอาคารแม็คโคร

ล่าสุดเมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2550 ศาลมีคำสั่งไม่รับฟ้อง เนื่องจากผู้ฟ้องไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรง

3) เทสโก้ฯ กันทรลักษ์ คดีดำเลขที่ 216/2550

คดีนี้ นายชัยชาญ ฝอยทอง แกนนำกลุ่มรักบ้านเกิด กับพวกรวม 13 คน ฟ้องนายทรงชัย รุจิรารังสรรค์ นายกเทศมนตรีเมืองกันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ กับพวกรวม 2 ราย ฐานกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยขอให้ศาลมีคำสั่งระงับหรือชะลอการก่อสร้างอาคารของเทสโก้ฯ

ล่าสุดเมื่อวันที่ 25 ก.ย.2550 ศาลสั่งไม่รับฟ้อง เนื่องจากผู้ฟ้องไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรง

4) แม็คโคร ชัยภูมิ คดีดำเลขที่ 262/2550

คดีนี้ นายยรรยง เสรีรัตน์ แกนนำกลุ่มผู้ประกอบการร้านค้าส่งและค้าปลีก จ.ชัยภูมิ ฟ้องนายท่อนจันทร์ ระดาบุตร นายก อบต.บุ่งคล้า จ.ชัยภูมิ กับพวกรวม 3 ราย โดยขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งระงับหรือชะลอการก่อสร้างอาคารของ บมจ.สยาม แม็คโคร เนื่องจากเป็นการปฏิบัติหน้าที่และละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ 

ล่าสุดเมื่อวันที่ 25 ก.ย.2550 ศาลมีคำสั่งไม่รับฟ้อง เนื่องจากผู้ฟ้องไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรง

*** 2 คดีศาลปกครองเชียงใหม่-พิษณุโลก รับฟ้อง

อาจกล่าวได้ว่า การยื่นคำฟ้องของแต่ละพื้นที่ซึ่งมีเนื้อหาคำฟ้องไม่แตกต่างกัน คือเจ้าหน้าที่ปกครองท้องถิ่น ซึ่งถือเป็นเจ้าพนักงานของรัฐที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ยกเว้นกรณีที่ปากช่องที่ยื่นฟ้องบริษัทเอกชนซึ่งไม่ถือว่าอยู่ในขอบอำนาจของศาลปกครองนั้น จะมีเพียงศาลปกครองในเขตภาคเหนือ คือ เชียงใหม่กับพิษณุโลก เท่านั้น ที่รับฟ้องคดี กล่าวคือ

1) เทสโก้ฯ เชียงคำ คดีดำเลขที่ 210/2550

คดีดังกล่าว นายชัยพร วงศ์สถาพร ประธานชมรมพ่อค้าอำเภอเชียงคำ กับพวกรวม 38 คน ฟ้องนายสมชัย ศรีศิริสิทธิกุล นายกเทศมนตรี ต.เชียงคำ และพวกรวม 2 ราย ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบโดยขอให้ศาลมีคำสั่งระงับการก่อสร้างห้างเทสโก้ฯ

ล่าสุด ศาลปกครองเชียงใหม่ รับฟ้องเมื่อกลางเดือน ก.ย.2550 ขณะนี้อยู่ในระหว่างการยื่นคำให้การของผู้ถูกฟ้อง

2) คดี บิ๊กซี สุโขทัย คดีดำเลขที่ 199/2550 ซึ่งยื่นฟ้องต่อศาลปกครองพิษณุโลก

คดีนี้ สมาคมพ่อค้าจังหวัดสุโขทัย โดยนายสันติ อมรเสถียรพงศ์ ฟ้อง อบต.บ้านกล้วย เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1 และนายภาณุวัฒน์ ทับนาค นายก อบต.บ้านกล้วย เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 2 ฐานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งระงับการก่อสร้างห้างบิ๊กซี

ล่าสุดศาลรับฟ้อง และอยู่ในระหว่างการยื่นคำให้การของผู้ถูกฟ้อง

*** ศาลปกครองนครศรีธรรมราช ยกทิ้ง

สำหรับในเขตภาคใต้ ขณะนี้มีเพียงคดีเดียว คือ เทสโก้ฯ ระนอง คดีดำเลขที่ 153/2550

คดีดังกล่าว นายธีรวุฒิ ปันฉิม ประธานชมรมพ่อค้าจังหวัดระนอง ฟ้องนายก อบต.บางริ้น จ.ระนอง ฐานออกคำสั่งไม่ชอบโดยกฎหมาย เพื่อให้ศาลมีคำสั่งระงับการก่อสร้างห้างเทสโก้ฯ

ล่าสุดศาลมีคำสั่งยกฟ้อง เนื่องจากผู้ฟ้องไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรง


***ถอดคำฟ้อง ใช้อำนาจหน้าที่มิชอบ


เมื่อพิจารณาจากคดีต่างๆ ข้างต้นแล้ว บรรดาผู้ประกอบการรายย่อยในฐานะผู้ฟ้อง ต่างมุ่งเป้าฟ้องร้องไปยังองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ตลอดจน นายก อบต. หรือนายกเทศมนตรี โดยอ้างอิงอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานตามข้อกฎหมายหลักๆ ใน 2 ฉบับ

ได้แก่ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2543 และ ประกาศกรมโยธาธิการและผังเมือง ที่ว่าด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินและผังเมืองรวมประจำจังหวัดต่างๆ

ขณะที่ทางบริษัทค้าปลีกยักษ์ใหญ่ จะยื่นคำร้องสอดเข้ามาร่วมเป็นผู้ถูกฟ้องด้วยในภายหลังสำหรับกรณีที่ศาลมีคำสั่งประทับรับฟ้อง

เนื้อหาในคำฟ้องส่วนใหญ่มุ่งชี้ประเด็นไปที่การปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบตามกฎหมายกำหนด โดยขอศาลมีคำสั่งระงับหรือชะลอการก่อสร้างห้างใหญ่เหล่านี้

ทั้งนี้ พฤติการณ์อันเป็นเหตุต่างๆ ขึ้นอยู่กับรายละเอียดเฉพาะพื้นที่ อาทิเช่น การรับแจ้งการก่อสร้างอาคารของห้างค้าปลีกยักษ์ตามมารตา 39 ทวิ ของ พ.ร.บ.ควบคุมอาคารฯ โดยขัดกับประกาศกรมโยธาธิการผังเมืองรวมฯ ทั้งในประเด็นระยะเวลาการประกาศใช้และเงื่อนไขระยะห่างของการก่อสร้างจากเขตเทศบาล

เมื่อพิจารณาลึกลงไปในรายละเอียดของแต่ละพื้นที่จะพบว่า ผู้ฟ้องพยายามที่จะพิสูจน์ว่า แม้ห้างใหญ่จะแจ้งต่อองค์กรท้องถิ่นแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้มีการ “ก่อสร้าง” จริง โดยอ้างคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ว่า “การก่อสร้าง” หมายถึงการ “ตอกเสาเข็ม” หาใช่เพียงการล้อมรั้วหรือหรือถมที่เท่านั้น

ระหว่างนี้ กลุ่มผู้ค้ารายย่อยจากแต่ละพื้นที่ ได้เริ่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้เทคนิควิธีการการเก็บ “หลักฐาน” เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงในประเด็นดังกล่าว ด้วยการบันทึกภาพและนำไปแจ้งลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจเพื่อมุ่งหวังเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญในชั้นศาล

ส่วนบางพื้นที่เตรียมการถึงขั้นใช้ภาพถ่ายดาวเทียมจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ เพื่อเตรียมพิสูจน์ในชั้นศาล เมื่อถึงขั้นที่ต้องฟ้องร้องต่อกัน

*** “ไม่ใช่ผู้เสียหาย” ยกทิ้งคำฟ้อง

อย่างไรก็ตาม การยื่นต่อศาลเพื่อให้มีการคุ้มครองชั่วคราวโดยการระงับการก่อสร้างในระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองถูกยกคำฟ้องในทุกกรณี โดยส่วนใหญ่ศาลอ้างว่าพวกเขาไม่ได้เป็นผู้ที่เสียหายโดยตรง

เหตุที่ไม่ได้เป็น “ผู้เสียหายโดยตรง” จากการก่อสร้าง มีข้อพิจารณาว่า เพราะไม่ได้มีรั้วติดกัน ไม่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเรื่องฝุ่นละออง บ้านทรุด ฯลฯ

นั่นเป็นการตีความและวินิจฉัยของศาลปกครองในแต่ละท้องที่ ในแต่ละกรณีไป

นอกจากนั้น ยังมีกรณีที่ศาลยกคำฟ้องออกจากสาระบบด้วยเหตุผลที่ผู้ฟ้องไม่มีใช่ผู้เสียหาย เนื่องจากผู้ฟ้องไม่ได้มีภูมิลำเนาอยู่ในท้องที่อันเป็นที่ตั้งสาขาของห้างค้าปลีก

การขยายสาขาของทุนค้าปลีกยักษ์ที่ผ่านมา มักจะขออนุญาตตั้งบริเวณรอยตะเข็บ ซึ่งเป็นรอยต่อระหว่างเขตอำเภอเมืองหรืออำเภอหลักที่เป็นเป้าหมายในการตั้งสาขา แต่กลับไปขออนุญาตในพื้นที่องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นที่ติดกันแทน เช่น เทสโก้ฯ ต้องการลูกค้าในเขตอำเภอกำแพงแสน แต่ไปขอตั้งสาขาที่เขตองค์กอบต.ทุ่งกระพังโหมแทน เพื่อเลี่ยงปะทะกับผู้ค้าในเขตเมืองโดยตรง

เมื่อผู้ค้าในเขตที่ห้างไม่ได้เข้าไปตั้งสาขาโดยตรงยื่นฟ้อง ทำให้คำฟ้องที่ถูกขึ้นมาถูกยกทิ้งไปเสียก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการพิจารณา การพิสูจน์ข้อเท็จจริงในประเด็นการละเว้นปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบของผู้บริหารองค์กรปกครองท้องถิ่น รวมไปถึงการพิจารณาถึงผลกระทบ ความเดือดร้อนเสียหายในด้านการประกอบอาชีพที่มาจากการขยายสาขาเข้ามายังพื้นที่ของห้างค้าปลีกยักษ์

ไม่นับกรณีอ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ที่เป็นกรณีการฟ้องบริษัทเอกชน ซึ่งไม่อยู่ในขอบอำนาจของศาลปกครอง ซึ่งรับฟ้องคดีผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำของรัฐ ไม่ใช่การกระทำอันเกิดจากเอกชน

ถึงวินาทีนี้จึงมีเพียงศาลปกครองเชียงใหม่ ที่รับคำฟ้องของกลุ่มผู้ค้า อ.เชียงคำ จ.พะเยา และศาลปกครองพิษณุโลก ที่รับคำฟ้องของ จ. สุโขทัย เท่านั้นที่จะเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์ข้อเท็จจริงในชั้นศาล

ส่วนกรณีของกลุ่มพ่อค้าวิเศษไชยชาญ ถือเป็นการถอนฟ้องออกไปก่อน ภายหลังการพิจารณาของคณะกรรมการในระดับจังหวัด เป็นผลให้ยุติการก่อสร้างห้างไว้ได้

แม้ศาลปกครอง จะยังเป็นที่พึ่งของผู้ค้ารายย่อยในขณะนี้ ทว่าเสียงสะท้อนจากทนายความและกลุ่มผู้ค้าในเทศบาลเมืองอ่างทอง ยังฝากเตือนพันธมิตรผู้ต่อกรห้างยักษ์ทั่วประเทศด้วยว่า การฟ้องร้องศาลปกครองเป็นเพียงแนวทางหนึ่งในการต่อสู้เท่านั้น และต้องไม่ลืมที่จะต้องใช้ช่องทางในการร้องเรียนไปยังทุกหน่วยงานที่มีอำนาจบังคับใช้กฎหมายอย่างเต็มที่

ที่สำคัญ ต้องเคลื่อนมวลชนกดดัน เพราะในแง่หนึ่งคือการสร้างพลังของมวลชนท้องถิ่นให้เข้มแข็งเพื่อรับการต่อสู้ที่อาจต้องยืดเยื้อยาวนานในอนาคต กับอีกมิติคือการผลักดันหนุนเสริมให้กลไกของทางราชการเดินหน้าทำงานอย่างเต็มกำลังและเต็มอำนาจตามที่กฎหมายกำหนด ไม่นิ่งเฉยปล่อยเกียร์ว่างเหมือนในหลายๆ พื้นที่

***(ติดตามตอนที่ 2 “บทเรียนต้านเทสโก้ฯ ที่เชียงคำ” วันพุธที่ 24 ต.ค. 50)

กำลังโหลดความคิดเห็น