xs
xsm
sm
md
lg

ครม.ผ่านร่างกม.ค้าปลีกฯ เซเว่น-เทสโก้-แฟมิลี่ฯ ถูกคุม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน - ครม.ผ่านร่างกฎหมายค้าปลีกค้าแล้ว คุมเข้มตั้งแต่ยักษ์ค้าปลีกค้าส่งจนถึงร้านสะดวกซื้อ ทั้ง 7/11 โลตัส เอ็กซ์เพรส 108 ชอป แฟมิลี่ มาร์ท ต้องมาขอใบอนุญาตประกอบการยุบทิ้งบอร์ดจังหวัดให้มีแค่บอร์ดกลางเท่านั้น เพื่อให้มีมาตรฐานเดียวในการบังคับใช้กฎหมาย พร้อมสั่งยุบบริษัทรวมค้าปลีกเข้มแข็ง “พาณิชย์” นัดสนช.หารือเร่งรัดกฎหมาย 19 ต.ค.นี้

นายยรรยง พวงราช อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (16 ต.ค.) ได้เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจค้าปลีก ค้าส่ง พ.ศ... ซึ่งได้มีการปรับปรุงแก้ไขใหม่โดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว ซึ่งมั่นใจว่ากฎหมายฉบับนี้ จะทำให้ร้านค้าปลีกค้าส่งขนาดใหญ่และร้านค้าปลีกค้าส่งรายย่อย (โชห่วย) ที่มีอยู่ดั่งเดิมสามารถอยู่ร่วมกันได้

นายยรรยง กล่าวว่า สาระสำคัญของกฎหมายค้าปลีกฉบับนี้ ได้กำหนดให้ผู้ประกอบการค้าปลีกค้าส่ง 3 ประเภทต้องขออนุญาตประกอบธุรกิจค้าปลีก ค้าส่งจากกระทรวงพาณิชย์ ประกอบด้วย 1.ธุรกิจค้าปลีกค้าส่งขนาดใหญ่ที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 1,000 ตารางเมตรขึ้นไป 2.ธุรกิจค้าปลีกค้าส่งที่มียอดขายตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป และ 3.ธุรกิจค้าปลีกค้าส่งที่ซื้อสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาหรือสิทธิอย่างอื่น

ทั้งนี้ หมายความว่าธุรกิจค้าปลีกค้าส่งขนาดใหญ่ ได้แก่ เทสโก้ โลตัส บิ๊กซี คาร์ฟูร์ แมคโคร หรือห้างสรรพสินค้าทั่วๆ ไป ไม่ว่าจะเป็นเซ็นทรัล โรบินสัน เดอะมอลล์ ตั้งฮั่วเส็ง จะต้องมาขออนุญาตในการประกอบธุรกิจ

หรือธุรกิจค้าปลีกค้าส่งที่มีขนาดเล็ก ซึ่งเป็นสาขาของย่อยของค้าปลีกค้าส่งขนาดใหญ่ เช่น โลตัส เอ็กซ์เฟรส ก็ต้องมาขออนุญาต รวมไปถึงร้านสะดวกซื้อต่างๆ ที่มียอดขายรวมกันเกิน 1,000 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา เช่น 7/11 ร้าน 108 ช็อป แฟมิลี่ มาร์ท เฟรช มาร์ท เป็นต้น ที่จะต้องมาขออนุญาต โดยรวมไปถึงผู้ที่ซื้อแฟรนไชส์ไปประกอบธุรกิจด้วย

ส่วนธุรกิจค้าปลีกค้าส่งอื่นๆ กฎหมายได้ยกเว้นให้ธุรกิจดังต่อไปนี้ ไม่ต้องขออนุญาต คือ การขายยา การค้าน้ำมัน การขายหนังสือหรือหนังสือพิมพ์ การขายของที่ระลึกตามแหล่งท่องเที่ยว การขายอัญมณีหรือเครื่องประดับ การขายอาหารสำเร็จรูป การขายสินค้าชุมชน

ส่วนธุรกิจค้าปลีกค้าส่งอื่นๆ ที่นอกเหนือจากนี้ เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการการประกอบธุรกิจค้าปลีกหรือค้าส่ง ที่จะเป็นผู้กำหนดออกมาว่าจะให้ขออนุญาตหรือไม่ โดยออกเป็นกฎกระทรวงในภายหลัง

นอกจากนี้ กฎหมายฉบับนี้ ยังได้ตัดคณะกรรมการควบคุมระดับจังหวัดออกไป โดยให้มีเพียงคณะกรรมการส่วนกลางเพียงชุดเดียว เพื่อทำหน้าที่กำหนดนโยบาย ออกระเบียบ การพิจารณาใบอนุญาต การจัดทำกฎกระทรวง เพื่อให้มีมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ และยังให้คณะกรรมการฯ มีอำนาจในการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจ

เช่น กำหนดสถานที่ตั้ง ระยะห่างจากตัวเมือง วันเวลาเปิดปิด การจัดสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้บริโภค และหลักเกณฑ์อื่นๆ ที่เห็นว่าจำเป็น

ส่วนกรณีที่มีการกังวลกันว่ากฎหมายจะมีผลย้อนหลัง กฎหมายมาตรา 33 ระบุไว้ชัดเจนว่า ธุรกิจค้าปลีกค้าส่งที่ดำเนินธุรกิจอยู่ก่อนที่กฎกระทรวงจะมีผลบังคับใช้ ให้ยื่นขออนุญาตภายใน 60 วัน และยังประกอบธุรกิจต่อไปได้

ส่วนที่กำลังอยู่ระหว่างการขออนุญาตก่อสร้างหรือขยายสาขาต้องมาแจ้ง และอยู่ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ แต่ที่ได้รับอนุญาตไปแล้ว ก็สามารถดำเนินการได้ต่อไป

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 19 ต.ค.นี้ จะมีการหารือกับสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ดูแลกฎหมายค้าปลีกค้าส่ง เพื่อทำความเข้าใจและร่วมกันผลักดันกฎหมายฉบับนี้ให้ผ่านการพิจารณาของสนช. ตามที่นายเกริกไกร จีระแพทย์ รมว.พาณิชย์ ได้มอบหมาย เพราะต้องการให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ทันรัฐบาลชุดนี้

**สั่งยุบบริษัทรวมค้าปลีกเข้มแข็ง

นายโชติ สุวรรณาภรณ์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ครม.เห็นชอบให้ยุบเลิกบริษัทรวมค้าปลีกเข้มแข็ง เนื่องจากบริษัทนี้ตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 45 ในรัฐบาลชุดที่แล้ว ที่มีเป้าหมายที่จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นของร้านโชห่วย ที่ได้รับผลกระทบจากธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง จึงได้ตั้งบริษัทนี้ขึ้นมาเพื่อดูแลในการควบคุมความต้องการ ปริมาณ เพื่อส่งต่อไปยังธุรกิจรายเล็ก (โชห่วย) โดยใช้ระบบไอที เข้ามาช่วยในการกระจายความต้องการ และคำสั่งซื้อสินค้าไปยังธุรกิจรายเล็ก
 
แต่เนื่องจากที่ผ่านมายังทำหน้าที่ได้ไม่เต็มที่ ทำให้เกิดการขาดทุน จนถึงปัจจุบันขาดทุนประมาณ 400 กว่าล้านบาท ครม.เห็นว่าหากยังดำเนินการต่อไปก็จะขาดทุนมากขึ้น และไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ในการช่วยเหลือธุรกิจรายเล็กได้ จึงมีมติให้ยกเลิกบริษัท และรับภาระหนี้สินที่ยังค้างอยู่จำนวน 11 ล้านบาท

**โชห่วยเริ่มมีความหวัง

นายพันธุ์เทพ สุลีสถิร รองประธานศูนย์ประสานงานผู้ค้าปลีกและผู้ประกอบการอาชีพอิสระของคนไทย กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่ครม.เห็นชอบร่างพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจค้าส่งค้าปลีก พ.ศ.... แต่จะทันบังคับใช้รัฐบาลชุดนี้หรือไม่นั้น คงต้องลุ้นขั้นตอนต่อไปว่าจะผ่านความเห็นชอบสนช. หรือไม่ ซึ่งหากสนช. มีใจช่วยเหลือโชห่วย ก็คงจะผ่านความเห็นชอบได้ไม่ยาก แต่ถ้าสนช. ไม่เห็นชอบ สมาพันธ์ฯ จะรวมตัวมาขอความเมตตาจากสนช.อีกครั้ง
 
“ตอนแรกเราคิดว่า หมดหวังกันแล้ว แต่ตอนนี้เริ่มมีแสงสว่างขึ้นมาบ้าง ซึ่งต้องขอวิงวอนสนช. เห็นชอบร่างโดยเร็ว เพื่อให้ทันบังคับใช้ในรัฐบาลชุดนี้ เพราะตอนนี้ห้างค้าปลีกต่างชาติรุกหนัก มีการขยายตัวอย่างรวดเร็วมาก หากกฎหมายยิ่งบังคับช้าออกไป ผู้ประกอบการรายย่อยคงมีแต่ตายกับตายเท่านั้น” นายพันธุ์เทพ กล่าว

**เทสโก้อ้างผู้บริโภคได้รับผลกระทบ

ดร. ดามพ์ สุคนธทรัพย์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส เทสโก้ โลตัส กล่าวแสดงความเห็นถึงมติครม.ที่ผ่านร่าง พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง ฉบับที่แก้ไขโดยคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า กฏหมายนั้น ๆ ควรให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และควรกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิต เครือข่ายพ่อค้าคนกลาง ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ หรือผู้ประกอบการรายย่อย ทั้งนี้ กฏหมายควรมีความโปร่งใส และปฏิบัติต่อทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน

นอกจากนี้ ในฐานะที่ภาคธุรกิจค้าปลีกค้าส่งมีมูลค่าถึงร้อยละ 18 ของรายได้มวลรวมประชาชาติ หรือประมาณ 1.4 ล้าน ล้านบาท และมีผลกระทบโดยตรงต่อค่าครองชีพ และอัตราเงินเฟ้อของประเทศ รัฐบาลและ สนช. ควรจะพิจารณาอย่างรอบคอบเกี่ยวกับผลกระทบที่ร่างกฏหมายฉบับนี้จะมีต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม
 
 
อ่าน
ร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง พ.ศ. ....
กำลังโหลดความคิดเห็น