xs
xsm
sm
md
lg

ทำไม "อารีย์" รมต.สีเทา ขั้วอำนาจเก่า กอดเก้าอี้แน่น ??

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คล้อยหลังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แถลงว่ารัฐมนตรี 3 คนถือหุ้นในบริษัทเกินร้อยละ 5 ซึ่งขัดต่อพ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ. 2543 นายสิทธิชัย โภไคยอุดม รมว.กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ก็แสดงสปิริตประกาศลาออกจากตำแหน่งทันที เพื่อสร้างบรรทัดฐานใหม่ แม้ไม่ผิดกฎหมายแต่ไม่เหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งต่อไป

ส่วนนางอรนุช โอสถานนท์ รมช.กระทรวงพาณิชย์ ก็แสดงท่าทีไม่ยึดติดกับเก้าอี้ พร้อมแถลงขอลาออกเช่นกัน

จะมีแต่เพียงนายอารีย์ วงศ์อารยะ รมว.กระทรวงมหาดไทย ที่ยืนยันหนักแน่นว่า (กู) ไม่ออก !! โดยอ้างภารกิจดูแลจัดการเลือกตั้งให้เสร็จสิ้น ยังลาออกตอนนี้ไม่ได้ และถ้ายอมไขก๊อกลาออกก็เท่ากับยอมรับผิด จะยอมไปในกรณีเดียวคือไปพร้อมนายกรัฐมนตรี

ขณะที่โพลสำรวจความเห็นของประชาชน อออกมาเรียกร้องให้ 3 รัฐมนตรี ลาออกสูงถึง 46.2%

มีเหตุผลอะไรที่ทำให้นายอารีย์ กอดเก้าอี้แน่น ไม่ยอมลุกไปง่ายๆ คล้ายๆ กับอดีตคณะกรรมการการเลือกตั้งชุดก่อนที่ดึงดันจนสังคมตั้งฉายาให้ว่า “อย่างหนา”

หากมองย้อนกลับไป จะพบว่า อารีย์ วงศ์อารยะ ได้รับเลือกเข้ามาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย ท่ามกลางข้อกังขาและเป็นบิ๊กเซอร์ไพรส์ของรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ เพราะตัวนายอารีย์ เองนอกจากจะเป็นรัฐมนตรีที่อยู่ในขั้วอำนาจเก่า โดยมีตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษา ในสมัยรัฐบาลทักษิณ แล้ว

นายอารีย์ ยังฝากฝังลูกชายหัวแก้วหัวแหวนคนเดียว คือ นายเอกพจน์ วงศ์อารยะ กับคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ รองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ขณะนั้น ให้ลงสมัครรับเลือกตั้งในสมัยการเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2548 และ “เอกพจน์” ก็ได้รับชัยชนะเข้ามาเป็น ส.ส. ในเขต 21 หนองจอก กรุงเทพมหานคร

การได้รับเลือกตั้งคราวนั้น นอกจากฐานเสียงเก่าของไทยรักไทยแล้ว ความเป็น “ลูกพ่ออารีย์” และ “เด็กปั้น” ของเจ๊หน่อย รวมทั้งการลงพื้นที่ช่วยหาเสียงของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตหัวหน้าพรรค ล้วนหนุนส่งให้นายเอกพจน์ ได้รับชัยชนะคู่แข่ง

ความสัมพันธ์ของนายอารีย์ กับไทยรักไทย จึงแนบแน่นยากปฏิเสธ และวันนี้ นายเอกพจน์ ก็เลือกจงรักภักดีต่อ “ทักษิณ-สุดารัตน์” ผู้ให้กำเนิดทางการเมือง ด้วยการสมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชาชน และไม่ช้าไม่นานก็จะสวมเสื้อคลุมของพรรคลงสมัครส.ส.

แม้ว่าผู้เป็นบิดาจะบอกต่อสังคมว่า ลูกชายของตนเองโตแล้ว การตัดสินใจเป็นของเขาเอง และไม่เกี่ยวข้องกันในการปฏิบัติหน้าที่การงานระหว่างผู้พ่อ ซึ่งกุมอำนาจในกระทรวงมหาดไทย ที่ดูแลจัดการเลือกตั้ง และลูกชาย สมาชิกพรรคพลังประชาชนผู้สวมเสื้อสมัครส.ส.ในเวลาอีกไม่นาน

อันที่จริง คำพูดของ นายอารีย์ อาจจะมีน้ำหนักพอรับฟังได้ เพราะคนในตระกูลเดียวกันแต่ต่างผูกใจรักสมัครอยู่คนละค่าย อย่างตระกูล เวชชาชีวะ หรือตระกูลปุณกันณ์ ก็มีให้เห็น แต่การฝากลูกชายลงเลือกตั้งใต้ร่มเงาไทยรักไทย ในปีนั้นถือว่าไม่ธรรมดาเพราะ นายเอกพจน์ เป็นม้ามืดเบียดตัวเต็งที่ไทยรักไทยคัดสรรเอาไว้แล้วตกขอบในโค้งสุดท้าย

เรื่องราวความสัมพันธ์ไว้วางใจระหว่าง นายอารีย์ กับ อดีตนายกฯ ทักษิณ ยังสะท้อนผ่านปฏิบัติการยึดทีพีไอ โดย นายอารีย์ เป็น 1 ในทีม 5 เสือ ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นตัวแทนกระทรวงการคลัง เข้าไปบริหารแผนฟื้นฟูกิจการทีพีไอ โดยภารกิจแรกๆ ของทีม 5 เสือ คือกำหนดค่าตอบแทนให้กับตนเองและพรรคพวกสูงลิ่ว กล่าวจำเพาะ นายอารีย์ รับไปเหนาะๆ เดือนละ 750,000 บาท

ทั้งนี้ ผลงานการบริหารแผนฟื้นฟูกิจการทีพีไอในช่วงปีเศษๆ ทีม 5 เสือและพรรคพวก ได้ผลาญเงินทีพีไอเป็นค่าตอบแทนและค่าบริหารจัดการ คิดเป็นวงเงินสูงกว่า 1,700 ล้านบาท

หากพลิกปูมประวัติการทำงานของ นายอารีย์ มักมีข้อครหาเรื่องการเล่นพรรคเล่นพวกมาโดยตลอด เช่น ยุคดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงมหาดไทย มีเสียงร่ำลือกันสุดๆ จนทุกวันนี้ และการแต่งตั้งโยกย้ายแต่ละครั้งในสมัยที่นายอารีย์ เรืองอำนาจ มักมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตลอดว่า สิงห์ดำ (จบรัฐศาสตร์ จุฬาฯ) ได้ดิบได้ดีเพราะเป็นสีเดียวกับเขา

แม้ว่าข้อครหานี้ นายอารีย์ จะเคยให้สัมภาษณ์สื่อโดยปฏิเสธเสียงแข็งว่า ไม่มีการเล่นพรรคเล่นพวก ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งล้วนแต่ทำงานดีมีผลงานทั้งนั้น ไม่ใช่เอาเงินมาให้แล้วได้ คนมีเงินต้องไปให้ไกลไม่งั้นจะโดนถีบ

แต่ล่าสุด กรณีการโยกย้ายผู้ว่าฯ ก็มีข้อครหาเช่นเดียวกัน เพราะผู้ว่าราชการจังหวัดที่ผลลงประชามติรัฐธรรมนูญเป็น “สีแดง” คือ โหวตไม่รับตามการรณรงค์ของกลุ่มขั้วอำนาจเก่าได้รับการปูนบำเหน็จ

ขณะที่จังหวัดที่โหวตรับกลับถูกย้ายเข้ากรุ เช่น นายสุวัฒน์ ตันประวัติ ผวจ.ชุมพร ซึ่งเป็นจังหวัดที่ประชาชนไปลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญมากที่เป็นอันดับ 1 ของประเทศ ถูกย้ายเข้ากรุไปเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงฯ

แต่หลายจังหวัดที่โหวตไม่รับรัฐธรรมนูญ ผู้ว่าฯ กลับได้รับโยกย้ายให้ไปรับผิดชอบจังหวัดใหญ่ขึ้น เช่น นายชวน ศิรินันท์พร ผวจ.มหาสารคาม ย้ายไปเป็น ผวจ.อุบลราชธานี นายสุธี มากบุญ ผวจ.อุบลราชธานี ไปเป็นผวจ.นครราชสีมา นายปรีชา กมลบุตร ผวจ. สกลนคร เป็น ผวจ.เชียงราย ส่วนนายศุภกิจ บุญญฤทธิพงษ์ ผวจ.ชัยภูมิ เป็นรองอธิบดีกรมปกครอง

การเล่นพรรคเล่นพวกหรือเอาแต่พวก ยังสะท้อนผ่านเกมการต่อสู้ระหว่าง นายอารีย์ กับ นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กระทรวงพัฒนาสังคมฯ ในเรื่อง ร่างพ.ร.บ. สภาองค์กรชุมชน ที่ถูกแช่แข็งไปเรียบร้อยแล้ว

ร่างกฎหมายดังกล่าว พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ได้ลงไปพูดคุยกับผู้นำชุมชนให้ช่วยกันร่างและเสนอขึ้นมาผ่านทางนายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม แต่ด้วยเนื้อหาของร่าง กม. ที่เปิดทางให้สภาองค์กรชุมชน เข้าไปมีส่วนร่วมและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่อยู่ใต้สังกัดมหาดไทย รวมถึงการอนุมัติโครงการต่างๆ ที่จะลงสู่พื้นที่ด้วย ซึ่งที่ผ่านมาสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ชี้ว่า อปท. มีการทุจริตคอร์รัปชั่นเกือบร้อยทั้งร้อย ผลาญเงินแผ่นดินในแต่ละปีนับแสนล้าน

เมื่อหม้อข้าว อปท. จะถูกทุบ ซึ่งแน่นอนมันหมายถึงเส้นทางส่งส่วยต่อผู้เป็นนายจะมีปัญหาไปด้วย นายอารีย์ จึงออกมาค้านร่างกฎหมายดังกล่าวชนิดหัวชนฝา โดยอ้างว่าเกิดความซ้ำซ้อน ขณะที่ อปท. ทั่วประเทศก็ออกมาเคลื่อนไหวสอดรับกับมท.1 จนสุดท้าย นายไพบูลย์ พ่ายหมดรูป ถอยร่นไม่เป็นขบวน

ในช่วงการต่อสู้ของ นายอารีย์ – นายไพบูลย์ ดูเหมือนว่า นายกรัฐมนตรี จะถือหางทาง นายอารีย์ เพราะหวังจะให้การลงประชามติรับ-ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญที่จะมีขึ้นในช่วงเวลานั้นออกมาเป็น “สีเขียว” สดใสไปทั้งประเทศ แต่สุดท้ายกลับกลายเป็นแดงเถือกทั่วเหนือและอีสาน มิหนำซ้ำนายอารีย์ ยังปูนบำเหน็จรางวัลให้ ผู้ว่าฯ เขตสีแดง อีกต่างหาก !!

ไม่เพียงเท่านั้น นายอารีย์ ยังเพิกเฉยต่อการให้ความร่วมมือในการตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชั่นของขั้วอำนาจเก่า จนคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำอันก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เอือมระอา
 
กระทั่ง คตส. ขู่ว่าจะใช้อำนาจตามกฎหมายคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มาตรา 118 จำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ ฐานประพฤติตัวเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของ คตส. จนทำให้งานต้องล่าช้า เข้าจัดการ

ในเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นช่วงเดือนเม.ย. 2550 ทาง คตส. ขอให้ นายอารีย์ วงศ์อารยะ เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษผู้กระทำความผิดในคดีหวยบนดิน ร่วมกับนายฉลองภพ สุสังกรกาญจน์ รมว.กระทรวงการคลัง แต่ทั้งสองกลับเฉยเหมือนจงใจถ่วงเวลา แม้ว่า คตส.จะส่งหนังสือไปเป็นเวลาถึง 2 สัปดาห์ และประสานไปยัง นายกรัฐมนตรี ให้สั่งการมท. 1 และ รมว.คลัง แต่ก็ไม่เป็นผล มิหนำซ้ำ คตส. ยังระบุว่า ทั้งสองกระทรวงไม่ให้ความร่วมมือในการส่งเอกสารข้อมูลต่างๆ อีกด้วย

คดีหวยบนดิน ที่อืดอาดล่าช้าส่วนหนึ่งจึงเป็นเพราะเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยและคลัง ไม่ให้ความร่วมมือกับ คตส.

เรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น ยังมีคำถามถึง อารีย์ ในหลายเรื่อง ดังเช่น กรณีที่พรรคประชาธิปัตย์ ตั้งข้อสงสัยถึงความไม่โปร่งใสของโครงการโรงเรียนดับเพลิง ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย งบประมาณกว่า 1,300 ล้านบาท โดยโครงการนี้เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลทักษิณ แต่เมื่อเปลี่ยนรัฐบาล นายอารีย์ มาเป็น มท. 1 ก็ไม่ได้ดำเนินการตรวจสอบกลับปล่อยให้เดินหน้าต่อ

นอกจากนั้น ยังมีโครงการจัดซื้อพร้อมติดตั้งระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิดในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มูลค่า 972 ล้านบาท ที่กระทรวงมหาดไทย เร่งรัดประมูลผิดปกติ ใช้จัดซื้อจัดจ้างวิธีพิเศษโดยใช้เวลาเพียง 7 วัน คัดเลือกและประกาศผลเสร็จสรรพ ท่ามกลางข้อครหาว่ามีการวิ่งเต้นล็อกสเปกจากกลุ่มบริษัทซัพพลายเออร์ ซึ่งจัดหากล้องทีวีวงจรปิด เคเบิลใยแก้ว และระบบศูนย์ควบคุมสนับสนุนบริษัทที่ชนะประมูล

ยังไม่นับ การคัดเลือกผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ที่ นายอดิศร เกียรติโชควิวัฒน์ ได้ขึ้นแป้นผู้ว่าการฯ ท่ามกลางข้อกังขาว่ามีใบสั่งจากบิ๊กมท. หักดิบกลางที่ประชุมบอร์ดให้ยกมือเอาคนนี้ ทั้งที่นายอดิศร เคยป็นประธานคณะกรรมการคัดเลือกผลประมูลโครงการซอฟท์แวร์คอมพิวเตอร์ของ กฟภ. มูลค่า 3,000 กว่าล้าน ซึ่งบริษัทในเครือของนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ หรือ เจ๊แดง น้องสาวทักษิณ เป็นผู้ชนะประมูล

ปัจจุบันโครงการนี้สร้างความเสียหายให้กับกฟภ.เพราะบริษัทส่งมอบงานไม่ทันและซอฟท์แวร์ใช้งานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ

อนึ่ง ตามผลการตรวจสอบ ของ ป.ป.ช. นายอารีย์ ถือครองหุ้นในบริษัท ตรังชัวร์ จำกัด 2,000,000 หุ้น (จากจำนวนหุ้นทั้งหมด 10,000,000 หุ้น) คิดเป็นร้อยละ 20 และบริษัท ผลิตภัณฑ์อาหารกว้างไพศาล จำกัด (มหาชน)

มีรายงานข่าวแจ้งว่า จากการตรวจสอบรายการจัดซื้อจัดจ้างของกระทรวงมหาดไทย ในช่วงเดือนม.ค.49 ถึงเดือนส.ค. 50 พบว่า กรมการปกครอง ได้ทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างกับเอกชนทั้งหมด 615 สัญญา วงเงิน 3,751 ล้านบาท ในจำนวนนี้ เป็นการทำสัญญาจัดซื้อกับ บริษัท ผลิตภัณฑ์อาหารกว้างไพศาล จำกัด (มหาชน) จำนวน 3 รายการ รวมวงเงิน 6 ล้านบาท

หลังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กรณีข้างต้น ผู้ใกล้ชิดนายอารีย์ ออกมาบอกว่า นายอารีย์ ขายหุ้นบริษัทตรังชัวร์ ให้กับนายสุรินทร์ โตทับเที่ยง เจ้าของกิจการไปหมดแล้ว แต่ยังไม่ได้ทำเรื่องโอน เพราะเห็นว่ายังมีเวลาถึงวันที่ 31 ธ.ค. 50 ซึ่งจะครบกำหนดในวันดังกล่าว

สำหรับบัญชีที่นายอารีย์ ยื่นแสดงต่อป.ป.ช. ปรากฏว่า นายอารีย์ มีสินทรัพย์ รวยเงียบๆ อยู่ประมาณ 130 ล้านบาท

นายอารีย์ วงศ์อารยะ เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยได้รับการคาดหวังจากผู้นำศาสนา นักธุรกิจ และประชาชน 3 จังหวัดชายแดนใต้ว่า ว่าจะเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาความไม่สงบ เพราะความที่นายอารีย์ นับถือศาสนาอิสลาม และก่อนนี้เคยเป็นรองประธานคณะกรรมการโครงการสานใจไทยสู่ใจใต้ ซึ่งมีพล.อ.สุรยุทธ์ เป็นประธาน

พร้อมกันนั้น รัฐบาล ยังมีการฟื้นศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) โดยให้อยู่ภายใต้กระทรวงมหาดไทย ซึ่ง ศอ.บต. เคยเป็นกลไกบริหารจัดการดูแลพื้นที่ชายแดนใต้ให้อยู่ในความสงบมานาน แต่จนบัดนี้ ศอ.บต. ยุคใหม่ รวมถึง นายอารีย์ ยังไม่สามารถแสดงผลงานการแก้ไขปัญหาให้เป็นที่ประจักษ์แก่สังคมแต่อย่างใด

กำลังโหลดความคิดเห็น