xs
xsm
sm
md
lg

จับตา ป.ป.ช.ปล่อยเอกชนงาบ 2 หมื่นล.ทุจริตคลองด่านลอยนวล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการออนไลน์ – นับถอยหลังคดีโกงบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่านในมือ ป.ป.ช. เหลือเวลาอีก 2 เดือนหมดอายุความในส่วนของกลุ่มเอกชน “กิจการร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคจี” บริษัทรับเหมาก่อสร้างเครือญาติ “สุวัจน์” และพวก เตรียมลอยนวลพ้นผิด หลังบริษัทนายหน้าค้าที่ดินหลุดมือ ป.ป.ช.ไปแล้วเพราะคดีขาดอายุความ ด้านคดีฟ้องเอกชนฉ้อโกง จับตา คพ.เล่นเกมล้มคดีหลังเปลี่ยนทนายใหม่สำเร็จ

ถึงแม้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จะสามารถสรุปสำนวนคดีฉ้อโกงที่ดินโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน ส่งถึงมืออัยการสูงสุด เพื่อยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาทางการเมือง เพื่อเอาผิดกับนักการเมืองและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องคือ นายวัฒนา อัศวเหม อดีตรมช.กระทรวงมหาดไทย กำกับดูแลกรมที่ดิน, เจ้าหน้าที่กรมที่ดิน และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง รวม 9 คน เมื่อวันที่ 14 มิ.ย.ที่ผ่านมา แต่สำหรับกลุ่มบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดในการจัดหาที่ดินสำหรับโครงการฯ กลับหลุดรอดพ้นผิดเพราะคดีขาดอายุความ

ทั้งนี้ ตามรายงานผลสอบสวนของกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ที่ส่งมายัง ป.ป.ช.นั้น ระบุว่า กลุ่มเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตทั้งในฐานะนิติบุคคลและส่วนบุคคล ประกอบด้วย บริษัท ปาล์มบีช ดีเวลลอปเม้นท์ โดย นายรอย อิศราพร ชุตาภา และนายสมศักดิ์ ติระพัฒนกุล, นางบุญศรี ปิ่นขยัน, บริษัท คลองด่านมารีน แอนด์ ฟิชเชอรี่ โดย น.ส.กัลยา มลทินอาจ, นายชาลี ชุตาภา ฐานความผิดร่วมกันสนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต มีความผิดตามประมวลกม.อาญา มาตรา 83, 86 และ 157

แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากฐานความผิดร่วมกันสนับสนุนเจ้าพนักงานฯ มีอายุความ 10 ปี นับจากวันกระทำผิด จึงทำให้นิติบุคคลและส่วนบุคคลข้างต้น หลุดพ้นความผิดไป

สำหรับการออกโฉนดที่ดิน 5 โฉนด กระทำในช่วงปี 2535 และ ปี 2536 คือ เลขที่ 13150, 13817, 15024, 15528 และ 15565 ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ ซึ่งมีการออกโฉนดเมื่อวันที่ 21 -22 เม.ย. 2535 วันที่ 19 พ.ย. 2536 วันที่ 23 พ.ย.2536 และวันที่ 30 ธ.ค. 2536 ตามลำดับ 

นอกจากนั้น รายงานการสอบสวนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยังระบุว่า มีกลุ่มบริษัทเอกชนที่มีส่วนร่วมจัดหาที่ดินและการก่อสร้างโครงการที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตทั้งในฐานะนิติบุคคลและส่วนบุคคล อีก 10 ราย คือ บริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง โดยนายพิษณุ ชวนะนันท์, บริษัท ประยูรวิศว์ก่อสร้าง โดยนายสังวรณ์ ลิปตพัลลภ, บริษัท สี่แสงการโยธา โดยนายสิโรจน์ วงศ์สิโรจน์กุล, บริษัท กรุงธนเอ็นจิเนียริ่ง โดยนายนิพนธ์ โกศัยพลกุล และบริษัท เกตเวย์ ดิเวลลอปเม้นท์ โดยนายกว๊อกกา โอเยง ฐานความผิดร่วมกันสนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 86 และ 157

สำหรับกลุ่มเอกชนข้างต้น ได้หลุดพ้นความผิดในกรณีที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตเรื่องที่ดิน เหลือเพียงการเกี่ยวข้องกับการทุจริตโครงการ ซึ่งหากนับอายุความของคดีในฐานความผิดร่วมกันสนับสนุนเจ้าพนักงานฯ ซึ่งมีอายุความ 10 ปี ก็จะเหลือเวลาอีกเพียง 2 เดือนเท่านั้น โดยการกระทำความผิดนับจากวันเซ็นสัญญาโครงการ เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2540

ดังนั้น หาก ป.ป.ช.ไม่สามารถสรุปสำนวนคดีเพื่อส่งให้อัยการสูงสุดนำคดีฟ้องต่อศาลและไต่สวนมูลความผิดและประทับรับฟ้องให้ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 10 รายตกเป็นจำเลยในคดีได้ทัน ก็จะทำให้กลุ่มเอกชนทั้งหมดหลุดพ้นจากความผิดเพราะคดีขาดอายุความทั้งการทุจริตที่ดิน และทุจริตโครงการ

ไม่เพียงแต่กลุ่มบริษัทเอกชนเท่านั้น ในส่วนของข้าราชการที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตในการจัดหาที่ดินและโครงการ ซึ่งเกษียณอายุและลาออกพ้น 2 ปีไปแล้วก็เข้าข่ายหลุดพ้นจากความผิดไปด้วย เช่น นายปกิต กีระวานิช, นางยุวรี อินนา เป็นต้น

อนึ่ง ตามสำนวนของ สตช. และคณะกรรมการสอบสวนการทุจริตโครงการฯ ที่มีอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นประธาน ส่งเรื่องไปยัง ป.ป.ช. ระบุว่า มีนักการเมืองเกี่ยวข้องกับการทุจริตโครงการคลองด่าน 3 คน คือ นายวัฒนา อัศวเหม, นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ และนายยิ่งพันธ์ มนะสิการ (เสียชีวิตแล้ว) มีอดีตข้าราชการระดับ 10 เกี่ยวข้องทุจริต คือ นายปกิต กิระวานิช และข้าราชการระดับ 10 ซึ่งยังรับราชการอยู่คือ นายศิริธัญญ์ ไพโรจน์บริบูรณ์, นางนิศากร โฆษิตรัตน์ และข้าราชการกรมควบคุมมลพิษรวมกับข้าราชการกรมที่ดิน ประมาณ 20 ราย ต่อมา ในเดือน เม.ย.47 กรมควบคุมมลพิษได้ร้องไปที่ ป.ป.ช.กล่าวโทษนักการเมืองเกี่ยวข้องกับการทุจริต 3 คน ตามสำนวนการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนทุจริตฯ

สำหรับกระบวนการทุจริตในโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่านนั้น เริ่มตั้งแต่การปรับเปลี่ยนโครงการและเพิ่มงบประมาณจาก 13,000 ล้านบาท เป็น 23,000 ล้านบาท โดยการย้ายจุดสร้างระบบบำบัดน้ำเสียจากฝั่งตะวันออก และตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ อ.บางปู และอ.พระสมุทรเจดีย์ ไปรวมอยู่จุดเดียวที่ ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ บนเนื้อที่ 1,903 ไร่ เพื่อหวังขายที่ดินที่มีนักการเมืองเป็นเจ้าของอยู่เบื้องหลัง อีกทั้งต้องการเพิ่มงบก่อสร้างระบบรวบรวมน้ำเสียทั่วจังหวัด ซึ่งมีบริษัทเอกชนเครือญาตินายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ เป็นผู้ชนะประมูลงานก่อสร้าง โดยงบก่อสร้างมีสัดส่วนสูงถึง 70% ของมูลค่าโครงการ

สมัยรัฐบาลทักษิณ 1 นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบโครงการฯ ขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็สั่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบทุจริตในโครงการโดยตรง กระทั่งนำไปสู่การสั่งหยุดโครงการ ดำเนินคดีฟ้องร้อง และส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.

ในส่วนของที่ดินที่ตั้งโครงการ มีการชี้มูลความผิดว่าเจ้าหน้าที่กรมที่ดินออกโฉนดโดยมิชอบทับพื้นที่คลองสาธารณะ และออกโฉนดโดยไม่มีหลักฐานที่ดินเดิมบางส่วน กระทั่งกรมที่ดินมีคำสั่งเพิกถอนโฉนดรวม 5 แปลง เนื้อที่ 1,357 ไร่ พร้อมกับดำนินการทางวินัยร้ายแรงกับเจ้าหน้าที่ที่ดินที่เกี่ยวข้องและส่งชื่อให้ ป.ป.ช.

ส่วนการก่อสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียนั้น พบการกระทำความผิดตั้งแต่ขั้นตอนการประมูล การเซ็นสัญญาโดยบริษัทที่ชนะประมูลขาดคุณสมบัติเพราะบริษัทนอสต์เวสท์ฯ ที่เชี่ยวชาญเรื่องการบำบัดน้ำเสียถอนตัวไปตั้งแต่ต้น แต่คณะกรรมการพิจารณาผลการประมูล ที่มีนายศิริธัญญ์ ไพโรจน์บริบูรณ์ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ในฐานะประธานฯ ขณะนั้น กลับปล่อยให้มีการเซ็นสัญญาโดยช่วงนั้น มีนายปกิต กิระวานิช เป็นอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ

แม้จะมีการชี้มูลความผิดชัดเจน แต่การดำเนินการเอาผิดผู้เกี่ยวข้องกับการทุจริตในยุครัฐบาลทักษิณ กลับล่าช้า โดยช่วงเวลาไล่เลี่ยกันนั้น นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ได้ยุบพรรคชาติพัฒนา เข้ามารวมกับพรรคไทยรักไทย แถมนั่งตำแหน่ง รมว.กระทรวงยุติธรรม ซึ่งเกี่ยวข้องกับดำเนินคดีคลองด่านโดยตรง

คดีทุจริตคลองด่าน นอกจากจะอยู่ในมือของ ป.ป.ช.แล้ว ยังมีคดีฟ้องร้องกันอยู่ในชั้นศาล คือ คดีฉ้อโกง โดยกรมควบคุมมลพิษว่าจ้างบริษัทกฎหมายเอกชนดำเนินการฟ้องร้องเอาผิดกลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคจี ผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการ และบริษัทเอกชนนายหน้าค้าที่ดิน เรียกค่าเสียหายประมาณ 20,000 กว่าล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างไต่สวนคดี

อย่างไรก็ตาม การสู้คดีของกรมควบคุมมลพิษ กลับมีเงื่อนงำและขัดขวางกระบวนการยุติธรรมเสียเอง ด้วยการขอเลื่อนคดีมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้วเพื่อขอเปลี่ยนทนายความเอกชนใหม่กลางครัน มิหนำซ้ำยังขัดขวางไม่ให้มีการสืบพยานปากสำคัญอีกด้วย กระทั่งล่าสุด กรมควบคุมมลพิษ ใช้วิธีประมูลแบบพิเศษคัดเลือกทนายความใหม่ได้แทนสำนักงานทนายความเดิมที่ว่าความในคดีมาตั้งแต่ต้นเรียบร้อยแล้ว

นอกจากคดีที่ฝ่ายรัฐฟ้องเอกชนแล้ว ฝ่ายเอกชนยังยื่นฟ้องต่ออนุญาโตตุลาการ เรียกค่าเสียหายจากกรมควบคุมมลพิษ เป็นเงิน 6,200 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี คดีนี้ทำให้กรมควบคุมมลพิษ และฝ่ายบริษัทเอกชนเปิดเจรจาเพื่อนำเอาระบบรวบรวมและบำบัดกลับมาใช้งานใหม่ และการออกโฉนดใหม่ในที่ดินที่ตั้งโครงการ ท่ามกลางเสียงคัดค้านไม่เห็นด้วยจากทุกฝ่าย เพราะจะทำให้รูปคดีที่ฟ้องร้องกันอยู่เสียหาย และรัฐฯ จะเป็นฝ่ายแพ้เพราะพยานหลักฐานเอาผิดเอกชนจะถูกกลบเกลื่อน
กำลังโหลดความคิดเห็น