xs
xsm
sm
md
lg

จวกกรมทรัพย์เตะถ่วงประเมินยุทธศาสต์เหมืองโปแตชเอื้ออิตัลไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการออนไลน์ – กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี จวกกรมทรัพยากรธรณี เล่นเกมเตะถ่วงไม่ลงมือจัดทำยุทธศาสตร์การจัดการแร่โปแตชของประเทศในภาพรวมครอบคลุมทั้งการลงทุน บริหารจัดการและการมีส่วนร่วมของชุมชน สังคม อ้างเงื่อนไขพิลึกต้องให้ใบอนุญาติประทานบัตรแก่อิตัลไทยก่อนการจัดทำยุทธศาสตร์ฯ ต้องลงทุนสูง

นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ผู้ประสานงานกลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา เครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี เปิดเผยถึงการเคลื่อนไหวของกลุ่มอนุรักษ์ฯ ที่คัดค้านโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี ซึ่งเดินทางเข้าพบนายสุพจน์ เลาวัณย์ศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี เมื่อวานนี้ (15 พ.ค.) เพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องให้เร่งผลักดันการศึกษายุทธศาสตร์การจัดการแร่โปแตชของประเทศ (Strategic Environmental Assessment ; SEA ) ก่อนที่จะมีการดำเนินการใดๆ ในพื้นที่โครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานีและโครงการเหมืองแร่โปแตชอื่นๆ ในภาคอีสาน ว่า นายสุพจน์ รับปากจะดำเนินการนำเรื่องนี้ไปประสานกับหน่วยงานรับผิดชอบที่มีอำนาจตัดสินใจในส่วนกลาง เพราะที่ผ่านมา ปัญหานี้ผ่านผู้ว่าฯ มาแล้ว 3 คนปัญหายังวนเวียนไม่สามารถแก้ไขได้เพราะมีแต่การตั้งคณะกรรมการพูดคุยกันในระดับพื้นที่เท่านั้น

“ข้อเสนอของกลุ่มชาวบ้านที่เรียกร้องมา ตนจะรับดำเนินการให้” นายสุพจน์ บอกกล่าวกับตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ฯ ที่เข้าพบ

นายเลิศศักดิ์ ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้มีเอกชนยื่นขอสำรวจและผลิตแร่โปแตชในพื้นที่ 6 จังหวัด คือ จ.ชัยภูมิ จ.สกลนคร จ.อุดรธานี จ.นครราชสีมา จ.ขอนแก่น และ จ.มหาสารคาม ทั้งสิ้น 7 โครงการ รวมพื้นที่ ประมาณ 654,145 ไร่

อย่างไรก็ตาม การจัดการเกี่ยวกับแร่โปแตชในประเทศไทย ซึ่งมีปัญหามาโดยตลอดในด้านการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ผลกระทบต่อสังคมและชุม โดยเฉพาะในพื้นที่จ.อุดรธานี ทางคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ จึงมีมติเรื่องการบริหารจัดการโครงการเหมืองแร่โปแตช เมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2549 และเสนอต่อกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) และกระทรวงฯ ได้นำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2549 และครม. มีมติ “รับทราบ” มติของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม ตามที่ ทส. เสนอ

ทั้งนี้ มติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมดังกล่าว ระบุเรื่องการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมกรณีโครงการเหมืองแร่โปแตชว่า “ให้ศึกษาประเมินผลกระทบทางยุทธศาสตร์( Strategic Environmental Assesment ; SEA ) เพื่อการบริหารจัดการการด้านสิ่งแวดล้อมกับการพัฒนาแหล่งแร่โปแตช ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยให้คณะอนุกรรมการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงพื้นที่พิจารณา และระบุว่าควรเพิ่มประเด็นในการพิจารณาความจำเป็นในการใช้ทรัพยากรแร่ ในกรอบยุทธศาสตร์การจัดการแร่โปแตชของประเทศไทย และในด้านสังคม การพัฒนาแหล่งแร่โปแตช จะต้องส่งเสริมให้ดำเนินการภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วม เพื่อป้องกันปัญหาความขัดแย้ง”

นายเลิศศักดิ์ เปิดเผยต่อว่า ที่ผ่านมามีการประชุมหลายครั้งเกี่ยวกับการศึกษา SEA เหมืองแร่โปแตช แต่ไม่มีความคืบหน้าเพราะมีข้อติดขัดหลายประเด็น เช่น มีตัวแทนจากฝ่ายกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม และกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ เห็นว่าไม่สามารถดำเนินการได้เพราะการศึกษามีรายละเอียดมาก ทั้งด้านเทคโนโลยีและด้านงบประมาณ

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือน เมษายน 2550 ที่ผ่านมาทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ก็ได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เป็นผู้ดำเนินการศึกษาประเมินผลกระทบทางยุทธศาสตร์ หรือ SEA โครงการเหมืองแร่โปแตชทั้งหมดในอีสาน และขณะนี้ทาง สผ. ได้เริ่มขบวนการปรึกษาหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว โดยด้านเทคนิคอาจจะต้องใช้หลุมสำรวจที่มีอยู่เดิมประมาณ 200 หลุมในการศึกษาศักยภาพแหล่งแร่ และศึกษาให้เห็นชัดเจนว่ามีชุมชนอยู่ในเขตแหล่งแร่มากน้อยเพียงใด ขณะนี้เป็นเพียงการพูดคุยกันเบื้องต้นเท่านั้น

นายเลิศศักดิ์ กล่าวต่อว่า ตนได้ทราบมาว่าการศึกษาประเมินผลกระทบทางยุทธศาสตร์โครงการเหมืองแร่โปแตช ไม่มีความคืบหน้าแม้จะมีมติกรรมการสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ต้นปี 2549 เนื่องจาก กพร. ระบุว่าไม่สามารถจะดำเนินการได้เนื่องจากไม่มีงบประมาณและเทคโนโลยี จะเป็นไปได้ต้องให้บริษัทเอกชนเจ้าของโครงการเหมืองแร่โปแตช เป็นคนศึกษา โดยระบุเงื่อนไขว่าจะต้องอนุญาตประทานบัตรโครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานี ให้บริษัทอิตาเลียนไทยก่อน เพราะการศึกษาดังกล่าวต้องลงทุนสูง

“สะท้อนให้เห็นว่าที่ผ่านมา กพร. กระทรวงอุตสาหกรรม มิได้คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติ ในขณะที่กรณีโครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานีกลับพบว่า กพร.เข้าข้างบริษัทเร่งรัดการรังวัดปักหมุดโดยไม่มีการประชุมทำความเข้าใจกับชาวบ้าน จนเป็นเหตุแห่งความขัดแย้งมีการฟ้องร้องดำเนินคดีกับชาวบ้าน 5 คนจากรณีการรังวัดปักหมุดที่ไม่ถูกขั้นตอน

“ที่สำคัญการต่อรองว่าต้องให้ประทานบัตรแก่บริษัทอิตาเลียนไทยก่อนแล้วให้บริษัทเป็นผู้ประเมินเชิงยุทธศาสตร์ ตนไม่เข้าใจเลยว่ามีเบื้องหลังอะไรหรือไม่จึงแตะถ่วงขบวนการศึกษา SEA โดยยึดมั่นเพียงแนวทางส่งเสริมหรือพยายามอย่างที่สุดเพื่อเอื้ออำนวยประโยชน์แก่บริษัทเอกชนเช่นนี้ การประเมินแบบใดก็ตามจะไม่มีประโยชน์หากมีธงอยู่แล้วว่าจะอนุมัติโครงการ” ผู้ประสานงานกลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา กล่าว

เขายังบอกอีกว่า หาก กพร.ยังไม่เปลี่ยนทิศทางยุทธศาตร์การพัฒนาเหมืองแร่เสียงใหม่เพื่อประชาชนแล้ว การพัฒนาเหมืองแร่โปแตชไปพร้อมกัน ก็จะเป็นอัตรายกับสิ่งแวดล้อมและสังคมอีสาน หากมองว่าเกลือและแร่โปแตชเป็นแร่ยุทธศาสตร์ของชาติเพราะมีอยู่มากในอีสาน ก็ต้องมุ่งพัฒนาเพื่อภาคเกษตรกรรม คิดยุทธศาสตร์เพื่อมุ่งให้เกษตรกรพ้นจากบ่วงหนี้สิน คำนึงถึงประชาชนในชาติมากกว่าจะมาต่อรองให้บริษัทเอกชน

นายบุญมี ราชพลแสน รองประธานกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กล่าวว่า ชาวบ้านเห็นว่า ประเด็นยุทธศาสตร์การจัดการแร่โปแตช หรือ SEA ที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้เคยมีมติเอาไว้ตั้งแต่ปีที่แล้วเป็นเรื่องที่สำคัญและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรนำไปปฏิบัติ เพราะแร่โปแตชมีการค้นพบอีกหลายจังหวัดในอีสาน ฉะนั้นการศึกษาจึงชี้ให้เห็นความจำเป็น ความคุ้มค่า ตลอดจนแนวทางการจัดการปัญหาในทุกๆ มิติ

นายบุญมี กล่าวต่อว่า หากมีการนำแร่โปแตชขึ้นมาใช้ แต่ในขณะที่ กพร.ก็รออนุมัติประทานบัตรเป็นรายโครงการ, บริษัทก็มุ่งจะรังวัด, ผู้ว่าฯ ก็จะตั้งคณะกรรมการ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเพียงกรณีย่อยๆ เท่านั้น ดังนั้น กลุ่มอนุรักษ์ฯ จึงมายื่นขอให้ผู้ว่าฯ ช่วยผลักดัน นำเสนอขึ้นไป ชาวบ้านจะรอฟังคำตอบหากยังไม่มีความคืบหน้าก็คงจะมีการเคลื่อนไหว เข้าไปหา กพร.โดยตรง
กำลังโหลดความคิดเห็น