xs
xsm
sm
md
lg

“ความมั่นคง” ของ “บ้านมั่นคง” ที่ปัตตานี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“เราต้องมานอนเฝ้ากันสองคืน กลัวว่าพวกนั้นจะมาทำอะไรที่นี่ก่อนวันงาน” มะหะมะนอร์ มะเต๊ะ วัย 49 ปี สมาชิกชุมชนบ้านมั่นคงปูโป๊ะ อ.เมือง จ.ยะลา เล่าให้ฟังถึงการเตรียมพร้อมของชุมชนก่อนจะต้อนรับไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่กำหนดลงเยี่ยมชุมชนเมื่อวันที่ 12 พ.ค.ที่ผ่านมา

ในเมื่อบ้านหลังใหม่ยังสร้างไม่เสร็จดี สาธารณูปโภคก็ยังไม่พร้อมสำหรับการย้ายจากชุมชนแออัดในตัวเมืองปัตตานีเข้ามาอาศัยถาวร พวกเขาเลยต้องมานอนตากยุงเพื่อผลัดเปลี่ยนเวรยามดูแลความปลอดภัยเพื่อไม่ให้กำหนดการลงพื้นที่เยี่ยมชมโครงการต้องมีการเปลี่ยนแปลง และท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่อันหนักหน่วง พวกเขาไม่อาจวางใจได้ เพราะทางเจ้าหน้าที่จะไม่ได้ร่วมเฝ้าระวังในครั้งนี้ด้วย

ชุมชนปูโป๊ะ อยู่ในข่ายโครงการบ้านมั่นคงประเภทสร้างที่อยู่ใหม่ ภายใต้การสนับสนุนโดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) จากโครงการทั้งหมด 14 โครงการ ครอบคลุมพื้นที่ 33 ชุมชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2547 ล่าสุด พอช.กำลังขยายงานดังกล่าวในกรอบโครงการพัฒนาชุมชนเข้มแข็งเพื่อสร้างสันติสุข 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีดำเนินการบ้านมั่นคงเพิ่มเติมในพื้นที่ใหม่อีก 6 ชุมชน ในพื้นที่ จ.นราธิวาส

โครงการพัฒนาชุมชนเข้มแข็งฯ ยังเป็นส่วนหนึ่งในภารกิจฟื้นฟูการช่วยเหลือเกื้อกูลและวางแผนร่วมกันทั้งในและระหว่างชุมชน ด้วยหลักคิดที่ยึดชุมชนเป็นแกนหลัก มีแผนงาน 3 แผนหลัก คือ การแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยของชุมชนในเขตเมือง การแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ทำกินของชุมชนชนบท และการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของกลุ่มชาวประมงพื้นบ้าน โดยมีงบประมาณรวมทั้งสิ้น 493 ล้านบาท

ถึงกระนั้น ความสำเร็จของโครงการเหล่านี้จะไม่สามารถบังเกิดได้ หากไร้ซึ่งการสรุปบทเรียนและการเชื่อมร้อยจากชุมชนที่ปฏิบัติการไปก่อนหน้า

ชุมชนปูโป๊ะเป็นหนึ่งในสามชุมชนนำร่องของโครงการบ้านมั่นคงในเขตจังหวัดปัตตานี นอกเหนือจากชุมชนปะนาเระและชุมชนนาเกลือ มีสมาชิกจำนวน 112 ครัวเรือน ซึ่งเดิมเป็นชาวชุมชนแออัด 3 แห่งในตัวเมืองที่ริเริ่มกระบวนการหารือรวมใจของชาวบ้านมาตั้งแต่ตุลาคมปี 2546 ต่อเนื่องด้วยการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ในอีก 1 ปีถัดมา กระทั่งถึงขั้นตอนเลือกที่ดินเพื่อลงหลักปักฐานในชุมชนแห่งนี้ ซึ่งห่างจากตัวเมืองมาไม่กี่กิโลเมตร ซึ่งพวกเขามองเห็นโอกาสที่จะได้ประโยชน์ในอนาคตเพราะเป็นแปลงที่อยู่ใกล้กับสถานีขนส่งปัตตานีที่กำลังก่อสร้างอยู่ในขณะนี้

การร่วมทั้งแรงและลงทั้งเงินก่อให้เกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของ บวกความเพียรพยายามในการอดออมวันละ 10 บาท ทำให้บ้านมั่นคงแตกต่างจากโครงการของรัฐที่ช่วยเหลือชาวบ้านก่อนหน้านี้ที่มุ่งเน้นเพียงแต่ “การให้” เพียงอย่างเดียว หรือเข้าทำนองที่พวกเขาระบุว่า “เงินมา ข้อมูลไป รู้เรื่องเพียงคนเดียว” บทเรียนเหล่านี้จำต้องถ่ายทอดและส่งต่อให้กับชุมชนใหม่ๆ ที่กำลังรวมตัวก่อร่างขึ้นในไม่ช้านี้

ชุมชนแออัดเขตเมืองในพื้นที่มักประสบปัญหาครอบครัวขยายและไร้ที่ดิน ดังกรณีครอบครัวของแตเสาะ สุหลง วัย 32 ปี ที่ประสบปัญหาจากครัวเรือนขยาย เดิมทีพวกเขาเช่าบ้านอยู่ในชุมชนยูโยบูแม ซึ่งเป็นหนึ่งในชุมชนแออัดที่ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้างและทำงานในสายงานที่เกี่ยวข้องกับประมง แตเสาะบอกว่า พวกเธอใช้งบประมาณในเบื้องต้นที่กู้ไร้ดอกมาจาก พอช. ไปหมดแล้ว เหลือเพียงการเก็บออมเพิ่มเพื่อต่อเติมให้เป็น “บ้าน” ซึ่งขณะนี้ประสบปัญหาที่งานคัดปลาของเธอและงานรองปลาของสามีไม่ได้มีมากนัก

“ตอนนี้ก็ต้องไปๆ มาๆ กันไปก่อน คงยังไม่นอนค้าง” เธอกล่าว และระบุว่า แม้จะไม่มีความพร้อมมากนักแต่เพื่อนบ้านของเธออีก 2 หลัง ก็เริ่มเข้ามาอยู่อาศัยถาวรไปพร้อมๆ กับการเร่งวางโครงสร้างพื้นฐานและก่อสร้างบ้านของสมาชิกรายต่างๆ ที่มีความพร้อมด้านวินัยการออมและทุนทรัพย์ อย่างไรก็ตาม ในวันนี้แตเสาะและเพื่อนบ้านก็อยู่กันพร้อมหน้าในหมู่บ้านใหม่ เพราะพวกเธอต้องรอต้อนรับผู้ใหญ่หลายคนที่เดินทางลงมาเยี่ยมเยียนและให้กำลังใจพวกเธอถึงหมู่บ้าน

สายวันที่ 12 พ.ค.ที่ผ่านมา ชาวชุมชนปูโป๊ะมีโอกาสต้อนรับรองนายกฯ ไพบูลย์ และหมอพลเดช ปิ่นประทีป รมช.กระทรวงพัฒนาสังคมฯ พวกเขายังได้รับการยืนยันว่าจากรองนายกฯ ว่า แนวคิดในการพัฒนาที่ประชาชนเป็นศูนย์กลางทั้งในการร่วมกันคิดและทำ โดยมีหลักที่ว่าความมั่นคงในชีวิตของชาวบ้านเป็นเป้าหมายสูงสุดในการพัฒนา

“อย่างน้อยถ้าผมยังอยู่ในตำแหน่งนี้ รัฐบาลจะยังคงสนับสนุนแนวคิดนี้ต่อไป” รองนายกฯ ผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการ พอช.กล่าวยืนยันกับชาวบ้าน

เขายังเชื่อมั่นว่า การที่รัฐเน้นการพัฒนาในแนวทางดังกล่าวเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชนจะมีส่วนเป็นการปูพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ที่สำคัญยังเป็นการอำนวยให้สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ดีขึ้น

ฝ่ายชาวบ้านเองก็ดูเหมือนจะตอบรับแนวความคิดดังกล่าวด้วยการปฏิบัติให้เห็นจริงจังทั้งในการทำงานอย่างเข้มแข็งและต่อเนื่องในชุมชนตัวเองและริเริ่มเป็นตัวประสานขยายแนวคิดและวิถีปฏิบัติของ “บ้านมั่นคง” ไปยังเครือข่ายชุมชนต่างๆ ในพื้นที่อย่างขะมักเขม้น พร้อมๆ กับการหนุนช่วยของ พอช. ในฐานะพี่เลี้ยงและแหล่งสนับสนุนเงินทุน

มูฮามัดดือราฟี สะมะแอ วัย 38 ปี ประธานเครือข่ายบ้านมั่นคงจังหวัดชายแดนภาคใต้ บอกว่า หลังจากรวมกลุ่มและพัฒนาโครงการบ้านมั่นคงในแต่ละชุมชนเกือบ 50 ชุมชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พวกเขาร่วมกันจัดตั้งเครือข่ายฯ กันขึ้นมาโดยมีตัวแทนชาวบ้าน 28 คนจากแต่ละชุมชนเพื่อทำงานประสานและแลกเปลี่ยนบทเรียนระหว่างกัน รวมทั้งทำหน้าที่ขยายแนวคิดบ้านมั่นคงไปยังชุมชนใหม่ๆ โดยเฉพาะ 4 อำเภอในเขตสงขลาซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบไม่ต่างกัน

แม้ว่าพวกเขาจะเป็นเพียงชาวบ้านธรรมดา แต่การผลที่ปรากฏเป็นประโยชน์ให้กับสมาชิกในชุมชนของเขาเอง ทำให้มูฮามัดดือราฟี เชื่อมั่นว่า พวกเขาจะสามารถขยายความร่วมมือดังกล่าวได้อย่างทั่วถึง เขาย้ำว่า ขณะนี้ทีมงานของเครือข่ายก็สามารถพูดคุยในพื้นที่นราธิวาสได้ทุกอำเภอเรียบร้อยแล้ว

อย่างไรก็ตาม สำหรับชาวบ้านที่มีปฏิสัมพันธ์กับรัฐเช่นเครือข่ายของพวกเขาแล้ว โจทย์สำคัญนอกเหนือจากการพยายามรวมตัวและก่อร่างสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง อันเป็นการสร้าง “ความมั่นคง” ให้กับชีวิตแล้ว พวกเขายังต้องเผชิญกับโจทย์ของการถ่วงดุลในภาวะความขัดแย้งระหว่างรัฐกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ซึ่งแน่นอนว่าเป็นมิติของความมั่นคงในอีกด้านหนึ่ง

เพราะต้องไม่ลืมว่า ภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่ที่ผ่านมา เป้าหมายที่เป็น “สัญลักษณ์ของรัฐ” มักตกเป็นเป้าโจมตีของกลุ่มผู้ก่อการอยู่เป็นนิจ

“มีคนมาถามพวกเราอยู่เสมอว่าที่ทำอยู่นี่ โครงการของใคร เราก็ตอบไปตรงๆ ว่า โครงการของชาวบ้าน เพราะนี่ก็เงินของชาวบ้าน แรงของชาวบ้าน แล้วก็บ้านของชาวบ้าน เราคิดเองและทำเองทั้งหมด พอช.ได้เพียงแค่สนับสนุนงบประมาณเท่านั้น” มะหะมัดอาลี เวาะหลง สมาชิกชุมชนปะนาเระให้ภาพโจทย์ที่เขามักจะพบจากใครต่อใครที่เฝ้ามองการก่อตัวของกลุ่มชาวบ้านบ้านมั่นคง

เขายึดหลักที่ว่า การทำงานของชาวบ้านในเครือข่ายต้องทำความเข้าใจไม่เฉพาะสมาชิกเท่านั้น หากแต่จำเป็นต้องประสานผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ ตำรวจ ทหาร รวมไปถึง “พวกเขา” ที่หมายถึงกลุ่มผู้ก่อการ สิ่งที่ชาวบ้านยืนยันมาโดยตลอดก็คือว่า ชาวบ้านในเครือข่ายบ้านมั่นคงต่อสู้ร่วมกันเพื่อปากท้อง โดยการสร้างฐานของชุมชนก่อน วิธีการที่แตกต่างกับ “พวกเขา” ซึ่งมะหะมัดอาลี มองว่า ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่แท้จริงของชาวบ้าน เป็นเพียงการแก้ที่ปลายเหตุเท่านั้น

ถึงวันนี้ ชาวบ้านที่เคยเป็นคนไร้โอกาสจำนวนหนึ่งได้หยิบใช้โอกาสในโครงการบ้านมั่นคงและโครงการพัฒนาความเป็นอยู่อื่นๆ ที่ภาครัฐสนับสนุนนำพาชีวิตของพวกเขาให้ “มั่นคง” ขึ้นกว่าเดิม พวกเขายังเป็นแรงกระตุ้นเพื่อ “ขาย” ความคิดเกี่ยวกับพลังของชุมชนไปยังชุมชนอื่นๆ ตามที่แรงมี โดยมีความเชื่อมั่นว่า พลังชุมชนเท่านั้นจะฟื้นฟูสายใยและความร่วมมือระหว่างชุมชนได้ ขณะเดียวกัน พวกเขายังต้องเผชิญกับปัญหา “ความมั่นคง” ที่คอยบั่นทอนสายใยเหล่านี้ไว้ในทุกนาทีที่อยู่ในพื้นที่


กำลังโหลดความคิดเห็น