xs
xsm
sm
md
lg

โปรดฟังอีกครั้ง“มึงสร้าง กูเผา”!! แนวปะทะทุนนิยมเสรี-ศก.พอเพียง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“จ.ประจวบฯ มีเศรษฐกิจที่ “พอเพียง” ดีอยู่แล้ว เรามีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ มีแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติที่สวยงาม สิ่งเหล่านี้ถือเป็นเส้นเลือดสำคัญที่หล่อเลี้ยงวิถีชีวิตของพวกเรามานับแต่บรรพบุรุษ ..... ชาวประจวบฯ ไม่เคยเรียกร้องให้รัฐบาลมาช่วยเหลือในเรื่องเศรษฐกิจ เราสามารถพึ่งพาตนเองได้ด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ของเรา ไม่จำเป็นที่รัฐบาลจะเข้ามาช่วยพัฒนาจังหวัดของเราด้วยนิคมอุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้าสกปรก เพราะแท้ที่จริงแล้ว บทเรียนที่มาบตาพุดในวันนี้คือประจักษ์พยานได้ว่า นิคมอุตสาหกรรม ไม่ใช่ “การพัฒนา” แต่เป็นการทำลายล้างวิถีชีวิตที่ดีของประชาชนเจ้าของพื้นที่ ซึ่งเราชาวประจวบฯ ไม่ต้องการเป็นเหยื่อรายต่อไป” จดหมายเปิดผนึกจากกลุ่มคัดค้านโรงไฟฟ้า จ.ประจวบฯ ถึงพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี (ผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายโฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์) เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2550

การส่งสัญญาณของรัฐบาลต่อทิศทางการพัฒนาประเทศเวลานี้ เต็มไปด้วยความสับสนอย่างยิ่ง ด้านหนึ่งคณะรัฐบาลกำลังเตรียมแผนโหมประโคมแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงสู้กับทักษิโณมิกส์ที่เชิดชูลัทธิทุนนิยมเสรี อาการกระวีกระวาดลุกเต้นไม่เป็นสุขนี้เกิดขึ้นหลังจากพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี อาศัยชั้นเชิงโพนทะนาข้ามชาติหมิ่นแคลนแนวทางดังกล่าว

แต่อีกด้านหนึ่ง ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลขมิ้นอ่อน ไม่ว่าจะเป็น ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รมว.กระทรวงการคลัง, โฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กระทรวงอุตสาหกรรม, ปิยสวัสดิ์ อัมระนันท์ รมว.กระทรวงพลังงาน ต่างร่วมมือกันขับเคลื่อนโครงการลงทุนขนาดใหญ่เพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ เช่น โครงการระบบขนส่งมวลชนรถไฟฟ้า 5 สาย ที่สำคัญคือโครงการนิคมอุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ในพื้นที่ฝั่งตะวันตกและภาคใต้ เพื่อเปิดพื้นที่ลงทุนใหม่หลังจากพื้นที่ในเขตอีสเทิร์นซีบอร์ดก่อมลพิษจนถึงขั้นวิกฤตสุด จนไม่อาจรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมหนักได้อีกต่อไปแล้ว

การกล่าวอ้างว่ารัฐบาลจะใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางพัฒนาประเทศ จึงถูกตั้งคำถามเพราะเหมือนกับการพูดอย่างทำอย่าง

อันที่จริง เกือบครึ่งศตวรรษที่ผ่านมาถึงบัดนี้มีบทพิสูจน์ชัดแล้วว่า แนวทางการพัฒนาประเทศซึ่งมุ่งเน้นตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจตามแนวทางทุนนิยมเสรีนั้น แลกด้วยชีวิตเลือดเนื้อและวิถีชีวิตที่ล่มสลายทำลายการพึ่งพาตัวเองอันเป็นหลักการสำคัญของแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง และบรรดาผู้เสียสละเพื่อความเจริญต่างได้ข้อสรุปแล้วว่า เป็นการแลกเปลี่ยนที่ไม่คุ้มค่า ไม่มีคุณธรรม และความชอบธรรม แนวทางทั้งสองจึงเปรียบเสมือนเส้นคู่ขนานมิอาจบรรจบกันได้

เรื่องราวของวิกฤตมลพิษมาบตาพุดในเขตอีสเทิร์นซีบอร์ด - การปัดฝุ่นแผนพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมใหม่ในเขตเซาท์เทิร์นซีบอร์ดและเวสเทิร์นซีบอร์ด – การวางแผนสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ – การเคลื่อนไหวต่อสู้ที่ดุเดือดชนิด “มึงสร้าง กูเผา” ของชาวบ้านจากประจวบฯ กับแทคโนแครตด้านพลังงาน ซึ่งเป็นแนวปะทะระหว่างทุนนิยมเสรีกับวิถีเศรษฐกิจพอเพียงของชาวบ้านที่อุบัติขึ้นล่าสุดในพ.ศ.นี้ จึงเป็นเหมือนฉากการต่อสู้ซ้ำซากภายใต้วาทกรรมว่าด้วยการพัฒนา

การต่อสู้ที่ซ้ำซาก ประวัติศาสตร์ที่ซ้ำรอยภายใต้วาทกรรมการพัฒนา แทบไม่น่าเชื่อว่ายังมีกลุ่มคนหน้าเดิมเข้าร่วมวง เพราะหากย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2524 ยุคที่ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี เขามี เสนาะ อูนากูล เลขาธิการสภาพัฒน์ เป็นนักวางแผนคู่บุญบารมี พร้อมด้วย ปิยสวัสดิ์ อัมระนันท์ แทคโนแครตหนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรงแห่งสภาพัฒน์ ร่วมป่าวประกาศสโลแกน “เมืองไทยนี้ดี ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ในอ่าวมีแก๊ส” เปิดผ้าคลุมป้ายโรงแยกก๊าซที่มาบตาพุดในเขตพัฒนาอีสเทิร์นซีบอร์ด ท่ามกลางความวิตกกังวลของขั้วแนวคิดพัฒนาชนบทอย่างโฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ว่าจะมีปัญหาตามมาอย่างใหญ่หลวง

อีกเกือบ 30 ปีถัดมา ใน พ.ศ. 2550 พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นประธานองคมนตรี ช่วยค้ำจุนรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีที่มีความรู้ด้านทหารเป็นหลัก และไว้วางใจทีมเศรษฐกิจ เช่น โฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ – ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล – ปิยสวัสดิ์ อัมระนันท์ อย่างยิ่ง

พ.ศ.นี้ โฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ผู้ยืนอยู่คนละฟากกับ ปิยสวัสดิ์ อัมระนันท์ เมื่อเกือบ 30 ปีก่อน กำลังร่วมไม้ร่วมมือหารือกันขยายฐานการพัฒนาอุตสาหกรรมเข้าสู่พื้นที่เขตเซาท์เทิร์นซีบอร์ดและเวสเทิร์นซีบอร์ด หลังจากเขตอีสเทิร์นซีบอร์ด กลายเป็นขุมนรกอย่างสมบูรณ์แบบดังคำคาดการณ์ของนักวิชาการในกลุ่มราชศุภมิตร ซึ่งเป็นอีกกลุ่มก๊วนนักวิชาการจากสภาพัฒน์และกระทรวงคลัง ที่เป็นทีมที่ปรึกษาพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี ขณะนั้น

ไม่เพียงเท่านั้น โฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ยังยื้อยุด ไม่ยอมประกาศให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตควบคุมมลพิษ เพื่อควบคุมและแก้ไขปัญหามลพิษให้หมดไปอีกด้วย

การฉุดกระชากประเทศไทยเข้าสู่วงโครจรทุนนิยมเสรี ผันเปลี่ยนแนวทางพัฒนาประเทศจากเกษตรกรรมมุ่งหน้าเข้าเป็นประเทศอุตสาหกรรม หรือ NICs (Newly Industrailised Countries) ด้วยคำกล่าวอ้างเพื่อสร้างความเจริญรุ่งเรืองโชติช่วงชัชวาลย์ในยุคพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีแทคโนแครตจากสภาพัฒน์ เป็นมือไม้สำคัญ ณ วันนี้ได้สร้างผลกระทบอย่างใหญ่หลวง คร่าชีวิตของชาวมาบตาพุดที่ดับดิ้นด้วยมลพิษทุกรูปแบบ วิถีชีวิตและชุมชนล่มสลาย แต่ผู้มีอำนาจเหล่านั้นกลับไม่สนใจใยดี ไม่มีมีแม้กระทั่งคำอาลัย และความสำนึกเพื่อไถ่บาปให้กับผู้เสียสละแม้แต่น้อย

การเพิกเฉยต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ทำให้คำประกาศขับเคลื่อนแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของผู้มีบารีและรัฐมนตรีอดีตแทคโนแครตจากสภาพัฒน์ในรัฐบาลชุดนี้ แลดูตลกขบขันอย่างยิ่ง

ก่อนหน้านี้ ชาวมาบตาพุดในยุคโชติช่วงชัชวาลย์ต่างหลงไหลได้ปลื้มกับความเจริญที่หลั่งไหลเข้ามา และด้วยพลังทุนบวกกับแรงหนุนจากการเมือง ทำให้แทบไม่มีชาวบ้านคนไหนลุกขึ้นมาปกป้องถิ่นฐานทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์เพื่อดำรงวิถีพอเพียง การรวมกลุ่มเพื่อต่อสู้กับปัญหาที่เกิดขึ้นแม้จะมีบ้างในระยะหลังๆ ก็เป็นไปอย่างยากยิ่ง เพราะการมีผลประโยชน์ร่วม เช่น ลูกหลานเข้าทำงานในโรงงานเหล่านั้น หรือการใช้วิธีแยกสลายมวลชนโดยใช้อำนาจ อิทธิพลและผลประโยชน์เข้าล่อ

แต่มาบตาพุด ก็เป็นบทเรียนชั้นดีให้กับขบวนการประชาชนในพื้นที่อื่นๆ ที่จะมีโครงการพัฒนาขนาดใหญ่เกิดขึ้น อย่างเช่นการลุกขึ้นต่อสู้เพื่อปกป้องถิ่นฐานของตนเองของชาวประจวบฯ และการต่อสู้มายาวนานนับทศวรรษ ตั้งแต่โรงไฟฟ้าบ่อนอก – หินกรูด ที่ต้องล้มเลิกในที่สุดนั้น ทำให้พวกเขาเรียนรู้ว่า ชัยชนะในการปกป้องวิถีชีวิต ชุมชนและท้องถิ่นนั้นไม่เคยได้มาด้วยการร้องขอ มีแต่ต้องต่อสู้ชนิดตาต่อตา ฟันต่อฟัน

“ขอให้ท่านมั่นใจได้ว่า ประจวบฯ ไม่ใช่สวรรค์ของโรงไฟฟ้าถ่านหิน นิวเคลียร์ ก๊าซและนิคมอุตสาหกรรม เราขอเดิมพันด้วยชีวิตของเรา” แถลงการณ์ของกลุ่มคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน, นิวเคลียร์ ทับสะแก, กลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด และกลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอก – กุยบุรี เป็นที่ชัดเจนอย่างยิ่งว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะผลักดันให้โรงไฟฟ้าและนิคมอุตสาหกรรมเกิดขึ้นในพื้นที่นี้ ถึงแม้ว่าวันนี้พวกเขาจะสูญเสียแกนนำคนสำคัญอย่าง “เจริญ วัดอักษร” ไปแล้วก็ตาม เพราะยังมี “เจริญ วัดอักษร” อีกนับสิบนับแสนที่เกิดขึ้นมาแทนที่
กำลังโหลดความคิดเห็น