xs
xsm
sm
md
lg

ถอดบทเรียน “บีอาร์เอ็น โคออดิเนต” สงครามนี้ชี้วัดที่ความอดทน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สถาบันข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

คู่สงครามในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในขณะนี้ คือ ทางการไทยฝ่ายหนึ่ง และขบวนการแบ่งแยกดินแดนในโครงร่างของบีอาร์เอ็น โคออดิเนต เป็นแกนหลักอีกฝ่ายหนึ่ง ที่ต่างฝ่ายต่างใช้ยุทธศาสตร์และยุทธวิธีของตนเองเข้าต่อสู้กันเป็นเวลาหลายปี ทว่ารูปแบบการต่อสู้ของฝ่ายบีอาร์เอ็นฯ ที่ปรับเปลี่ยนไปจากอดีต ทำให้กองทัพไทยต้องเรียกร้องตัวเองให้เร่งศึกษา “เขา” เพื่อหวังจะเอาชนะสงครามครั้งนี้ให้ได้

ระยะเวลาการต่อสู้ที่ดำเนินมาอย่างยาวนานระหว่างรัฐไทยและขบวนการแบ่งแยกดินแดนหลากหลายองค์กร ส่งผลให้แต่ละฝ่ายต่างถอดบทเรียนข้อผิดพลาดและเรียนรู้กระบวนการที่เหมาะสมมาใช้ต่อสู้ หากไม่นับภาพรวมของการสูญเสียจากสงครามครั้งนี้ บทเรียนของแต่ละฝ่ายก็น่าสนใจไม่น้อย โดยเฉพาะในฝ่ายขบวนการฯ เพราะแนวทางการต่อสู้แบบใหม่นี้ ดำรงอยู่ภายใต้บริบทของโลกโลกาภิวัตน์ที่แตกต่างกับบริบทของสงครามเย็น ...สงครามนี้จึงคาดว่าคงอีกยาวนาน


ประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ ที่ปรึกษาสมาพันธ์ครู 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ วิเคราะห์ว่า กลุ่มบีอาร์เอ็นที่เคลื่อนไหวอยู่ในปัจจุบัน หรืออีกความหมายหนึ่ง คือ BRN Coordinate เป็นกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการยุติบทบาทของเครือข่ายบีอาร์เอ็นในอดีต ยุทธวิธีใหม่ๆ ที่เด่นชัดคือเน้นหนักการต่อสู้ทางการเมือง และใช้ยุทธวิธีทางทหารในเขตเมือง เป็นสิ่งที่พวกเขาเก็บรับบทเรียนมาจากขบวนการต่อสู้ของขบวนการเคลื่อนไหวในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์และตะวันออกกลาง

เขาวิเคราะห์จากบทเรียนในอดีตว่า บีอาร์เอ็นใหม่เรียนรู้ยุทธวิธีการเคลื่อนไหวทางการเมืองจากขบวนการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยอาเจะห์ จะเห็นได้จากรูปแบบการทำงานความคิดเพื่อขยายฐานมวลชนโดยเน้นหนักที่ความเชื่อทางศาสนาอิสลามและประวัติศาสตร์รัฐปัตตานีอันรุ่งโรจน์ในอดีต เชื่อมหลักการทางศาสนามาเทียบเคียงกับเงื่อนไขทางการเมืองที่ทำให้ประชาชนในพื้นที่รู้สึก และคงฐานที่มั่นอยู่ในโรงเรียนสอนศาสนา ปอเนาะ หรือบ้านของแกนนำในหมู่บ้าน

นอกจากนี้ งานมวลชนของบีอาร์เอ็นใหม่ยังแทรกตัวอยู่ในองค์กรต่างๆ ของชุมชน ไม่ว่าจะเป็นสหกรณ์ในรูปแบบต่างๆ องค์กรการกีฬา องค์กรพัฒนาชุมชนของหน่วยงานต่างๆ หรือแม้แต่องค์กรการกุศล หรืออาจกล่าวได้ว่า องค์กรใดก็ได้ที่พวกเขาสามารถเข้าไปมีบทบาทได้ก็จะเป็นเป้าหมายในการทำงานมวลชน ซึ่งแน่นอนว่าคงไม่ใช่ทุกองค์กรที่มีอยู่ในพื้นที่ หรือบางองค์กรที่สมาชิกส่วนใหญ่ยังไม่รู้ตัวก็มี

“เรียกได้ว่าถอดแบบมาจากการต่อสู้ที่อาเจะห์เลยก็ว่าได้”

ส่วนรูปแบบการต่อสู้ทางทหาร ที่ปรึกษาสมาพันธ์ครู 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ระบุว่า บีอาร์เอ็นใหม่น่าจะเรียนรู้จากบทเรียนใน 2 แหล่ง กล่าวคือ รูปแบบในการต่อสู้ในเมืองทั้งวิธีการประกอบระเบิด การวางระเบิดหวังผลต่อหน่วยทหารลาดตระเวน ฯลฯ เป็นบทเรียนจากองค์กรก่อการร้ายสากลที่มีพื้นที่ปฏิบัติการในประเทศตะวันออกกลาง ส่วนรูปแบบการสังหารเหยื่อทั้งการใช้มีดเชือดคอ การถลกหนังหัว รวมไปถึงการราดน้ำมันเผาเหยื่อทั้งเป็น เป็นยุทธวิธีที่พวกเขาน่าจะเรียนรู้มาจากการต่อสู้ของชนกลุ่มน้อยในหมู่เกาะมินดาเนา ประเทศฟิลิปปินส์

เขาบอกว่า การเรียนรู้แบบข้ามโลกเช่นนี้ดำรงอยู่ท่ามกลางบริบทใหม่ที่บีอาร์เอ็นเข้าใจดี จากเดิมบีอาร์เอ็นเป็นองค์กรที่มีลักษณะอันโดดเด่นกว่าองค์กรใต้ดินที่ประกาศตัวกู้เอกราชปัตตานีเพราะเป็นองค์กรที่เก็บรับทฤษฎีการต่อสู้ในแนวทางสังคมนิยมมาผนวกกับแนวคิดพื้นฐานของอิสลาม หลังสงครามเย็นเมื่อโลกเข้าสู่ยุคของการปะทะกันทางอารยธรรมระหว่างโลกอิสลามกับโลกตะวันตก กลุ่มบีอาร์เอ็นใหม่ก็ปรับตัวเพื่อเรียนรู้กระแสของกลุ่มที่ต่อสู้อยู่ในทั่วโลก

“ความฉลาดของเขาอยู่ที่การจับสิ่งที่อยู่ในใจของมวลชนได้ว่าอยู่ที่ความศรัทธาต่อศาสนาอิสลามและความหวาดหวั่นว่าวัฒนธรรมมลายู ซึ่งล้วนเป็นพื้นฐานทางจิตใจของพวกเขากำลังจะสูญหายไป” เขากล่าว และย้ำว่าจุดใหญ่ที่พวกเขาจับได้นำมาสู่ประเด็นหลักในการทำงานขยายแนวร่วมได้อย่างกว้างขวางและสอดคล้องกับกระแสการปะทะกันทางอารยธรรมในยุคโลกาภิวัตน์

ประสิทธิ์ บอกอีกว่า ในกรอบเล็กอย่างกรณีประเทศไทยก็ไม่ได้หลุดรอดจากกรอบวิเคราะห์ในระดับโลก กล่าวอย่างรวบรัดแนวปะทะระหว่างอารยธรรมอิสลามและอารยธรรมตะวันตก สะท้อนผ่านฐานะของประเทศไทยที่เป็นลูกสมุนให้กับมหาอำนาจโลกตะวันตก อีกทั้งบุคคลากรในระดับบริหารของประเทศล้วนเก็บรับกรอบความคิดของตะวันตก เสมือนเป็นตัวแบบของอารยธรรมตะวันตก ในขณะที่มวลชนพื้นฐาน โดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อยู่ภายใต้ความเชื่อต่อศาสนาอิสลามและมีวัฒนธรรมท้องถิ่นมลายูที่ตระหนักว่ากำลังถูกคุกคาม

การสรุปบทเรียนที่ชาญฉลาดอีกประการหนึ่งของศัตรูของรัฐไทย คือ การไม่ประกาศตัวอย่างชัดเจนว่าเป็นใคร อันเป็นโจทย์ใหญ่ของผู้บริหารและหน่วยงานความมั่นคงไทยมาโดยตลอด ประสิทธิ ฟันธงว่า นี่คือยุทธวิธีทางการเมืองของบีอาร์เอ็นใหม่ที่ต้องการหวังผลในทางยุทธวิธี 2 ประการอันสอดคล้องกับยุทธวิธีอื่นๆ คือ 1. สร้างความสับสน และ 2.รักษาความลับ

เขาวิเคราะห์ว่า การไม่ประกาศตัวและข้อเรียกร้องอย่างชัดเจน สร้างความสับสนให้กับประชาชนและเจ้าหน้าที่ จะส่งผลสะท้อนในสองด้าน คือ ทำให้ทางการไม่มีความสามารถที่จะรวมศูนย์ในการต่อกรกับกลุ่มของพวกเขาได้ชัดเจน ในอีกด้านหนึ่งทำให้ภารกิจในการโฆษณาชวนเชื่อว่าเหตุร้ายที่เกิดขึ้นเป็นฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐมีประสิทธิภาพมากขึ้น สร้างความเกลียดชังต่อเจ้าหน้าที่ซึ่งผลสุดท้ายเป็นเงื่อนไขในการสร้างแนวร่วมจากประชาชนในพื้นที่ได้อย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกัน การไม่ประกาศตัวเองอย่างเปิดเผยยังสอดคล้องกับยุทธวิธีการรบในเมืองที่หัวใจสำคัญอยู่ที่การรักษาความลับซึ่งจะเคร่งครัดกว่าการต่อสู้ด้วยกองกำลังติดอาวุธในป่าเขาเหมือนในอดีต

จากการวิเคราะห์ ประสิทธิ์ เชื่ออย่างหนักแน่นว่ากลุ่มผู้ก่อความไม่สงบที่กำลังต่อสู้กับรัฐไทยอยู่ในปัจจุบันคือกลุ่มบีอาร์เอ็นใหม่เป็นองค์กรหลัก ส่วนองค์กรอื่นๆ ที่มีชื่อแตกต่างกันไปนั้น ถึงจะมีส่วนก็เป็นเพียงในแง่ของงานแนวร่วม ส่วนใหญ่น่าจะมีอยู่ในฐานะของการช่วยเหลือเกื้อกูลกันมากกว่า รวมทั้งบทบาทของ ดร.วัน กาเดร์ เจ๊ะมาน ประธานเบอร์ซาตู ที่ให้สัมภาษณ์กับโทรทัศน์อัลจาซีราเมื่อไม่กี่วันก่อน

ที่ปรึกษาสมาพันธ์ครูฯ บอกด้วยว่า ปัญหาของรัฐบาลไทยที่ผ่านมา คือ การไม่ยอมรับว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นฝีมือของขบวนการแบ่งแยกดินแดน จึงทำให้ยุทธศาสตร์ในการรับมือกับศัตรูไม่ชัดเจน ทั้งนี้ เขาวิเคราะห์ว่าน่าจะเป็นผลมาจากความอ่อนแอด้านการข่าวกรอง ที่ไม่มีฐานข่าวที่แท้จริงพอจะระบุแนวทางการรบของฝ่ายตรงกันข้ามได้

ในขณะที่ พ.อ.จำลอง คุณสงค์ ที่ปรึกษากองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กอ.สสส.จชต.) ระบุว่า วันนี้ทางกองทัพยอมรับว่ากลุ่มที่เคลื่อนไหวในพื้นที่คือกองกำลังติดอาวุธบีอาร์เอ็นโคออดิเนต ซึ่งใช้วิธีการต่อสู้แบบใหม่ ฝ่ายกองทัพเองก็เข้าใจในจุดนี้ดี แต่กรณีที่ขบวนการบีอาร์เอ็นโคออดิเนตอ้างว่าเป็นการต่อสู้ในแนวทางของอิสลามเพื่อการจัดตั้งรัฐอิสลามบริสุทธิ์โดยใช้วิธีการฆ่าผู้บริสุทธิ์และฆ่าคนไทยพุทธเพื่อจัดตั้งรัฐอิสลามนั้น ทางกองทัพเชื่อมั่นว่าไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้อง ไม่ได้เป็นยุทธศาสตร์หรือแนวทางการต่อสู้ของอิสลามอย่างแน่นอน เชื่อว่าวิธีการดังกล่าวทางขบวนการรับมาจากกลุ่มอื่นอีกทอดหนึ่ง เพราะเห็นว่าเป็นแนวทางที่น่าจะให้ผลดีที่สุด

‘กลุ่มอื่น’ที่ พ.อ.จำลองเอ่ยถึงนั้น เขาได้ขยายความว่าวิธีการต่อสู้ของขบวนการบีอาร์เอ็นโคออดิเนตมีลักษณะใกล้เคียงกับการต่อสู้ที่เคยเกิดขึ้นบนดินแดนอาเจะห์ของอินโดนีเซียและการต่อสู้ในแนวทางของกลุ่มก่อการร้ายในกลุ่มประเทศอาหรับ เช่น การฆ่าผู้บริสุทธิ์ เพื่อข่มมวลชนส่วนใหญ่ให้ตกอยู่ภายใต้อาณาจักรแห่งความกลัว

เขาเน้นย้ำว่า ในระยะยาว วิธีการดังกล่าวจะส่งผลให้ขบวนการของฝ่ายตรงกันข้ามจะพบกับความพ่ายแพ้ทางยุทธศาสตร์ในที่สุด

ที่ปรึกษา กอ.สสส.จชต. วิเคราะห์ว่า หลังจากที่มีคนไทยพุทธต้องสูญเสียชีวิตไปเป็นจำนวนมาก เชื่อว่าต่อจากนี้ไปบีอาร์เอ็นฯก็จะลงมือกับผู้บริสุทธิ์เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะกับคนมุสลิมด้วยกันเอง ในทางกลับกัน ชาวมุสลิมที่เคยตกอยู่ภายใต้กระบวนการหลอมรวมอุดมการณ์ก็จะเริ่มตั้งคำถามว่าวิธีการเหล่านี้ถูกต้องชอบธรรมหรือไม่ มองไม่เห็นจุดที่จะประสบความสำเร็จหรือสิ่งที่ขบวนการบีอาร์เอ็นฯ นิยามว่าเป็นเป้าหมาย เมื่อไม่เห็นเป้าหมายมวลชนของเขาจะเริ่มถอนตัวออกมาเอง ทุกวันนี้จะให้เจ้าหน้าที่ไปพูดชักจูงใจให้ผู้คนเหล่านี้กลับคืนมาสู่สังคมปกติคงทำได้ยาก พวกเขาก็คงไม่ฟัง อุดมการณ์ ประวัติศาสตร์ และเรื่องราวของการถูกกดขี่ยังคงอัดแน่นอยู่ในความคิดและความรู้สึกของพวกเขา

“เราทำได้เพียงอดทนเท่านั้น สิ่งใดที่ดำเนินการทางกฎหมายได้ก็จะพยายามทำ แต่ท้ายที่สุด ขบวนการบีอาร์เอ็นฯ จะพ่ายแพ้ไปเองในทางยุทธศาสตร์”

เขาระบุว่า ขณะนี้ทางรัฐบาลโดยเฉพาะทางกองทัพเอง ได้เข้มงวดอย่างเด็ดขาดไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐสร้างเงื่อนไขความรุนแรงขึ้นมาเอง เช่น กรณีการไปยิงชาวบ้านผู้บริสุทธิ์ ซึ่งต่างกับสิ่งที่ฝ่ายขบวนการได้ลงมือทำ แต่สิ่งเหล่านี้ทางสหประชาชาติกำลังจับตามองอยู่ แม้จะอ้างว่าเจ้าหน้าที่รัฐกระทำกับผู้บริสุทธิ์ก่อน แต่ฝ่ายรัฐเองปัจจุบันนี้ก็พยายามทำทุกอย่างให้ถูกต้อง สิ่งที่เคยไม่ถูกก็จะรื้อฟื้นทำให้ถูกต้อง เช่น กรณีกรือเซะ กรณีการเสียชีวิตของนักฟุตบอลที่สะบ้าย้อย ซึ่งระบุว่าเจ้าหน้าที่รัฐเป็นคนทำ รวมทั้งคดีทนายสมชายเองก็กำลังรื้อฟื้นเพื่อหาคนกระทำผิดมาลงโทษ และเชื่อว่าต่อไปเรื่องการฆ่าผู้บริสุทธิ์ก็จะไม่มีอีกต่อไป

พ.อ.จำลอง บอกว่า เราจะต้องทำความเข้าใจต่อเจ้าหน้าที่ด้วยกันเองว่า เจ้าหน้าที่มีปืนจะยิงหรือจะฆ่าใครก็ได้ แต่เวลาเราจับคนในขบวนการมาตั้งมากมายมาได้นั้น เหตุใดเราไม่เอาปืนจ่อหัวยิงทิ้งให้หมด ที่จริงแล้ว เราทำเช่นนั้นไม่ได้ เพราะเราไม่เคยมองว่าคนพวกนี้ว่าเป็นอาชญากรโดยกมลสันดาน แต่เป็นผู้คนที่ถูกชักจูง ถูกครอบงำจากการปลูกฝังความคิดความเชื่อของขบวนการฯ โดยเฉพาะเด็กๆ ที่ถูกล้างสมองให้มองคนบริสุทธิ์เป็นศัตรู เราจึงต้องอดทนและพยายามหาแนวทางที่เหมาะสมมาแก้ปัญหาเหล่านี้

“เราถูกกดดันจากสังคมไทยว่าทำไมทหารไม่ใช้ความรุนแรงไปตอบโต้ กวาดล้างกลุ่มขบวนการฯ นี้ให้หมด เราอยากบอกว่าเราทำไม่ได้ เพราะในลักษณะของปัญหาอย่างนี้ มันต้องหาวิธีการที่เหมาะสมมาแก้ไข”

เขาบอกอีกว่า ทางกองทัพโดยเฉพาะรัฐบาลได้เรียนรู้วิธีการแก้ไขปัญหาเรื่องความขัดแย้งและการก่อการร้ายโดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ ประเทศที่มีปัญหาเหล่านี้จะใช้วิธีการเชิญตัวผู้ต้องสงสัยมาสอบสวน จะไม่ใช้ความรุนแรงเข้าจับกุมหรือกวาดล้าง มิเช่นนั้นจะเป็นการขยายความรุนแรง

“เราเห็นว่าทางขบวนการได้เรียนรู้ความผิดพลาดมาเป็นบทเรียนหลายประการ เช่นการใช้มวลชนมาเป็นฐานการต่อสู้ การแต่งกายเลียนแบบเจ้าหน้าที่ไปยิงผู้บริสุทธิ์ แล้วบอกกับชาวบ้านว่าเจ้าหน้าที่เป็นคนทำ กรณีที่ชาวบ้านลุกขึ้นมาเดินประท้วงขับไล่เจ้าหน้าที่นั่นก็เป็นอีกวิธีการหนึ่งของขบวนการ ซึ่งถามว่าเราจะไปกวาดล้าง จับกุม หรือกระทำความรุนแรงกับคนเหล่านี้ได้ไหม เราทำไมได้ ขืนทำก็จะยิ่งทำให้ทุกอย่างบานปลายขึ้นไปอีก แต่ขอยืนยันว่า ปัจจุบันยุทธศาสตร์ของกองทัพเดินมาถูกทางแล้ว”

“เพียงแต่เราต้องใช้ความอดทนมากขึ้นเท่านั้น” พ.อ.จำลองกล่าวทิ้งท้าย

กำลังโหลดความคิดเห็น