xs
xsm
sm
md
lg

ร้องคตส.รีดเอไอเอสคืนภาษี1.8หมื่นล.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สรท.ทีโอที บุกคตส.ร้องเก็บภาษีเอไอเอส.1.8 หมื่นล้าน แฉรัฐบาลทักษิณออกพ.ร.ก.สรรพสามิตขัดกฎหมาย งัดกฤษฎีกาตีความคู่สัญญาเอกชนต้องเป็นคนจ่ายภาษี เผยทรู-ทีทีแอนด์ที ร่วมเอี่ยว “แก้วสรร” โพล่งโคตรแสบ เตรียมชง คตส.สอบด่วน สรรพากรเรียกบรรณพจน์จ่ายภาษี 4 ธ.ค.นี้ ส่วนคณะอนุกก.หุ้นชินฯ รุกคืบตั้งสอบ 4 ประเด็น พุ่งเป้าโอนหุ้นผ่านนอมินี ด้าน “เสี่ยเช” กลิ้งไม่เลิก ออกตัวเป็นพยานโยงคนโกงกว่า 10 คนรวมถึงนักการเมือง เชื่อจับได้แต่คนโง่

วานนี้ (29 พ.ย.) สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัททีโอทีจำกัด (มหาชน) หรือสรท.ทีโอที. นำโดยนายนุกูล บวรสิรินุกุล ประธานสหภาพฯ เข้ายื่นหนังสือต่อนายแก้วสรร อติโพธิ เลขานุการคตส. เพื่อขอให้ตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เนื่องจาก รัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ตราพ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 เมื่อปี 2546 โดยน.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เป็นรมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เป็นผู้เสนอเข้าสู่ครม. เพื่อมิให้จัดเก็บภาษีสรรพสามิต โดยหักจากส่วนแบ่งรายได้ที่เอกชนคู่สัญญาจะต้องนำส่งให้ผู้ให้สัมปทานหรือคู่สัญญาภาครัฐ ซึ่งถือว่าขัดกฎหมายสรรพสามิต
นายนุกูล กล่าวว่า หลังจากนั้นกรมสรรพสามิตได้ทำหนังสือสอบถามไปยังกฤษฎีกา และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา มีคำวินิจฉัย เล่มที่ 93/2547 ระบุว่า เมื่อคู่สัญญาภาคเอกชนเป็นผู้ประกอบการ สถานบริการสำหรับกิจการโทรคมนาคมที่ได้รับอนุญาต หรือสัมปทานจากรัฐแล้ว จึงมีหน้าที่เสียภาษี และมีหน้าที่ยื่นแบบรายการเสียภาษี และชำระภาษีสรรพสามิตตามกฎหมาย แม้ในสัญญาร่วมการงานจะกำหนดให้ทศท. หรือบุคคลใดเป็นผู้เรียกเก็บค่าบริการจากประชาชนผู้รับบริการก็ตาม ก็เป็นเรื่องข้อตกลงที่มีผลผูกพันกันระหว่างคู่สัญญา ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงหน้าที่ที่บุคคลนั้นพึงมีตามกฎหมายว่าด้วยภาษีสรรพสามิตแต่อย่างใด
“เท่ากับว่าบริษัทเอไอเอส. ในฐานะบริษัทเอกชน ซึ่งเป็นคู่สัญญากับทีโอที จะต้องมีการจ่ายภาษีให้กับกรมสรรพสามิตปีละ 6 พันล้านบาท รวม 3 ปีตั้งแต่พ.ร.ก.ดังกล่าวมีผลใช้บังคับ เอไอเอส.ต้องเสียภาษีรวมเป็นเงิน 1.8 หมื่นล้านบาท จึงต้องการให้คตส.ได้รับเรื่องดังกล่าวเอาไว้พิจารณา เพราะทำให้ประเทศชาติต้องเสียผลประโยชน์มหาศาล ซึ่งยังมีบริษัทอื่นที่ดำเนินการลักษณะเช่นนี้คือบริษัททรู และทีทีแอนด์ที” นายนุกูล กล่าว
ประธานสหภาพฯ กล่าวอีกว่า ในวันที่ 30 พ.ย.นี้ ทางสหภาพฯ จะเดินทางไปยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี รมว.คลัง กรมสรรพสามิต และกระทรวงไอซีที ให้เร่งดำเนินการเรียกเก็บภาษีจากบริษัทเอไอเอส. พร้อมทั้งสอบถามว่าเพราะเหตุใดหน่วยงานเหล่านี้ไม่ปฏิบัติตามการตีความของคณะกรรมการกฤษฎีกา และไม่รีบหาทางแก้ไข
นอกจากนั้น เวลา 09.00 น. วันพรุ่งนี้ (30 พ.ย.) นายศาสตรา โตอ่อน อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยรังสิต พร้อมด้วยนางสาวรสนา โตสิตระกูล และนายสมชัย แนวพานิช ตัวแทนพนักงาน บริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) จะยื่นฟ้องคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้เพิกถอนประกาศ กทช. เรื่องการใช้และเชื่อมโยงเครือข่ายโทรคมนาคม ซึ่งประกาศดังกล่าวเท่ากับเป็นการแปรรูป ทศท. เพื่อเอาสาธารณสมบัติไปให้บริษัทเอกชนใช้ประโยชน์อีกด้วย
นายแก้วสรร กล่าวว่า ดูเนื้อหาแล้วพบว่าเรื่องนี้มันแสบ เพราะมีคำวินิจฉัยของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาออกมายัน แต่รมว.คลังในสมัยนั้นกลับไม่ทำอะไร ถ้าเทียบแล้วจะพบว่ากรณีนี้เหมือนกับกรณีหวยบนดิน ซึ่งตนจะนำเรื่องเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคตส.ต่อไป

***ขีดเส้น 7 วัน ให้บรรณพจน์เสียภาษี

รายงานข่าวจากอนุกรรมการตรวจสอบกรณีการซื้อขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด เปิดเผยว่า ได้เชิญกรมสรรพากรมาชี้แจงถึงการเรียกเก็บภาษีนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ พี่ชายบุญธรรมของคุณหญิงพจมาน ชินวัตร วงเงิน 546.12 ล้านบาท กรณีการซื้อหุ้นบริษัทชินวัตรคอมพิวเตอร์แอนด์คอมมิวนิเคชั่น จำกัด โดยกรมสรรพากรรับปากกับคณะอนุกรรมการฯว่าจะประเมินเรียกเก็บภาษีนายบรรณพจน์ ให้เสร็จในวันจันทร์ที่ 4 ธ.ค.นี้ และจากนั้นจะแจ้งให้นายบรรณพจน์ มาเสียภาษีภายใน 7 วัน
ทางด้าน นายวิโรจน์ เลาหะพันธ์ ประธานคณะอนุกรรมการตรวจสอบการซื้อขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า นอกจากที่คณะอนุกรรมการฯจะตรวจสอบการหลีกเลี่ยงเสียภาษีในการซื้อขายหุ้นบริษัทชินวัตร คอมพิวเตอร์แอนด์คอมมิวนิเคชั่นแล้ว คณะอนุกรรมการฯยังได้ตรวจสอบเรื่องที่เกี่ยวกับการซื้อขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปฯ อีก 4 ประเด็น โดยมีกรณีการโอนหุ้นผ่านนอมินีด้วย ซึ่งถ้าเรื่องไหนตรวจสอบเสร็จก่อน ก็จะว่าเป็นเรื่องๆไป
นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล สมาชิกพรรคไทยรักไทย อดีตที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร ได้เดินทางมายื่นหนังสือต่อ คตส. เพื่อขอให้รับเรื่องมาตรวจสอบ ซึ่งเป็นข้อมูลในการประชุมของคณะกรรมาธิการฯ ที่กรมสรรพากรยืนยันต่อกรรมาธิการเมื่อวันที่ 1 ก.พ.49 กรณีการซื้อขายหุ้นชินคอร์ป มีใจความว่า กำไรที่ได้รับจากซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามมาตรา 44 (2) และการได้รับหุ้น หรือซื้อหุ้นมาในราคาที่ถูกกว่าราคาตลาด ก็ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้เช่นกัน
ส่วนการประชุมคณะอนุกรรมการตรวจสอบการซื้อที่ดินย่านรัชดา ของคุณหญิงพจมาน ชินวัตร โดยเชิญนายสมใจนึก เองตระกูล อดีตปลัดกระทรวงการคลัง เข้าชี้แจงเกี่ยวกับการดำเนินการของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน
พล.ท.เชวงศักดิ์ ทองสลวย เลขานุการส่วนตัวพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ชวลิตได้รับทราบหนังสือที่คตส.เชิญมาชี้แจงในวันที่ 30 พ.ย.แล้ว โดยเป็นการถามถึงอำนาจหน้าที่ในการเป็นนายกรัฐมนตรี และแนวคิดในการเลือกโครงการหวยบนดินว่ามีความคิดว่าจะทำหรือไม่ แต่พล.อ.ชวลิต ได้ขออนุญาตว่าจะไม่ขอมาชี้แจงด้วยตัวเอง แต่ได้ส่งได้เอกสารชี้แจงแทนไปแล้ว ซึ่งไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้
นาย อุดม เฟื่องฟุ้ง กรรมการ คตส. กล่าวถึงกรณีที่พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกฯจะไม่มาชี้แจงว่า ไม่มีผลกระทบอะไร ทั้งนี้ในการประชุมวันเดียวกันนี้ที่ประชุมยังได้เชิญนาง สว่างจิตต์ จัยวัตน์ รองผู้ว่าการธปท.มาชี้แจงในฐานะอดีตผู้จัดการกองทุนฟื้นฟูในสมัยนั้น มาชี้แจงถึงกรอบอำนาจการดูแลกองทุนฟื้นฟู แต่ไม่ได้ลงลึกในรายละเอียดว่ามีการทุจริตอย่างไร

***“เสี่ยเช” พลิ้วเป็นพยานโยงคนโกงนับสิบ

ส่วนคณะอนุกรรมการตรวจสอบการจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิด ซีทีเอ็กซ์ 9000 ในสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งเชิญ นายวรพจน์ ยศะทัตต์ กรรมการบริหารบริษัทแพทริออต มาให้ข้อมูลนั้น นายวรพจน์ กล่าวก่อนการชี้แจงว่า ตนมาให้ข้อมูลทุกอย่างในฐานะพยาน เพราะไม่อยากให้วิศวกรด้วยกันต้องมาขูดรีดกัน และกลายเป็นเหยื่อของนักการเมือง ซึ่งที่ผ่านมาตนได้เคยให้ข้อมูลเอาไว้กับทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)แล้ว ดังนั้นการให้ข้อมูลครั้งนี้คงไม่มีอะไรใหม่
ภายหลังเข้าชี้แจงต่อคตส. ประมาณ 3 ชั่วโมง นายวรพจน์ เปิดเผยว่า อนุกรรมการฯ ขู่ไม่ให้ตนเปิดเผยรายละเอียดในการชี้แจง โดยอ้างว่าจะผิดกฎหมายอาญา แต่ในการชี้แจงอนุกรรมการฯ ได้เรียกตนเป็นพยานตลอด ทำให้ตนเข้าใจว่าการมาชี้แจงครั้งนี้มาในฐานะพยาน โดยข้อมูลที่ให้กับอนุกรรมการฯ 80% เป็นข้อมูลเก่าที่เคยให้ไว้กับวุฒิสภา และกรมสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมทั้งได้เซ็นรับรองคำให้การทั้งหมดเอาไว้กับคตส.แล้ว และรู้สึกเฉย ๆ กับการชี้แจงครั้งนี้
นายวรพจน์ กล่าวว่า อนุกรรมการฯได้สอบถามถึงบุคคลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งบางคนตนก็ไม่รู้จัก แต่พบว่ามีผู้เกี่ยวข้องกับโครงการนี้กว่า 10 คน ซึ่งมีนักการเมืองรวมอยู่ด้วย
ส่วนกรณีที่อนุกรรมการได้ตั้งข้อสังเกตถึงการเบิกเงินค่างวดจากบัญชีของตน แล้วอยู่ดี ๆ ก็มีการเติมเงินให้เต็มบัญชีนั้น ขอชี้แจงว่า ตนเป็นคนเบิกเงินมาเอง เพราะช่วงนั้นมีปัญหากับไอทีโอ. จึงกลัวว่าจะถูกเรียกเงินกลับ เนื่องจากเครื่องซีทีเอ็กซ์ยังไม่ได้ส่งมาถึงประเทศไทย จึงต้องเบิกเงินมาเพื่อใช้ต่อรองกับไอทีโอ. และการเบิกเงินครั้งสอง เนื่องจากป.ป.ง.เข้ามาตรวจสอบเส้นทางการเงิน ตนจึงต้องเบิกออกมาเก็บไว้ก่อน และสุดท้ายตนก็นำเงินเข้าบัญชีอีกรอบ ยืนยันว่าไม่มีใครหรือนักการเมืองเอาเงินมาให้
เมื่อถามว่าทางคตส.ได้สอบถามการไปพบกับนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม เมื่อวันที่ 9 ต.ค. 46 ที่ท่าอากาศยานดอนเมืองหรือไม่ นายวรพจน์ กล่าวว่า ไม่ได้ถาม แต่การพบดังกล่าวไม่ได้มีการนัดหมาย เพียงแต่ก่อนที่นายสุริยะ จะไปตรวจที่ดอนเมือง ได้ถามเจ้าหน้าที่การท่าอากาศยานว่าใครมีความเชี่ยวชาญเรื่องการใช้เครื่องซีทีเอ็กซ์ ที่สนามบินอิสราเอลเพิ่งจะเปิดใช้ ตนซึ่งมีความเชี่ยวชาญจึงได้ไปพบและอธิบายแทนเจ้าหน้าที่การท่าฯ ซึ่งไม่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องนี้ โดยที่บริษัทอินวิชั่น เปิดโอกาสให้ทดลองใช้เครื่อง เพราะเครื่องดังกล่าวอยู่ที่ดอนเมืองแล้ว 1 เครื่อง
สำหรับจากการมาชี้แจงครั้งนี้มั่นใจว่าคตส.จะจับคนผิดได้หรือไม่ นายวรพจน์ กล่าวว่า ลองสังเกตดูว่าส่วนใหญ่คนที่ถูกจับมักกจะไม่เกี่ยว คนที่เกี่ยวไม่ได้เซ็น เพราะเขาจะเลือกคนเซ็นที่หน้าตาโง่ ๆ ทั้งนั้น จึงเป็นเรื่องยากที่จะจับระดับใหญ่ได้ จะได้เพียงเจ้าหน้าที่ระดับเล็ก ซึ่งถ้าออกมาอย่างนั้นทุกคนจะเชื่อหรือไม่ ซึ่งตนก็ไม่เชื่ออยู่แล้ว เพราะรู้อยู่ว่าใครเกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ตาม หากคตส.อยากได้ความร่วมมือต้องหาผู้รับเหมามาเป็นเพื่อนมากกว่าจะลงไปขู่ เพราะการขู่ไม่เกิดประโยชน์ เพราะเขาไม่แน่ใจว่าผู้มีอำนาจจะกลับคืนมาอีกหรือไม่ ซึ่งคนในวงการรับเหมารู้ดีว่าไม่มีใครต้องการให้คนทำอาชีพวิศวกรด้วยกันมารีดไถ โดยเฉพาะวิศวกรที่ไปรับใช้นักการเมือง ดังนั้นหากคตส.หาผู้รับเหมาเป็นพวกได้จะเป็นประโยชน์ต่อวงการก่อสร้างในอนาคต
นายวรพจน์ กล่าวด้วยว่า การทุจริตคอร์รัปชั่นเกิดจากวิศวกรที่เกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างเมกกะโปรเจค ไอที และการสื่อสารทั้งนั้น ซึ่งโครงการเหล่านี้จะมีการจ้างวิศวกรเป็นที่ปรึกษาในการออกแบบก่อสร้าง ดังนั้นเมื่อนักการเมืองจะสร้างโครงการใหญ่ ๆ ก็ต้องเชิญที่ปรึกษามากำหนดเสปก เพื่ออำนวยให้กับสิ่งที่พวกตัวเองอยู่ จึงเป็นต้นตอการทุจริต ดังนั้นจึงควรมีองค์กรวิศวกรกลาง ที่ถูกกฎหมายเหมือนแพทยสภา ที่มีการตรวจสอบถ้ามีการเอื้อกันก็ต้องดำเนินการ
กำลังโหลดความคิดเห็น