xs
xsm
sm
md
lg

เปิดเครือข่าย “บีอาร์เอ็น” อำนาจรัฐซ้อนในสงครามประชาชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สถาบันข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

นับตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายนเป็นต้นมา เหตุการณ์ภาคใต้ที่ดูเหมือนจะรุนแรงขึ้นและขยายเป็นวงกว้างลงสู่ระดับมวลชนที่เห็นเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน ไม่ว่ากรณีการชุมนุมเพื่อขับไล่เจ้าหน้าที่รัฐ หรือการแห่ศพของคนในขบวนการที่ออกมาปะทะกับเจ้าหน้าที่รัฐจนเสียชีวิต สิ่งเหล่านี้เกิดเป็นคำถามว่าปัจจุบันเครือข่ายการ ‘จัดตั้ง’ ของขบวนการ ฝังรากลึกลงสู่มวลชนอย่างไร จึงสามารถสะท้อนออกมาในรูปของการต่อต้านอำนาจรัฐอย่างแข็งแกร่ง จนเจ้าหน้าที่รัฐจับไม่ได้ไล่ไม่ทันขบวนการผู้ก่อความไม่สงบที่ออกมาปฏิบัติการ ‘เย้ย’ อำนาจรัฐอยู่แทบทุกวัน

คำว่า ‘เขตงาน’ ของผู้ก่อการ ซึ่งถูกกล่าวถึงซ้ำแล้วซ้ำเล่า หลังเหตุการณ์ในพื้นที่อำเภอบันนังสตาทวีความเข้มข้นขึ้น สัญลักษณ์ของเขตงานในพื้นที่ดังกล่าวสัมผัสได้อย่างชัดเจน นอกจากเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องแล้ว การลุกฮือของมวลชนเพื่อกดดันอำนาจรัฐก็น่าจะเป็นสิ่งยืนยันได้ชัดเจนที่สุด กระทั่งคนไทยพุทธในพื้นที่อดรนทนไม่ไหวต้องหอบเสื้อผ้าออกจากบ้านมาอาศัยวัดเป็นที่พักพิงในเขตเมือง หากต้องการทราบว่าระดับความกดดันของพื้นที่มีขนาดไหน คนไทยพุทธเหล่านี้น่าจะตอบคำถามได้ดีที่สุด


ไม่มีใครทราบตัวเลขที่แท้จริงว่า ปัจจุบัน ‘เขตงาน’ ดังกล่าวมีมากน้อยแค่ไหน จากประมาณ 1,900 กว่าหมู่บ้านในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเชื่อว่าอย่างน้อยที่สุด ‘เขตงาน’ หรือ ‘เขตจัดตั้งพิเศษ’ ที่กลุ่มขบวนการเข้าไปแทรกซึมสร้างเครือข่ายไว้มีไม่ต่ำกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนหมู่บ้านทั้งหมด

ตัวเลขดังกล่าวไม่ใช่จำนวนน้อยๆ และเป็นงานหนักอึ้งไม่ใช่เล่นของฝ่ายความมั่นคง ลำพังหมู่บ้านที่ปรากฏเป็นข่าวโด่งดังเรื่องการเคลื่อนไหวของมวลชนในปัจจุบันก็มีมากมายหลายหมู่บ้าน และหมู่บ้านที่ไม่ปรากฏเป็นข่าว แต่สามารถดำเนินงานของตนเองอย่างลับๆ ให้ใช้เป็นที่พักพิงของกลุ่มขบวนการหลังออกมาก่อเหตุก็มีอีกเป็นจำนวนมาก

ข้อสงสัยเรื่องเครือข่ายการจัดตั้งดังกล่าว ได้รับการเปิดเผยจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงรายหนึ่ง ซึ่งทำงานเกาะติดอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดเพื่อเรียนรู้เครือข่ายของขบวนการโดยเฉพาะว่า มีการพัฒนาไปมากและมีความเป็นปัจจุบันค่อนข้างสูง โดยกลุ่มคนเหล่านี้ก็เรียนรู้รูปแบบการทำงานที่นำข้อผิดพลาดมาเป็นบทเรียน อาทิ การใช้มวลชนเป็นฐานและใช้ความสัมพันธ์ในแนวดิ่ง เพื่อกันการสืบสวนสอบสวนสาวไปถึงแกนกลางของขบวนการ

สำหรับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในระดับปฏิบัติการในพื้นที่ ฟันธงไปแล้วว่าขบวนการที่ก่อเหตุอยู่ในปัจจุบันนี้คือ ขบวนการ BRN-Coordinate เป็นองค์กรหลัก มีเจตนารมณ์เพื่อการปฏิวัติจัดตั้ง “รัฐปัตตานีดารุสลาม” โดยยึดโยงอยู่กับอุดมการณ์ 3 หลัก ได้แก่ มลายู ปัตตานี อิสลาม ซึ่งนำมาเป็นพื้นฐานในการจัดตั้งมวลชนผ่านการเชื่อมโยงความเป็นมลายูเข้ากับความเป็นมุสลิมเพื่อสร้างอัตลักษณ์ “มลายูมุสลิม” และเชื่อมต่อกับประวัติศาสตร์ปัตตานีในฐานะที่เคยเป็นรัฐอิสลาม เพื่อสร้างความชอบธรรมในการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยรัฐปัตตานีที่หลอมรวมกับการต่อสู้เพื่ออิสลาม ที่สำคัญยังเป็นเป็นการขับเน้นให้เห็นศัตรูที่ชัดเจนคือ “รัฐไทย” นั่นเอง

ยุทธศาสตร์หลักคือ จะต้องเอาชนะรัฐไทยด้วยพลังการปฏิวัติ 4 ด้าน อันประกอบด้วย
พลังมวลชน พลังอำนาจทางการเมือง พลังอำนาจทางเศรษฐกิจ และพลังอำนาจทางทหาร โดยเน้นพลังชี้วัดอยู่ที่พลังมวลชนเป็นหลัก ส่วนอำนาจทางการทหารเป็นเพียงอำนาจเสริมเท่านั้น

ส่วนด้านยุทธวิธี BRN-Coordinate จะมุ่งปฏิบัติการทางทหารด้วยยุทธวิธีก่อการร้าย ตั้งแต่ระดับการซุ่มโจมตีถึงการก่อวินาศกรรม โดยมีเป้าหมายเป็นสัญลักษณ์ของกลไกอำนาจของรัฐไทย รวมทั้งกลุ่มมุสลิมผู้ไม่เห็นด้วยตามแนวทางเขาขบวนการ สร้างความหวาดกลัวและเน้นหนักการโฆษณาชวนเชื่อเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการจัดตั้งมวลชน อันเป็นพลังชี้วัดสำคัญในสงครามครั้งนี้

เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงรายหนึ่ง ยังได้เปิดเผยข้อมูลโครงสร้างการจัดตั้งองค์กรมวลชน ที่ระบุว่าเป็นของขบวนการ BRN-Coordinate ที่จัดตั้งขึ้นในลักษณะของลักษณะการทับซ้อนการจัดตั้งการปกครองของรัฐไทย

“การจัดตั้งในลักษณะที่คล้ายคลึงกับที่กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยจัดตั้งพื้นที่การปกครองของประเทศไทย ฝ่ายขบวนการจึงใช้ลักษณะโครงสร้างดังกล่าว มาใช้จัดตั้งเครือข่ายของตนเอง แต่มีชื่อเรียกเป็นภาษามลายู” เขากล่าว

รูปแบบการจัดการปกครองแบบรัฐซ้อนมีตั้งแต่ในระดับกัสหรือมณฑล วีลายะห์หรือจังหวัด แดอาเราะห์หรืออำเภอ ลีการันหรือตำบล และอาเยาะห์หรือหมู่บ้าน โดยซ้อนอยู่ในเขตการปกครองตามอำนาจรัฐไทย

เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงคนดังกล่าว แจกแจงว่า การจัดตั้งในระดับหมู่บ้านหรือระดับชุมชน ที่เรียกว่า “อาเยาะห์” จะมีการจัดหา “ผู้นำอาเยาะห์” ขึ้นมาคนหนึ่งและจัดตั้งคณะกรรมการ 4 ฝ่ายอันประกอบด้วย 1.ฝ่ายเปอมูดอ (เปอนือรางัน) ทำหน้าที่ควบคุมพลังของกลุ่มเด็กและเยาวชนในหมู่บ้าน/ชุมชน บางหมู่บ้านมีการจัดกิจกรรมกีฬา ตั้งทีมฟุตบอล นอกจากได้รวบรวมสมัครพรรคพวก เกาะแน่นเป็นกลุ่มกันแล้ว ยังเป็นการฝึกเรื่องพละกำลังด้วย ส่วนการฝึกการติดอาวุธนั้นได้กระทำกันก่อนแล้ว 2.ฝ่ายอูลามะ (เปออิสตีฮารัน) หรือผู้รู้ ความจริงตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งที่เป็นโครงสร้างปกติของการรวมกลุ่มในศาสนาอิสลาม ที่จะให้เกียรติผู้รู้มหาคัมภีร์อัลกุรอาน และกลุ่มขบวนการได้นำมาใช้เป็นตำแหน่งรวบรวมจิตวิญญาณของมวลชน ตัดสินชี้ขาด หรือบิดเบือนหลักคำสอนให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของขบวนการ และทำพิธีซูเปาะ (สาบาน)ให้กับเหล่ากองกำลัง

3.ฝ่ายลอจิสติค(แซแปนัน) หรือฝ่ายส่งกำลังสนับสนุน ทำหน้าที่ดูแลและสร้างรากฐานทางเศรษฐกิจให้เครือข่าย อาทิ การเก็บเงินจากมวลชนคนละ 1 บาทต่อวัน สร้างสหกรณ์ชุมชน รณรงค์ให้ชาวบ้านปลูกผัก ทั้งนำมาบริโภคกันภายในและส่งขายเพื่อนำรายได้เข้ามาสู่อาเยาะห์ รวมทั้งการสนับสนุนให้มวลชนประกอบธุรกิจส่วนตัวและปันผลส่วนหนึ่งเข้าสู่กระบวนการ

ที่ถูกจับตามองจากเจ้าหน้าที่เป็นพิเศษ คือ ร้านซ่อมมอเตอร์ไชค์ในหมู่บ้านต่างๆ ที่เปิดร้านเพื่อบังหน้าและนำรายได้เข้าสู่อาเยาะห์แล้ว ส่วนหนึ่งของร้านซ่อมมอเตอร์ไชค์เหล่านี้ ด้านหลังได้ประกอบวัตถุระเบิดเพื่อมอบให้กลุ่ม RKK นำไปใช้ปฏิบัติการด้วย

ทั้งหมดเพื่อให้สอดรับกับยุทธศาสตร์การพึ่งพาตนเองของ BRN-Coordinate นั่นเอง

และ 4. ฝ่ายเหรัญญิก (กืออาวารัน) ที่ทำหน้าที่ควบคุมค่าใช้จ่ายของเครือข่าย

นี่คือภาพรวมของเครือข่ายในระดับอาเยาะห์หรือระดับหมู่บ้าน ที่นอกเหนือจะยึดกุมอำนาจทางการเมืองแล้ว แต่ละอาเยาะห์จะมีกองกำลัง RKK ประจำอยู่ประมาณ 6 คนซึ่งทำหน้าที่กดดัน คุกคาม ข่มขู่และลอบสังหารกำนัน ผู้ใหญ่บ้านซึ่งเป็นตัวแทนอำนาจรัฐไทย ให้ยอมจำนนตกอยู่ภายใต้แนวร่วมในภาวะจำยอมในที่สุด ไม่สามารถแสดงบทบาทของอำนาจรัฐลงสู่ประชาชนระดับรากหญ้าได้

กรณีชาวบ้านที่เป็นผู้หญิงและเด็กออกมาชุมนุมประท้วงขับไล่อำนาจรัฐ นี่คือผลงานการขับเคลื่อนของอาเยาะห์นั่นเอง

ส่วนการจัดตั้งในระดับตำบลหรือกลุ่มอาเยาะห์ที่เรียกว่า “ลีการัน” มีหัวหน้าผู้ควบคุมที่ได้รับการแต่งตั้งเรียกว่า “กูมิต” ซึ่งมีฝ่ายต่างๆ ที่ถูกแต่งตั้งคล้ายกับระดับอาเยาะห์ อีกทั้งยังทำหน้าที่ควบคุมองค์กรในระดับอาเยาะห์อีกทอดหนึ่งด้วย นอกจากนี้ ในระดับลีการันยังมีผู้บัญชาการทหารระดับตำบล ซึ่งมีหน่วยทหารคอมมานโดหรือทหารหลักจำนวน 6 คน อยู่ภายใต้การบังคับบัญชา รวมทั้งยังเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรงต่อกองกำลัง RKK ในแต่ละอาเยาะห์

ในลำดับที่สูงกว่านั้น BRN-Coordinate ได้มีการจัดตั้งเขตอำนาจในระดับอำเภอหรือกลุ่มลีการันที่เรียกว่า
“แดอาเราะห์” มีหัวหน้าที่ได้รับการแต่งตั้งที่เทียบเท่ากับนายอำเภอคือตำแหน่ง “สะกอม” และมี ผู้บัญชาการทหารในระดับนี้ด้วย ซึ่งข้อเท็จจริงที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงได้รับ จากการที่กองกำลังศรีสุนทรสามารถดึงบุคคลในระดับสะกอมนี้ออกมาได้แล้วถึง 4-5 คน

การจัดตั้งในระดับจังหวัดหรือกลุ่มแดอาเราะห์รวมกันเรียกว่า
“วีลายะห์” มีตำแหน่งบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งเรียกว่า “สะกอมเวล” ประหนึ่งว่าเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด ในขณะที่ด้านการทหารก็มี ผู้บัญชาการทหารในระดับนี้อีกตำแหน่งหนึ่งในระดับนี้มีข้อมูลว่า ยังเป็นการจัดตั้งกันแบบหลวมๆ ยังไม่จริงจังมากนัก

สุดท้าย คือการจัดตั้งในระดับมณฑลหรือกลุ่มวีลายะห์ เรียกว่า
“กัส” ซึ่งถือเป็นเขตอำนาจที่ใหญ่ที่สุดใน “รัฐปัตตานีดารุสลาม” มีตำแหน่งหน้าที่ผู้ควบคุมที่เรียกว่า “กัส” เช่นเดียวกัน และมีผู้บัญชาการทหารประจำมณฑลที่เทียบเท่าตำแหน่งแม่ทัพภาคด้วย

นอกจากนี้ BRN-Coordinate ยังจัดโครงสร้างเพื่อหลอมรวมงานมวลชนและงานด้านการทหารไว้ที่ตำแหน่ง “ตุรงแง” หรือ “ทหารบ้าน” ซึ่งทำหน้าที่สนับสนุนการเคลื่อนไหวในพื้นที่ทุกรูปแบบ ส่วนใหญ่บุคลากรในกลุ่มนี้เป็นเด็กหนุ่มที่ร่างกายไม่แข็งแรง ไม่สามารถผ่านขั้นตอนไปเป็นนักรบหลักอย่างคอมมานโดหรือกองกำลังติดอาวุธประจำหมู่บ้านอย่าง RKK ได้ แต่ได้ทำพิธีซูเปาะ (สาบานตน) มาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงได้รับมอบหมายให้มาทำหน้าที่ในงานโฆษณาชวนเชื่อ เพื่อเบี่ยงเบนข้อเท็จจริงให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของขบวนการ จัดทำใบปลิว และนำพาตนเองไปอยู่ในร้านน้ำชาประจำหมู่บ้าน เพื่อพูดชักจูงใจและสร้างภาพอันเหี้ยมโหดอำมหิตของเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อให้ชาวบ้านเกิดอาการหวาดกลัวและเกลียดชังในที่สุด นำไปสู่ความร่วมมือกับขบวนการ

มากกว่านั้น บางส่วนของตุรงแงที่เข้ามาให้ความร่วมมือช่วยเหลือการปฏิบัติงานกับเจ้าหน้าที่รัฐ จนได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจ จึงสวมโอกาสดังกล่าวชี้นำ บิดเบือน และเบี่ยงเบนข้อมูลที่เป็นจริงเพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐเกิดความไขว้เขวหรือเข้าใจผิดใส่ร้ายป้ายสีกลุ่มบุคคลหรือสถาบันทางสังคม เช่น ปอเนาะ มัสยิด หรือกลุ่มประชาชนที่เป็นกลาง เมื่อเจ้าหน้าที่ใช้กำลังปิดล้อมหรือตรวจค้นกลับจะเป็นการผลักกลุ่มบุคคลหรือสถาบันทางสังคมเหล่านี้ไปสู่ความร่วมมือกับขบวนการและต่อต้านต่อสู้กับอำนาจรัฐในที่สุด โดยตุรงแงยังมีหน้าที่หลักอีก 3 ประการมีดังนี้

1.สืบข่าวความเคลื่อนไหวของเจ้าหน้าที่รัฐ และสมาชิกในอาเยาะห์ทุกคนที่มีพฤติกรรมเชื่อมโยงกับเจ้าหน้าที่รัฐ รวมทั้งพฤติกรรมของกำนัน ผู้ใหญ่บ้านและผู้นำศาสนาในหมู่บ้านจัดตั้ง (อาเยาะห์)

2.ช่วยเหลือสนับสนุนการปฏิบัติการทางการทหารแก่กลุ่มนักรบด้วยการจัดหาอาวุธจากแหล่งซุกซ่อนในอาเยาะ หรือจัดเก็บอาวุธที่ใช้ปฏิบัติการและอาวุธที่ยึดได้จากเจ้าหน้าที่ไปเก็บซุกซ่อนไว้ ณ แหล่งซุกซ่อนอาวุธในพื้นที่อาเยาะห์

3.ปฏิบัติการขัดขวางเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อให้การปฏิบัติการของกลุ่มนักรบประสบความสำเร็จ เช่น การตัดต้นไม้ขวางถนน โปรยตะปูเรือใบขัดขวางการไล่ติดตามหรือส่งกำลังมาสนับสนุนของเจ้าหน้าที่รัฐ

นี่คือบทบาทหน้าที่อันสำคัญของ “ตุรงแง” ที่สร้างปัญหาให้กับเจ้าหน้าที่รัฐมาโดยตลอด!

การเน้นหนักที่งานมวลชนและงานการเมืองของ BRN-Coordinate ทำให้ความก้าวหน้าในการจัดตั้งอำนาจรัฐซ้อนมีความก้าวหน้าไปเป็นอย่างมาก แต่เนื่องจากทางการไทยไม่ได้ให้การยอมรับอย่างเป็นทางการถึงบทบาทและสถานะของ BRN-Coordinate จึงทำให้การต่อสู้ถูกจำกัดอยู่เพียงภาพของยุทธการทางทหาร

คำถามที่สำคัญคือ ทำไมจึงเป็น BRN-Coordinate?

“เพราะเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า ปัจจุบันการเคลื่อนไหวในลักษณะของกองกำลังจรยุทธ์ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ คือฝีมือของขบวนการ BRN-Coordinate” นายทหารระดับผู้บัญชาการกองกำลังรายหนึ่งให้คำตอบ

“รูปแบบนี้ เป็นรูปแบบที่เขาคิดว่ามีโอกาสชนะได้มากที่สุด เป็นบทเรียนจากข้อผิดพลาดที่ขบวนการก่อนหน้านี้เคยทำมาแล้ว” นายทหารคนดังกล่าวสรุปความ

กำลังโหลดความคิดเห็น