xs
xsm
sm
md
lg

คณาจารย์มหาลัย บี้คมช.เลิกเชียร์ "มีชัย"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เครือข่ายอาจารย์มหาวิทยาลัยทั่วประเทศออกจดหมายเปิดผนึกถึงคมช.ขอให้ทบทวนบทบาทใหม่ก่อนเกิดวิกฤตการเมืองซ้ำ ย้ำการล็อบบี้หนุน “มีชัย” นั่งประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติสวนกระแสสังคม สมาชิกสภาฯ สายนักวิชาการเตรียมยื่นหนังสือลาออกไม่ขอร่วมสังฆกรรมหากยังดันทุรังไม่ฟังเสียงท้วงติง

วันนี้ (22 ต.ค.) กลุ่มเครือข่ายอาจารย์มหาวิทยาลัย นักวิชาการ นักศึกษาทั่วประเทศ ได้ออกจดหมายเปิดผนึกถึงคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ขอให้ทบทวนบทบาทก่อนจะเกิดวิกฤตทางการเมืองอีกครั้งโดยสำเนาสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติและคณะรัฐมนตรีด้วย

เนื้อหาของจดหมายดังกล่าวระบุว่า เครือข่ายนักวิชาการและ ประชาชนอีกจำนวนมากได้เฝ้าติดตามการดำเนินการของ คมช. และพฤติกรรมของ คมช. บางท่าน จากทางสื่อมวลชน ตั้งแต่การสรรหาบุคคลมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รวมถึงการสรรหาบุคคลเข้าทำหน้าที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ

ที่สำคัญ การปรากฎเป็นข่าวอื้อฉาวในสื่อมวลชนว่าได้มีบุคคลสำคัญในคณะคมช.บางท่านได้วิ่งเต้นล็อบบี้ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ตนเองแต่งตั้งให้ลงคะแนนสนับสนุนนายมีชัย ฤชุพันธ์ ให้ดำรงตำแหน่งประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ อันเป็นประเด็นสาธารณะที่อยู่ในความสนใจของสังคมอย่างกว้างขวางในขณะนี้ การเคลื่อนไหวดังกล่าวข้างต้นได้สร้างความเคลือบแคลงสงสัยแก่สังคมต่อความเป็นอิสระของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ท่าทีดังกล่าวเป็นการส่อเจตนาที่จะสวนทางกับสัญญาประชาคม

เครือข่ายนักวิชาการขอเรียกร้องดังนี้ 1) ควรมีการทบทวนการเสนอบุคคลซึ่งถูกปฏิเสธจากสังคมในด้านคุณธรรมจริยธรรมและถูกตั้งข้อสงสัยว่า มีพฤติกรรมที่ส่อเค้าว่าต้องการสืบทอดอำนาจให้เข้ามารับตำแหน่งประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ อันเป็นการสวนกระแสข้อเรียกร้องของสังคม ที่ต้องการเห็นความเป็นอิสระของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

2) คมช. ควรต้องผูกพันกับเหตุผลที่ตัวเองเข้ามาทำการรัฐประหาร และจะต้องพยายามกระทำทุกวิถีทาง ที่จะให้บรรลุถึงสัญญาประชาคมดังกล่าวนี้ร่วมกัน โดยเฉพาะการขจัดเงื่อนไขทั้งปวงที่จะทำให้เจตนารมณ์ของสังคมถูกทำลาย ทางเครือข่ายนักวิชาการหวังว่า การทำหน้าที่ของประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ รวมถึงสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในอนาคตจะได้ให้การเคารพ และ นำเจตนารมณ์ดังกล่าวของประชาชนไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม พวกเราขอเรียนให้ท่านได้ทราบว่า ประชาชน และ สังคม จะรอดู เพื่อจะกำหนดท่าที่ให้เหมาะสมต่อไป

3) คมช. และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ควรให้ความสำคัญกับการวางรากฐานทางสังคม การเมือง ให้เกิดความยั่งยืนโดยการสร้างกระบวนการปฏิรูปการเมืองที่เหมาะสม และการเอาใจใส่อย่างจริงจังต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับถาวร
ทางเครือข่ายนักวิชาการขอเรียนต่อคมช. รัฐบาล และ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ตลอดทั้งประชาชนผู้มีความปรารถนาดีต่อสังคมการเมืองไทยว่า ประเทศไทยควรใช้โอกาสที่ดีนี้ทำการเปลี่ยนแปลง วางรากฐาน ตลอดทั้งให้ความสำคัญกับการขจัดเงื่อนไขทั้งปวงอันอาจก่อให้เกิดวิกฤตทางการเมืองครั้งใหม่ของสังคมไทย

จดหมายเปิดผนึกดังกล่าว ยังเน้นย้ำให้ คมช. ตระหนักในภารกิจการบริหารบ้านเมือง โดยชี้ว่า การเข้ามาเปลี่ยนแปลงการบริหารราชการแผ่นดินของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข (คปค.) ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.)” โดยการยึดอำนาจและใช้อำนาจดังกล่าวประกาศยกเลิก รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช ๒๕๔๐ โดยอ้างเหตุผล ๔ ประการ ที่เข้ามายึดอำนาจเพื่อจะได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงแก้ไขปัญหาของบ้านเมือง

คือ 1) มีการแตกแยกสามัคคีในหมู่ประชาชน 2) มีการกระทำการที่หมิ่นเหม่ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ 3) มีการทุจริตคอรัปชั่น และ 4) การเข้าไปแทรกแซงองค์กรอิสระ ทั้งนี้โดยได้ประกาศให้มีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๔๙ ให้มีรัฐบาล สภานิติบัญญัติแห่งชาติจำนวน ๒๔๒ คน ซึ่งประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติได้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี มาเป็นลำดับ ความละเอียดดังที่ทราบแล้วนั้น

สำหรับเครือข่ายที่ลงนามในจดหมายเปิดผนึกดังกล่าว อาทิ เครือข่ายสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมือง, เครือข่ายนิติศาสตร์ม.อุบลฯ, นักวิชาการและบุคลากรขอนแก่นเพื่อประชาธิปไตย, เครือข่ายจุฬาฯ เชิดชูคุณธรรม นำประชาธิปไตย (จคป.), เครือข่ายวิชาการเพื่อประชาธิปไตย (ควป.), นักวิชาการและบุคลากรมหาวิทยาลัยขอนแก่นเพื่อประชาธิปไตย, เครือข่ายอาจารย์ บุคลากร นักศึกษา มศว. เพื่อประชาธิปไตย, นิด้าพันธมิตรเพื่อประชาธิปไตย และนักวิชาการมหาวิทยาลัยรังสิตและมหาวิทยาลัยมหาสารคาม

มีรายงานข่าวว่า หาก คมช. ไม่รับฟังเสียงท้วงติงจากเครือข่ายนักวิชาการฯ ที่เข้าชื่อยื่นจดหมายเปิดผนึกครั้งนี้ จะมีสมาชิกสภานิติบัญญัติฯ สายนักวิชาการ ยื่นจดหมายขอลาออกเพราะไม่อยากเข้าร่วมสังฆกรรมกับปฏิรูปการเมืองที่บิดเบี้ยวตั้งแต่กระบวนการเริ่มต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น