xs
xsm
sm
md
lg

แฉ “โอฬาร-สมชาย-ชัยสิทธิ์-ชลอ” คุมบอร์ดรัฐวิสาหกิจเฝ้าขุมทรัพย์แม้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมชาย วงศ์สวัสดิ์
แฉเครือญาติบริวารทักษิณยังระรื่นนั่งในบอร์ดรัฐวิสาหกิจเพียบทั้ง “โอฬาร-สมชาย-ชัยสิทธิ์-ชลอ” เฝ้าขุมทรัพย์ระบอบแม้ว รวมทั้งบิ๊กข้าราชการสายไอที-คมนาคมที่ทำตัวเป็นนอมินีรักษาผลประโยชน์ เผยพฤติกรรมก๊วนข้าราชการอาศัยตำแหน่งระดับสูงถ่างขาควบซุปเปอร์บอร์ดอย่าง “ศุภรัตน์-มนู-ธงทอง” ตะลึงผลตอบแทนเฉพาะค่าเบี้ยประชุมบอร์ดรัฐวิสาหกิจสูงลิ่วปีละ 550 ล้านบาท


จากการสืบค้นข้อมูลของ “ผู้จัดการ” พบว่า เวลานี้ยังมีบุคคลที่มีสายสัมพันธ์อันดีกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นั่งเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจเพื่อเฝ้าขุมทรัพย์ให้กับระบอบทักษิณ ดังเช่น
1) นายโอฬาร ไชยประวัติ ผู้บริหารของชินคอร์ป และที่ปรึกษาทางการเมืองของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยเป็นกรรมการใน บมจ.ปตท., บมจ.ไทยออยล์, กรรมการและผู้ถือหุ้นในบริษัท TOC ซึ่งดำเนินธุรกิจปิโตรเคมีและผลิตภัณฑ์ โดยก่อนนี้ นายโอฬารเป็นหนึ่งในคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัท กฟผ.เพื่อแปรรูป กฟผ.

2) นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ สามีของนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ น้องเขยของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ยังนั่งเป็นบอร์ด บมจ.ปตท. และบอร์ด บมจ.ท่าอากาศยานไทย
3) พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร ญาติผู้พี่ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ยังเป็นบอร์ดการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)
และ 4) พล.ต.อ.ชลอ ชูวงษ์ เพื่อนร่วมรุ่น นรต.26 รุ่นเดียวกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ยังคงนั่งเป็นบอร์ด กฟภ. เช่นเดียวกัน

ส่วน 5) บวรศักดิ์ อุวรรณโณ และ 6) นายณรงค์ศักดิ์ สังขพงศ์ พี่ชายของ พล.ต.ต.สุรสิทธิ์ สังขพงศ์ ผอ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ที่เพิ่งยื่นใบลาออก ก็เป็น 2 คนในระบอบทักษิณที่นั่งเป็นบอร์ดการบินไทยในเวลานี้

กล่าวสำหรับ นายโอฬาร นอกจากผลงานที่เกือบจะแปรรูป กฟผ. สำเร็จแล้วยังเฝ้าขุมทรัพย์พลังงานให้กับกลุ่มพวกพ้องบริวารทักษิณที่ ปตท.และเครือในช่วงเวลาที่ ปตท.แผ่อาณาจักรฮุบ บมจ.ไทยออยล์ ทีพีไอ ฯลฯ ส่วน นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ร่วมเป็นบอร์ด ทอท.ในยุคที่มีเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการทุจริตในสนามบินสุวรรณภูมิมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นกรณีซีทีเอ็กซ์, ท่อร้อยสาย, แอร์พอร์ตลิงก์, คิงเพาเวอร์ ฯลฯ

ส่วน พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร และ พล.ต.อ.ชลอ ชูวงษ์ เป็นบอร์ด กฟภ.ในช่วงที่ กฟภ.มีโครงการทุจริตเช่าซอฟต์แวร์ 3,000 กว่าล้านบาทจากเครือข่ายบริษัทของ “เจ๊แดง” นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ น้องสาวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ส่วน นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ และนายณรงค์ศักดิ์ สังขพงศ์ นั่งเป็นบอร์ดในยุคที่มีการจัดซื้อเครื่องบินแอร์บัสฝูงใหญ่

***บิ๊กบอร์ด เฝ้าขุมทรัพย์ชินคอร์ป

ส่วนบิ๊กบอร์ดที่มุ่งแสวงหาและรักษาผลประโยชน์ให้ระบอบทักษิณที่ยังเสวยสุขถึงวันนี้ เช่น 1) นายศรีสุข จันทรางศุ อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม ประธานบอร์ด ทอท. ผู้ซึ่งจัดสรรผลประโยชน์จากโครงการใหญ่ๆ ของกระทรวงคมนาคมให้กับนักการเมืองทุกยุคทุกสมัย กล่าวจำเพาะยุคทักษิณ มีโครงการภายใต้ ทอท.ที่ทุจริต เช่น ซีทีเอ็กซ์, การจัดจ้างไทยแอร์พอร์ต กราวด์เซอร์วิสเซส ผู้ให้บริการภาคพื้นในสุวรรณภูมิโดยไม่มีการประมูล

2) นายไกรสร พรสุธี ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร นั่งควบตำแหน่งประธานบอร์ด กสท โทรคมนาคม และบอร์ด ทีโอที ผลงานของบอร์ดชุดนายไกรสร ที่อื้อฉาวใน กสท คือ โครงการซีดีเอ็มเอ ในส่วนกลางและภูมิภาค ที่สต.กำลังตรวจสอบว่ามีการทุจริตทำให้ กสท เสียประโยชน์ปีละกว่าหมื่นล้าน และทำผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนร่วมงานฯ ทั้งนี้ เอกชนคือ บริษัทหัวเหว่ย ที่ทำโครงการซีดีเอ็มเอภูมิภาค ถือเป็นกลุ่มทุนโทรคมนาคมที่มีสายสัมพันธ์กับรัฐบาลทักษิณ ทั้งยังว่ากันว่าเขาคือผู้อยู่เบื้องหลังการเปิดช่องก่อนที่ตระกูลชินวัตรจะขายหุ้นชินคอร์ปให้กับสิงคโปร์

3) พล.ต.อ.บุญฤทธิ์ รัตนะพร รองประธานบอร์ดทีโอที ซึ่งมีความสัมพันธ์กับบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ของกลุ่มชินคอร์ป ซึ่งเอื้อประโยชน์และสนับสนุนบริษัท หัวเหว่ย ซัปพลายเออร์ของระบอบทักษิณ ไม่ว่าจะเป็นโครงการ 470 ซีดีเอ็มเอ หรือการทำช็อตลิสต์ ซัปพลายเออร์

***ถ่างขาควบซูเปอร์บอร์ด

ตามรายงานการตรวจสอบของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ตั้งแต่ปี 2548-31 มี.ค.2549 พบว่า มีข้าราชการระดับบิ๊กที่อาศัยตำแหน่งไปนั่งเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจและคณะกรรมการต่างๆ นับไม่ถ้วน หากจะนับผู้ที่ถ่างขาไปนั่งเกิน 10 แห่ง ดังเช่น 1) นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ปลัดกระทรวงการคลัง ที่ถ่างขาไปเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจและคณะกรรมการฯ ถึง 19 แห่ง ไม่ว่าจะเป็นกรุงไทย, สลากกินแบ่ง, ก.ล.ต., บริษัทบริหารสินทรัพย์ไทย, การบินไทย ฯลฯ รวมถึงบอร์ด ปตท.ที่มีผลประโยชน์มหาศาลด้วย

2) นายวุฒิพันธ์ วิชัยรัตน์ จำนวน 16 แห่ง เช่น สลากกินแบ่งฯ, การบินไทย, ทอท., ปตท.สผ., กฟภ.ฯลฯ เช่นเดียวกับนายสามารถ ยลภัคย์ ที่นั่งเป็นบอร์ด รสก. เป็นกรรมการอื่นๆ และอนุกรรมการ ถึง 16 แห่ง เช่น ททท., ทอท., บริษัทขนส่ง จำกัด, กทพ. ฯลฯ

3) นายพิชัย ชุณหวชิร นั่งควบ 12 แห่ง คือ การบินไทย, กฟน., กฟผ., ปตท.สผ., โรงกลั่นน้ำมันระยอง, ปตท.เคมิคอล ฯลฯ 4) นายมนู เลียวไพโรจน์ 10 แห่ง เช่น ปตท., ปตท.สผ., บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย, ปตท.เคมิคอล, เอสเอ็มอีแบงก์ ฯลฯ เช่นเดียวกับนายอดิเทพ พิศาลบุตร ที่นั่งควบ 10 แห่งเช่นกัน คือ พีทีที ฟีนอล, พีทีที โพลิเมอร์ฯ, พีทีที โพลีเอทิลีน, ทีโอซี ไกลคอล, บางกอกโพลีเอทีลีน ฯลฯ

นอกนั้น ยังมีบุคคลที่นั่งหลายตำแหน่งมากมากกว่า 5 แห่งขึ้นไป เช่น นายศักดิ์ทิพย์ ไกรฤกษ์, นายอุทิศ ธรรมวาทิน, พล.อ.อ.ณรงค์ศักดิ์ สังขพงศ์, นายจิตรพงษ์ กว้างสุขสถิตย์, นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์, นายปรัชญา ภิญญารัตน์, นายพละ สุขเวช, นายอนนต์ สิริแสงทักษิณ, นายบุญศักดิ์ เจียมปรีชา, นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ, นายศานิต ร่างน้อย, นายสมชัย สัจจพงษ์, นายธงทอง จันทรางศุ, ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล

***ฟันเบี้ยประชุม 550 ล้านบาท

รายงานของ สตง.ยังสรุปค่าตอบแทนคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และคณะกรรมการตรวจสอบของรัฐวิสหากิจ ในช่วงเวลาดังกล่าวพบว่า รัฐวิสาหกิจจำนวน 48 แห่ง ปิดบัญชีตามปีงบประมาณ 2548 เบิกค่าตอบแทน 142.5 ล้านบาท, ปิดบัญชีตามปีงบประมาณ ต.ค. 48-มี.ค. 49 เบิกค่าตอบแทน 53 ล้านบาท รัฐวิสาหกิจ จำนวน 51 แห่ง ปิดบัญชีตามปีปฏิทิน ปี 2548 เบิกค่าตอบแทน 281.5 ล้านบาท,ปิดบัญชีตามปีปฏิทิน ม.ค.49-มี.ค.49 เบิกค่าตอบแทน 70.1 ล้านบาท และรัฐวิสาหกิจ จำนวน 1 แห่ง ปิดบัญชีงวด 31 มี.ค.49 เบิกค่าตอบแทน 5 ล้านบาท รวมการเบิกค่าตอบแทนทั้งสิ้น 552 ล้านบาท

*** สหภาพ กฟภ.-กฟผ. ออกโรงไล่

แหล่งข่าวใน กฟภ.เปิดเผยว่า ขณะนี้กำลังมีความเคลื่อนไหวในกลุ่มพนักงาน กฟภ.จะทำหนังสือยื่นถึงนายอารีย์ วงศ์อารยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งกำกับดูแล กฟภ. เพื่อขอให้พิจารณาโละบอร์ด กฟภ.ทั้งชุด โดยให้มีการคัดเลือกใหม่และพิจารณาบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับภารกิจของ กฟภ.

“ที่ผ่านมาการเมืองเข้ามาแทรกแซงมากในยุคทักษิณ มีการส่งคนเข้ามานั่งเป็นบอร์ด คือ คุณชัยสิทธิ์ ชินวัตร และคุณชลอ ชูวงษ์ ถึงเวลานี้คงต้องขอให้พิจารณาตัวเองเป็นพิเศษว่ายังนั่งอยู่อีกทำไม” แหล่งข่าว กล่าว

ด้าน นายศิริชัย ไม้งาม ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (สร.กฟผ.) กล่าวว่า ในระดับบอร์ดนอกจากการเมืองจะส่งคนเข้ามาร่วมกำหนดนโยบายและอนุมัติโครงการที่เครือข่ายของพวกตนได้ประโยชน์ รวมทั้งเข้ามารับรู้ข้อมูลภายในองค์กรเพื่อตอบสนองต่อการวางแผนธุรกิจในเครือข่ายของตนแล้ว ตำแหน่งบอร์ดรัฐวิสาหกิจยังมีไว้เป็นประโยชน์ต่างตอบแทนกับบรรดาข้าราชการที่ทำงานรับใช้เครือข่ายของตนอย่างอุตสาหะ กรณี พล.ต.ท.ดำรงศักดิ์ นิลคูหา อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เข้านั่งเป็นบอร์ด กฟผ.ด้วย ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีความรู้ความชำนาญเกี่ยวกับสายงานนี้เลย ว่ากันว่าการประชุมบอร์ดทุกครั้ง พล.ต.ท.ดำรงศักดิ์ ไม่เคยปริปากแลกเปลี่ยนความคิดเห็นใดๆ ทั้งสิ้น

ก่อนหน้านี้ ตัวแทน สร.กฟผ.ได้ไปยื่นหนังสือถึงนายพิชัย ชุณหวชิร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่การเงินและบัญชีองค์กรของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ที่เข้ามาเป็นคณะกรรมการ กฟผ. (บอร์ด กฟผ.) โดยได้แจ้งจุดประสงค์ในการยื่นหนังสือให้นายพิชัยลาออกจากบอร์ด กฟผ. เพราะเห็นว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน ขัดหลักธรรมาภิบาลและการเป็นนักบริหารที่ดี เพราะใครๆ ก็ร้ว่า ปตท.กับกฟผ.มีผลประโยชน์ทางด้านเชื้อเพลิงและอื่นๆ อีก ถ้าเกษียณอายุแล้วมานั่งก็เหมาะสม

นอกจากนั้น นายศิริชัย พร้อมคณะ เข้ายื่นหนังสือต่อประธาน คมช. ขอให้ยกเลิกกฎหมาย 11 ฉบับ ที่ส่งผลต่อการค้าเสรี การค้าปลีก การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ, ขอให้ยุติการแปรรูปรัฐวิสาหกิจในทุกรูปแบบ, ขอให้จัดโครงสร้างและระบบการสรรหาคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ โดยขอให้ข้าราชการประจำที่เกี่ยวข้องและสัมพันธ์กับรัฐวิสาหกิจนั้นๆ เช่น ตัวแทนภาคประชาชน นักวิชาการ และสหภาพแรงงานเข้ามาอยู่ในโครงการคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น