xs
xsm
sm
md
lg

ปฏิรูปการเมืองภาคประชาชน ลดอำนาจรัฐ ชูปชต.แบบ“กินได้”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาคประชาชนชูธงปฏิรูปการเมืองรอบสอง ยึดหลักสำคัญ “ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน” เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมกระบวนการสร้างประชาธิปไตยแบบ “กินได้” ช่วงชิงบทบาทการนำในเวทีปฏิรูปจากกลุ่มก๊วนนักธุรกิจการเมืองและชนชั้นนำ ด้านกลุ่มปัญหาเฉพาะสมัชชาคนจน ถอดบทเรียนการเคลื่อนไหวเสนอแก้ไขรธน.ยกชุดทั้งเนื้อหาและกระบวนการสร้างการเรียนรู้ของประชาชนผ่านการรณรงค์ในแต่ละพื้นที่ องค์กรพันธมิตรฯ เร่งเครื่องจัดตั้ง “สมัชชาประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” ทั้ง 76 จังหวัด นัดหารือใหญ่ 21 เม.ย.นี้

รัฐธรรมนูญปี 2540 ได้รับขนานนามว่าเป็นรัฐธรรมนูญ “ฉบับประชาชน” ซึ่งผ่านการสร้างความหมายโดยกลุ่มพลังในยุคนั้น แต่ถึงวันนี้กติกาสูงสุดกลับถูกผู้กุมอำนาจสูงสุด นำมาใช้เสริมสร้างอำนาจผูกขาด ขณะที่ประชาชนยังตกอยู่ในฐานะผู้ถูกกระทำจากโครงสร้างสังคมอันไม่เป็นธรรมมากกว่าที่คาดไว้
ห้วงเวลาเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา เป็นข้อพิสูจน์แล้วว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ จำต้องมีการปรับแก้ เฉพาะในยุค 5 ปีล่าสุดในระบอบทักษิณ ยิ่งฉายให้เห็นข้อจำกัดของกติกาฉบับนี้ กระแสที่ประชาชนตื่นตัวทางการเมืองสูงในปัจจุบันก็เป็นข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนแล้วว่า การเปลี่ยนแค่ตัวบุคคลอาจจะไม่เพียงพอ
ถึงกระนั้น กระแสการปฏิรูปการเมืองก็ถูกนักการเมืองพรรคต่างๆ หยิบฉวยไปสร้างความชอบธรรมในเกมการเมืองของตนเอง หลังจากการเสียหลักถอยร่นยุบสภาของท่านผู้นำ พรรคร่วมฝ่ายค้านและพรรคไทยรักไทยก็ดาหน้าเสนอธงปฏิรูปการเมืองกันขนานใหญ่
***แต่ในประเด็นองค์กรแก้ไขรัฐธรรมนูญ บรรดาพรรคการเมืองเหล่านี้ยังยึดโยงอยู่กับชนชั้นนำ เหลือพื้นที่อันน้อยนิดให้กับการมีส่วนร่วมของประชาชน แม้ว่าจะมีพื้นที่ อย่างในกรณีของ “สภาสนามม้า” ของพรรคไทยรักไทย ก็ยังไม่สามารถสร้างความมั่นใจได้ว่าเป็นแนวทางที่ปราศจากการครอบงำโดยแกนนำของพรรค***
ส่วนในฟากของนักวิชาการ ก็มีการเคลื่อนไหวรวมตัวเป็น “เครือข่ายสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ 2” เพื่อผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญจากมุมมองนักกฎหมายมหาชนขึ้นมา แต่ข้อเสนอในขั้นแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยังชี้ให้เห็นว่ากระดานปฏิรูปการเมืองยังเป็นของหมากของ “คนกลาง” ไม่กี่คน ไร้เงาหัวของตัวแทนประชาชนเช่นกัน
การปฏิรูปการเมืองครั้งที่ 2 จะยังอยู่ในหมากกระดานของนักการเมืองและคนชั้นนำอย่างที่เคยเป็นมาอีกหรือไม่ การตื่นตัวในกระแสการเมืองในครั้งนี้ประชาชน ผู้เป็นชนชั้นกลางและชนชายขอบของสังคมจะมีบทบาทผลักดันข้อเสนอของตนได้มากน้อยเพียงใด ยังเป็นสิ่งที่รอการพิสูจน์

***ถึงเวลาชูธงปฏิรูปการเมือง?

ในกระแสการขับไล่ทักษิณให้พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ข้อเรียกร้องใน “การปฏิรูปการเมืองครั้งที่ 2” ดูเหมือนจะอยู่ในแถลงการณ์แทบทุกฉบับของบุคคลและองค์กรต่างๆ แต่ในวันนี้ นอกจากการเดินหมากของพรรคการเมืองแล้ว ข้อเสนอในการปฏิรูปการเมืองจากภาคประชาชน ยังคงไม่ถูกนำเสนอให้เกิดการถกเถียงอย่างจริงจัง หลายคนที่มีบทบาทในองค์กรเหล่านี้ ให้เหตุผลอย่างเสียไม่ได้ว่าไม่มีเวลาหารือกันเพราะประเด็นเฉพาะหน้าคือการขับไล่ทักษิณ
***พวกเขาต่างเห็นพ้องกันว่า หากทักษิณยังครองอำนาจและเป็นใหญ่เหนือคณะรัฐมนตรีและสภาอยู่ จะเป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูปการเมืองเป็นแน่แท้ โดยเฉพาะในวาระของประชาชน เพราะทักษิณไม่ได้เป็นเพียงนักการเมืองของชนชั้นนายทุนผู้มุ่งหวังกำไรสูงสุดจากตลาดการเมืองเท่านั้น หากแต่ยังเป็นนักธุรกิจการเมืองที่ผูกขาดอีกด้วย***
ในขณะที่ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งเป็นหัวหอกในการขับเคลื่อนไล่ทักษิณ ก็ยังคงอยู่ในระหว่างการประมวลข้อเสนอจากเครือข่ายต่างๆ ผ่านการประชุมหารือของคณะทำงานฝ่ายวิชาการ ซึ่งมีองค์ประกอบมาจากนักพัฒนาในองค์กรเอ็นจีโอและแกนนำในองค์กรประชาชนกลุ่มต่างๆ ล่าสุดจะมีการหารือวงใหญ่ในวันที่ 21 เม.ย.นี้
***อย่างไรก็ดี แม้จะได้ข้อเสนอเป็นรูปธรรมแล้ว พันธมิตรประชาชนฯ อาจจะยังไม่ขับเคลื่อนชูธงเลยเสียทีเดียว เนื่องจากยุทธศาสตร์เฉพาะหน้าในขณะนี้ คือ การล้มการเลือกตั้งด้วยยุทธวิธีต่างๆ เพื่อเปิดทางสู่แนวทางพระราชทาน “รัฐบาลปรองดองแห่งชาติ” ตามมาตรา 7 ที่มีภารกิจในการปฏิรูปการเมืองและเชคบิลผลงานของระบอบทักษิณย้อนหลัง อันเป็นจุดยืนที่หนักแน่นในสถานการณ์ปัจจุบันของพันธมิตรประชาชนฯ***
ขณะเดียวกัน การขับเคลื่อนในนามคณะทำงานฝ่ายวิชาการฯ ของตัวแทนภาคประชาชน ยังดำเนินการซ้อนเหลื่อมไปพร้อมกับการเคลื่อนไหวในนามของกลุ่มปัญหาเฉพาะ อาทิ ข้อเรียกร้องของสมัชชาคนจน คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค เป็นต้น และในนามของเครือข่ายอื่นๆ อาทิ เครือข่ายองค์กรภาคประชาชนเพื่อปฏิรูปการเมืองและสังคม ซึ่งมีแนวร่วม 27 องค์กร โดยมีคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) เป็นแกนหลัก ที่เพิ่งแถลงข่าวไปเมื่อวันที่ 6 เม.ย.ที่ผ่านมา
สำหรับกลุ่มปัญหาเฉพาะ ซึ่งปะทะกับปัญหาจากการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้โดยตรง บางกลุ่มเป็นองค์กรของแรงงานซึ่งต่อสู้เรื่องสวัสดิการจากรัฐ บางกลุ่มเป็นองค์กรชาวบ้านในชนบทที่เรียกร้องให้รัฐรับผิดชอบต่อผลกระทบจากนโยบายการพัฒนา ในขณะที่บางกลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้านนโยบายระหว่างประเทศอันจะมีผลกระทบต่อประชาชน เหล่านี้ล้วนมองเห็น “หลุมดำ” จากการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือของนักธุรกิจการเมือง และมีข้อเสนอในการปฏิรูปการเมืองที่สังเคราะห์มาจาก “หลุมดำ” เหล่านั้น

***เบิกทวาร 313 สู่การมีส่วนร่วม

หากยังจำกันได้ เมื่อครั้งปฏิรูปการเมืองรอบแรกใช้เวลาในการขับเคลื่อนทั้งในและนอกสภาเป็นเวลากว่า 3 ปี ก่อนที่สภาจะผ่านร่างฯ ในเดือนตุลาคม พ.ศ.2540 ในครั้งนั้นช่องทางในการแก้กฎหมาย คือมาตรา 211 ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2534 ที่ว่าด้วยองค์กรปฏิรูปการเมืองและกระบวนการในการร่างและรับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็คือสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มีสมาชิก 99 คนนั่นเอง
นอกจากเนื้อหาแล้ว กระบวนการในการปฏิรูปการเมืองและแก้ไขรัฐธรรมนูญยังสำคัญไม่แพ้กัน
สำหรับในครั้งนี้ ช่องทางดังกล่าวคือมาตรา 313 ในหมวดที่ 12 ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ที่เดิมระบุให้การริเริ่มแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่ที่คณะรัฐมนตรี หรือ สมาชิก 1 ใน 5 ของสภาผู้แทนราษฎร หรือ สมาชิก 1 ใน 5 ของทั้งสภาผู้แทนและวุฒิสภา
***ช่องทางข้างต้น หากมองในมุมของภาคประชาชนอาจกล่าวได้ว่าเป็นกระบวนการที่ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง ยิ่งในบริบทของสภาชิน 500 แล้ว เนื้อหาในมาตรา 313 เดิม จะเป็นเพียงหมากกระดานของไทยรักไทยนั่นเอง แม้ว่าจะมีข้อเสนอในการจัดตั้งองค์กรแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นมาในลักษณะ “สภาสนามม้า” ซึ่งมีภาพการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่างๆ หรือในลักษณะ ส.ส.ร.2 เหมือนครั้งปี 40 ก็ยากที่จะสร้างความเชื่อมั่นได้ว่าปราศจากซึ่งอิทธิพลของแกนนำพรรคไทยรักไทย***
ด้วยเหตุนี้ แม้จะยังไม่มีข้อเสนอในรายละเอียดที่ชัดเจน แต่องค์กรภาคประชาชนต่างเห็นร่วมกันว่า องค์กรปฏิรูปการเมืองที่มีภารกิจอาจจะมากกว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น รวมไปถึงกระบวนการยกร่าง พิจารณาร่าง และรับร่างฯ ต้องมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนในสัดส่วนที่สำคัญ
***พันธมิตรประชาชนฯ เสนอไว้ในคำประกาศพันธกิจที่ได้รับการเผยแพร่ในคืนวันที่ 7 เม.ย.ที่ผ่านมาเรียกร้องให้จัดตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการเมือง ที่มีประธานมาจาก “ราษฎรอาวุโส” ที่ไม่เกี่ยวข้องกับ “ประโยชน์ทางการเมือง” มีคณะกรรมการที่มาจากองค์กรประชาชนในสาขาอาชีพต่างๆ, ตัวแทนพลเมืองที่มีจิตสำนึกจากทุกจังหวัด และนักวิชาการหลากหลายสาขา โดยมีภารกิจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน ก่อนที่จะมีประชาพิจารณ์ทั่วประเทศ โดยจะต้องใช้การลงประชามติเป็นกระบวนการเห็นชอบร่างแก้ไขดังกล่าว***
หากพิจารณาให้ดี ข้อเสนอในกระบวนการแก้ไขมาตรา 313 อันเป็นทวารสู่การปฏิรูปการเมืองของพันธมิตรประชาชนฯ ดูจะไม่สอดคล้องต้องกันเสียทีเดียว เนื่องจากพันธมิตรประชาชนฯ เรียกร้องรัฐบาลปรองดองแห่งชาติจากการใช้มาตรา 7 ในรัฐธรรมนูญ แต่ทว่าในข้อเรียกร้องถัดมากลับให้บทบาทของ “สภาที่มาจากการเลือกตั้งที่ผ่านมา (2 เมษายน 2549)” ในการการแก้ไขมาตรา 313 “เท่าที่จำเป็น” เพื่อให้ “กระบวนการปฏิรูปการเมืองสามารถดำเนินไปได้โดยไม่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญเท่านั้น”
***ในขณะที่ สมัชชาคนจน องค์กรชาวบ้านที่ลุกขึ้นต่อรองให้รัฐแก้ปัญหาอันเกิดจากการโครงการและนโยบายที่ส่งผลกระทบต่อตนมาร่วม 10 ปี เสนอกระบวนการขั้นตอนนี้ในโครงร่างเบื้องต้นว่า “คณะกรรมการปฏิรูปการเมือง” จะต้องมาจากตัวแทนองค์กรชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการของรัฐบาล เอกชน และนโยบายกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมในสัดส่วนที่เท่ากัน โดยคัดเลือกกันเองภายในแต่ละองค์กร ***
ทั้งนี้ โดยพิจารณาจาก 1.ฐานทางเศรษฐกิจตามสัดส่วนประชากร 2.ฐานอาชีพตามสัดส่วนประชากร และ 3.ฐานกลุ่มทางสังคม อาทิ สัดส่วนหญิง – ชาย เยาวชน ชาติพันธ์ ศาสนา วัฒนธรรม และกลุ่มปัญหาต่างๆ ในสังคม นอกจากนี้ สมัชชาคนจนยังเสนอให้มีนักวิชาการซึ่งเป็นที่ยอมรับของภาคประชาชนมีสัดส่วนอยู่ในคณะกรรมการชุดดังกล่าวด้วย
ส่วนกระบวนการได้มาซึ่งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ สมัชชาคนจนเสนอให้ใช้หลักการ “จากล่างขึ้นบน” ซึ่งเริ่มต้นจากการเปิดเวทีระดมตามภูมิภาคต่างๆ เพื่อรับฟังปัญหาและข้อเสนอเบื้องต้นเพื่อนำไปสู่การวางกรอบและประมวลเพื่อยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก่อนที่จะทำประชาพิจารณ์อีกครั้งเพื่อปรับปรุงเนื้อหา และท้ายที่สุดคือกระบวนการรับร่างโดยการทำประชามติ
ข้อเสนอต่อกระบวนการเบิกทางการมีส่วนร่วมของสมัชชาคนจน ถือเป็นข้อเสนอของภาคประชาชนที่เป็นรูปธรรมมากที่สุดในขณะนี้
นอกเหนือจากนี้ ยังเป็นเพียงข้อเสนอคร่าวๆ ที่ยังไม่ลงลึกในรายละเอียด ดังตัวอย่าง ข้อเสนอของเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนฯ 27 องค์กร ที่ระบุไว้ในแถลงการณ์ฉบับที่ 1 ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องมีส่วนร่วมของภาคประชาชนมากกว่าเมื่อครั้งปี 2540 ในขณะที่องค์กรที่รับผิดชอบจะต้องไม่ใช่คณะบุคคลที่เป็นคนกลาง, นักกฎหมาย, คนชั้นกลาง, หรือผู้มีอำนาจเท่านั้น หากแต่ต้องให้ประชาชนทั้งในเมืองและชนบท ทุกกลุ่มอาชีพได้มีส่วนร่วม ส่วนกระบวนการพิจารณาเห็นชอบร่างแก้ไขฯ ก็ต้องเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมนอกเหนือจากบทบาทของรัฐสภา
ทางเครือข่ายฯ จะดำเนินการรวบรวมข้อมูล ความคิดเห็นและข้อเสนอจากประชาชนทั้งในพื้นที่และส่วนกลาง ในลักษณะคู่ขนานและเชื่อมโยงกับองค์กรที่รับผิดชอบโดยตรง ซึ่งเป็นข้อเสนอที่คล้ายคลึงกับพันธมิตรประชาชนฯ ที่กำลังจะแปรรูปเป็น “สมัชชาประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” ที่มีเครือข่ายอยู่ใน 76 จังหวัดทั่วประเทศเพื่อเป็นเบี้ยโคนในกระดานหมากของการปฏิรูปการเมืองในอนาคต
แต่อย่างไรก็ตาม แม้การตื่นตัวทางการเมืองของภาคประชาชนจะยังคงสูงอยู่ในสถานการณ์ขับไล่ทักษิณ แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นหลักประกันว่าการปฏิรูปการเมืองครั้งนี้ประชาชนจะมีบทบาททั้งในแง่กระบวนการและเนื้อหามากขึ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับกระบวนการในการผลักดัน
สำหรับเนื้อหาเบื้องต้นในการปฏิรูปครั้งใหม่นี้ กลุ่มองค์กรภาคประชาชน มีข้อเสนอที่เห็นร่วมกันในเบื้องต้นหลายประการ เช่น การกำหนดเงื่อนเวลาชัดเจนในออกกฎหมายลูกที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ปี 2540 แต่ยังไม่ได้ดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรด้านอิสระผู้บริโภคตามมาตรา 57 องค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อม ตามมาตรา 56 การจัดสวัสดิการสังคมและบริการสาธารณะอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม สนับสนุนความเป็นอิสระของสื่อมวลชน เป็นต้น

***ประชาธิปไตยกินได้ - การเมืองที่เห็นหัวคนจน

สำหรับ “สมัชชาคนจน” เสนอเจตนารมณ์ในการปฏิรูปการเมืองรอบนี้ว่า ต้องมุ่งสร้าง ***“ประชาธิปไตยที่กินได้และสร้างการเมืองที่เห็นหัวคนจน”*** โดยมีทัศนคติว่าการปฏิรูปการเมืองไม่ใช่เพียงแค่การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราเท่านั้น หากแต่ยังเน้นหนักถึงขบวนการขับเคลื่อนทางสังคมและกระบวนการเรียนรู้ของประชาชนอีกด้วย
กล่าวได้ว่า เป้าหมายอีกประการหนึ่งคือการปรับองค์กรให้สามารถเชื่อมโยงประเด็นปัญหาระดับพื้นที่เข้าสู่ปัญหาในระดับนโยบายและปัญหาเชิงโครงสร้างได้
***ส่วนสาระสำคัญในข้อเสนอของสมัชชาคนจน ได้วางกรอบไว้คร่าวๆ ในหลายประเด็น ได้แก่ ประเด็นการมีส่วนร่วม ที่เรียกร้องให้ประชาชนมีอำนาจในการใช้สิทธิ์ ตรวจสอบ รวมถึงการตัดสินใจในทุกระดับ ทุกขั้นตอน ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพยากร***
ส่วนในประเด็นสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรชุมชน เรียกร้องให้คุ้มครองสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงปัจจัยการผลิต ที่ดิน แหล่งน้ำ พันธุกรรม องค์ความรู้ ทุน วิถีชีวิต รวมถึงการจัดการผลิตที่แข่งขันกับเอกชนได้ เน้นย้ำถึงสิทธิชุมชนในการกระจายการใช้ประโยชน์ที่ดินโดยชุมชน สิทธิในการดูแลรักษาและใช้ประโยชน์ทรัพยากรในท้องถิ่น รวมถึงสิทธิในการอนุรักษ์วิถีวัฒนธรรมของชุมชน
***นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้ชุมชนมีอำนาจในการเลือกที่จะยอมรับหรือไม่ยอมรับโครงการหรือนโยบายที่มีผลกระทบต่อชุมชน โดยผ่านสิทธิในการปกครองตนเองที่ประชาชนกำหนดเองได้ สิทธิในการเลือกตั้งและถอดถอนผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ และเรียกร้องให้ระบุโทษในกรณีที่รัฐละเมิดหรือไม่กระทำตารัฐธรรมนูญ***
ส่วนประเด็นการคุ้มครองระบบสุขภาพ สมัชชาคนจน เสนอหลักการที่ประชาชนมีสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่อย่างปลอดภัย หากมีการปล่อยปละละเลยทำให้ประชาชนเจ็บป่วยได้รับผลกระทบด้านสุขภาพแล้วจะต้องได้รับการคุ้มครองดูแลและได้รับการรักษาและการฟื้นฟูสภาพทางจิตใจ นอกจากนี้ ประชาชนยังจะต้องมีสิทธิในการเข้าถึงการรักษาทางการแพทย์เฉพาะทางอีกด้วย
ส่วนในประเด็นสวัสดิการ กรอบของสมัชชาคนจนระบุว่าจะต้องมีการจัดตั้งกองทุนการศึกษาและการฟื้นฟูผู้ถูกละเมิดสิทธิในทุกกรณี
สำหรับเครือข่ายสลัมสี่ภาค อันเป็นองค์กรเครือข่ายของประชาชนที่อยู่ในชุมชนแออัด มีหลักการเบื้องต้นที่เสนอมาตั้งแต่การปฏิรูปการเมืองครั้งที่แล้วว่า รัฐต้องถือว่าสิทธิในที่อยู่อาศัยเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน และเป็นหน้าที่ของรัฐในการจัดหาให้กับประชาชน นอกจากนี้ ยังมีประเด็นร่วมกับองค์กรพันธมิตรเกษตรกรในชนบทประเด็นการปฏิรูปที่ดิน

***กระบวนการสำคัญกว่าเนื้อหา

ในมุมของ “สมัชชาคนจน” มองการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ 2 แตกต่างกับกลุ่มอื่นๆ กล่าวคือ การเน้นไปที่กระบวนการเรียนรู้ของสมาชิกในเครือข่ายของตน โดยถือเอาจังหวะของการเคลื่อนไหวปฏิรูปการเมืองเป็นการปรับองค์กรเพื่อยกระดับประเด็นจากปัญหาของตัวเองเชื่อมโยงสู่ปัญหาระดับนโยบายและปัญหาเชิงโครงสร้าง
กรอบข้อเสนอของสมัชชาคนจนก็ฉายภาพให้เห็นข้อเรียกร้องอย่างกว้างๆ เท่านั้น แต่ข้อเสนอที่แท้จริงจะผ่านกระบวนการในเครือข่ายอีกกว่า 6 เดือน
โครงร่างของการเคลื่อนไหวครั้งนี้ จะเริ่มต้นจากการสรุปบทเรียนในเครือข่ายของสมัชชาคนจนในลักษณะกลุ่มศึกษาปัญหา เชื่อมโยงปัญหาของตนกับข้อจำกัดและอุปสรรคในการแก้ปัญหาของตัวเอง ซึ่งจะต่อยอดให้เห็นปัญหาในเชิงโครงสร้าง ซึ่งท้ายที่สุดจะได้ข้อเสนอจากแต่ละพื้นที่ โดยแกนนำชาวบ้านที่ผ่านการอบรมจะเป็นแกนหลักของกลุ่มศึกษาลักษณะนี้ หลังจากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการสังเคราะห์ปัญหาร่วมกัน ทั้งในมิติของพื้นที่และประเด็นปัญหา
กล่าวให้ชัดเจน กระบวนการดังกล่าวอาจริเริ่มจากในหมู่บ้านซึ่งประสบปัญหาที่ดินทำกิน และเข้าสู่วงวิเคราะห์ในระดับภาค พร้อมๆ กับวงวิเคราะห์ในประเด็นปัญหาที่ดินทำกินซึ่งเป็นหนึ่งในประเด็นปัญหาใหญ่ในกรณีปัญหาของสมัชชาคนจน
หลังจากนั้น เวทีการแลกเปลี่ยนระหว่างเครือข่ายของสมัชชาคนจนกับกลุ่มองค์กรอื่นๆ ก็จะเกิดขึ้นเพื่อขัดเกลาข้อเสนอท้ายที่สุด แน่นอนหากเป็นไปตามกระบวนการนี้ นอกจากจะมีส่วนร่วมในข้อเสนอของตนเองเกือบทุกขั้นตอนแล้ว สมาชิกของสมัชชาคนจนยังได้เรียนรู้กระบวนการทางการเมืองอีกด้วย
***ข้อเสนอปฏิรูปการเมืองจากภาคประชาชน เป็นบทพิสูจน์ว่า “ประชาธิปไตย” ไม่ใช่แค่เป็นเพียงเป้าหมาย แต่หมายถึง “วิธีการ” ที่ต้องมีประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมสำคัญด้วยเช่นกัน***
กำลังโหลดความคิดเห็น