การเจรจาสมัชชาคนจนยาวนานกว่า 18 ชั่วโมง สิ้นสุดลงแล้ว หลังมีมติเร่งรัด 9 กรณีสั่งการได้เลย “หญิงหน่อยใจดี” แจกยาแก้จนไม่อั้น หวังดันสมัชชาคนจนกลับบ้าน ชาวบ้านรู้สึกคล่องผิดปกติ ลั่นถ้าแก้ง่ายอย่างนี้ ไม่ต้องมาชุมนุมตั้งนานแล้ว ระบุแม้มีแนวทางแต่ต้องดูที่การปฏิบัติ
ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าการเจรจาระหว่างตัวแทนสมัชชาคนจนกับคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องที่ห้องประชุมกระทรวงเกษตรฯ ได้สิ้นสุดลงแล้ว เมื่อเวลาประมาณ 23.00 น. โดยผู้ชุมนุมสมัชชาคนจนได้ทยอยกันเดินทางกลับไปปักหลักต่อที่ชุมนุมหน้ารัฐสภา หลังจากที่ชุมนุมยาวนานกว่า 18 ชั่วโมง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เบื้องต้นวงเจรจาสามารถตกลงร่วมกันในกรณีปัญหา 9 กรณีที่ผู้รับผิดชอบสามารถสั่งการได้ในทันที ได้แก่ 1. กรณีเขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี ให้ทางสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.) กระทรวงเกษตรฯ เป็นผู้รับผิดชอบ 2. กรณีเขื่อนห้วยละห้า จ.อุบลราชธานี ให้สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท (รพช.) กระทรวงมหาดไทย เป็นผู้รับผิดชอบ 3. กรณีสวนป่าสังขะ จ.สุรินทร์ ให้กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรฯ เป็นผู้รับผิดชอบ 4.สวนป่าดงมะไฟ จ.ยโสธร ให้กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรฯ เป็นผู้รับผิดชอบ
5.กรณีที่สาธารณะประโยชน์ป่าโคกน้อย อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ ให้กระทรวงมหาดไทย เป็นผู้รับผิดชอบ 6. กรณีที่สาธารณะประโยชน์โนนหนองลาด อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ให้กระทรวงมหาดไทย เป็นผู้รับผิดชอบ 7.กรณีที่สาธารณะประโยชน์โคกหนองกุง อ.ศรีสมเด็จ จ.กาฬสินธุ์ ให้กระทรวงมหาดไทย เป็นผู้รับผิดชอบ 8.กรณีที่สาธารณะประโยชน์ดอนหลักคำ ให้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้รับผิดชอบ และ 9.โครงการหมู่บ้านป่าไม้แควระบม – สียัด อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา ให้ สปก. กระทรวงเกษตรฯ เป็นผู้รับผิดชอบ
ทั้งนี้ ทุกกรณีกำหนดระยะเวลาติดตามประเมินผลภายใน 1 เดือน ในขณะที่การดำเนินการเจรจาในรายละเอียดแต่ละกรณีปัญหาจะเริ่มต้นในวันพรุ่งนี้ (24 ก.พ.) เป็นต้นไป โดยเริ่มที่กระทรวงพลังงาน 9.00 น. อย่างไรก็ตาม การเจรจาที่ทางรัฐมนตรีต้องการให้สมัชชาคนจนถอนกำลังกลับภูมิลำเนา ยังไม่ได้ข้อสรุป
นายสุจินต์ กตะศิลา วัย 37 ปี ชาวบ้านจาก อ.ราศีไศล จ.ศรีษะเกษ ผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนหัวนา ระบุว่า กรณีที่สามารถสั่งการได้เลย แท้ที่จริงแล้วก็ยังไม่สามารถชี้วัดอะไรได้ เพราะยังมีระยะเวลากำหนดอีก 1 เดือน ไม่ใช่สั่งได้เลย บางกรณีต้องผ่านขั้นตอนในการสั่งการอีกหลายขั้นตอน จึงไม่แปลกที่จะได้ข้อสรุปอย่างนี้
เขากล่าวต่อว่า ที่น่าแปลกใจคือท่าทีของฝ่ายรัฐบาล ซึ่งแทบจะรับข้อเรียกร้องในโต๊ะเจรจาเกือบทุกประเด็น ถ้าแก้ได้ในคืนเดียวอย่างนี้ ก็ไม่จำเป็นต้องมาชุมนุมตั้งนานแล้ว ที่สำคัญไม่ต้องมารอถึง 5 ปี เพราะที่ผ่านมาสมัชชาคนจนรวมตัวเรียกร้องมาโดยตลอดแต่ก็ไม่ได้รับความสนใจ การเคลื่อนไหวรอบนี้ เราเดินทางมา 3 วัน รัฐบาลไม่พูดถึงเลย
“รู้สึกมันคล่องผิดปกติ อาจเป็นเพราะเขาห่วงว่าเราจะไปร่วมชุมนุมในวันที่ 26 ก.พ.ร่วมกับกลุ่มพันธมิตรฯ ด้วย เขาพยายามเคลียร์เรากลับบ้าน แต่เราต้องยืนยันว่าสมัชชาคนจนต้อการมาติดตามการแก้ปัญหาของเรา เป็นปัญหาปากท้องของเรา ส่วนการชุมนุมใหญ่นั้นส่วนตัวผมก็เห็นด้วย แต่เราต้องประชุมพ่อครัวใหญ่ก่อน ตอนนี้เราตัดสินใจกันวันต่อวัน”
ด้านนายนันทโชติ ชัยรัตน์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน กล่าวว่า การเจรจาในวันนี้อาจได้แนวทางในการแก้ปัญหา แต่ประเด็นสำคัญที่สุดของการแก้ปัญหาของสมัชชาคนจนตอนนี้คือการปฎิบัติ ต้องดูว่าจะมีการปฎิบัติมากน้อยเพียงใด การพูดว่าจะแก้ปัญหา ตนหรือใครก็สามารถพูดได้ แต่ก็ดีใจที่การพูดคุยในวันนี้เป็นไปด้วยดี ประนีประนอม แต่ก็ไม่สามารถชี้ได้ว่าจะแก้ปัญหาได้ เพราะต้องดูที่การปฏิบัติ อย่างไรก็ตาม ทางสมัชชาคนจนจะประชุมเพื่อประเมินสถานการณ์อีกครั้งในวันรุ่งขึ้น (24 ก.พ.)
“สมัชชาคนจนผ่านร้อนผ่านหนาวเกินกว่าที่จะยินดียินร้ายในโต๊ะเจรจา แต่เราให้ความสำคัญกับการปฏิบัติมากกว่า”
เช้าวันนี้ (23 ก.พ.) ชาวบ้านในเครือข่ายสมัชชาคนจนเคลื่อนขบวนมาจากที่ชุมนุมหน้ารัฐสภาเพื่อเข้าชุมนุมในกระทรวงเกษตรฯ เพื่อเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจเปิดโต๊ะเจรจาเพื่อติดตามการแก้ปัญหาต่างๆ ในเครือข่าย กระทั่งคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ รมว.กระทรวงเกษตรฯ มาเป็นตัวแทนเจรจา พร้อมรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง อาทิ นายยงยุทธ ติยะไพรัช รมว.กระทรวงทรัพยากรฯ นายเสริมศักดิ์ พงษ์พาณิช รมช.กระทรวงมหาดไทย เป็นต้น