xs
xsm
sm
md
lg

กรณีศึกษา“บ้านถวาย” ทุนใหญ่กลืนโอทอปชุมชนต้นแบบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“บ้านถวาย(สองฝั่งคลอง) ต.ขุนคง อ.หางดง จ.เชียงใหม่” เป็นหมู่บ้านโอทอปนำร่อง เป็นโปรเจคต้นแบบ ตามยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน ที่ได้รับการโปรโมทเต็มรูปแบบโดยรัฐตั้งแต่เมษายน 47 ที่ผ่านมา ร่วมกับดอยแม่สะลอง(เชียงราย) และเกาะเกร็ด(นนทบุรี) อันเนื่องมาจากบ้านถวายเป็นหมู่บ้านที่มีการผลิตผลิตภัณฑ์ไม้แกะสลักที่มีชื่อเสียงทั้งในและต่างประเทศติดต่อกันมานานหลายปี

หลังจากที่ได้รับการยกระดับเป็นหมู่บ้านโอทอปต้นแบบ นำมาซึ่งงบประมาณสนับสนุนพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น ถนน / ระบบอำนวยความสะดวกอื่น ๆ ฯลฯ รวมทั้งสิ้นเกือบ 30 ล้านบาท

ตามข้อมูลของสำนักงานพัฒนาการท่องเที่ยวกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา หนึ่งในหน่วยงานรัฐที่เข้ามาให้การสนับสนุนโอทอปบ้านถวาย เคยยืนยันว่า หลังจากบ้านถวายได้รับการยกระดับเป็นหมู่บ้านโอทอปต้นแบบเมื่อเดือนเมษายน 47 จนถึงเดือนเมษายน 48 พบว่า มียอดนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในบ้านถวายเพิ่มขึ้นประมาณ 15%

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อสืบค้นลงไปกลับพบว่า โดยเนื้อแท้แล้ว “บ้านถวาย” หมู่บ้านโอทอปต้นแบบของไทยแห่งนี้ กลับซุกซ่อนประเด็นปัญหา ที่ทำให้ชาวบ้านถวายที่ทำมาหากินกับไม้แกะสลัก จนสามารถยืนอยู่ได้อย่างเข้มแข็งก่อนที่นโยบาย “โอทอป” จะเข้ามา ต้องอยู่กันด้วยความหวาดหวั่นว่า วันหนึ่งช่องทางทำมาหากินที่ชาวบ้านบากบั่นร่วมกันสร้างขึ้นมาจนติดลมบน จะถูกฮุบไปต่อหน้าต่อตา


นายเจริญ มะจันทร์ ประธานกลุ่มร้านค้าบ้านถวาย(สองฝั่งคลอง) กล่าวว่า ถ้าพูดถึงบ้านถวายที่ชาวบ้านร่วมกันสร้างสมขึ้นมา จนกลายเป็นแหล่งรายได้หลักของผู้คนตำบลขุนคงทั้ง 9 หมู่บ้าน รวมกว่า 4,000 ชีวิตนั้น ก็คือ กลุ่มร้านค้า/ผู้ผลิต ที่อยู่ตามแนวคลองชลประทาน จำนวน 200 กว่าร้านนี้เท่านั้น

แต่ปัจจุบันชื่อ “บ้านถวาย” ที่ติดตลาดทั้งในและต่างประเทศอยู่แล้ว กลับมีคนที่ชาวบ้านเรียกว่า “ร้านของคนเอาเสื้อไว้ในเตี่ยว” หรือร้านของคนที่เอาชายเสื้อไว้ในกางเกง ที่ชาวบ้านเปรียบเทียบว่า เป็นนายทุนต่างถิ่น ที่ไม่รู้เรื่องไม้แกะสลักอย่างแท้จริง เข้ามาเปิดร้านดักลูกค้า-นักท่องเที่ยวก่อนถึงบ้านถวายสองฝั่งคลอง โดยนำสินค้าไม้แกะสลักที่ชาวบ้านผลิตขึ้นด้วยฝีมือที่ถ่ายทอดจากรุ่นสุ่รุ่น ไปวางจำหน่ายในราคาที่สูงกว่าที่ชาวบ้านขายกันไม่น้อยกว่า 3-4 เท่าตัว

“มังกรยาวติดกระจกตัวหนึ่ง ที่ร้านไม้แกะสลักแถวสองฝั่งคลองขายกันแค่ 800 บาท/ตัว แต่ร้านแถวศูนย์วัฒนธรรมบ้านถวาย ที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนายทุนจากต่างถิ่นเข้ามาเปิด ขายกันที่ 3,000 บาทขาดตัว ถามว่ามังกรยาวตัวนั้นมาจากไหน ก็มาจากชุมชนสองฝั่งคลองบ้านถวายเช่นกัน ซึ่งก่อให้เกิดผลเสียในระยะยาวต่อโอทอปของแท้บ้านถวายไปด้วย”

ว่ากันว่า นอกจากนั้น ปัจจุบันกลุ่มทุนที่เป็นเจ้าของร้านค้าตลอด 2 ฝั่งเส้นทางจากตัวอำเภอหางดง – ก่อนถึงสองฝั่งคลองบ้านถวาย ที่ล้วนแต่เป็นย่านธุรกิจ ที่มีค่าเช่าไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท/ห้องขนาด 3 คูณ 4 เมตร (ขณะที่สองฝั่งคลองบ้านถวายชาวบ้านเช่ากันในราคา 1,000 กว่าบาท/ห้อง) ระยะหลังกลับเป็นฝ่ายกำหนดอนาคตของอุตสาหกรรมไม้แกะสลักในหมู่บ้านโอทอปต้นแบบแห่งนี้ไปแล้ว

แม้แต่งานประจำปีที่เคยจัดต่อเนื่องกันมา 15-16 ปี ถูกบรรจุเข้าไปในโปรแกรมการท่องเที่ยวของไทยแล้วว่า จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 มกราคม – 4 กุมภาพันธ์ทุกปี แต่ปีนี้กลับถูกกลุ่มทุนเสื้อเข้าในเตี่ยว เลื่อนมาจัดในวันที่ 31 ธันวาคม 48 – 2 มกราคม 49

นัยว่า ส่วนหนึ่งเพื่อต้อนรับคณะที่จะมาร่วมพิธีเปิดไนท์ซาฟารีด้วย ... โดยกลุ่มพ่อค้าไม้แกะสลักนอกหมู่บ้านโอทอป บอกว่า หวังว่าคนที่มาเที่ยวไนท์ซาฟารีแล้ว จะเข้ามาเที่ยวที่ย่านจำหน่ายไม้แกะสลักของตนเองด้วย แต่ไม่คำนึงว่า งานประจำปีของบ้านถวายที่จัดต่อเนื่องกันมานานกว่า 15-16 ปี เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น จะมีผลต่อโปรแกรมของนักท่องเที่ยวหรือไม่

กรณีดังกล่าว กำลังชี้ให้เห็นว่า อนาคตของหมู่บ้านโอทอปต้นแบบอย่าง “บ้านถวาย” ที่เติบโตขึ้นมาด้วยตนเองอย่างยั่งยืนก่อนที่นโยบายโอทอปจะเกิดขึ้น กำลังตกอยู่ภายใต้การชี้เป็นชี้ตายของกลุ่มพ่อค้าคนกลางมากขึ้นทุกขณะ

ขณะที่ในชุมชนบ้านถวาย ต.ขุนคง อ.หางดง จ.เชียงใหม่ ที่ถือเป็นหมู่บ้านโอทอปขนานแท้ ที่เติบโตขึ้นมาภายใต้ความร่วมมือร่วมใจกันของคนในชุมชน ถ่ายทอดความรู้ด้านศิลปะการแกะสลักจากรุ่นสู่รุ่น สร้างสรรค์สินค้าที่มีอัตลักษณ์เฉพาะตัว จนถึงปัจจุบัน สามารถขยายศักยภาพของชุมชนตนเองกลายเป็นแหล่งจ้างงานขนาดใหญ่ให้กับชุมชนรอบข้างถึง 9 หมู่บ้าน เกือบ 4,000 กว่าชีวิต กำลังถูกกลืนให้กลายเป็นเพียงคนรับจ้างผลิตไม้แกะสลักให้กับพ่อค้าคนกลางเท่านั้น

เพราะหากนับเม็ดเงินที่ได้จากการจำหน่ายสินค้าไม้แกะสลักจากบ้านถวายออกสู่ชุมชนภายนอกทั้งในและต่างประเทศแล้ว นายเจริญ บอกว่า แต่ละปีจะทำรายได้เข้าชุมชนในวงเงินหลายสิบล้านบาท

แต่นั่นอาจเทียบไม่ติดกับมูลค่าการจำหน่ายไม้แกะสลักของพ่อค้าคนกลาง ที่คนบ้านถวายบอกว่า เป็นพวกเอาเสื้อไว้ในเตี่ยว ที่มียอดขายนับร้อย ๆ ล้านบาท

ส่วนยอดขายสินค้าโอทอปโดยรวมของเชียงใหม่นั้น ปี 48 นายสมศักดิ์ สุทธิสาร พัฒนาการจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ตามที่จังหวัดเชียงใหม่ ได้ส่งเสริมการจำหน่ายผลิตภัณฑ์โอทอปของจังหวัดเชียงใหม่ที่มีอยู่ประมาณ 1,758 รายทั่วประเทศและต่างประเทศนั้น พบว่า ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2547 จนถึงเดือน กันยายน 2548 พบว่า สามารถจำหน่ายสินค้าโอทอปได้เกินเป้าหมาย 222 ล้านบาท จากเดิมที่ตั้งเป้าไว้ 1,554 ล้านบาท แต่สามารถจำหน่ายได้ทั้งสิ้น 1,758 ล้านบาท

ทั้งนี้สินค้าที่จำหน่ายได้มากที่สุด คือ สินค้าประเภทของใช้และของประดับตกแต่ง รองลงมาคือสินค้าประเภทสิ่งประดิษฐ์ และของที่ระลึก ซึ่งในปี 2549 จังหวัดจะให้การสนับสนุนสินค้าโอทอปต่อไป โดยจะเน้นที่การพัฒนาคุณภาพและรูปแบบของผลิตภัณฑ์ ให้ตรงกับความต้องการของตลาดมากที่สุด พร้อมกับตั้งเป้าจำหน่ายเพิ่มขึ้นอีก 25% ของยอดจำหน่ายปี 2548 นี้อีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น