xs
xsm
sm
md
lg

ปั่นตัวเลขลวงยอดขายโอทอปสร้างภาพกระตุ้นศก.รากหญ้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ข่าวเชิงวิเคราะห์ “ฉีกภาพมายาโอทอป” (3)

ศูนย์ข่าวภูมิภาค/ผู้จัดการรายวัน - รัฐบาลทักษิณเล่นกลปั้นตัวเลขหลอกปั่นยอดขายโอทอปทะลุห้าหมื่นล้าน สร้างภาพลวงตาโฆษณากระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้าเป็นผลสำเร็จทั้งที่ชาวบ้านเจ๊งยับเยิน ข้าราชการเจอใบสั่งเบื้องบนเมคตัวเลขกันแบบโอเวอร์สุดๆ แถมเหมารวมตัวเลขยอดขายของกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี และเอสเอ็มอีแฝง รวมถึงกลุ่มสหกรณ์เข้ามารวมหมด


ดร.เสรี พงศ์พิศ ผู้อำนวยการสถาบันวิสาหกิจชุมชน และประธานมูลนิธิหมู่บ้าน กล่าวว่า บนตัวเลขความสำเร็จที่สวยงามจากยอดขายสินค้าโอทอปไม่กี่ร้อยล้านพุ่งทะยานสู่หลักหมื่นล้าน แสนล้าน ตามคำโฆษณาของภาครัฐ นั้นมีความจริงอีกด้านหนึ่งคือ ปัญหาและความล้มเหลวที่เกิดขึ้นกับชุมชนทั่วประเทศ เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายไม่ควรหลับตาและมัวชื่นชมตัวเลข การเติบโตเป็นร้อยเท่าโดยไม่เคยนับว่าร้อยเท่านั้นอยู่บนซากศพเท่าไหร หนี้สินเท่าไหร่ น้ำตาและความเจ็บปวด ความแตกแยกและความสับสนวุ่นวายในชีวิตของอีกกี่แสนกี่ล้าน

ดร.เสรี กล่าวต่อว่า การประเมินผลสำเร็จของโอทอป ตัวเลขยอดขายเป็นหมื่นเป็นแสนล้าน ถามว่าใครประเมิน หน่วยงานที่ประเมินคือ กรมการพัฒนาชุมชน เท่าที่ตนเองเข้าไปมีส่วนทำงานร่วมกับหน่วยงานราชการในการพัฒนาชุมชนมาร่วม 30 ปี ก็รู้ว่า เป็นการ “ยกตัวเลข” และข้าราชการก็ถูกบีบให้ทำตัวเลขจนหน้าเขียวกันมาตลอด อ้างว่าท่านรัฐมนตรีสั่งให้ “ทำยอด” ให้ได้ โอทอปปีนี้ต้องให้ได้กี่หมื่นล้าน ข้าราชการก็วิ่งกันหน้าตั้งเพื่อทำยอดตามคำสั่งหน่วยเหนือ

ผอ.สถาบันวิสาหกิจชุมชน กล่าวต่อว่า ตัวเลขยอดขายจำนวนมากเป็นหมื่นล้าน เป็นตัวเลขเมคอัพกันขึ้นมาทั้งนั้น เป็นการคาดการณ์ และไม่ได้แยกแยะออกมาว่า ตัวเลขที่ยกมาว่าขายได้ ใครขาย ใครได้ ชาวบ้านจริงๆ ได้เท่าไหร่ ใน 50,000 ล้านบาทชาวบ้านในฐานะผู้ผลิตได้เท่าไหร่กันแน่ ชีวิตดีขึ้นแค่ไหน หากมีการแยกแยะยอดขายอาจจะได้น้อยกว่านี้แต่ชาวบ้านจริงๆ จะได้มากกว่าที่เป็นอยู่ และหากบวกกลบลบหนี้กับเม็ดเงินที่ใช้ไปในการโปรโมท รวมผลกระทบที่เกิดขึ้นจริงๆ แล้วจะได้สักเท่าไหร่ อยากให้มหาวิทยาลัยราชฎัชทั่วประเทศ 41 แห่งร่วมกันประเมินผลโครงการอย่างรอบด้าน แต่อาจจะยากเพราะหากผลออกมาไม่ดี รัฐบาลก็จะอัดเอา

*** ปริศนาผลสำเร็จโอทอป

นายประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในคณะผู้ศึกษาวิจัยประเมินผลโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ เปิดเผยถึงประเด็นเรื่องยอดขายโอทอปว่า รัฐบาลอ้างถึงการเพิ่มขึ้นของยอดการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนก่อนเริ่มนโยบายโอทอป เช่น ปี 2544 ว่ามีจำนวน 216 ล้านบาทเท่านั้น แต่หลังการดำเนินโครงการโอทอปแล้ว ปรากฏว่ามียอดจำหน่ายระหว่างเดือนม.ค. – ธ.ค. 45 รวม 23,987 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 219.94 ล่าสุด รองอธิบดีกรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ให้สัมภาษณ์ว่า ปี 47 มียอดขาย 46,276 ล้านบาท และปี 48 จะมียอดขายเพิ่มขึ้นถึง 55,104 ล้านบาท
นายกฯ ทักษิณ ในงานโอทอปซิตี้ที่เมืองทองธานี เมื่อปลายปีกลาย
นายประภาส กล่าวว่า ตัวเลขข้างต้น รัฐบาลใช้เป็นเครื่องยืนยันความสำเร็จ และถูกนำไปใช้ในการรณรงค์หาเสียงในการเลือกตั้งของพรรคไทยรักไทยในช่วงที่ผ่านมา โดยย้ำว่าโครงการฯ สามารถสร้างรายได้จำนวนมหาศาล นอกเหนือจากสร้างงานและยกระดับความเป็นอยู่ให้คนในชนบท ทั้งเน้นย้ำว่าจะสานต่อโครงการนี้โดยนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าจะเนรมิตให้สินค้าโอทอปทำรายได้ถึง 1 แสนล้านบาทต่อปี

“นายกรัฐมนตรี คงทำได้เช่นนั้นจริงหากกวาดต้อนเอาบรรดาสินค้าเกษตรและเกี่ยวเนื่องกับภาคเกษตร รวมทั้งสินค้าที่ผลิตขึ้นในท้องถิ่นต่างๆ ทั่วประเทศมาผนวกรวมไว้ในโครงการโอทอป” อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ กล่าว และตั้งคำถามสำคัญจากการโฆษณายอดขายเพิ่มขึ้นข้างต้นว่าตัวเลขรายได้มีที่มาที่ไปอย่างไร ใครคือผู้รับประโยชน์ที่แท้จริงของโครงการและกระจายรายได้สู่ชุมชนจริงๆ มากน้อยเพียงใด

นายประภาส กล่าวว่า จากการศึกษาวิจัย “ประเมินผลนโยบายหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์” เชิงคุณภาพและปริมาณในแง่ผลสำเร็จ ล้มเหลว และผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโครงการ โดยใช้แบบสำรวจผลิตภัณฑ์ จำนวน 164 แห่งในจังหวัดทั้ง 4 ภาค ระบุว่า ผลสำเร็จของโอทอปที่รัฐบาลอ้างผ่านตัวเลขยอดขายเพิ่มนับหมื่นนับแสนล้านยังมีคำถาม

โดยเฉพาะที่มาของยอดขายโอทอปที่รัฐบาลกล่าวอ้างว่าเพิ่มขึ้นมหาศาลเมื่อเทียบกับก่อนเริ่มนโยบายโอทอปนั้นไม่ได้แยกแยะให้ชัดเจนว่าเป็นยอดขายของโอทอปที่เกิดขึ้นก่อนหรือหลังนโยบายนี้ของรัฐบาลทักษิณ ทั้งนี้เพราะผลศึกษาชี้ชัดว่าผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ ราว 83% จากที่สำรวจได้ก่อตั้งมาก่อนช่วงโครงการโอทอปทั้งสิ้น

นอกจากนั้น ตัวเลขยอดขายก็ไม่ได้ชี้ชัดว่า มาจากกลุ่มโอทอปที่เกิดจากการรวมกลุ่มของชาวบ้านอย่างแท้จริง หรือโอทอปเอสเอ็มอี ที่เข้มแข็งและดำเนินธุรกิจมาก่อนหน้านี้ การโฆษณาตัวเลขผลสำเร็จของโอทอปที่เพิ่มขึ้นหลายหมื่นล้านว่าช่วยยกระดับความเป็นอยู่ให้แก่คนชนบท ดังที่รัฐบาลและพรรคไทยรักไทย โฆษณาว่าชุมชน 36,000 ชุมชนได้รับประโยชน์นั้น ผลศึกษาวิจัยยังชี้ให้เห็นว่า ผู้รับประโยชน์ที่แท้จริงของโครงการและการกระจายรายได้สู่ชุมชน รวมถึงตัวเลขรายได้จากการจำหน่ายสินค้าไม่ได้เป็นไปดังคำกล่าวอ้างแต่อย่างใด

นายประภาส กล่าวว่า จากการวิจัยประเมินผลโครงการฯ ได้ข้อสรุปชัดเจนว่า ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ราวร้อยละ 83 จากจำนวนกลุ่มที่สำรวจ 164 กลุ่ม ได้ก่อตั้งมาก่อนช่วงเกิดโครงการโอทอป ข้อมูลในเชิงคุณภาพที่เลือกเจาะจงสินค้าระดับห้าดาวของจังหวัดชลบุรี ก็พบว่าล้วนแต่ก่อตั้งมาก่อนโครงการทั้งสิ้น ดังนั้นยอดขายที่เพิ่มขึ้นคงจะเหมารวมไม่ได้ว่ามาจากผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นภายใต้นโยบายโอทอปของรัฐบาลทักษิณ

อย่างไรก็ตาม ยอดขายของผลิตภัณฑ์ได้เพิ่มขึ้นหลังการดำเนินโครงการฯจริง แต่ยอดขายที่เพิ่มขึ้น มีข้อสังเกตคือ เพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่มากในสินค้าเอสเอ็มอี และเอสเอ็มอีที่มีการจดทะเบียนเป็นรูปแบบกลุ่มซ้อนขึ้นมา รวมถึงกลุ่มสหกรณ์ ส่วนสินค้าที่มีกลุ่มชาวบ้านเป็นเจ้าของมียอดขายเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

นอกจากนั้น มูลค่าตลาดที่เพิ่มขึ้นจากการส่งเสริม ยังเป็นการเพิ่มจากการจัดมหกรรมสินค้าโอทอปในกรุงเทพฯ และในระดับจังหวัด อำเภอ หรือหน่วยงานราชการต่างๆ ดังนั้นผลตอบแทนที่ได้จึงไม่มีการคำนวนที่หักออกจากงบประมาณ ทรัพยากรต่างๆ ที่หน่วยงานต่างๆ ระดมเข้าไปในโครงการนี้ รัฐบาลมักอ้างถึงค่าใช้จ่ายของโครงการตามแผนงานที่ตั้งไว้เท่านั้น

“เม็ดเงินที่เกิดขึ้นจากโครงการมีต้นทุนเท่าใด มีผลประโยชน์ที่แท้จริงเมื่อหักต้นทุนที่หน่วยงานราชการๆ ได้จ่ายไปแล้วเท่าใด ไม่มีการคิดคำนวนออกมา” นายประภาส ให้ตั้งข้อสังเกต

*** ยอดขายโอทอปแหกตาเห็นๆ

การปั่นยอดขายโอทอป มีกรณีตัวอย่างชัดๆ ที่จังหวัดพิษณุโลก พื้นที่แห่งนี้มีผลิตภัณฑ์โอทอปที่เข้าคัดสรรในระดับประเทศในงาน One product Champion ในปี 47 รวม 146 ผลิตภัณฑ์ ปรากฏว่า ได้รับ 5 ดาว จำนวน 12 ผลิตภัณฑ์ คือ กล้วยตากอบพลังแสงอาทิตย์ กล้วยม้วนอบน้ำผึ้ง กล้วยตากอบน้ำผึ้ง เผือกอบเนย มันรังนก สมุนไพรทอกกรอบ น้ำลูกยอผสมน้ำผึ้งเดือน 5 น้ำแอปเปิ้ล ผ้าด้นมือ ดอกไม้จากดิน หันตกรรมดินประยุกต์ ดอกไม้ประดิษฐ์จากผ้า

นายพิพัฒน์ วงศาโรจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก กล่าวไว้ในวารสารประสัมพันธ์จังหวัดว่า นับแต่ต้นปี 45 มียอดจำหน่ายสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์จนถึงปัจจุบัน 696 ล้านบาท ปี 48 จำหน่ายได้ 270 ล้านบาท เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ 40 ล้าน

เจ้าหน้าที่สำนักงานพัฒนาชุมชน จังหวัดพิษณุโลก ให้ข้อมูลว่า ผลจำหน่ายสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ปี 48 ปรับใหม่เป็น 281 ล้านบาท โดยจำหน่ายที่ร้านก้านกล้วย (อาคาร 1 ห้องในเมือง ) ใต้ศาลากลาง และท่าอากาศยานสนามบินพิษณุโลก โดยร้านก้านกล้วยขายดีสุด แต่การส่งเสริมการจำหน่ายที่ได้ผลคือ การออกงานที่กรุงเทพ สร้างยอดขายสูงกว่ามาก เพราะถ้าไม่มีการออกงานชาวบ้านไม่สามารถขายได้

ผู้สื่อข่าวสอบถาม ไปยัง “ร้านก้านกล้วย” ในเมืองพิษณุโลก พนักงานงานขาย เปิดเผยว่า ยอดขายคงไม่สูงตามที่พัฒนาชุมชนเหมารวม เพราะทุกวันนี้ขายสูงสุดแค่วันละ 2-3 พันบาทในช่วงเทศกาลวันหยุด หากเป็นวันปกติขายได้ 500 บาทก็ดีแล้ว สินค้าที่ขายดีคือ กล้วยตาก ซึ่งราคาไม่สูงนัก เนื่องจากเป็นขนมและของฝาก ขณะที่สินค้ามูลค่าสูงเช่น ผ้าด้นมือ ไม่ได้รับมาขาย โดยโทรสั่งสินค้าจาก กลุ่มแม่บ้านประมาณ 10 กลุ่มเท่านั้น

ด้านผู้ประกอบการ “กล้วยตากจิราพร” ระบุว่า ขายกล้วยตาก ได้ในงานมหกรรมที่หน่วยงานราชการไปออกบูธ ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้เที่ยวชมงาน แต่ไม่สามารถเดินทางไปร่วมงานได้ทุกงาน เพียงแค่มีพนักงานไปร่วมด้วย ส่วนยอดขายนั้นถือว่า ไม่มากนัก

ด้านนายพันธ์ศักดิ์ คุ้มครองพันธุ์ เลขานุการคณะกรรมการเครือข่ายสหพันธ์กลุ่มโอทอป จ.ปัตตานี กล่าวถึงประเด็นเรื่องยอดขายโอทอปว่า แต่ละจังหวัดจะมีการแข่งขันกันทำยอด ตัวเลขจึงน่าจะมีการเมค เนื่องจากไม่มีใครตรวจสอบและถ้าตรวจสอบกันจริงๆ คงจะยาก

“เวลาออกงานก็มักจะบอกให้คนที่ไปออกร้านใส่ยอดเยอะๆ และนำไปรวมเป็นยอดขายในแต่ละจังหวัด ต้องบอกว่าความตรงไปตรงมามันพูดยาก เพราะมันเกี่ยวกับภาพลักษณ์ของสินค้า ไม่อย่างนั้นก็ไม่น่าสนใจ โอทอปไม่มีภาษี ผู้ค้าก็เลยไม่ต้องเครียดกับยอดขายที่เกินจริง ใส่ให้เท่าไหร่ก็ได้” นายพันธ์ศักดิ์ กล่าว

**** ตัวเลขหลอก ดันจีดีพีไม่ได้จริง

นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยราชฎัชนครราชสีมา เปิดเผยว่า โครงการโอทอปของรัฐบาลเป็นนโยบายเศรษฐกิจกึ่งการคลังที่รัฐบาลมุ่งกระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้า โดยความมุ่งหวังสำคัญคือ เพิ่มมูลค่าการส่งออกเกิดการขยายตัวของจีดีพีหรือผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศให้สูงขึ้น รัฐบาลชุดนี้ออกมาพูดตลอดว่าโอทอปประสบความสำเร็จมหาศาล ส่งออกได้สูงถึงปีละ 4-5 หมื่นล้านและกำลังจะเพิ่มเป็นแสนล้านในอีก 2-3 ปีนี้

อย่างไรก็ตาม นายสมเกียรติ ตั้งคำถามว่า 1) หากส่งออกได้สูงทำไมตัวเลขจีดีพีกลับไม่เพิ่มขึ้น ซ้ำลดลงเหลือ 4.5-4.7% ต่ำกว่าประมาณการไว้ จุดนี้ชี้วัดว่านโยบายนี้ล้มเหลว เศรษฐกิจรากหญ้าไม่กระเตื้องขึ้นจริง มันขัดแย้งกันเองระหว่างข้อเท็จจริงกับคำโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาล

2) รัฐบาลมักพูดถึงโอทอป 3 ดาว 4 ดาว และ 5 ดาว แต่ไม่เคยแสดงปรากฏการณ์ล้มหายตายจากของโอทอปทั้งที่มีดาวและไม่มีดาว ทั้งที่รัฐมีกลไกคือคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านอยู่ทั่วประเทศ ที่จะสำรวจได้ แต่รัฐบาลจงใจปกปิดและไม่เคยนำเสนอรายงานวิจัยด้านนี้ต่อสาธารณะ

“ผลิตภัณฑ์ชุมชนที่เกิดใหม่ภายใต้นโยบายโอทอป หรือ โครงการ “เสกคนจนให้เป็นเถ้าแก่” ความจริงล้มหายตายจากไปเกือบหมดแล้ว ส่วนที่อยู่รอดได้และรัฐบาลนำออกเดินสายเป็นตัวอย่างหน้าเดิมๆ เกือบทุกงานล้วนเป็นนายทุนระดับเอสเอ็มอีที่ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารเอสเอ็มอีและกองทุนต่างๆ จากรัฐบาลใช่หรือไม่” อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยราชฎัชนครราชสีมา

นายสมเกียรติ ยังกล่าวว่า โอทอปที่ยืนหยัดอยู่ได้จริงซึ่งเป็นส่วนน้อยเป็นโอทอปที่มีอยู่แล้ว แต่รัฐบาลไปปักธงแสดงป้ายเอาเป็นผลงานโดยไม่ได้มีส่วนสร้างอะไรขึ้นมาเลย เป็นขบวนการเด็ดยอดความสำเร็จ นโยบายนี้เป็นแค่ประชานิยมฉวยโอกาส ซึ่งเป็นวิธีการถนัดของนักการเมืองและข้าราชการ

***ข้อมูลลวงก่อปัญหาลูกโซ่

นายสุภาคย์ อินทองคง นักวิชาการศูนย์เรียนรู้ชุมชน จ.สงขลา กล่าวว่า ภาพของโอทอปที่เป็นอยู่มีทั้งที่แบเบาะ ทรงตัวได้ เดินได้ ไปจนวิ่งได้แล้ว แต่พวกที่วิ่งได้ ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการมานานแล้ว รัฐบาลเป็นผู้เอาป้ายมาติดในตอนหลัง

“โอทอป ที่เห็นได้อย่างเป็นรูปธรรมก็คือ ข้อมูลที่ราชการเสนอให้รัฐบาล ปรากฏว่ามีที่มันไม่จริงถึงประมาณ 40-50 เปอร์เซ็นต์ เช่นรายได้ของโอทอป ตัวเลขได้มาจากไหน ก็มาจากผู้ประกอบการ แล้วถามต่อว่าผู้ประกอบการคิดตัวเลขขึ้นมาได้อย่างไร ตอบว่าจากคำสั่งของเจ้าหน้าที่ ยอดที่แจ้งนั้นมาจากการค้าขายจริงๆ แต่มีการบวกหรือคูณเข้าไป” นายสุภาคย์ กล่าว

ถามว่าทำไมต้องมีการทำอย่างนั้น เขาบอกว่า มันก็เกิดมาจากเหตุที่เป็นลูกโซ่ เกิดจากความต้องการของรัฐบาลที่อยากได้ตัวเลขซึ่งต้องเป็นตัวเลขที่ถูกต้อง แต่ว่าคนที่ทำตัวเลขนั้นจะทำให้สูงเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก แต่หากไม่สูงตัวเองก็แย่ เพราะถูกบีบมาจากข้างบน แต่ครั้นจะทำให้สูงจริงๆ นั้นก็ยาก แต่รัฐบาลเองก็ต้องการตรงนี้ เมื่อข้าราชการไม่สามารถทำตัวเลขได้ แสดงว่าข้าราชการไม่มีศักยภาพ ผู้ว่าซีอีโอ ก็ต้องแย่ และจะเดือดร้อนกันทั้งระบบ

“ผลที่ออกมาและไปสู่รัฐบาลจึงเป็นข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง การแก้ปัญหามันก็แก้กันไม่ได้สักที เรื่องโอทอปก็จะกลายเป็นปัญหาต่อไป เช่นเรื่องการแจ้งยอดขาย มีตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมคือผู้ประกอบการที่อยู่ข้างบ้านผม เวลาไปออกร้านที่ไหน ก็จะมีเจ้าหน้าที่เข้ามาบอกว่า ช่วยเรื่องตัวเลขหน่อยนะ ที่ข้าราชการต้องทำอย่างนั้นก็เพราะความอยู่รอดของเขา”

***บูรณาการลวง

นายสุภาคย์ ยังกล่าวว่า การทำงานเกี่ยวกับเรื่องโอทอปเองก็ไม่ได้มีการบูรณาการร่วมกัน โดยหลักการแล้วหน่วยงานที่รับผิดชอบจะต้องทำงานกันอย่างใกล้ชิด แต่ในทางปฏิบัติเป็นคนละเรื่อง เพราะยังมีการติดยึดอยู่กับกระทรวงต้นสังกัด ข้าราชการต้องทำงานสนองตอบทั้งหน่วยงานต้นสังกัด และผู้ว่าฯ ตรงนี้ออกมาจากปากของข้าราชการเอง ตนเคยได้รับรู้ตอนที่ไปร่วมประเมินการทำงานของผู้ว่าซีอีโอ 8 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง เขาบอกว่าอึดอัดเหลือเกินที่ต้องมีสภาพไม่แตกต่างจากบ่าว 2 นาย

จากโครงสร้างการบริหารในรูปแบบสั่งการ ซึ่งเป็นโครงสร้างที่ไม่มีกระบวนการของการเรียนรู้ สังคมจึงยังคงเป็นสังคมแห่งอำนาจ ข้าราชการยังติดอยู่กับวังวนนั้น ประชาชนเองก็ถูกล่ามให้ติดอยู่กับวังวนนั้น นโยบายเรื่องโอทอปเป็นนโยบายที่ดี แต่มีผลไปในอีกทาง รายได้พอมี แต่ก็มีหนี้ท่วมหัว รัฐบาลมีแนวคิดดีที่ให้ภาคธุรกิจมาช่วยดึงผู้ประกอบการโอทอปแต่ผลออกมากลับตรงข้าม

“เท่าที่มีสอบถามคนที่ทำโอทอปอยู่เกือบทุกจังหวัด พบว่าบางคนถูกภาครัฐดึงเข้าไปเหมือนกับถูกจับใส่กระสอบมัดปาก แล้วเอาขวานจามอีกที ตัวอย่างในสงขลา ที่ถูกเทรดเดอร์ลงมาครอบ เขาเข้ามาสั่งให้ชาวบ้านผลิต แล้วเขานำไปขาย เป็นบทบาทพ่อค้าคนกลาง ที่สุดท้ายกลายเป็นว่าพ่อค้าจะมาสั่งชาวบ้านอย่างไรก็ได้ ชาวบ้านเป็นแค่เพียงลูกจ้างเท่านั้น”

ในส่วนของภาครัฐเอง เมื่อถามถึงเรื่องประสบการณ์ ก็พบว่าเขาเองก็ไม่ได้มีประสบการณ์ เช่น พัฒนาชุมชน เขาไม่ได้ทำธุรกิจ ไม่ใช่นักการค้าการขาย แต่ต้องมาช่วยอบรมชาวบ้านให้ทำธุรกิจ เขาไม่ถนัดที่จะทำ แต่เมื่อรับนโยบายมาแต่ละหน่วยต่างก็จัดกันไป ชาวบ้านก็บ่นเบื่อจะตายอยู่แล้วเพราะเป็นเรื่องเดิมๆ สถาบันการศึกษาก็ไม่ได้ช่วยอะไร แสดงว่า การจัดองค์ความรู้ให้ชาวบ้านเพื่อให้สามารถพึ่งตนเองได้ยังไม่สามารถทำได้จริง

“รัฐบาลรีบเกินไป เร่งเกินไป และมุ่งแต่จะเอาตัวเลขเสียมากกว่า เมื่อรัฐบาลต้องการเอาตัวเลข ข้าราชการก็เอาตัวเลขให้ไป”

เขายังกล่าวถึงประเด็นข้อมูลการจัดตั้งกลุ่มที่ทางราชการเก็บอยู่นั้น เป็นปริมาณที่เป็นนามธรรม ตัวจริงไม่มี ถ้าจะมีก็แค่ 40-50 ใน 100 เท่านั้น ในส่วนของจังหวัดสงขลา สมมติว่ามี 400 กลุ่ม จากการสัมมนาที่ผ่านมา มีการนำแกนนำมาร่วมประชุม ซึ่งก็ถูก “ลากตั้ง” โดยหน่วยงานของทางราชการ การจัดตั้งกันเป็นเครือข่าย หรือสหพันธ์โอทอป เป็นการ “ลากตั้ง” ขึ้นมาทั้งนั้น กรรมการที่เข้ามาไม่มีบทบาทในการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ เนื่องจากการตัดสินใจเป็นหน้าที่ของข้าราชการ ซึ่งภาพตรงนี้ไม่ค่อยมีใครรู้ มีแต่ภาพสวยๆ เท่านั้นที่ถูกเผยแพร่ออกไป

*** โอทอป นโยบายบะหมี่สำเร็จรูป

นางสาวอัจฉริยา เนตรเชย อาจารย์ประจำคณะสังคมฯ มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก อธิบายว่า โอทอป ที่เริ่มต้นก่อรูปขึ้นในรัฐบาลทักษิณแม้จะมีรากฐานเดียวกับนโยบายส่งเสริมให้ชาวบ้านประกอบอาชีพเสริม ช่วงต้นทศวรรษ 2520 กลายมาเป็นธุรกิจชุมชน – วิสาหกิจชุมชน ก่อนจะเป็นโอทอปในปัจจุบันก็ตาม แต่โดยเนื้อแท้ของ “โอทอป” ทุกวันนี้ ดูเหมือนยังเป็นได้เพียง “นโยบายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” เท่านั้น

ปัญหาสำคัญของโอทอป หลังจากรัฐส่งเสริมให้ชุมชนตั้งกลุ่มผลิตสินค้าขึ้นมาทุกหัวระแหง เช่น พิษณุโลก ปี 2543 มีกลุ่มธุรกิจชุมชนเกิดขึ้นมากถึง 215 กลุ่ม บางหมู่บ้านมีถึง 19 กลุ่ม ซึ่งกลุ่มเหล่านี้ล้วนแต่มีปัญหาด้านการตลาด สินค้าที่ผลิตออกมาได้ไม่มีตลาดรองรับ ทำได้เพียงรอให้รัฐเข้ามาหาตลาดให้ ขณะที่รัฐบาลเอง ก็ไม่ได้เข้ามาสร้าง “ทุนทางปัญญา” ให้กับชุมชน ทำเพียงการหยิบยื่น “ปรุงบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” ให้ชาวบ้าน ด้วยการจัดงานนิทรรศการประจำปี หรืองานโอทอปประจำตำบล อำเภอ จังหวัด ให้แต่ละกลุ่มนำสินค้าที่ผลิตได้มาวางขายเท่านั้น

“ชาวบ้านเขาต้องกินต้องใช้ตลอดปี แต่งานที่รัฐบาลจัดให้มีปีละ 2 –3 ครั้ง ที่สุดแต่ละกลุ่มก็หันหลังให้กับการรวมกลุ่ม กลับไปสู่วิถีชีวิตทำนา ทำไร่ดั้งเดิม ปล่อยให้ธุรกิจของกลุ่มเป็นไปตามยถากรรม และในที่สุดกว่า 95% ก็เจ๊ง” อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าว
 
อ่าน...ล้อมกรอบ "สวมรอยสินค้าขึ้นชื่อ ปั้นตัวเลขะทะลุเป้า"
         ล้อมกรอบ "แฉกระบวนการปั่นยอดขายโอทอป"

กำลังโหลดความคิดเห็น