xs
xsm
sm
md
lg

เหล้า–ไวน์ตายสนิท ดับสิ้นภูมิปัญญาไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ข่าวเชิงวิเคราะห์ “ฉีกภาพมายาโอทอป” (2)

ศูนย์ข่าวภูมิภาค/ผู้จัดการรายวัน – เหล้า-ไวน์ กอดคอดิ่งเหวดับสนิทหลังเห่อตามกระแสแฟชั่นโอทอป นักธุรกิจชาวบ้านครวญขาดทุนติดหนี้หัวโต รัฐฯตัดหางปล่อยวัดปล่อยแห้งตาย มือผลิตไวน์ขึ้นโต๊ะประชุมเอเปกสิ้นลาย ตัดใจเปลี่ยนถังหมักไวน์เป็นถังหมักปุ๋ยจุลินทรีย์เลี้ยงชีวิตแทน ส่วนความหวังปลุกปั้นเหล้าพื้นบ้าน “นางสีเว่ย” แห่งเมืองแพร่โกอินเตอร์คราวต้อนรับทัวร์นกขมิ้นทักษิณ เป็นได้แค่ฝันกลางวัน

***ดับอนาถเหล้า – ไวน์ผลไม้โอทอป

ไวน์และเหล้ากลั่นแบรนด์ “แคทเทล” ได้รับคัดสรรเป็นโอทอปสี่ดาวระดับประเทศ หลังจากที่เข้าจดทะเบียนเป็นสินค้าโอทอปในปี 2545 ภายใต้การดำเนินงานของห้างหุ้นส่วนจำกัด แก่งหางแมว ไวน์เนอรี่ ของ อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี แต่หลังจากนั้นไม่นาน "สัมฤทธิ์ ตีระเจริญ" ก็ตัดสินใจเปลี่ยนแนวทางจากไวน์ – เหล้า มาเป็นปุ๋ยจุลินทรีย์แทนเมื่อไม่นานมานี้

“ล็อตสุดท้ายของผมแล้ว” ชายวัยกลางคน กล่าวอย่างอารมณ์ดี พลางชี้ไม้ชี้มือไปที่กองขวดสีทึบที่พะยี่ห้อ “แคทเทล” เรียงกันอย่างเป็นระเบียบในห้องอับแสงที่เคยเป็นทั้งโกดังมาก่อนราว 4 – 5 พันขวดเรียงราย
สัมฤทธิ์ ตีระเจริญ เจ้าของห้างหุ้นส่วนจำกัด แก่งหางแมว ไวน์เนอรี่ ของ อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี มือผลิตไวน์ระดับขึ้นโต๊ะที่ประชุมเอเปก ถึงวันนี้เขาผันเปลี่ยนถังหมักไวน์เป็นถังหมักปุ๋ยจุลินทรีย์แทน
“นี่คือเหล้าที่กำลังจะล้างสต็อคเพื่อไปล็อคคอเจ้าหนี้ เอาเหล้าใช้หนี้เขา ชุดนี้ใช้หนี้ได้ประมาณแสนสี่ เป็นเหล้ากลั่นที่อยู่ในโอทอปด้วยเหมือนกัน จริงๆ ก็ขอเขาไว้ เพราะราคาจริงๆ มากกว่านี้เท่าหนึ่ง” สีหน้าเขายังเปื้อนยิ้ม ราวกับไม่ยี่หระกับชะตากรรมที่ “นักธุรกิจชาวบ้าน” อย่างเขาประสบ หลังจากที่ต้องตรากตรำปั้นแบรนด์แคทเทลอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

“ส่วนถังหมักไม้โอ๊คก็มีคนติดต่อมาขอซื้อแล้ว รวมทั้งถังหมักสแตนเลสด้วย” เขายังบอกว่าต้องขายให้หมด ไม่ให้เหลือทิ้งไว้ จะได้เริ่มต้นใหม่กับอาชีพใหม่ด้วยฤกษ์ที่ดี

ก้าวต่อไปของอดีตผู้ใหญ่บ้านแหนบทองอย่างเขาคือธุรกิจหมักปุ๋ยจากจุลินทรีย์ในถังหมักที่เคยหมักไวน์ผลไม้ชั้นดีนั่นเอง

ชะตากรรมของ สัมฤทธิ์ อาจสอดคล้องต้องเหมือนกับใครอีกหลายคนที่เห่อเกร่อตามกระแสนโยบายประชานิยมในยุคทักษิณาธิปไตย ครอบครองหัวใจประชาชนด้วยความหวังแห่งเงินตราและโอกาส เป็นการเห่อเกร่อที่เจ้าตัวหาได้รู้สึกถูกลวงล่อแต่อย่างใด หากแต่เป็นมองความล้มเหลวของตนผูกโยงกับข้อจำกัดของตัวเอง

สัมฤทธิ์ ก็ยอมรับในจุดนี้ที่ว่า ตนและครอบครัวในนามของห้างหุ้นส่วนจำกัด แก่งหางแมว ไวน์เนอรี่ อาจมีข้อจำกัดในการบริหารจัดการที่ทำให้ไวน์ผลไม้แห่งจันทบุรีและสุรากลั่นชั้นดีจากเครื่องไม้เครื่องมือราคาสูงของเขายอดขายตก ทั้งด้านการตลาดที่ยังอ่อนด้อยสู้เจ้าพ่อวงการน้ำเมาที่เข้ามาดัมพ์ราคา หรือแม้แต่เจ้าที่ยังอยู่รอดในปัจจุบันได้ อีกทั้งข้อจำกัดที่ไม่ได้มีสายป่านยาวที่พอจะลำเลียงธุรกิจครอบครัวของเขาผ่านคลื่นลมร้ายในช่วงกระแสขาลงของ “ไวน์” และ “เหล้ากลั่น”
โกดังเก็บไวน์ของ แคทเทล ที่หลงเหลือเพียงขวดไวน์ไม่กี่ขวดจากเดิมเคยเต็มไปด้วยไวน์ฝีมือ สัมฤทธิ์ นานายี่ห้อทั้งของเขาเองและเป็นมือปืนรับจ้างผลิต
ทั้งสองผลิตภัณฑ์เคยเป็นสินค้าที่เคยได้รับการสนับสนุนอย่างหนักหน่วงจากรัฐบาลทักสิน ชนิดที่เรียกได้ว่าแทบจะเป็นสัญลักษณ์ของ “ผลิตภัณฑ์โอทอป” เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะไวน์ผลไม้จากถิ่นที่อุดมสมบูรณ์อย่างภาคตะวันออก

***ฝีมือเอเปคสี่ดาวยังสิ้นลาย

กล่าวจำเพาะฝีมือของสัมฤทธิ์ ผู้ที่เคยได้รับตำแหน่งผู้นำอาชีพก้าวหน้าประจำจังหวัดคนนี้ ก็ฝากฝีไม้ลายมือในวงการน้ำเมาชุมชนไว้ไม่น้อย เนื่องจากผลงานของเขาเคยได้รับเกียรติขึ้นโต๊ะประชุมเอเปคมาแล้วในช่วงไวน์โอทอปยังคง “ร้อนแรง” แม้ว่าในครานั้นเขาจะฝากฝีมือในฐานะ “มือปืนรับจ้าง” ให้กับ “ชาโต เดอ แกลง” ของเครือบีเจฯ ซึ่งเขาเองก็มีหุ้นส่วน เหมือนกับน้ำเมาหลายแบรนด์ที่เขารับเป็น “โออีเอ็ม” หรือผู้รับจ้างผลิตให้ แต่มันสมองที่กลั่นเป็นสูตรไวน์ขวดนั้นก็มาจากการลองผิดลองถูกของเขามาตั้งแต่ปี 2538

“ตอนนั้นกำลังปรับปรุงที่นี่ เลยไม่ได้ส่งในนามของ ‘แคทเทล’ จากเดิมที่เป็นเพียงโรงเรือนเล็กๆ ธรรมดา ขยายให้มีความพร้อมมากขึ้น ทั้งห้องแล็บ การรักษาความเย็น และขนาดของโกดัง เพื่อรองรับกับยอดการสั่งและการดูงานของคณะต่างๆ หมดไปสำหรับโรงเรียนหลังนี้ราวสี่แสน แต่ถ้าทำทั้งระบบเพื่อรับกระแสในตอนนั้นก็หมดไปราวสองล้านบาท”
กองเหล้ากลั่นล๊อตสุดท้ายที่รอส่งแทนหนี้
แม้ว่า “แคทเทล” จะติด 4 ดาวโอทอป ผ่านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน และลงทุนไปมหาศาลเพื่อเก็บเกี่ยวเม็ดเงินจากกระแสบูมผลิตภัณฑ์ชุมชนภายใต้ร่มไทรของ “นโยบายโอทอป” แต่ทว่าการณ์กลับไม่เป็นไปดังหวัง

“ตอนแรกก็คงเหมือนหลายคนที่ขายได้เป็นแสนในแต่ละงาน แต่พอหลังเอเปคสักระยะ ราวๆ กับช่วงที่ถูกโจมตีเรื่องถนนคนเมา กระแสก็ซบเซา ทรุดลงมาเรื่อยๆ ถามใครก็ขาดทุนเหมือนกับเรา การสนับสนุนของภาครัฐเองก็ไม่เหมือนกับในช่วงแรก”

ในขณะเดียวกัน ด้านเหล้ากลั่นก็ประสบปัญหาการทุ่มตลาดของเจ้าพ่อน้ำเมารายใหญ่ระดับชาติ ที่เลือกเจาะพื้นที่ตัดราคาในเขตอำเภอที่ “เหล้าชุมชน” มาแรง ความล้มเหลวของเหล้ากลั่นแคทเทลตั้งแต่ยังไม่ได้ตั้งไข่ในตลาดยืนยันได้ว่ามาตรการทุ่มตลาดของเจ้าพ่อน้ำเมาได้ผล

สัมฤทธิ์ ยังยอมรับด้วยว่า หากเปรียบเทียบกับไวน์จากต่างประเทศแล้ว คงเทียบกับไวน์ผลไม้ของเมืองไทยไม่ได้ เพราะความเข้มข้นและรสชาติต่างกัน ซึ่งนี่เป็นข้อจำกัดประการหนึ่งของการขยายตลาดของไวน์ผลไม้ไทย แม้ว่าไวน์แคทเทลจะมีความโดดเด่นของไวน์แดงที่ผลิตมาจากมังคุด กระเจี๊ยบ และกระชายดำ ก็ตามที

***ขาลงโอทอปทำเจ๊งอยู่ได้แค่คนรวย

“ถ้าของผมไม่ดี ทำไมไวน์อีกร้อยโรงถึงต้องเลิกด้วย จริงๆ แล้วมันเป็นที่กระแสของไวน์ลดลงมากกว่า ที่ทำให้เขาเลิกกันทั้งประเทศ แต่ก็มีบ้างซัก 30% ที่อยู่ได้ แต่ก็เป็นกลยุทธ์ทางการตลาดของเขาที่เฉพาะตัวจริงๆ ที่อยู่ได้ก็กลุ่มเล็กๆ ที่เขานิยมไวน์กันจริงๆ ซึ่งก็ต้องเป็นคนมีเงินจริงๆ มีสังคมเหมือนกลุ่มไก่ชน อย่างที่ปากช่อง เขาพื้นที่ปลูกองุ่นที่ปากช่อง มีอุปกรณ์ทำไวน์ ราคาก็ไม่ใช่น้อยๆ แต่เขาสนุกกับตรงนั้น เหมือนเป็นกีฬาคนรวย และผลักดันให้ซื้อขายกันภายในกลุ่ม หรือเจ้าของโรงงานทำสายไฟส่งไปญี่ปุ่นในจันทบุรีที่ส่งขายลูกค้าจากบริษัทที่ญี่ปุ่น เขามีตลาดของเขา”

นอกจากนี้ เขายังมองว่าช่องทางการตลาดที่ทำให้ “กลุ่มผลิตไวน์” อยู่ได้ อาจต้องใช้ “สายสัมพันธ์” ในการดึงกลุ่มลูกค้าจากในจังหวัดมาช่วยเข็นขายในงานเลี้ยงต่างๆ

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่ามาตรการนี้จะใช้ได้ผลเสมอไป ในยุค “ขาลง” ของเหล้า – ไวน์โอทอป กรณีของไวน์ “ชาโต เดอ ตาปี” แห่ง จ.สุราษฎร์ธานี น่าจะสะท้อนความไร้ผลของแรงฉุดเฮือกลักษณะนี้ได้เป็นอย่างดี

***ฉุดเท่าไหร่ก็ไม่อยู่

นวลศรี สุวรรณรังษี ประธานกลุ่มแม่บ้านกันหลา อ.พระแสง จ.สุราษฎร์ธานี ผู้ผลิตไวน์ผลไม้ตามนโยบายโอทอป บอกว่า หลังจากรวบรวมสมาชิกกลุ่มได้ 30 ชีวิต เมื่อตอนต้นปี 2545 ตามคำแนะนำของพัฒนาชุมชนอำเภอก็ร่วมกันผลิตไวน์และจำหน่าย สร้างรายได้เสริมให้กับแม่บ้าน โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนประมาณ 5 หมื่นบาทเพื่อจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ พร้อมกับการที่ทางเกษตรอำเภอเข้ามาเป็นผู้ดูแล แนะนำให้ความรู้ทุกขั้นตอนเกี่ยวการผลิตไวน์ ตั้งแต่กรรมวิธีการผลิตการหมักบ่ม การเก็บรักษา การบรรจุลงภาชนะ รวมทั้งหาสถานที่เพื่อวางจำหน่ายให้

“ช่วงแรกวางขายที่สถานที่ราชการกับที่ห้างร้านต่างๆ แต่ก็ขายแทบไม่ได้เลย ทางราชการเลยเข้ามาช่วยเหลืออีก”

เธอบอกว่า การสนับสนุนของหน่วยงานรัฐยังเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย โดยทั้งเกษตรอำเภอ พัฒนาการจังหวัด พาณิชย์จังหวัด องค์การบริหารส่วนจังหวัด ได้จัดสรรงบประมาณมาให้อีกจำนวนหนึ่งเพื่อให้ปรับปรุงรสชาติ พร้อมเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์จากขวดสุรายี่ห้อต่างมาเป็นขวดแบบใหม่ให้กะทัดรัดและทันสมัย รวมทั้งพัฒนาฉลากขึ้นมาใหม่ เพื่อความสวยงามมีเอกลักษณ์สะดุดตาผู้บริโภค สร้างความเชื่อมั่นในตัวสินค้า และดูแล้วน่าดื่มยิ่งขึ้น

กระนั้นก็ตาม ยอดขายก็ยังคงย่ำแย่เหมือนเดิม ไม่ว่าจะเป็นช่องทางจำหน่ายตามห้างร้านต่างๆ สหกรณ์โคออป จ.สุราษฎร์ธานี หรือแม้แต่งานแสดงสินค้าในเทศกาลต่างๆ ของจังหวัดก็ขายได้เพียงเล็กน้อย และแม้ว่าจะงัดกลยุทธการขายแบบซื้อ 1 แถม 1 เข้าทำนองลดแลกแจกแถมแล้ว ยอดขายก็ยังไม่กระเตื้องขึ้น สุดท้ายต้องเอาไปแจกให้ชาวอำเภอพระแสงดื่มฟรีตามงานของหน่วยงานราชการต่างๆ

นวลศรี ยังบอกอีกว่า ทุกวันนี้ ไวน์ ‘ชาโต เดอ ตาปี’ จะผลิตก็ตามใบสั่งของหน่วยงานราชการของอำเภอตามเทศกาลต่างๆ เป็นครั้งคราว เธอเชื่อว่า การออเดอร์ในลักษณะเช่นนี้เป็นไปเพื่อรักษาภาพลักษณ์และหน้าตาของชาวอำเภอพระแสง เพียงเพื่อยืนยันว่าไวน์ ‘ชาโต เดอ ตาปี’ ยังผลิตและวางจำหน่ายอยู่ ในขณะที่เจ้าหน้าที่เองก็กลัวเสียฟอร์มจากการที่โครงการของตนล้มเหลว และเพื่อตบตาผู้บริหารของจังหวัด

เธอ บอกว่า ด้วยต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นทางกลุ่มจึงผลิตเป็นครั้งคราวตามใบสั่งเท่านั้น ในขณะที่สมาชิกส่วนใหญ่ของกลุ่มได้กลับไปทำอาชีพที่ตัวเองถนัด บางรายก็ทำขนมทองม้วนขายหน้าบ้าน เพราะเห็นว่ามีรายได้มากกว่า

แม้กรณีของ ชาโต เดอ ตาปี อาจจะยังไม่ถึงขั้นทิ้งอาชีพนี้เพื่อหาอาชีพใหม่ทำอย่าง สัมฤทธิ์ กระนั้นก็ตาม ทั้งสองกรณีก็สะท้อนผลข้างเคียงของธุรกิจที่อิงกับกระแสที่ปั่นโดยรัฐบาลโดยไม่ได้ประเมินความเสี่ยงอย่างรอบด้านเป็นสำคัญ

สำหรับ จ.สุราษฎร์ธานี เอง ก็มีกลุ่มผลิตน้ำเมาที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันเช่นนี้อีกไม่น้อย ที่สำคัญคือประสบชะตากรรมในบั้นปลายคล้ายคลึงกับ ‘ชาโต เดอ ตาปี’ อีกหลายแบรนด์ อาทิเช่น ไวน์ ‘ชิมคองโป’ ของกลุ่มเกษตรกรทำสวนตำบลคลองปราบ อ.บ้านนาสาร, ‘ขุนเลไวน์’ ของกลุ่มเกษตรกรทำสวนขุนทะเล อ.เมือง, ไวน์ ‘ศรีวิชัย’ ของกลุ่มแม่บ้านเขาหัวควาย อ.พุนพิน, ไวน์ ‘ชาโต เดอ ธารทิพย์’ ของกลุ่มเกษตรกรทำสวนยางพาราเคียนซา อ.เคียนซา

นอกจากนี้ ยังมีไวน์ ‘พนม’ ของกลุ่มเกษตรทำสวนพนม อ.พนม, ไวน์ ’ชาโต เดอ ชโลดม’ ของสหกรณ์เคดิตยูเนียนบ้านนาเดิม อ.บ้านนาเดิม, ‘เภาทองไวน์’ ของกลุ่มสหกรณ์การเกษตรชัยบุรี จำกัด อ.ชัยบุรี, ไวน์ ’ร้อยเกาะ’ ของกลุ่มจัดไร่นาวัดประดู่ อ.เมือง, ไวน์ ‘ลาคลอเรีย’ ของกลุ่มผู้ผลิตไวน์กล้วยหอมทอง อ.ท่าชนะ และไวน์ ‘เดอเวียง’ ของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรทำสวน อ.เวียงสระ เป็นต้น

ทั้งหมดเป็นไวน์ผลไม้ที่เคยมุ่งหวังเปลี่ยนผลผลิตที่ล้นเกินในแต่ละฤดูกาลให้เป็นเมรัยชั้นยอดที่ทุกคนหาดื่มได้สะดวก ไม่เพียงเท่านั้นยังมุ่งหวังสร้างชื่อเสียงข้ามโลกจากผลิตภัณฑ์จากหมู่บ้านชนบทไทย แต่ฉากสุดท้ายกลับล้มเหลวไม่เป็นท่า

*** “สีเว่ย” โกอินเตอร์แค่ฝันกลางวัน

ชะตากรรมเช่นเดียวกันนี้ยังคงครอบคลุมสู่เมรัยพื้นบ้านจาก จ.แพร่ แหล่งผลิต “เหล้าป่า” ระดับตำนานชั้นยอด ที่ถูกจุดฝันด้วยการผลักดันให้สร้างแบรนด์ “สีเว่ย” ขึ้นมาใหม่ บรรจุเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของเมืองแพร่ ด้วยการนำเอาภาพจิตรกรรม “นางศรีเว่ย” หญิงสาวชนบทนุ่งผ้าซิ่นตีนจก เปลือยกายท่อนบน ที่คติพื้นถิ่นถือเป็นเทพเจ้าความงามแห่งล้านนามาเป็นตราสัญลักษณ์
อารมณ์สิ้นหวัง - คนผลิตเหล้าและไวน์ด้วยภูมิปัญญาไทยมีสีหน้าหมดหวังหลังรัฐบาลตีปี๊บก่อนตัดหางปล่อยวัดเหล้าและไวน์โอทอป
นักการเมืองเมืองแพร่ ยังหวังว่า “เหล้าสีเว่ย” จะได้รับการยกระดับจาก “เหล้าป่า – เหล้าเถื่อน” ที่ผลิตจากข้าวพันธุ์ดีตามกรรมวิธีภูมิปัญญาพื้นบ้านมาเป็น “เหล้าชั้นสูง” เพื่อเสิร์ฟบนโต๊ะหรู โดยการวาดหวังจะให้เป็นเหล้าเพื่อการส่งออก เป็น “โอทอปชั้นหนึ่งจากเมืองแพร่” และจะกลายเป็นเหล้าสากลในอนาคต และได้เปิดตัวครั้งแรกเมื่อคราว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มาเยือนเมืองแพร่ตามโครงการทัวร์นกขมิ้น

คราวนั้น วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล ส.ส.แพร่ เขต 3 จ.แพร่ ต้นคิดผลักดันเหล้าสีเว่ย ถึงกับระบุว่า สีเว่ย จะเป็นทางเลือกใหม่สำหรับเหล้าผสมค๊อกเทลในตลาดยุโรปและอเมริกา รวมทั้งตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเยือนไทย และจะเป็นทางเลือกของผู้นิยมวอดก้า เหล้ากระบองเพชร และเหล้าผลไม้ของยุโรป เพราะสีเว่ยไม่ได้เป็นเพียงน้ำเมาแต่ยังมีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ด้วย

กระทั่งถึงวันนี้ “สีเว่ย” ก็ยังไม่สามารถแจ้งเกิดได้อย่างเป็นทางการ ที่สำคัญยังไม่ปรากฏว่ามีเหล้าสีเว่ย ออกจำหน่ายแม้แต่ขวดเดียว

***รัฐฯตัดหางปล่อยวัด – กลุ่มอาชีพแห้งตาย

ส่วน “ป้าเล็ก” หรือ รักจิต จงเจตน์จำนง อดีตประธานกลุ่มพัฒนาอาชีพบ้านศรีชุมแสง ต.ท่าไม้รวก อ.ท่ายาว จ.เพชรบุรี ผู้ผลิตไวน์ผลไม้มาตั้งแต่ปี 2543 ด้วยความสนับสนุนจากพัฒนาชุมชนอำเภอ จนได้รับรางวัลผลิตภัณฑ์ชุมชนดีเด่นในระดับจังหวัด และจดทะเบียนโอทอปเป็นกลุ่มแรกๆ เนื่องจากฝีไม้ลายมือเข้าตาเจ้าหน้าที่ จึงได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีในช่วงแรก

"ตอนนี้เลิกแล้ว เพราะว่าขายไม่ออก ที่ขายได้แต่ก่อนก็แค่งานออกร้านที่ทางการเขาจัดและเชิญเรา บางงานก็ต้องจ่ายค่าบูธ บางงานก็ไม่จ่าย แต่ที่หนักอีกอย่างคือต้องเสียภาษีทั้งสรรพสามิต ค่าอากรแสตมป์อีกเยอะ ต้องจ่าย ทั้งที่อาจจะขายไม่ได้เลย” เธอว่า

รักจิต เล่าอีกว่า ในช่วงแรกได้รับการสนับสนุนจากเจ้าหน้าที่และ อบต.เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการให้เงินทุนเริ่มแรกหนึ่งแสนบาทเพื่อนำไปซื้อวัสดุอุปกรณ์ การอบรมเทคนิควิธีการทำไวน์ และการทำบัญชี เธอและเพื่อนบ้านอีกเกือบ 20 คนจึงรวมตัวกันเก็บเอาผลไม้จากไร่สวนที่เหลือในแต่ละฤดูกาลมาผลิตไวน์ขาย จนกระทั่งได้รับมาตรฐาน 3 ดาวในระดับประเทศ แต่น่าเสียดายที่การบริหารจัดการโดยชาวบ้านไม่อาจทานกระแสอันเข้มข้นของกลไกตลาดที่มีสินค้าประเภทเดียวกับเธออยู่กราดเกลื่อน

“ต่อมาพอจะเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาบ้าง ทางพัฒนาชุมชนก็มาแนะนำให้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล เพื่อรอให้กฎหมายวิสาหกิจชุมชนบังคับใช้แล้วค่อยโอนมาเป็นวิสาหกิจชุมชน เราก็เลยไปจดเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด ตอนนั้นก็จดในนามของฉันเอง”

เธอบอกอีกว่า ผลที่ตามมาของการจัดตั้งห้างหุ้นส่วน บงกชการเกษตร จำกัด คือการตัดการช่วยเหลือพัฒนาชุมชนอำเภอโดยได้รับเหตุผลว่าเมื่อเป็นเอกชนแล้วก็น่าจะเอาตัวรอดได้ ส่วนหน่วยราชการจะให้ความช่วยเหลือกลุ่มอื่นๆ ต่อไป

เธอตัดพ้อว่า เธอเองไม่มีความสามารถในการทำการตลาดด้วยตัวเอง พอหลังจากเป็นนิติบุคคลแล้วก็ขายไม่ออก ประกอบกับกระแสการนิยมดื่มไวน์ลดลงจากเคยขายได้งานละ 3 หมื่นเป็นขายไม่ได้เลย และด้วยค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียให้สรรพสามิตเป็นประจำทุกเดือนทำให้ไม่สามารถอยู่รอดได้ จนหมดใจ ล้มเลิกไปในที่สุด

“ทางพัฒนาชุมชนเองก็ช่วยเราไว้เยอะ แต่ก็เอาผลงานที่เราทำสะสมไว้ ไปแสดงผลงานให้ได้หน้าตัวเองด้วย บอกตามตรงพอเขาเห็นกลุ่มไหนไปได้เขาก็จะสนับสนุนทันที” อดีตประธานกลุ่มแม่บ้านฯ สรุปทิ้งท้าย
 
อ่าน  ล้อมกรอบ 1 "จุดจบเหล้า - ไวน์พื้นบ้าน"
       ล้อมกรอบ 2 "ไวน์ 'กระชายดำ' ล้มไม่เป็นท่า"

กำลังโหลดความคิดเห็น