xs
xsm
sm
md
lg

ดึงอำนาจอนุมัติอีไอเอพ้นสผ.เร่งรัดเมกะโปรเจค-เขตศก.พิเศษ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สภาพัฒน์ งุบงิบชงเรื่องโอนอำนาจการอนุมัติรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) โครงการของรัฐและเอกชนจาก สผ.ไปยังกระทรวงเจ้าของโครงการและหน่วยงานผู้อนุญาต รองรับแผนเร่งรัดลงทุนเมกะโปรเจกและเขตเศรษฐกิจพิเศษ นักวิชาการสวดยับขาดระบบถ่วงดุลตรวจสอบ จับตาปล่อยผีโครงการเจ้าปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมระลอกใหญ่

คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่มีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน จะเรียกประชุมคณะกรรมการฯ นัดแรกหลังเข้ารับตำแหน่ง ประมาณวันที่ 15 ธ.ค.นี้ โดยมีวาระพิจารณาที่สำคัญคือ การทบทวนอำนาจการพิจารณาอนุมัติรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ ใหม่

สาระสำคัญที่จะทบทวน ก็คือ การโอนอำนาจการพิจารณาสั่งอนุญาตหรือต่อใบอนุญาตอีไอเอ จากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ที่มีอำนาจตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 มาตรา 50 ไปให้หน่วยงานรัฐเจ้าของโครงการหรือหน่วยงานอนุญาต ทำหน้าที่พิจารณาอนุมัติอีไอเอและอนุญาตดำเนินโครงการเอง
ซึ่งโครงการของรัฐ สามารถดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวได้โดยใช้อำนาจทางการบริหาร ส่วนโครงการเอกชน จะต้องแก้ไขพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ก่อนให้หน่วยงานผู้อนุญาตโครงการพิจารณาอนุมัติ

เรื่องข้างต้น เกิดขึ้นภายหลังจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ โดยนายสันติ บางอ้อ รองเลขาธิการสภาพัฒน์ เป็นประธานประชุมหารือกับสผ. ในการทบทวนกรอบแนวคิดการทำอีไอเอใหม่ และได้ข้อสรุปดังกล่าวข้างต้น ซึ่งเป็นข้อสรุปที่ข้าราชการใน สผ. ส่วนใหญ่ต่างไม่เห็นพ้องด้วย

ตามรายงานสรุปผลการประชุมหารือ เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 48 ระบุเหตุผลที่ต้องทบทวนการพิจารณาอนุมัติอีไอเอว่า การทำหน้าที่ของ สผ. ไม่ค่อยมีผลในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะการควบคุม กำกับดูแล และบังคับใช้มาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

ตามกรอบแนวทางใหม่ สผ.จะทำหน้าที่เป็นเพียงผู้กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข แนวทางการพิจารณา โดยหารือร่วมกับหน่วยงานเจ้าของโครงการและหน่วยงานอนุญาตเพื่อให้เกิดความเหมาะสมและปฏิบัติได้

นายธงชัย พรรณสวัสดิ์ นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงการโอนอำนาจการพิจารณาอนุมัติอีไอเอข้างต้นว่า หลักการสามารถทำได้ต่างประเทศก็ทำกัน ถ้าหากหน่วยงานนั้นๆ มีจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมที่มากพอ ข้อดีก็คือเรื่องทั้งหมดจะอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของหน่วยงานต้นสังกัดโครงการหน่วยงานเดียว เมื่อเกิดปัญหาขึ้นมาก็ชี้ได้ว่าหน่วยงานนั้นๆ ต้องรับผิดชอบ จากปัจจุบันที่มี 2 หน่วยงานคือ หน่วยงานเจ้าของโครงการ และ สผ.ร่วมกันรับผิดชอบ คอยตรวจสอบซึ่งกันและกัน

นายธงชัย กล่าวต่อว่า เรื่องข้างต้นประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า ก่อนที่หน่วยงานหรือกระทรวงจะเอาอำนาจพิจารณาอนุมัติอีไอเอไป ต้องพิสูจน์ให้ชัดก่อนว่าสามารถติดตามตรวจสอบและป้องกันผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมได้จริง ซึ่งหากประเมินในเวลานี้ต้องบอกว่ายังไม่มีหน่วยงานหรือกระทรวงไหนที่พร้อม ยังไม่มั่นใจ เป็นเรื่องน่าห่วงและอันตราย เพราะจะกลายเป็นช่องโหว่

“ถ้ากระทรวงอยากทำเองก็ต้องพิสูจน์กันก่อน ในหน่วยงานก็ต้องมีระดับรองผู้ว่าการฯ ฝ่ายสิ่งแวดล้อมขึ้นมาคานกับฝ่ายพัฒนา และจะต้องมีคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมในหน่วยงานนั้น ที่มีคนนอกเข้ามาร่วมด้วย ทั้งนักวิชาการ เอ็นจีโอ เป็นคณะกรรมการถาวรของหน่วยงานและรายโครงการด้วย” นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม กล่าว

ด้านนายบัณฑูร เศรษฐศิโรฒน์ อนุกรรมการด้านฐานทรัพยากรในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า แนวทางใหม่จะทำให้ขาดระบบถ่วงดุล เพราะหน่วยงานเจ้าของโครงการมีอำนาจทั้งตรวจเอง อนุมัติเอง ทำให้ธรรมาภิบาลด้านสิ่งแวดล้อมไม่มี เกิดความขัดแย้งในบทบาทหน้าที่ระหว่างความต้องการดำเนินโครงการอย่างเร่งด่วนกับการจัดการปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่จะตามมา ซึ่งมีแนวโน้มชัดเจนว่าความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมจะอยู่ท้ายสุด

นายบัณฑูร กล่าวต่อว่า การแก้ไขทบทวนอำนาจการอนุมัติอีไอเอข้างต้น มีความเชื่อมโยงกับการเร่งดำเนินโครงการเมกะโปรเจคและโครงการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษของรัฐบาล เนื่องจากที่ผ่านมาโครงการใหญ่หลายโครงการล่าช้า เพราะถูกตรวจสอบด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มงวด

“หากที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เห็นชอบในข้อเสนอดังกล่าวจะมีโครงการที่คั่งค้างเพราะมีปัญหาด้านนี้อยู่เดินหน้าได้เร็วขึ้น ให้จับตาดูการปล่อยผีโครงการต่างๆ จะออกมาเป็นชุดๆ” นายบัณฑูร กล่าว

อนึ่ง ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จะจัดเสวนาเรื่อง การทบทวนอำนาจการอนุมัติอีไอเอ ในวันที่ 13 ธ.ค. 48 โดยเชิญนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมและผู้สนใจเข้าร่วม
กำลังโหลดความคิดเห็น